ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ คือ ปรโตโฆษะ๑ และ โยนิโสมนสิการ ๑

เมื่อวานนี้ ( วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ) หลวงปู่ได้สนทนาธัมมกับคุณต้น ( อดิศักดิ์ – แอดมินเฟสบุ๊ควัดป่าสุธัมมาราม ) เธอมีความข้องจิตติดสงสัยกับคำภาษาบาลีอยู่คำหนึ่ง " ปรโตโฆษะ "

 

เหตุปัจจัยที่จะให้ถึง " สัมมาทิฏฐิ " ( สัมมาทิฏฐิมีหลายระดับ ) เพื่อให้เข้าถึงธรรมชาติหรือเข้าถึงพระธัมมคำสอนของพระบรมครู มี ๒ คือ " ปรโตโฆษะ " ๑ และ " โยนิโสมนสิการ " ๑ ที่จะกล่าวนี้คือระดับ อุภโตภาควิมุตติ

 

ความหมายโดยการปฏิบัติของการโยนิโสมนสิการ หลวงตาได้อธิบายชี้แนะแล้วนานแล้ว คงจำได้และทำความเข้าใจกันแล้ว คือการที่จะพิจารณาสิ่งใดๆ ให้นำสิ่งนั้นธรรมชาตินั้น มาวางไว้ในจิตเพื่อการพิจารณา ถ้าหยิบมาวางไว้พิจารณาอยู่อย่างไม่ฉลาดก็จะโง่ดักดานตื้อตันแค่หญ้าปากคอก หญ้าเพียงเล็กน้อยก็สามารถปิดกั้นขวางทางได้ฉันใด การพิจารณาสิ่งใดๆ ธรรมชาติใดๆ ไปแบบตื้อตึงเอาแต่ดันทุรังไม่มีความรอบรู้คือขาด Perfect Knowing ขาดความรอบรู้อันเป็นปัจจัยเบื้องต้นของนักคิดนักพัฒนาก็จะคิดให้แทงตลอดไม่ได้ ต้องใช้อุบายปัญญาหาข้อเทียบในองค์ความรู้ที่มีอยู่มาวางเป็นไกด์ไลน์เพื่อการหาจุดเริ่มต้นซึ่งอาจล้มเหลว 359.59.59 ครั้งก็ได้ แต่ในเสี้ยวเศษสุดท้ายสามารถรวบรวมประมวลมาเป็นจุดเริ่มต้นใหม่เพื่อความสำเร็จถึงที่สุดก็คือ กรรมและบุญญาธิการ นี้คือการโยนิโสฯ

 

แล้ว " ปรโตโฆษะ " ละ คืออะไร เกี่ยวเนื่องกันแน่นอน ตามหลักปริยัตินั้น ก็หมายความตามที่เขาว่ากัน คือ สัมมาทิฏฐิ ( ความรู้รอบรอบรู้ในศาตร์แขนงต่างๆ ) อันเป็นบาทฐานของสัตว์ทั้งหลายที่จะสามารถประสพความสำเร็จในระดับต่างๆ

 

ส่วนการจะเข้าถึงพระธัมมคำสอนของพระบรมครู จะอาศัยเพียงปัญญาอันเป็นปุถุชนจากการศึกษาปริยัติ ไม่ทำความเพียรอย่างยิ่งยวดด้วยการปฏิบัติ ให้ถึงซึ่ง อุภโตภาควิมุตติ คือปัญญาวิมุตติ ๑ เจโตวิมุตติ ๑ ย่อมไม่ได้

 

โดยอาศัยพื้นฐานปัญญาจากปริยัติ ศึกษาจนถ่องแท้กระทั่ง " ปัญญาวิมุตติ " คือปัญญาบริสุทธิแล้ว แต่ยังไม่มีผู้รับรองค้านคัดดัดให้วิจิตร ย่อมไม่ใช่ที่ปรารถนาของเส้นทางสายเปลี่ยว

 

ผู้ปรารถนาทางสายเปลี่ยวย่อมต้องเข้าให้ถึง " วิมุตติ " สอง คือ ปัญญาวิมุตติ และ เจโตวิมุตติ หรือ " อุภโตภาควิมุตติ " ตามแนวทางสอนของพระบรมครู

 

อย่างที่บอก การยืนยันว่าสิ่งที่ร่ำเรียนมานั้นตรงไม่ผิดเพี้ยนไม่ทึกทักมโนเอาเองว่าบริสุทธิแล้ว ย่อมต้องอาศัยกัลยาณมิตรผู้ทรงคุณสูงสุดในโลกนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากยิ่งสิ่งเดียวในมนุสโลก ฉะนั้นที่สำคัญกว่าคือผู้ที่อยู่เหนือกว่า ผู้ที่อยูในโลกอื่น ( ปรโลก ) บุคคลหรือคณะบุคคลที่จะคอยคัด( ค้าน ) เห็นแย้ง ต่อต้านขืนขัด ฯ เหล่านี้ล้วนใช้ " ปร " นำหน้าทั้งสิ้น ( " ปะ “ คือ เห็นแย้ง คัดค้าน ต่อต้าน ทำลาย ทำให้ไม่สงบ ทำให้ไม่สมดุลย์ ไม่สมประกอบ ฯ เช่น ปะเกษตรในวิชาโหราศาสตร์ คือความไม่อุดม ทำให้ความอุดมเสื่อมถอย เช่นนี้เป็นต้น )

 

ฉะนั้น " ปรโต " คือผู้ที่เห็นแย้งเห็นต่างต่อต้านคัดกรองทำให้เปลี่ยนแปลง ฯ แล้วใครละที่จะมีความสามารถถึงเช่นนั้น ถ้าเชื่อและศรัทธาในพุทธสอน พระองค์ท่านได้รับคำยืนยันไว้แล้วโดยแยกเป็น ๒ ฝ่าย เทพฯ และ มาร ซึ่งได้รับเป็นผู้ดูแลพระธัมมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้อยู่อย่างสถาพรปลอดภัยในช่วงระยะเวลาห้าพันปีตามพุทธทำนาย แบ่งเป็น ๒๕๐๐ ปี ๑๒๕๐ ปี และ ๑๒๕๐ ปี ( ค้นคว้าต่อเอง )

 

" ปรโต " ไม่ได้หมายถึงผู้คัดค้านคัดกรองที่เป็นมนุสโลก แต่หมายเอาผู้อยู่ใน " ปรโลก " ที่ได้ " โฆษณา " หรือประกาศตนไว้แล้วว่าจะเป็นผู้ขอสืบทอดพระธัมมคำสอนต่อไป แม้กายจะแตกแล้วแต่ดวงจิตจะยังทรงพลังเพื่อสืบค้นผู้สืบต่อพระธัมมคำสอนของพระบรมครู พระบรมครูเรียกขานเป็นบัญญัติว่า " ปรโตโฆษะ " ท่านเหล่านี้คือกัลยาณมิตรที่แท้จริงถ่องแท้แล้ว

 

อย่าเชื่อ นี้เป็นการอธิบายให้แยกแยะทำความเข้าใจในคำสอนในพุทธบัญญัติ เพื่อผู้ที่มีความศรัทธาในคำสอนของพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้หาลู่ทางในการฝึกฝนทั้ง ปริยัติ และ ปฏิบัติ เพื่อเดินทางสายเปลี่ยว เข้าให้ถึงวิมุตติสองคือ อุภโตภาควิมุตติ ปัญญาวิมุตติ และ เจโตวิมุตติ

 

การเป็นผู้อาศัยพุทธสอนเป็นเครื่องมือประกอบความสำเร็จมีมากมายหลายหลาก สังคมใดใดในโลกมนุษย์นี้ย่อมมีหลากหลายปรารถนา สำเร็จบ้าง ไปได้ครึ่งๆ กลางๆ บ้าง ล้มเหลวบ้าง ล้วนขึ้นกับจิตตนและบุพกรรมและปัจจุบันกรรมเป็นเหตุของวัฏสงสาร ผู้บวชมากมายยังไม่ตายเพราะกายแตกก็รู้แล้วว่าจะต้องเดินทางไปสู่ปรโลกอันไม่เป็นสุขคืออบายภูมิ มี เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย และนรกภูมิอีกมากมายหลายร้อยขุม เหตุเพราะไม่ถ่องแท้ในธัมมเดินทางได้ครึ่งๆ กลางๆ ก็อหังการเสียแล้ว มีเยอะแค่เริ่มต้นก็เห็นความทะยานอยากแล้ว ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งลึกลง ลางท่านก็รู้ตัวทันเพราะฝักใฝ่ทำความเพียรจนเพี้ยนตั้งสติไม่ทันหลุดโลกไป ชะรอยแห่งบุญที่มี " ปรโตโฆษะ " ผู้เคยเป็นกัลยาณมิตรสกิดแกะให้ถึงได้กลับตัว แต่ก็เสียโอกาสในชาติภพปัจจุบัน ลางคนก็เลวแล้วเลวยาวแต่มองตัวเองไม่เห็น ไม่เคยมีกัลยาณมิตรทั้งทางโลกและปรโลก ไม่เคยแม้แต่จะรู้จัก " ปรโตโฆษะ " จึงสร้างทางสู่มหาอเวจีโลกันตนรก

 

ท่านทั้งหลาย " ศรัทธา " ต้องศึกษาค้นคว้า อย่าติดกับดักของโลกธรรม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข คือมหันตทุกข์ของนักบวช ดั่งคำสอนที่เปรียบเทียบนักบวชกับต้นไม้ โดยแบ่งออกเป็น ๕ ช่วงระยะ คือ

 

๑.เมื่อบวชใหม่เปรียบได้เช่นกิ่งใบที่ขจีงามเขียวทั้งต้น

 

๒.เมื่อรักษาศีลได้ไม่บกพร่องเปรียบได้ดั่งเปลือกไม้

 

๓.เมื่อฝึกฝนทำสมาธิจนแก่กล้าก็เปรียบได้ดั่งสะเก็ดไม้

 

๔.เมื่อทำความเพียรอย่างยิ่งยวดพิจารณาวิเคราะห์วิปัสสนาลดละกิเลส เปรียบได้ดั่งกระพี้ไม้

 

๕.เมื่อตั้งมั่นเข้าถึงวิมุตติ ๒ วิชชา ๓ เปรียบได้ดั่งแก่นไม้

 

บุญรักษา