ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

การเดินจงกรมอย่างไรให้ถูกต้อง

      

        

หลักการปฏิบัติในการเดินจงกรม (ตามแนวสติปัฏฐานสี่)

การเดินจงกรม ถือเป็นการปฏิบัติที่เข้าหลักของสติปัฏฐานสี่อยู่แล้ว หลักง่ายๆ คือ ให้กำหนดรู้ในกาย ก่อนเดิน ขณะเดิน และขณะที่จิตยิ่ง

กำหนดอย่างไร
          การกำหนดรู้ คือให้รู้ในสัณฐานและสังขาร รู้ในสัณฐานคือ รู้ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง โดยเบื้องต้น และจะรู้มากยิ่งๆ ขึ้น เมื่อจิตละเอียด เมื่อสามารถรู้ในสัณฐานได้แล้ว ก็ให้มองดูสังขาร คือการปรุงแต่งอารมณ์ ว่าสัณฐานอันมีองค์ประกอบทั้งหลายเหล่านั้น ก่อให้เกิดเป็นอารมณ์อะไรบ้าง ในองค์ประกอบโดยรวมนั้น มีองค์ประกอบอะไร ก่อให้เกิดอารมณ์อะไร อย่างไร
          ตัวอย่างเช่น เมื่อสามารถตั้งฐานการเดินจงกรมในรูปแบบสติปัฏฐานสี่ได้แล้ว จิตก็จะเริ่มน้อมเข้าสู่อารมณ์สมถะ ในระดับฌานที่หนึ่ง คือวิตกวิจารณ์ โดยการที่เราได้กำหนดกายเป็นเครื่องเรียนรู้ จิตไม่ซัดส่ายหนีออกไปจากองค์ความรู้ที่เรากำหนดไว้แต่เบื้องต้น จิตจึงน้อมลงคือมีความนิ่งสงบลง ต่อเมื่อรู้ได้ว่า จิตเป็นสมถะแล้ว ให้เดินต่อ อบรมจิตต่อไป จนจิตนิ่งมากยิ่งขึ้น กายหลังนี้ก็จะเริ่มทำหน้าที่ควบคู่กับจิต ทำให้ระบบเคมีในร่างกายหลังสาร adrenaline ออกมา โดยเริ่มจากบริเวณก้นกบ (จริงแล้วอยู่ที่บริเวณฝีเย็บ) ผ่านกระดูกสันหลังขึ้นสู่กระหม่อม แล้วแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางกาย ทำให้เกิดมีความสุขขึ้นโดยไม่รู้ตัว แต่ก่อนที่จะถึงความสุขนั้น ถ้าเรามีจิตที่น้อมละเอียด ก็จะเห็นการเกิดความปีติขึ้นในขั้นต้นแล้วจึงรู้สึกสุข เรียกว่าไม่ข้ามขั้นตอน นี่เป็นระดับฌานที่สอง ต่อด้วยสาม บางคนก็อาจจะเข้าไปมองเห็นขั้นตอนต่างๆ อย่างช้าๆ บ้างก็เห็นต่อเนื่องไปอย่างเร็วๆ ไม่ทันจับสังเกต นี้เป็นความละเอียดของจิตที่ฝึกฝน ถ้าไม่หลุดเพราะความตกใจ ดีใจ ลิงโลดใจ หรืออารมณ์นอกใดๆ ความลังเลสงสัยในพระธรรมคำสอนหมดไป จิตก็จะน้อมเข้าสู่ เอกัคคตาจิต คือเป็นหนึ่งเดียวในระดับฌานที่สี่

          ต่อเมื่อเสวยอารมณ์นั้นได้แล้ว จะทำการทบทวนก็ได้ ในผู้ที่มีจิตแนบแน่นมั่นคง จะสามารถวิ่งเล่นจิตอยู่ในสมถะอารมณ์ได้ โดยฝึกเข้าออกในระดับฌานต่างๆ จากสี่ลงหนึ่งบ้าง จากหนึ่งขึ้นสามบ้าง จากสามลงหนึ่งบ้าง สามารถฝึกฝนให้คล่องแคล่วได้ ที่เรียกว่า วสี คือเกิดเป็นความชำนาญขึ้นนั่นเอง เมื่อเสวยอารมณ์จนเป็นที่สุขใจพึงใจพอใจแล้ว ก็ด้วยเหตุแห่งความชำนาญในช่วงเวลานั้น จิตก็จะผ่อนคลายถอยลงมาที่ระดับฌานที่หนึ่งอีก ด้วยอารมณ์อันเป็นปุถุชน นี้เป็นธรรมดา แต่ผู้ฝึกต้องยังไม่คลายอารมณ์หนีตามไป ให้เสวยอารมณ์อยู่ แล้วก็เริ่มในอาการเดียวกับฌานที่หนึ่งในเบื้องต้นแห่งการฝึก ด้วยการน้อมจิตนั้นเข้าสู่วิปัสสนา โดยการหยิบยกเอาอารมณ์ที่เพิ่งจะผ่านไปนั้นมาพิจารณาใหม่ แต่คราวนี้ จิตจะพิจารณาในความละเอียดต่างๆ ของอารมณ์สักพักหนึ่ง หรืออาจจะยาวนานมากมายจนหาทางเดินต่อไม่ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน หรือผู้ดูแลฝึกสอนจะให้คำแนะนำ
          ต่อเมื่อจิตเริ่มเข้าสู่วิปัสสนาอารมณ์แล้ว นิมิตต่างๆ ก็เกิด ให้ควบคุมจิตพิจารณารู้ตามนิมิตต่างๆ นั้นไป จนนิมิตคลายจางแล้ว จึงเริ่มนำเอานิมิตนั้นมาพิจารณา บ้างก็จะนั่งลงด้วยอาการต่างๆ ขึ้นอยู่กับตัวของเจ้าของเอง บ้างก็จะเดินต่อ แต่จะเชื่องช้าลงคล้ายอารมณ์เหม่อลอย แต่ไม่ใช่
          เนื่องจากจิตยังควบคุมกายอยู่ ยังมีสติอยู่ เมื่อเริ่มน้อมจิตเข้าไปพิจารณา หรือวิปัสสนา ในนิมิตต่างๆ  ฐานที่สองคือเวทนาก็จะเกิดขึ้น จิตนี้ผูกพันกับนิมิตมานานแล้ว เพราะว่ากรรมต่างๆ ไม่ว่าจะแต่ชาติใด ล้วนถูกประทับไว้แล้วในจิต ถ้าเป็นผู้ที่ฝึกตนมาดี มีครูอาจารย์สอนสั่งมาดีแล้ว จิตก็จะเรียนรู้ตามอารมณ์แห่งนิมิตนั้นๆ แล้วก็ทำการวิเคราะห์วิจัย ( ขบวนการ R&D แบบโลกๆ ก็คล้ายกัน ) ว่านิมิตเหล่านั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำการเรียนรู้ศึกษาแก้ไข นี้เป็นไปตามขบวนการของจิตในระดับ "สะจิตตะปริโยทะปะนัง" ซึ่งยังเป็นวิปัสสนาอยู่ ไม่หนีหลุดไปไหน ไม่ออกนอก อยู่แต่ภายใน เรียนรู้ ยอมรับ ศิโรราบ แก้ไข นี้เป็นขบวนการวิปัสสนาที่อยู่ในขั้นของ "จิตตานุปัสนาสติปัฏฐาน" เป็นฐานที่สาม
          เมื่อพิจารณาต่อไปเรื่อยๆ โดยที่จิตยังไม่หลุดไปจากอารมณ์ โดยอาศัยจิตที่ตั้งเป็นฌานดีแล้วนั้น (จิตจะทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาที่เที่ยงธรรมที่สุดหาที่เปรียบไม่ได้ เหนือกว่าผู้พิพากษาที่เป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา มากมายยิ่งนัก) จิตได้เรียนรู้ถึงเวทนาต่างๆ ที่สัตว์ได้รับ ไม่ว่าจะตนเองหรือสัตว์อื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง กรรมใดที่ได้กระทำแล้วและได้ทำการชำระแล้ว องค์ธรรมก็เกิด ศึกษาเรียนรู้ ทบทวนพิจารณาองค์ธรรมเหล่านั้นอย่างเป็นสุข อย่างเที่ยงธรรม อยู่ในสภาวะอารมณ์นั้นๆ ที่เรียกว่า ปัสสัทธิ จิตก็เข้าใจในหลักธรรม นี้เป็นฐานที่สี่ที่เรียกว่า ธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทำการพิจารณาอย่างนี้เรื่อยไป บ่วงกรรมก็ลดลง ด้วยการอาศัยขบวนการประกอบอื่นๆ เช่นทานกุศล ศีลกุศลฯ จิตก็จะผ่องแผ้วขึ้น สดใสร่าเริง องอาจและอาจหาญ ไม่หงอยเหงา ท้อแท้ ด้วยเหตุแห่งความไม่รู้ เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน ในที่สุด ก่อนวาระที่จิตจะดับเพราะกายแตก ก็นับว่าทันกาล ไม่เสียชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และที่สำคัญได้อยู่ในใต้ร่มพระพุทธศาสนา
          ดั่งคำสอนที่ว่า " อาศัยกายนี้เป็นเครื่องเรียนรู้ มีกายนี้เป็นเพียงที่อาศัยที่เรียนรู้ "

บุญรักษา
กิตติญาโณ