ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

การเดินจงกรมสำคัญอย่างไร

 

การเดินจงกรมสำคัญอย่างไร

 

     การเดินจงกรมสำคัญอย่างไรเล่า ตอบว่าเนื่องจากร่างกายและจิตของเราทำงานไม่สัมพันธ์กันตามควร เนื่องจากจิตนั้นเป็นสิ่งละเอียดมาก ส่วนร่างกายหยาบ เมื่อร่างกายเคลื่อนไหว จิตของเราได้ทำงานไปหลายร้อยหลายพันคำสั่งแล้ว ดังนั้นจิตและร่างจึงไม่ไปด้วยกัน แล้ววาจาที่เรากล่าวล่ะไปทางไหนอีก การเดินจงกรมจึงเป็นการฝึกให้วาจาที่เปล่งออกมานั้นสัมพันธ์กับร่างที่กำลังเคลื่อนไหว แล้วเรียนรู้ที่จะใช้จิตพิจารณาการเคลื่อนไหวนั้นให้ชัดเจน เช่น วาจาตนกล่าวว่าเท้าซ้ายยกหนอ กายได้ยกเท้าซ้าย แล้วจิตกำลังคิดว่าเท้าซ้ายยกอยู่ ขณะนั้นเองด้วยจิตที่ละเอียดกว่ามากนั้นเอง จิตเราก็คิดว่า “ อ้อ..เท้าซ้ายที่ยกอยู่นี้หนอ น้ำหนักตัวเราจึงไปอยู่ที่เท้าขวาทั้งหมด สะโพกข้างขวาเริ่มรับน้ำหนัก ตัวเราเซเล็กน้อยเพื่อประคองให้เกิดจุดโน้มถ่วงที่ถูกต้อง กระดูกสะโพกเริ่มกด ทำให้แผ่นหลังและสะบักเกร็ง อ้อ..เหตุที่เราเคยปวดหลังไปจนถึงต้นคอคงเป็นเพราะเหตุนี้ เส้นเอ็นจากสะโพกถึงคอเป็นเช่นนี้หนอ แล้วจากสะโพกลงไปล่ะมีอะไรบ้าง อ้อ..กระดูกที่รับน้ำหนักตัวทั้งหมดด้วยเท้าขวาหนอ ทำให้กล้ามเนื้อใต้ฝ่าเท้าขวากดแน่น ส้นเท้าหยั่งกับพื้นอย่างมั่นคงหรือเปล่า แล้วเท้าซ้ายล่ะ ระหว่างที่ยกนี้ สะโพกทำงานอย่างไร หัวเข่า สะบ้า และเส้นเอ็นต่างๆ กำลังทำอะไรอยู่ ลมหายใจของเราเป็นอย่างไร หัวใจเต้นอย่างไร ” เหล่านี้คือสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาทั้งสิ้นเพื่อเป็นการกำหนดจิตให้รู้ธรรมอย่างแท้จริง ผู้ที่ฝึกแล้วควรทำความเข้าใจให้ได้แท้จริงดังนี้ มิใช่ปล่อยจิตให้ไปในที่ต่างๆ เลื่อนไหลไปจนจิตอีกส่วนคว้าไว้ไม่ทัน อ้าว..เอียงจะล้มเสียแล้ว โอ๊ย..ให้จองตั๋วเครื่องบินไว้ว่าจะไปเที่ยวต่างประเทศ ไม่รู้ว่าหลานจัดการให้เรียบร้อยไหม เอ..เดี๋ยวมื้อเที่ยงนี้จะได้กินอะไรนะ อือ..เมื่อเช้าว่าจะตื่นแต่เช้ามาซักผ้า ตื่นสายเสียนี่ เลยทำไม่ทัน นั่นใครคุยกันหว่า คุยเรื่องเราหรือเปล่าหนอ ยายคนนี้เราไม่ค่อยชอบหน้าเสียด้วย ชอบเอาใจอาจารย์ คิดว่าอาจารย์เป็นของตนคนเดียวหรือไงนะ อ้าว..คนนั้นไม่สำรวมเลย อุบ๊ะ..ลืมไป อาจารย์บอกให้คิดถึงแต่ตนเอง หลุดอีกแล้วหนอ นี่แหละสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อาจารย์ต้องพร่ำย้ำให้ดูตนเองอยู่เนืองๆ เพื่อประสบความสำเร็จโดยเร็ว จึงขอให้ท่านทั้งหลายพึงเรียนรู้เป็นอันดับแรกว่าพึงพิจารณาตนเองหนอจากการเพียรเดินจงกรมนี้

      หลังจากได้ใช้เวลาเดินจงกรมอย่างถูกวิธีแล้วนี้นั้น จิตของท่านจะอยู่กับตนอย่างสมบูรณ์ ย่อมทำให้ท่านพร้อมที่จะนั่งสมาธิ แล้วนั่งเพื่ออะไร ทำอะไรบ้าง หลับตาแล้วเห็นอะไรหรือเปล่า เหล่านี้คือคำถามทั่วๆ ไป ก็นั่นแลกลับมาสู่คำถามเดิมอีกว่าเพื่อให้ระหว่างที่ร่างกายไม่เคลื่อนไหวนี้ ท่านได้พิจารณาตั้งแต่ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้ายาวก็ให้รู้ว่าเข้ายาว ลมหายใจออกยาวก็ให้รู้ว่าลมหายใจออกยาว ลมหายใจเข้าสั้นก็ให้รู้ว่าลมหายใจเข้าสั้น ลมหายใจออกสั้นก็ให้รู้ว่าลมหายใจออกสั้น เหล่านี้คือเรื่องพึงพิจารณาเป็นเบื้องต้น แต่จิตที่ละเอียดนี้ยังพิจารณาต่อจากนั้นไปได้อีก จนในที่สุดก็ได้พิจารณาสิ่งที่ตนได้ทำ ดี ชั่ว ผิด ถูก ตั้งแต่วินาทีก่อนนี้ ๑ วินาที ๑ นาที ๑ ชั่วโมง นับถอยไปเรื่อยจนได้พบกับความผิดถูก ดีชั่วทั้งหลายตามจริงตามที่จิตของตนรับรู้ แล้วเริ่มน้อมมาใส่ตน ให้ศิโรราบในกรรมต่างๆ ที่ได้ทำ ชั่วให้รู้ว่าชั่ว ผิดให้รู้ว่าผิด ดีให้รู้ว่าดี ถูกให้รู้ว่าถูกอย่างถ่องแท้ ให้ได้อริยสัจ ๔ ให้ได้เต็มตามที่ศีลกำหนด แล้วพิจารณาย้อนถอยไปเรื่อย จนกว่าจะได้รับผล ซึ่งผลตามที่ตนจะได้รับนั้นก็เป็นไปแต่ละคน ซึ่งตนนั้นแหละจะเป็นผู้รู้ได้แจ้งเองว่าผลนั้นจริงตามนั้นหรือไม่ ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นเป็นธรรมอันขาว และเป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอน ปฏิบัติตามได้ พิสูจน์ได้ ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล (สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก) ซึ่งท่านจะต้องเป็นผู้พิสูจน์เองทั้งสิ้น เพราะเป็นเรื่องรู้ได้เฉพาะตัวเท่านั้น (ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ) มิใช่เรื่องเล่าที่เลื่อนลอย ทุกเรื่องล้วนยืนยันได้ จึงได้นำมาเล่าให้ท่านทราบ (เอหิปสฺสิโก) เพื่อให้ท่านได้น้อมเข้ามาใส่ใจ (โอปนยิโก)

 

ปญฺญตฺโต