เจโตสมาธิอันมีนิมิตและเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต

 

 

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าไปกราบไหว้หลวงปู่กิตติญาโณ ณ วัดป่าสุธัมมาราม ได้ทำบุญสร้างกุศลเนื่องวันคล้ายวันเกิดของตัวเอง( วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ) ในวันนั้นผมได้ถวายภัตตาหารและยาที่ป้าแดงเมตตาทำเตรียมไว้ให้แก่หลวงปู่ ถวายผ้าไตรจีวรและปัจจัยอีกส่วนหนึ่ง หลังจากนั้นหลวงปู่ฉันภัตตาหารเสร็จ ท่านได้เมตตาแสดงธรรมให้ฟังในเรื่องที่ผมสงสัยหลายเรื่อง มีเรื่องหนึ่งที่ผมสงสัยจากการปฏิบัติเกี่ยวกับการฝึกเจโตสมาธิ และได้ศึกษาพระไตรปิฎก ในพระสูตรที่ชื่อ จูฬสุญญตสูตร อันมีใจความตอนหนึ่งว่า

[๓๔๐] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจอากิญจัญญายตนสัญญา ไม่ใส่ใจเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในเจโตสมาธินี้ ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยอากิญจัญญายตนสัญญาและชนิดที่อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา มีอยู่แต่เพียงความกระวนกระวายคือความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากอากิญจัญญายตนสัญญา สัญญานี้ว่างจากเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญาและรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในเจโตสมาธินั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ

 

[๓๔๑] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจอากิญจัญญาตนสัญญา ไม่ใส่ใจเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิตนี้แล ยังมีปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้ ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้นั้น ไม่เที่ยงมีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จ

แล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่าในญาณนี้ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยกามาสวะ ชนิดที่อาศัยภวาสวะและชนิดที่อาศัยอวิชชาสวะ มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย คือ ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากกามาสวะ สัญญานี้ว่างจากภวาสวะ สัญญานี้ว่างจากอวิชชาสวะ และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในเจโตสมาธินั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ

ผมจึงกราบเรียนขอความเมตตาจากหลวงปู่ช่วยอธิบายแนวทางวิธีการฝึกปฏิบัติกัมมัฏฐานเพื่อให้จิตเข้าสู่สภาวะแบบ " เจโตสมาธิอันมีนิมิต และเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต ( อนิมิตตเจโตสมาธิ ) “ ด้วยครับ

หลวงปู่ : หลวงปู่เคยเขียนในบทความที่ผ่านมาเรื่อง " วิมุตติสอง " คือ เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ ลองกลับอ่านทบทวนดูนะ

เอาละ วันนี้หลวงปู่จะทบทวนให้อีกครั้ง บทความนี้จะยาวนิดหนึ่ง แต่ควรอ่านให้จบจะได้ประโยชน์มาก ถึงมากที่สุด กับผู้ที่ได้อ่าน ขึ้นอยู่บุญบารมีของท่านผู้อ่านแต่ละคน

แนวทางฝึกวิปัสสนาเพื่อเข้าถึง " อุภโตภาควิมุตติ " และ " นิพพาน ๒ "

ดั่งที่ได้กล่าวไว้แล้วเรื่องการฝึกในสมัยพุทธกาลของพระสมณโคตมพุทธเจ้า สาวกที่ปรารถนาการฝึกฝนเรียนรู้ทั้งหลาย มิได้ฝึกเพียงเรื่องเดียว แต่จะเวียนไปฟังธัมมจากท่านพระสารีปุตตะ ฝึกสติด้วยการเดินจากท่านพระโมคัลลานะ และเพียรเพ่งการเข้าสมาบัติจากท่านพระมหากัสสปะ โดยมีสมเด็จพระพุทธสาสดาคอยให้คำชี้แนะเมื่อเกิดข้อขัดข้องใจอยู่เป็นประจำตลอดสมัย

เมื่อได้ศึกษาเทียบเคียงแล้ว เราก็จะได้เห็นแนวทางจากอดีตสู่ปัจจุบัน การฝึกฝนในปัจจุบันค่อยๆ คลาดเคลื่อนหนีจากในอดีตสมัยพุทธกาลของสมเด็จพระสมณโคตมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลการฝึกฝนพากเพียรล้วนเป็นไปเพื่อพระนิพพานและที่่จะให้เข้าถึงได้นั้น มีอัตราแสนละคนก็นับว่าดีมากแล้ว แต่ในยุคปัจจุบันล้วนแต่ฝึกในหนทางที่มิได้เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ถ้าจะนับอัตราแล้วที่ว่าฝึกถูกทางจะมีก็ไม่เกินแสนละสอง และจะเป็นแนวทางเพื่อพระนิพพานก็น่าจะเป็นล้านละสอง ส่วนจะให้เข้าถึงพระนิพพานจริงๆ ก็ต้องรอดูเมื่อกายแตก ถ้าดับสนิทไม่มีส่วนเหลือจึงจะเชื่อได้ว่าถึงพระนิพพาน

แนวทางการฝึก " อุภโตภาควิมุตติ "

อันที่จริงถ้าได้ฟังเทปบันทึกที่หลวงตาให้ไว้หลายๆ รอบบ่อยๆ จนถึงขั้นฟังซ้ำจนเป็นวสี อ่านเรื่องราวประกอบที่เขียนไว้แล้วเมื่อสงสัย แล้วทำการวิเคราะห์วิจัยรวบรวมประมวลธัมมทั้งหลายที่ได้ฟังได้อ่านเป็นอาจิณ ก็จะเข้าใจได้โดยไม่ยาก

หลวงตาเองก็ทำเช่นนั้นคือ เมื่อปรารถนาจะศึกษาเรียนรู้ทำความเพียรให้เข้าถึงเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องใด หลวงตาก็จะค้นคว้าศึกษาหาอ่านหาฟังทำซ้ำอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่จิตจดจ่อสมองก็ทำการวินิจฉัยทำการวิปัสสนาเพ่งเพียรให้มาก เมื่อยังไม่เข้าใจก็ฟังซ้ำใหม่อ่านใหม่เรียนรู้ใหม่ ทำการโยนิโสมนสิการ ( กระทำไว้ในจิตอย่างแยบคายด้วยอุบายปัญญา ) ซ้ำๆ สลับบนสลับล่างเรียงลำดับบ้างไม่เรียงบ้าง เพื่อหาความเข้ากันได้อย่างลื่นไหลไม่ติดขัด แล้วธัมมทั้งหลายก็จะเด่นชัดจับเป็นคู่ เป็นหมวดหมู่ เป็นกอง แล้วทำการผสมผสานแยกแยะด้วยโยนิโสฯ บ่อยๆ มากๆ จนเป็นวสี

ยืน เดิน นั่ง นอน แม้ในเวลาทำกิจต่างๆ เวลาขบฉันทำการงาน หรือแม้ในเวลาถ่าย ( ที่จริงเวลาอยู่ในห้องรโหฐานเป็นเวลาที่มีสมาธิมาก เขียนธัมมเขียนบันทึกเรื่องราวได้มาก ) ก็จะไม่ละเว้นการวิจัยวินิจฉัย ต้องทำให้มากอย่างนี้จึงจะเรียกได้ว่าทำความเพียรทุกลมหายใจ เมื่อจะแผ่เมตตาก็ทำให้มากเช่นนี้ทุกลมหายใจเช่นเดียวกัน อย่างที่เคยบอกไว้แล้ว คนมีสติกับคนเสียสติ มีพฤติกรรมเหมือนกันต่างกันแค่มีสตินำมาใช้ได้ ไม่มีสติหรือเสียสติก็นำไปใช้ไม่ได้ สติตั้งมั่นมุ่งตรงก็จะไม่เสียจริต ถ้าไม่ตั้งมั่นไม่มุ่งตรงก็จะเสียจริต คือฟั่นเฟือน

เช่นกันดั่งที่แสดงไว้แล้วทั้งหมดทั้งอักษรและเสียงพูด ทั้งหมดในนั้นจะสามารถรับรู้ได้ว่าหลวงตาเน้นเรื่องความบริสุทธิ์ ในบาลีว่าปริสุทธิ เช่น อันดับแรกศีลต้องรักษาให้บริสุทธิ์ หลวงตากล่าวเรื่องศีลห้า ศีลสองและศีลสี่ นี้เป็นเรื่องจริงจังมิได้กล่าวเลื่อนลอยเหมือนที่คนจำนวนมากไม่เข้าใจ

เทียบเคียงกับมนุสห้าแล้วจะเห็นได้ว่า ถ้าศีลห้าไม่บริสุทธิ์ก็จะก้าวขึ้นสู่มนุสมนุโสไม่ได้ เมื่อทำความเพียรจนเข้าใจสามารถเข้าถึงศีลห้าที่บริสุทธิ์ได้ จึงจะเข้าสู่ศีลสองคือมนุสเทโว ทำความเพียรจำเข้าใจเข้าถึงศีลสองนี้อย่างบริสุทธิ์จึงจะก้าวเข้าสู่การทำความเพียรเพื่อศีลสี่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ตราบที่ยังไม่สามารถก็ต้องทบทวนทำความเพียรซ้ำๆ วิปัสสนาจึงเป็นหัวใจสำคัญเพื่อให้เกิดปัญญาบริสุทธิ์ แล้วจึงนำไปสู่สมาธิบริสุทธิ์ นำไปสู่ช่องทางบริสุทธิ์อย่างนี้เป็นต้น

ฉะนั้น การฝึกฝนเพื่อที่จะเจริญสติเจริญสมาธิเพื่อที่จะเจริญปัญญาให้บริสุทธิ์ จนถึงความรู้ยิ่ง ( Perfect Knowing ) ก็มีขั้นตอนลำดับดั่งที่พระบรมสาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคตมได้แสดงไว้ดีแล้ว งดงามยิ่งแล้ว คือ " โพธิปักขิยธรรม ๓๗ประการ “ สิ่งนี้หลีกหนีไม่ได้ต้องดำเนินไปตามขั้นตอน จะสลับที่ สลับขึ้นไหนก่อนไหนหลัง ก็ขึ้นอยู่แต่บุคคลแล้วแต่จะโยนิโสฯ เอาเอง ทำอย่างที่กล่าวไว้แต่ต้น

เมื่อเข้าใจขั้นตอนแล้ว เชี่ยวชาญชำนาญแล้ว ในธัมมทั้งหลายในธรรมชาติทั้งหลาย การพิจารณาธัมมก็จะง่ายจะใช้อิริยาบทใดๆ ก็ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน ทำกิจล้วนขึ้นกับตัวเจ้าของจะวินิจฉัยจัดสรรเอาเอง ที่สำคัญในขั้นนี้คือ " ธรรมตรงหน้า " รู้ตามไม่รู้นำ ต้องฝึกขั้นนี้ให้มาก ให้รู้ตามเท่านั้น ไม่รู้นำด้วยมโนว่า " อ๋อ...อย่างนี้ อ๋อ...อย่างนั้น " ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่ายังไม่สัมมาสติ สติยังไม่บริสุทธิ์ ยังซัดส่ายไปหลายช่องทาง ต้องทบทวนทำความเพียรวิปัสสนาสติตนให้มาก ว่ามันฟุ้งกระจัดกระจายเพราะเหตุใด

ทำเมตตาจิตให้มาก อาศัยธรรมตรงหน้าทำจนเป็นวสี รื่นเริงลื่นไหลไม่ติดขัด ไม่นานจนช่ำชองชำนาญก็จะรู้จัก " เจโต " เพียรให้มากอาศัยเจโตนี้นำไปสู่ความเข้าใจในธรรมชาติทั้งปวง เพื่อทำความเข้าใจในธัมมทั้งหลายจนกระทั่งนำไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งปัญญาในอีกระดับหนึ่ง ถ้าฝึกอย่างจริงจังก็จะเข้าถึง " ปรมัตถธัมม " รู้และเข้าใจธัมมอันบริสุทธิ์ ธัมมอันเป็นปรมัตถ์ก็จะสามารถเข้าสู่ " เจโตวิมุตติ " และ " ปัญญาวิมุตติ " นี้คือ " อุภโตภาควิมุตติ " ที่พระพุทธสาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคตมสรรเสริญว่าเป็นธัมมอันประเสริฐยิ่งในธัมมทั้งปวง

ถ้าสามารถเข้าถึงวิมุตติสองนี้ ก็จะเข้าใจ " นิพพานสอง " ได้โดยไม่ยาก สอุปาทิเสสนิพพาน ๑ และ อนุปาทิเสสนิพพาน ๑

แนวทางการฝึก “ เจโตสมาธิอันมีนิมิต และ เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต “

 

#การฝึกเจโตสมาธิอันมีนิมิต

ฉะนั้น เมื่อหวังที่จะมีสุขอย่างสันติ หลวงตาก็ขอให้ท่านทั้งหลาย ทำเมตตาจิตให้ยิ่ง ให้เป็นนิสัย อย่าได้ว่างเว้น ทุกลมหายใจเข้าออกก็บอกกับตนเองว่า

" เมตตา เมตตา เมตตา สรรพสัตว์สรรพสิ่งจงอย่ามีเวรภัย จงเป็นไปตามกรรมของตนๆ "

ปรารถนาที่จะมอบให้ใครเป็นพิเศษก็นึกให้เห็นใบหน้าเขา ถ้านึกไม่ได้ไม่เห็นหน้า ก็ตีความได้ว่าหมดบุญต่อกัน ถ้ายังนึกได้ก็แผ่เมตตาไป

" ขอจงอย่ามีเวรภัยต่อกัน ขอจงอย่าเสื่อมจากลาภที่ได้แล้ว ขอจงเป็นไปตามกรรมของตนของตน "

อีกอย่างหนึ่งที่ตั้งใจที่จะกล่าวเสริมในเรื่อง ธรรมตรงหน้า หลวงปู่จะกล่าวสอนอยู่เป็นประจำเรื่องให้ทำเมตตาจิต โดยจะให้อุบายว่า ในเวลาที่จะกินข้าวปลาอาหาร ก็ให้ทำเมตตาจิตต่อสรรพสัตว์สรรพสิ่งที่เรามองเห็นอยู่ตรงหน้า ตามองที่จานข้าว ( ชาม อ่าง กะละมัง หรือภาชนะอื่นใดที่ใส่อาหารอยู่ตรงหน้า ) เห็นอะไรก็แผ่เมตตาไป เห็นชิ้นหมูในจานก็กระทำไว้ในจิตว่า

" หมูเอยเจ้าบุญน้อย เรามีกุศลขอเจ้าจงไปเกิดในที่ดีอย่ามีเวรภัยต่อกัน ไก่เอย...ฯ ปลาเอย...ฯ "

เห็นผักเห็นข้าวเห็นผลไม้ฯ ก็ให้นึกถึงชาวสวนชาวไร่ชาวนา แล้วก็แผ่เมตตาไปว่า

" ที่เราได้กินข้าวกินผักกินผลไม้นี้ ก็เพราะว่าท่านทั้งหลายทุ่มเทแรงกายใจปลูกมันขึ้นมา ขอท่านทั้งหลายจงมีความสุขจงพ้นจากทุกข์ภัยจงได้ดั่งใจปรารถนาเถิด "

กินน้ำก็ให้นึกถึง ไม่ว่าจะได้กินอะไรก็ให้นึกถึงแล้วก็แผ่เมตตาจิตไป ทุกคำข้าวได้ยิ่งดี กระทำอยู่อย่างนี้ให้ทุกบ่อยทุกบ่อยจนกระทั่งติดเป็นนิสัย อย่างนี้ก็เรียกว่าอยู่อย่างไม่มีทุกข์แล้วละ จะทำการกิจสิ่งใดก็เจริญรุ่งเรือง ลางคนเห็นการสอนอย่างนี้เป็นเรื่องไร้สาระ ทุกอย่างที่ได้มานั้นต้องเอาสตางค์ไปซื้อหามา ไม่ใช่ว่าได้มาเปล่าๆ ถ้าคิดอย่างนี้ก็อยู่อย่างมีทุกข์ไปตลอดชีวิตแหละ

การทำเมตตาจิตอยู่เป็นประจำจนติดเป็นนิสัย ไม่ว่างเว้นทุกมื้อข้าว ทุกครั้งคราวที่ได้คบเคี้ยวดื่มกิน ก็ได้ชื่อว่าอยู่อย่างไม่ว่างเว้นจากฌาน ตามคำสั่งสอนของพระพุทธศาสดาแล้วละ ถ้ายิ่งทำให้มากตลอดเวลาที่ทำการกิจ จะสวมใส่เสื้อผ้าก็ให้นึกถึงคนที่จัดหามาให้ นึกถึงคนที่ตัดเย็บ ไม่จำเป็นต้องรู้จัก แผ่เมตตาไปอย่างกว้างๆ เรียกว่า " อโนธิโส ผรณา เมตตา " คือการเจริญเมตตาไปทั่วทุกทิศไม่เจาะจง ทำอย่างนี้ แม้ผู้ที่เป็นคนตัดเย็บจัดหาย้อมผ้าถักทอก็ได้อานิสงส์ไปด้วย แม้จะตายไปแล้ว ถ้าเราบุญมากมีกำลังมาก ก็สามารถส่งไปถึงได้ อาจช่วยให้เขาพ้นทุกข์ภัยที่กำลังเกิดกับเขาได้

อย่างที่บอกการฝึก เราลองฝึกดูด้วยกฎเกณฑ์ง่ายๆ ไม่ยากนัก ก็อย่างที่อธิบายไปแล้ว ที่นี้เมื่อฝึกไปแล้ว มันก็จะมีบางช่วงบางตอน ที่เราไม่เข้าใจมันหรอกธรรมชาติ แต่ถ้าเราจะเข้าใจธรรมชาตินี้ให้มาก มันก็ไปยึดโยงคำว่าศีล ศีล ๕ ศีลมนุษย์นี้แหละ อยากเข้าใจศีลมนุษย์ละเอียดก็ต้องลองฝึกดู ฝึกอย่างไรละจึงจะละเอียด จึงจะรู้ จึงจะเข้าใจ ก็ต้องฝึกไปให้ถึงระดับหนึ่ง สูงขึ้นไปอีก คือสามารถที่จะรับรู้อารมณ์ที่เข้ามากระทบได้ คือทำให้เกิดจิตสัมผัสได้ จิตจะสัมผัสได้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะทำให้เราสามารถเจริญยิ่งขึ้นได้เรื่อยๆ มีฐานเอาไว้ก่อน การที่จะทำให้จิตเจริญขึ้นไปจนถึงจิตสัมผัสได้นั้น

พระพุทธเจ้าก็สอนเอาไว้แล้ว พระองค์ท่านสอนเอาไว้แล้วว่า

” เมตตายะภิกขะเว เจโตวิมุตติตายะ “ ภิกษุทั้งหลาย การทำเมตตาจิตให้มาก จะทำให้เกิดเจโตวิมุตติได้

การทำเมตตาจิตทุกคนก็ทำเป็น สรรพสัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อันนี้มันใช้ท่องธรรมดา แต่ถ้าจะทำให้เกิดสภาวธรรมเกิดขึ้น การทำเมตตาจิตมีลึกกว่านั้น ท่านก็มีบทเอาไว้ เมตตาใหญ่ลองไปดู ท่านกล่าวถึงสรรพสัตว์ สัตว์ประเภทไหนบ้าง ลำตัวละเอียด ลำตัวหยาบ ลำตัวสั้น ลำตัวยาว มีเท้า ไม่มีเท้า หรือว่ามีเท้ามาก สัตว์เหล่านี้เราต้องระลึกให้ได้ ก็อย่างที่บอก ธรรมชาติเป็นทุกข์ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ รู้ในสัณฐานและสังขาร ก็ต้องค้นหาธรรมชาติของสัตว์ทั้งหลายที่เราจะแผ่เมตตา

สัตว์ทั้งหลายเอาตั้งแต่เบื้องพื้นก่อน ที่เราอยู่นี้แหละ พื้นโลกพื้นปฐพีนี้แหละ ที่เราอยู่กัน ตรงนี้แหละที่เราทำการแผ่เมตตาไป ทำให้มาก ทำให้เยอะ ทำบ่อยๆ เจริญจิตบ่อยๆ รำลึกถึงบ่อยๆ การที่เรามีภาพนึกถึงสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น น้อมจิตเข้าไปที่จะแผ่เมตตาให้ การทำเช่นนี้ต่างหาก เราก็จะเกิดสภาวธรรมขึ้น คือ รับรู้สภาพจิตของสัตว์อื่น สัตว์อื่นในที่นี้หมายถึงสัตว์ในสามสิบเอ็ดภพภูมิ เรามีกรรมต่อกันมา เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ อย่าลืมเรื่องพวกนี้ เราอยู่ได้เพราะกรรม ฉะนั้นกรรมเหล่านี้คืออะไร ก็คือสัตว์ทั้งหลาย เป็นทั้งเจ้ากรรม เป็นทั้งนายเวร เป็นทั้งลูกหนี้ เป็นทั้งเจ้าหนี้ ถ้าเราทำการแผ่เมตตา ตั้งจิตน้อมเข้าไปเราก็จะรับรู้สภาพธรรมเหล่านั้นได้ สภาพธรรมเหล่านั้น

ถ้าแยกเป็นเรื่องกรรมวจี เราบอกว่าจิตคือความคิด ความคิดเป็นพลังงานใช่ไหม ความคิดของเรา คิดๆ concentrate มุ่งมั่นลงไปมากๆ มากเข้าพลังงานก็เกิดได้ ฉะนั้นจิตเป็นพลังงานรูปหนึ่ง มันมีอำนาจ สร้างรูปได้ ขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำ ลองทบทวนดู เราทำกรรมอะไรไว้ กรรมที่เราทำนั้น ทำอยู่บ่อยๆ บ่อยเข้าเป็นประจำ กรรมเหล่านั้นเป็นอาจิณกรรม มันก็เป็นรูปขึ้นมา ใช่ไหม มันสร้างรูปขึ้นมา มันสร้างรูปอะไร มันสร้างรูปแบบของกรรมที่เราทำ เพราะเราทำเป็นประจำ จนกระทั่งติดเป็นนิสัย เพราะฉะนั้น เมื่อมันสร้างรูปขึ้นมาได้ มีอำนาจ อำนาจอะไร ครอบงำไง เราก็ถูกความเคยชินเหล่านั้นครอบงำ ที่ไม่เคยทำ พอทำๆ ทำหนักเข้าก็เคยชิน ครอบงำเรา เมื่อครอบงำเรา เราก็ทำไปตามสิ่งเหล่านั้น เหตุเพราะว่ามันเป็นพลังแล้ว เป็นพลังงานชนิดหนึ่ง พลังงานมีเยอะแยะ เป็นรูปหนึ่งของมัน ความคิดความดำริคิดกระทำอยู่เป็นประจำ ลองเอาไปทบทวนดู

คราวนี้กลับเข้ามาเรื่อง การทำเมตตาจิต การทำเมตตาจิตก็อาศัยหลักการอย่างเมื่อกี้ที่บอกไว้ว่า การทำเมตตาจิตมีผลมาก พระพุทธเจ้าสรรเสริญการทำเมตตาจิต ไม่ใช่สักแต่ว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นสุขเป็นสุขเถิด ต้องน้อมจิตเข้าไปหาทุกเรื่อง จะกล่าวถึงใคร จะกล่าวถึงสิ่งใด ต้องน้อมจิตเข้าไป ถ้าสักแต่ว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นสุขเป็นสุขเถิด มันไม่ได้หรอก เพราะจิตไม่น้อม แต่ถ้าทำเจาะจงไปทีละข้อๆ ทีละเรื่องๆ สัตว์ใดที่มีกรรมต่อกันมา ก็จะมีพลังงานส่วนนั้นตอบสนองมา อันนี้ทำให้เราเกิดการสัมผัสได้ เป็นพลังจิตที่เราสัมผัสได้ เป็นจิตสัมผัส จิตสัมผัสเหล่านี้ทำให้เราเห็นภาพต่างๆ ที่เรียกว่า “ นิมิต “ อย่าเดา อย่าเพิ่งเหมา

ถ้าเราฝึกฝนมาในรูปแบบที่ถูกต้อง เราก็จะเข้าใจมัน ทำความเพียรบ่อยเข้าๆ ถามว่าบอกได้ไหมว่าเป็นอะไรบ้าง อย่างไรบ้าง ต้องลองทำดู ลองฝึกฝนดู แล้วสภาพธรรมเหล่านั้นก็จะเกิดขึ้นกับเรา อะไรกระทบเรา กำหนดรู้มัน หยิบสิ่งที่กำหนดรู้เหล่านั้นมาทำการวิเคราะห์แจกแจง อย่าสักแต่ว่า รู้หนอ เห็นหนอ ยินหนอ มันเท่ากับทิ้ง ทิ้งไปเปล่าๆ เสียเปล่า สภาวธรรมทั้งหลายที่เขามากระทบเราแล้ว เราก็ทิ้งไปเปล่าๆ มันไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้น

ความจริงแล้ว เราต้องหยิบธรรมตรงหน้ามาพิจารณา ธรรมตรงหน้าเห็นด้วยตาก็ได้ เห็นด้วยจิตก็ได้ ใช่ไหม มันก็คือการเห็นเหมือนกัน เมื่อเห็นด้วยจิต ธรรมเหล่านั้นคืออะไร หยิบขึ้นมาพิจารณา พิจารณาด้วยอะไร ด้วยสัณฐานและสังขาร หยิบมาค่อยๆ แกะ ค่อยๆ ถอดทีละส่วน ๆ แยกเป็นส่วนๆ ถ้ามันถูกส่วน มันตรงเป้าของมัน มันก็มีกุญแจ มันเหมือนกุญแจดอกหนึ่ง ถ้าเราวิเคราะห์เข้าไปเรื่อยๆ เข้าไปตรงจุดปั๊บ มันเป็นกุญแจดอกหนึ่งไปไขเอากรรมตัวนั้นออกมา มันไปเปิดหีบกรรม(สัญญา)ที่เราเคยสร้างไว้ออกมา ถ้ามันเปิดหีบกรรมนั้นออกมาเราก็จะรับสัมผัสนั้นได้

ที่กล่าวมาถึงตรงนี้เป็นแนวทางการฝึก เจโตสมาธิอันมีนิมิต

ทุกคนเมื่อเรามีโอกาสเป็นผู้ศึกษาเรียนรู้ เป็นมนุษย์มีศีล เมื่อเราสัมผัสได้ เราเป็นผู้ที่เข้าใจธัมมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ เราจึงเป็นผู้ที่ยอมรับสิ่งเหล่านั้น คำว่ายอมรับในที่นี้มันมีผลมากเลยนะ คือ สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ชำระจิตของเราให้บริสุทธิ์ผ่องใส การชำระจิตก็คือการที่เรายอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้นอย่างศิโรราบ แล้วเราทำการแก้ไข ถ้ามันเป็นสิ่งที่ผิดเราก็เลิกทำ แล้วก็ไม่ทำมันอีก สัมมัปปธาน ๔ นั้นแหละ หยิบขึ้นมาใช้ สิ่งใดที่เป็นสิ่งดีพยายามรักษาไว้ แล้วทำให้มาก สิ่งใดที่มันจะเป็นสิ่งเลว ไม่ดี ก็หยุดซะ แล้วพยายามไม่ไห้มันเกิดขึ้นอีก อันนี้ละ สัมมัปปธาน ๔ ง่ายๆ นะ หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนเรา มันมีองค์ประกอบอยู่ในนั้นทั้งหมดแหละ ทุกคำสั่งสอนของพระองค์มีองค์ประกอบหมด อยู่ที่เราจะหยิบมาวิเคราะห์ถอดออกหรือไม่ ถ้าเราถอดความสิ่งเหล่านั้นได้ออก เราก็จะกระทำได้ถูก ความเจริญที่จะเกิดขึ้นได้มาก ก็อยู่ที่เรา วิเคราะห์ได้มากน้อยแค่ไหน เราทำความเพียรมาก ความเข้าใจมาก ค่อยเป็นค่อยไป

พระพุทธเจ้าบอกแล้ว กล่าวสอนไว้แล้วว่า ผู้ที่มีบุญญาธิการมาก เจ็ดวันก็รู้เรื่อง ผู้มีบุญญาธิการน้อย เจ็ดอาทิตย์ เจ็ดเดือน เจ็ดปี ท่านถือว่าช้าที่สุดเจ็ดปี เจ็ดปีในที่นี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าต้องทำเพียร ทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่เข้าใจ ค่อยเป็นค่อยไป ภายในเจ็ดปีก็บรรลุผล ไม่ได้บรรลุผลเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี อะไรต่ออะไร อย่าไปฝันตรงนั้น อย่าไปใส่ใจมัน ถ้าทำเพื่อหวังสิ่งเหล่านั้นก็อย่าฝึกเลย นะ อย่าฝึกเลย ไปหาที่ๆ เขารับรอง คุณมาฝึกกับฉันแล้วได้เป็นอย่างนี้ๆ ไป ไปหาอย่างนั้น

การฝึกเราจะรู้ตัวเองว่ากิเลสเราลดลงมากน้อยแค่ไหน นี้ต่างหากที่เราปรารถนาว่า ความปรารถนาอยากของเราลดลงไหม กิเลสประกอบด้วยอะไรบ้าง ฉะนั้นถ้าเรารู้ตัวเราเองว่า เราดีขึ้น กิเลสเราลดลงก็ไม่ต้องไปลิงโลดดีใจ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงแค่พื้นๆ ฐานๆ เท่านั้นเอง การที่จะเข้าใจให้มากในการที่จะฝึกฝนเรื่องนี้ ก็อยากจะพูดถึงเรื่อง ธรรม ๑๐๘

#การฝึกเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต ( อนิมิตตเจโตสมาธิ )

ธรรม ๑๐๘ ประการ คำว่า ๑๐๘ นี้เราได้ยินมาเป็นประจำ บ่อยมาก แต่เราจะรู้ไหมว่าที่ไปที่มามันคืออะไร คำว่า ๑๐๘ อะไรก็ ๑๐๘ แล้ว ๑๐๘ มาจากอะไร ถ้าคนที่ศึกษาธัมมะมาบ้างก็จะรู้นะว่า คำว่าอายตนะก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็เข้าไปอยู่อีกส่วนคือ ใจ แล้วก็คู่กับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คืออะไร คือ รูป ตาคู่กับรูป ใช่ไหม สิ่งเหล่านี้ มันจะรวมกันได้ ๑๒ อย่าง อายตนะ๑๒ ภายใน ๖ ภายนอก ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ส่วนโผฏฐัพพะคืออะไร ก็คือการสัมผัส อาศัยกายเป็นตัวผัสสะ กระทบโดยตรง ตาก็กระทบรูป หูก็กระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบกับสัมผัสที่เป็นความรับรู้ได้ คือประสาทรับรู้ทั้งหมด ใจก็เป็นอารมณ์ทางธรรม ก็เป็น ๑๒ ตัว เมื่อ ๑๒ ตัวนี้รวมกันแล้ว มันยังมีองค์ประกอบตัวอื่นคือ กรรม กรรมมีอะไรบ้าง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อีก ๓ ตัว แล้วก็มีคำว่า กาล อดีต ปัจจุบัน อนาคต ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ อายตนะ ๑๒ นี้ ทำด้วยกาย กายกรรมก็เป็น ๑๒ ทำด้วยมโนกรรมก็อีก ๑๒ ทำด้วยวจีกรรมก็อีก ๑๒ ก็ได้ ๑๒ x ๓ เท่ากับ ๓๖ อย่าง แล้วก็ทำในอดีต ทำในปัจจุบัน ทำในอนาคต คูณไปอีก ๓ คือ ๓๖ x ๓ เป็น ๑๐๘ ที่ไปที่มา

ฉะนั้น เรื่องง่ายๆ แต่ต้องทำความเข้าใจ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันจะนำเราขึ้นสูงเรื่อยๆ มันจะสูงขึ้นนะ ทำความเข้าใจให้ได้ ถ้าเราไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราก็จะเจริญต่อไม่ได้ เราก็จะเจริญธรรม เจริญจิต เจริญกัมมัฏฐานไปในทางที่ผิด มันไม่ตรงเป้า เราเจริญกัมมัฎฐานเพื่อลดละกิเลส ไม่ได้เพิ่มพูน อย่าไปเพิ่มพูนมัน ฉะนั้น การทำเมตตาจิตจะกระทบจะรับรู้อารมณ์ รับรู้อารมณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบเรา เมื่อสักครู่เราบอกสัมผัสโดยตรงกับกาย ทีนี้อารมณ์หรือสภาวธรรมตัวอื่น ซึ่งเป็นพลังงานมากระทบเรา กระทบได้ทั้งนั้น กระทบได้ทางตา กระทบได้ทางหู กระทบได้ทางจมูก กระทบทางลิ้น กระทบทางกาย แล้วเข้าสู่ใจเรา คือเข้าสู่ความนึกคิด เป็นอารมณ์ ธรรมารมณ์ ถึงจะไปถอดรหัสเหล่านั้นออกมาได้ ถอดรหัสอย่างไร ก็โดยการดูจิตของสิ่งที่มากระทบเราว่าประกอบไปด้วยอารมณ์อะไร จิตประกอบด้วยอารมณ์ขุ่นมัว อารมณ์เศร้าหมอง อารมณ์เครียดแค้น อารมณ์ชิงชัง อารมณ์ดีใจ อารมณ์เสียใจ แล้วพิจารณาดูว่ามันเกิดจากสาเหตุกิเลสตัวไหนในใจเราตัวไหน ( ความโลภ ความโกรธ ความหลง ) เกิดมาได้อย่างไร แล้วจะดับอย่างไร พิจารณาอย่างนี้ ทำบ่อยๆ ให้เป็นวสี

ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้

“ จิตเศร้าหมองได้เพราะอุปกิเลสที่จรมา และจิตจะกลับผ่องแผ้วได้ก็ด้วยอุปกิเลสที่จรมานั้น “

วันนี้ หลวงตามีโอกาสมาตอบปัญหาธรรมต่างๆ ให้กับแอดมินเพจและเว็บมาสเตอร์ วัดป่าสุธัมมาราม เพื่อจุดประสงค์ให้แอดมินได้นำเอาคำตอบของหลวงตาขึ้นไปโพสต์เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ทั้งเพจวัดป่าสุธัมมาราม และเว็บไซท์วัดป่าสุธัมมาราม ( http://www.watpahsudhammaram.org )

ดี ท่านก็ทำหน้าที่ของท่าน หลวงตาก็ทำหน้าที่ของหลวงตา ทุกรูปทุกนามล้วนมีหน้าที่เป็นของตนที่ต้องกระทำให้สำเร็จลุล่วง ถ้าทำไม่สำเร็จก็ต้องกลับมาทำต่อจนจบนั่นแหละ จะเมื่อไรก็ตามอย่างไรก็ต้องทำ ฉะนั้น สมเด็จพระพุทธศาสดาจึงสอนไว้ไม่ให้การงานคั่งค้าง เพราะเหตุว่ามันจะทำให้จิตห่วง เมื่อห่วงก็ต้องหวนคิดถึง เมื่อคิดถึง ก็ต้องมาพบ ถ้าไม่ได้พบก็จะทุรนทุราย ที่สุดก็จะเศร้าหมองแล้วก็ต้องเอาจิตไปห่วง " ห่วงที่ไหนเกิดที่นั่น " สัตว์ทั้งหลายจึงเวียนตายเวียนเกิดอยู่ไม่รู้จบสิ้น จนกว่าจะเข้าใจ แล้วทำการงานไม่ให้คั่งค้าง จะได้ไม่มีห่วง จะได้ไม่มีที่ไป เมื่อไม่มีที่ไปคือไม่มีภพ ชาติก็ไม่มี ชราก็ไม่มี มรณะก็ไม่มี จึงนับได้ว่า การไม่ให้การงานคั่งค้าง เป็นเหตุสำคัญที่จะตัดภพ ตัดชาติ ตัดชรา ตัดมรณะได้

เห็นไหมว่า ธัมม นั้นง่าย ไม่ยากอย่างที่คิด ไม่ต้องตีความ ไม่ต้องใช้โวหาร ไม่ต้องสิ้นเปลืองเวร่ำเวลาอะไร ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่ อย่าให้คั่งค้าง เพราะมันจะเป็นห่วง เมื่อห่วงก็ทุกข์ เมื่อทุกข์ก็หมอง เมื่อหมองก็จิตไม่ผ่องแผ้ว ไม่ผ่องใส ที่ไม่ผ่องใส ก็เพราะอุปกิเลสที่จรเข้ามา ที่มันจรเข้ามาได้ ก็เพราะว่าจิตมันไม่ยอมวาง มันหวนเข้าไปหา เมื่อหวนเข้าไปหา ก็เท่ากับเปิดช่องให้ เมื่อคิดไม่ได้พิจารณาไม่ตก ไม่ขาด ก็ทุกข์ จะให้สิ้นทุกข์ หมดกังวล หมดห่วง ก็ต้องทำให้สิ่งที่ห่วงนั้นสิ้นไป พระพุทธศาสดาทรงสอนไว้ เป็นพุทธะสอน " จิตเศร้าหมองได้เพราะอุปกิเลสที่จรมา และจิตจะกลับผ่องแผ้วได้ก็ด้วยอุปกิเลสที่จรมานั้น "

ในเมื่อเป็นพุทธะสอน ก็ต้องนำมาพินิจพิจารณา ว่ามันจะหายหมองกลับผ่องแผ้วได้อย่างไร ในเมื่อมันห่วง มันทุกข์มันกังวล อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ว่าใครจะวางอุบายให้กับจิตตนอย่างไร มีมากมายหลายวิธี เหมือนเมื่อครั้งที่ฝึกฝนตนเองอยู่ ก็ด้วยพุทธะสอนนี่แหละ ไม่ต้องเพ่งเข้าไปดูนิมิต เพราะถ้าเพ่งเข้าไปดูนิมิตก็จะต้องค้นหาว่ามันมาจากเหตุอะไร กับใคร ที่ไหน ฯ เป็นเหตุให้เกิดภพ เมื่อภพเกิด ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ในปัจจุบันขึ้นมาทันที

ถ้าเราไม่สามารถทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราก็จะเจริญต่อไปได้ยาก คือไม่ถึงเป้าหมาย ฉะนั้น ความจำเป็นที่สุดจะต้องทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้ ถ้าจะมาแจกแจงให้ละเอียดคงต้องขอเวลามาอธิบายในโอกาสต่อไป แต่อันนี้จะมากล่าวโดยทั่วๆ ไป และสำหรับคนที่ได้รับรู้ได้ยินได้ฟังแล้ว นำไปประพฤติปฏิบัติ ด้วยปัญญาไม่ต้องมากนัก พอประมาณ ไม่คิดผิดทาง ก็จะทำความเข้าใจได้ง่าย ถ้าคิดผิดทางก็จะทำความเข้าใจได้ยาก อย่าดื้อ ลองปล่อยวางทุกสิ่งลง ลองเริ่มต้นใหม่ นับหนึ่งใหม่ หลวงตาเองก็เหมือนกัน ฝึกฝนมานานมาก มันไม่ได้อะไรเลย มันไม่เจริญ จนมาวันหนึ่ง ปล่อยวางทุกอย่างลง แล้วเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ฝึกไปตามที่พระพุทธเจ้าสอน ค่อยๆ คิด ค่อยๆ พิจารณา จนกระทั่งที่สุดเรากระทบกับสิ่งเหล่านี้ แต่มันก็ใช้เวลาเยอะนะ

หลวงตาใช้เวลาเยอะพอสมควร เมื่อทำความเข้าใจได้แล้วก็เอามาถ่ายทอด เอามาบอกต่อ เพราะได้ตั้งจิตอธิษฐานเอาไว้แล้วว่า รู้ธรรมใดก็จะบอกต่อ โดยไม่หวงแหน ไม่ปิดบัง และบอกต่อแล้วมีผู้ที่จะเรียนรู้ได้ศึกษามากน้อยแค่ไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับบุญญาธิการแต่ละคน หรือว่าการฝึกฝนของแต่ละคน ได้มากได้น้อยอย่างไรก็ลองดู ลองทำการฝึกฝนดูนะ

วันนี้ก็ได้เรื่องของการแผ่เมตตา แผ่เมตตาอัปปมัญญาก็ได้ไปเปิดดูเถอะ ไปดูบทแผ่เมตตาไปลองค้นคว้าการแผ่เมตตาดู แล้วก็เรื่องของ ธรรม ๑๐๘ หรือว่ากรรม ๑๐๘ ที่ไปที่มาของ ๑๐๘ มันมีอะไรบ้าง การกระทบของอารมณ์ สิ่งเหล่านี้มันเข้ามากระทบเราแล้ว มันเกิดเป็นสภาพอารมณ์ขึ้นมา หรือมันเกิดสภาพธรรมภายนอกมากระทบเรา จิตเราสัมผัสได้ สิ่งเหล่านี้จะนำเราไปสู่ฌาน ๕, , ๗ และ ๘ ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือวิปัสสนาทั้งสิ้นแหละ มันไม่ใช่ฌาน มันเป็นวิปัสสนา คือทำความเข้าใจว่าภาษาเรียกกับความเป็นจริงไม่เหมือนกัน ทั้งหมดมันต้องเป็นวิปัสสนาทั้งสิ้นแหละ เพียงแต่ว่าเบื้องต้นต้องมีสมาธิ คือมีจิตใจจดจ่อที่จะทำสิ่งเหล่านี้ แล้วก็เริ่มต้นค่อยๆ พิจารณา พิจารณาสิ่งต่างๆ ไปเรื่อยๆ และการพิจารณาสิ่งต่างๆ นั้นล่ะ เรียกว่า วิปัสสนา หยิบมันมาค่อยๆ คิด วินิจฉัย วิจัยมัน แล้วก็เก็บสะสมเป็นความรู้เป็นความเข้าใจ

วันนี้ก็ลองทบทวนดูว่าได้อะไรบ้าง แล้วก็ลองฝึกฝนดู

ในบทนี้ ก็ถึงซึ่งความบริบูรณ์ของการถ่ายทอดธัมมที่หลวงตาตั้งไว้แล้วว่าจะถ่ายทอดให้ ทุกท่านสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก ส่วนจะเข้าถึงได้นั้นต้องอาศัยความเพียร นั่นก็ขึ้นกับวาสนาคือสันดานที่ติดมาของแต่ละดวงจิต ฝึกได้ด้วยเริ่มต้นแก้ไขจิต อาศัยบทพิจารณาตนเองที่ให้ไว้แล้วเป็นแนวทางการฝึกฝน ก็จะไม่ใช่เรื่องยาก อาศัยตัวเจ้าของต้องมีสัมมาสัททา ไม่ช้าไม่สายก่อนตายก็ยังดี

บุญรักษา

หลวงตากิตติญาโณ

จบสมบูรณ์เวลา ๐๖:๕๐ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนสาม ปีกุล เป็นวันมาฆบูชา ข้าพระพุทธเจ้ากิตติญาโณ ( พระบัณฑูรย์ ฉัตรนะรัชต์ ) ขอถวายการถ่ายทอดธัมมนี้เป็นพุทธบูชา ในวันเสาร์ที่ ๘ เดือนกุมภาพันธ์ เป็นปีพุทธศักราชที่ ๒๕๖๓ ในประเทศไทย สยามประเทศพุทธภูมิที่พระพุทธองค์ได้ทรงดำเนินมาถึงแล้วในสมัยพุทธกาลของพระองค์สมเด็จพระสมณโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้าฯ