ผู้มีปัญญา พึงสร้างเกาะที่ห้วงน้ำท่วมทับทำลายไม่ได้ด้วยธรรม ๔ ประการ

อุฏฺฐาเนนปฺปมาเทน สญฺญเมน ทเมน จ

ทีปํ กยิราถ เมธาวี ยํ โอโฆ นาภีกีรติ

พระธรรมเทศนาสุภาษิตนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดแก่พระภิกษุทั้งหลาย โดยทรงปรารภปฏิปทาของพระจูฬปันถกเถระเป็นตัวอย่าง มีข้อความสั้นๆ ดังนี้

ผู้มีปัญญา พึงสร้างเกาะที่ห้วงน้ำท่วมทับทำลายไม่ได้ด้วยธรรม ๔ ประการ

คือ ความเพียร ๑ ความไม่ประมาท ๑ ความสำรวม ๑ ความฝึกตน ๑

เรื่องพระจูฬปันถกเถระ อันมีมาในคัมภีร์อรรถกถาพระธรรมบท ขุททกนิกาย อัปปมาทวรรคที่ ๒ แห่งพระสุตตันตปิฎก นับเป็นลำดับเรื่องที่ ๑๗ ในพระธรรมเทศนาสุภาษิตนี้อยู่ในกัณฑ์ที่ ๒ อรรถาธิบายว่า คำว่า เกาะในที่นี้ท่านหมายเอาพระอรหัตผล คำว่า ห้วงน้ำ หมายเอาห้วงน้ำคือกิเลส ซึ่งเรียกในคำบาลีว่า โอฆะ โอฆะที่แปลว่าห้วงน้ำคือกิเลสนั้นท่านสงเคราะห์ไว้ ๔ อย่าง เรียกว่า โอฆะ ๔ คือ ๑. กาโมฆะ ห้วงน้ำคือกาม อันได้แก่ความอยากได้ใคร่ดีในอารมณ์ต่างๆ ๒. ภโวฆะ ห้วงน้ำคือภพ อันได้แก่เจตนากรรมอันเป็นเหตุให้อยากเกิดในภพทั้งสาม ๓. ทิฏโฐฆะ ห้วงน้ำคือสักกายทิฏฐิ อันได้แก่ความเห็นผิด คือเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวเป็นตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลจริงๆ เป็นต้น ๔. อวิชโชฆะ ห้วงน้ำคืออวิชชา อันได้แก่ความไม่รู้จักสภาวธรรมตามเป็นจริง หรือไม่รู้จักปรมัตถธรรม โอฆะธรรมทั้ง ๔ นี้ เป็นเครื่องท่วมจิตใจของสรรพสัตว์ทั้งหลายผู้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ โอฆะ ๔ เป็นดุจดังมหาสมุทรสาคร จึงเรียกว่าห้วงน้ำ สัตว์ทั้งหลายที่เกิดๆ ตายๆ กันอยู่นี้ เป็นเสมือนคนที่แวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรสาครนั้น เพราะถูกห้วงน้ำทั้ง ๔ นี้ท่วมทับทำลาย จึงทำให้ทุกข์กันอยู่ตลอดชาติและตลอดไปทุกชาติทุกภพ และไม่ทราบว่าจะไปหมดทุกข์กันเมื่อใดไม่มีใครรู้ จึงเปรียบเสมือนคนที่แวกว่ายอยู่กลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ มองไม่เห็นฝั่งฝา และไม่มีเกาะแก่งที่จะพักพาอาศัย แม้ถึงเป็นดังนี้ ก็ไม่คิดที่จะสร้างแก่งไว้เป็นที่พึ่งอาศัย ด้วยอำนาจความเขลาไม่รู้เท่าทันตามสภาวธรรม

เพราะฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสสอนให้สร้างเกาะสร้างแก่งไว้เป็นที่พึ่งเสีย หมายถึงให้ลงมือประพฤติปฏิบัติธรรมจนให้ได้บรรลุถึงซึ่งอรหัตผล เหมือนอย่างพระจูฬปันถกเถระ พระอรหัตผลนั้นเป็นดุจเกาะแก่งกลางมหาสมุทรสาคร อันเกาะแก่งซึ่งอยู่กลางมหาสมุทรนั้น น้ำมหาสมุทรย่อมขึ้นท่วมทำลายไม่ได้ คนที่ขึ้นอาศัยอยู่บนเกาะแล้วน้ำก็ท่วมไม่ได้ฉันใด พระอรหัตผลนั้น ก็เช่นเดียวกัน เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมได้บรรลุถึงอรหัตผลแล้วห้วงน้ำกิเลสทั้งหลาย ๔ มีกาโมฆะเป็นต้นนั้น ย่อมท่วมทับจิตใจไม่ได้คือพ้นจากห้วงกิเลสแล้ว พระอรหันต์ย่อมไม่เกิดตายวนว่ายอยู่ในสังสารวัฏต่อไปอีก ทั้งนี้ก็เพราะได้เกาะคือพระอรหัตผลเป็นที่พึ่งแล้ว

สมเด็จพระบรมศาสดาทรงสอนให้สร้างเกาะด้วยธรรม ๔ ประการคือ ความเพียร ๑ ความไม่ประมาท ๑ ความสำรวม ๑ ความฝึกตน ๑ ตามพุทธโอวาทนี้ ประการแรกผู้ปฏิบัติจะต้องมีความพยายามในการปฏิบัติธรรม ถ้าเกียจคร้านแล้วก็ปฏิบัติธรรมไม่ได้ เมื่อตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่าจะลงมือปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างเกาะให้เป็นที่พึ่งแก่ตนแล้ว แต่นั้นพึงตั้งสติสำรวมกายวาจาไม่ให้ละเมิดองค์ของศีลตามเพศภูมิของตน แล้วใช้สติคอยกำหนดจับอารมณ์ในทวารทั้ง ๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การใช้สติกำหนดจับอารมณ์อยู่อย่างไม่พลั้งเผลอได้มีสติเกิดทันทุกๆอารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง ๖ นั้น เรียกว่าเป็นผู้ไม่ประมาทเพราะเป็นผู้มีสติปรากฏประจำอยู่ทุกทวารทุกวาระที่อารมณ์ผ่านมา อันเป็นลักษณะแห่งความไม่ประมาท อันได้แก่ความไม่อยู่ปราศจากสติ ต่อแต่นั้นก็พยายามใช้สตินั่นแหละคอยกำหนดอารมณ์ในทวารทั้ง ๖ เรื่อยๆ ไป ในขณะเดียวกันนั้น สัมปชัญญะอันเป็นตัวปัญญาก็จะแก่กล้าขึ้น รู้เท่าทันอารมณ์นั้นๆ ตามความเป็นจริง คือเห็นเป็นเพียงขันธ์ ๕ หรือรูปนาม หรือกายกับใจเท่านั้น ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลจริง ที่เรียกขานกันว่าสัตว์ ว่าบุคคลนั้น เป็นแต่เพียงสมมติกันขึ้นเท่านั้น เมื่อพยายามกำหนดไปพิจารณาไปโดยนัยนี้บ่อยๆ ไม่ยอมละเลิกความเพียร เรียกว่าฝึกตนหรือทรมานตนก็เรียก เมื่อฝึกไปทรมานไป ด้วยอาศัยกำลังคือความเพียรเป็นปัจจัย สติก็จะแก่กล้าคือว่องไว กำหนดทันกับจังหวะของอารมณ์นั้นๆ ได้ดีขึ้นจนไม่พลาดเลย สัมปชัญญะคือญาณก็จะแก่กล้าคือรู้แจ้งชัดต่ออารมณ์นั้นมากขึ้น จนเห็นพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แจ้งชัด เมื่ออินทรีย์ทั้ง ๕ คือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นไปโดยสม่ำเสมอกันแล้ว จิตของผู้ปฏิบัติธรรมก็จะสลัดทิ้งเสียซึ่งสังขารคือรูปนามที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาญาณอยู่นั้น โดยน้อมไปรับเอาพระนิพพานมาเป็นอารมณ์แทน ขณะที่จิตเปลี่ยนอารมณ์จากรูปนามไปรับเอานิพพานอารมณ์นั้น เป็นวาระแห่งการบรรลุมรรคบรรลุผลตามลำดับ ผู้ที่ได้บรรลุถึงพระอรหัตผลนั้น พระอรหัตมรรคญาณย่อมทำหน้าที่ประหารโอฆะทั้ง ๔ ให้สิ้นสูญไปอย่างเด็ดขาดแล้ว เพราะฉนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสสอนว่า

ผู้มีปัญญา พึงสร้างเกาะที่ห้วงน้ำท่วมทับทำลายไม่ได้ด้วยคุณธรรม ๔ ประการ

คือ ความเพียร ๑ ความไม่ประมาท ๑ ความสำรวม ๑ ความฝึกตน ๑

บุญรักษา