ถอดรหัสธัมม " สังขารุเปกขาญาณ "

 

วันนี้ ขอนำคำว่า " สังขารุเปกขาญาณ " มาถอดความให้เข้าใจ จะได้ฝึกฝนปฏิบัติธรรมได้อย่างไม่ติดขัด ไม่ผิดทาง จะได้เข้าถึงพระธัมมคำสอนของพระพุทธสาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าฯ

 

คำสอนที่ว่า " สังขารุเปกขาญาณ " เมื่อถอดคำออกมา ก็จะได้เป็น " สังขาร อุเบกขา ญาณ "

 

สังขาร คือการปรุงแต่ง ท่านหมายเอาการปรุงแต่งอารมณ์จากการทำความเพียรในเรื่อง " สัญญาเวทยิตนิโรธ " เป็นสำคัญ

 

เมื่อได้เพียรรื้อถอน สัญญาและเวทนา ที่คั่งค้างอยู่ในจิตได้ถึงระดับหนึ่ง เป็นธรรมดาของผู้ฝึกฝนก็จะปรุงแต่งอารมณ์ต่ออีก ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะไม่รู้จบ มันก็จะเป็นสัญญาใหม่ทับถมลงไปอีกจนสับสนจับต้นชนปลายไม่ถูก ก็เลยทำให้ฟั่นเฟือนสับสนจนเสียสติ บ้างก็ว่ายากบ้างก็เสียเวลามากบ้างก็ละความเพียร บางรายถึงกับลาสิกขาเปลี่ยนศาสนากันไปก็มาก นี่ก็เพราะ " สังขาร " เพียงตัวเดียว

 

อุเบกขา คนส่วนใหญ่เรียนมาและถ่ายทอดสอนต่อกันมานานว่า " อุเบกขา " คือการวางเฉย อันที่จริง " อุเบกขา " นี้ ท่านหมายเอา " ทางสายกลาง " เป็นปฐม เหตุเพราะทางสายกลางนั้นอุดมไปด้วยปัญญา ต้องใช้ปัญญาพิจารณาธัมมะ และ ธรรมชาติ มากมายประกอบกัน เพื่อให้เห็นสภาวะธัมมและสภาวะธรรมอันแท้จริงดั่งภาษิตที่ว่า " ธรรมใดที่ไม่มีสภาวะธรรมรองรับ ธรรมเหล่านั้นไม่เป็นปรมัตถุธรรม " หรือ " ธรรมชาติใดๆ ที่มีสภาวะธัมมและสภาวะธรรมรองรับ ธรรมชาติเหล่านั้นเรียกว่า ปรมัตถุ " ฉะนั้น " อุเบกขา " จึงเป็นธัมมะอันประเสริฐยิ่ง เมื่อพิจารณาจนถี่ถ้วนถ่องแท้ สามารถเข้าถึงสภาวะธรรมของธรรมที่มาปรุงแต่งอารมณ์ เห็นเหตุที่เกิดขึ้นและเห็นเหตุแห่งการดับไปย่อมเห็นคุณเห็นโทษของเหตุเหล่านั้น จึงสามารถตั้งจิตไว้ตรงทางสายกลาง นี่เพราะเหตุแห่งการกระทำให้มากในการวินิจฉัย การวินิจฉัยให้มากนี้ ภาษาธัมมเรียกว่า " วิปัสสนา " วิปัสสนานี้มีความหมายว่ามองตัวเองให้มากๆ เมื่อมองตัวเองให้มากจนสัมปทาจึงเป็นเหตุให้ถ่องแท้ ความถ่องแท้ในกิเลสตน ย่อมนำตนให้พ้นจากภัยแห่งความประมาท ภัยแห่งความเขลา ภัยแห่งความโกรธ ภัยแห่งความไร้สติ เป...( และอื่นๆ อีกมาก )

 

เมื่อกระทำให้มากซึ่งวิปัสสนา อันเป็นเหตุให้เกิดปัญญามากเรียกว่ารอบรู้ในจิตตนเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมทิฏฐินี้มีคุณมาก เป็นเหตุของปัญญาบริสุทธิ ปัญญาบริสุทธินี้เรียกว่า " ญาณ "

 

ฉะนั้น " สังขารุเปกขาญาณ " จึงหมายถึง สามารถเข้าถึงปัญญาอันบริสุทธิ์ยิ่ง เห็นคุณเห็นโทษของการปรุงแต่งอารมณ์ไปตามกิเลสตน เป็นเหตุให้สามารถวางจิตไว้ตรงกลาง ไม่ปรุงแต่งอารมณ์ใดๆ จากธัมมะและธรรมที่เข้ามากระทบ ด้วยเห็นคุณเห็นโทษของธรรมชาติทั้งหลายแล้ว

 

บุญรักษา

กิตติญาโณ