เรื่อง พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา : กุมภโฆสกเศรษฐี

เกริ่นนำ

พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา นี้ รจนาเป็นภาษาไทยโดย สมเด็จพุฒาจารย์ ( อาจ อาสโภ ) ต่อมาหลวงปู่ได้มอบหมายให้เป็นผู้ทำการอีดิตแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมในเนื้อหาหนังสือเล่มนี้ แต่ในกาลต่อมาหลังจากหลวงปู่แก้ไขปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ได้จัดลงพิมพ์เป็นตำราหนังสือ หลวงปู่จึงขออนุญาตนำต้นฉบับที่หลวงปู่ทำการแก้ไขแล้วกลับมาเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังที่สนใจพระธรรมเทศนาบทนี้ได้เอาไปศึกษาต่อไป ผมจึงกราบขออนุญาตหลวงปู่นำต้นฉบับพระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา ฉบับนี้มาค่อยๆ ทยอยโพสต์ลงในเฟสบุ๊ควัดป่าสุธัมมารามในคราวต่อไป ( ต้นฉบับหนังสือพระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา ทั้งหมดได้อัพโหลดขึ้นไว้อยู่ในเว็บไซท์วัดป่าสุธัมมาราม สามารถเข้าไปดาวน์โหลดมาอ่านได้ที่ลิงค์ )

http://www.watpahsudhammaram.org/dmdocuments/patatkata.pdf

 

พระธรรมบทเทศนา

พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา

(๒) เรื่องกุมภโฆสกเศรษฐี [๑๖]

--------------------------

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสฺมพุทธสฺส

อุฏฐานวโต สตีมโต

สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน

สญฺญฺตสฺส จ ธมฺมชีวิโน

อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒตีติ.

 

บัดนี้ จะวิสัชนาพระธรรมเทศนาเรื่อง กุมภโฆสกเศรษฐี อันมีมาในคัมภีร์อรรถกถาธรรม บทขุททกนิกาย อัปปมาทวรรคที่ ๑๒ แห่งสุตตันตปิฎก นับเป็นลําดับเรื่องที่ ๑๖ เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลส่วนธรรมเทศนามัย และขอเชิญท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย จงตั้งใจสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาโดยโยนิโสมนสิการเป็นอันดี เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลบุณยนฤธี ส่วนธรรมสวนมัยสืบไป ณ บัดนี้ ดําเนินความว่า

 

สตฺถา เวฬุวเน วิหรนฺโต - สมัยหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จประทับพระอริยาบถอยู่ ณ วัดพระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร โดยทรงปรารภกุมภโฆสกเศรษฐีให้เป็นอุปบัติเหตุ ซึ่งมีเรื่องเล่าดังต่อไปนี้

 

ราชคหนครสฺมึ หิ ราชคหเสฏฺฐิโน - ก็ในกาลครั้งหนึ่ง อหิวาตกโรคได้เกิดระบาดขึ้นในบ้านของเศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์ในกรุงราชคฤห์นั้น เมื่ออหิวาตกโรคเกิดระบาดขึ้นนั้น สัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายตั้งต้นแต่แมลงวันจนกระทั่งถึงโคเกิดล้มตายลงก่อน ต่อแต่นั้นก็ลุกลามไปถึงพวกทาสและกรรมกรทั้งหลาย ฝ่ายพวกเจ้าของบ้านตายภายหลังเขาหมด เพราะฉะนั้น อหิวาตกโรคนั้น จึงได้ลุกลามไปติดท่านเศรษฐีกับภริยาภายหลังคนทั้งปวง ขณะที่ป่วยอยู่นั้น เศรษฐีกับภริยามองดูบุตรชาย ซึ่งยืนปฏิบัติอยู่ ณ ที่ใกล้ ๆ ด้วยหน่วยตาอันคลอด้วยน้ำตา สั่งบุตรชายว่า “ ลูกเอ๋ยได้ยินว่าเมื่อโรคนี้เกิดระบาดขึ้นแล้ว คนทั้งหลายที่ทําลายฝาเรือนหลบหนีไปย่อมรอดชีวิต เจ้าจงอย่าห่วงพ่อแม่ทั้งสองเลย จงหนีเอาตัวรอดเสีย เมื่อมีชีวิตจึงค่อยกลับมาใหม่ พ่อแม่ทั้งสองได้ฝังทรัพย์ไว้ในที่ตรงโน้นจํานวน ๔๐ โกฏิ เจ้าจงขุดเอาทรัพย์นั้นขึ้นมาเลี้ยงชีวิตเถิด “ ฝ่ายเศรษฐีบุตรครั้นได้ฟังคําแนะนําของมารดาบิดาดังนั้นแล้ว ก็ร้องไห้พลางกราบมารดาบิดา พลางกลัวเกรงแต่มรณภัยจะมาถึงตน จึงทําลายฝาเรือนหลบหนีไป แล้วไปอาศัยป่าใกล้ภูเขาอยู่ เป็นเวลาถึง ๑๒ ปี จึงได้กลับคืนมายังบ้านของมารดาบิดา ด้วยประการฉะนี้

 

อถ นํ ทหรกาเล คนฺตฺวา - ครั้งนั้นปรากฏว่าไม่มีใคร ๆ จําเขาได้เลย เพราะเขาไปแต่เวลายังเล็ก เมื่อกลับมาจนมีผมและหนวดเคราขึ้นรุงรังหมดแล้ว เศรษฐีบุตรได้ไปดูที่ฝังทรัพย์ตามเครื่องหมายที่มารดาบิดาได้บอกให้ไว้ ครั้นทราบว่าทรัพย์นั้นไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด จึงคิดพิจารณาดูว่า ไม่มีใครๆ จําเราได้สักคนหนึ่ง ถ้าเราจักขุดเอาทรัพย์ขึ้นมาใช้สอย คนทั้งหลายรู้ว่าเจ้าทุคคตบุรุษนี้ขุดค้นได้ทรัพย์ แล้วก็จะจับไปเบียดเบียน ถ้ากระไรเราทํางานรับจ้างเลี้ยงชีวิตดีกว่า เพราะฉะนั้น เขาจึงนุ่งผ้าเก่า ๆ ผืนหนึ่งเที่ยวถามไปว่าใครต้องการลูกจ้างบ้าง แล้วก็ไปถึงถนนหมู่บ้านนายจ้างพอดี ครั้งนั้น พวกนายจ้างเห็นเขาแล้วจึงถามว่า “ ถ้าเจ้าจักรับทํางานให้เราสักอย่างหนึ่ง เราก็จักให้ข้าวเป็นค่าบําเหน็จแก่เจ้า “ เศรษฐีบุตรถามว่า “ จะให้ผมทํางานอะไรครับ “ นายจ้างบอกว่า “ งานปลุกคนให้ตื่นและเตือนให้ทํางาน ถ้าเจ้าจักสามารถทําได้แล้ว จงลุกขึ้นแต่เช้ามืดแล้วเที่ยวไปบอกคนทั้งหลายว่า พ่อมหาจําเริญทั้งหลายจงหากินลุกขึ้นเถิด จงผูกเกวียน จงเทียมโค เวลานี้เป็นเวลาที่ช้างและม้าเป็นต้นจะไปกินหญ้าแล้ว แม่มหาจําเริญทั้งหลาย จงพากันลุกขึ้นเถิด จงพากันต้มข้าวยาคูและหุงข้าวเถิด “ เศรษฐีบุตรตกลงรับทํางานนั้น แต่นั้นนายจ้างจึงได้ให้เรือนเป็นที่อยู่ ณ ที่ใกล้ ๆ แก่เศรษฐีบุตรนั้นหลังหนึ่ง เศรษฐีบุตรก็ได้ลงมือปฏิบัติงานนั้น ทุก ๆ วันสืบมา ด้วยประการฉะนี้

 

อถสฺส เอกทิวสํ ราชา - อยู่ต่อมาภายหลังวันหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารพระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธ ได้ทรงสดับเสียงร้องปลุกมหาชนของเศรษฐีบุตรนั้น ก็พระเจ้าพิมพิสารนั้นทรงมีความรู้ลักษณะเสียงร้องของคนทั้งปวง เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระราชดํารัสว่า “ เสียงนั้นเป็นเสียงของคนมีทรัพย์ “ ขณะนั้นมีพระสนมของพระเจ้าพิมพิสารองค์หนึ่งประทับอยู่ ณ ที่ใกล้ ๆ นั้น ได้ทรงทราบพระราชดํารัส ดังนั้นจึงทรงดําริว่า “ นายหลวงคงจักไม่ทรงรับสั่งพล่อย ๆ ไป เราควรจะรู้เจ้าบุรุษเจ้าของเสียงนี้ให้จงได้ “ แล้วจึงทรงส่งมหาดเล็กคนหนึ่งไปสืบดูว่า “ พ่อมหาจําเริญเจ้าจงไปดูที่ จงรู้ว่ามันเป็นใคร “ มหาดเล็กรีบไปโดยเร็ว เห็นเศรษฐีบุตรนั้นแล้วกลับมากราบทูลว่า “ บุรุษนั้น คือคนกําพร้าที่ทําการรับจ้างของพวกนายจ้างคนหนึ่ง พระเจ้าข้า “ ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับตามที่มหาดเล็กกราบทูลรายงานแล้ว ก็ทรงนิ่งเสีย แต่แม้วันที่ ๒ และวันที่ ๓ ครั้นได้ทรงสดับเสียงของเศรษฐีบุตรนั้นแล้ว ก็ยังทรงมีพระราชดํารัสยืนยันอยู่เหมือนอย่างนั้น ฝ่ายพระสนมนั้น ก็ทรงดําริเหมือนอย่างนั้นแล้วทรงส่งมหาดเล็กไปดูแล้วดูอีก เมื่อมหาดเล็กกราบทูลยืนยันว่าเป็นคนกําพร้า จึงทรงตระหนักพระทัยว่า แม้นายหลวงจะได้ทรงได้ยินรายงานของมหาดเล็กว่า บุรุษเจ้าของเสียงนั้นเป็นคนกําพร้า พระองค์ก็ไม่ทรงเชื่อ ยังทรงมีพระราชดํารัสยืนยันอยู่บ่อย ๆ ว่า เสียงนั้นเป็นเสียงของคนมีทรัพย์มาก ในเรื่องนี้จะต้องมีเหตุอันสมควรแน่นอน ควรที่เราจะสอบสวนดูเรื่องนี้ให้ทราบตามความเป็นจริงให้จงได้ ครั้นแล้วจึงทรงกราบทูลพระราชาว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ หม่อมฉันได้ทรัพย์สักพันหนึ่งแล้ว จักพาพระธิดาไปทําให้ทรัพย์นั้นไหลเข้ามาสู่ราชตระกูลให้จงได้เพค่ะ “ พระราชาจึงได้ทรงรับสั่งให้พระราชทานทรัพย์แก่พระสนมนั้นไปพันหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้

 

สา ตํ คเหตฺวา - ฝ่ายพระสนมนั้นรับพระราชทานทรัพย์พันหนึ่งนั้นแล้ว ให้พระธิดาทรงนุ่งผ้าอย่างหมองหม่นผืนหนึ่ง แล้วพร้อมกับพระธิดานั้นออกจากพระราชมณเฑียรไปทําเป็นเหมือนคนเดินทาง ตรงไปยังถนนที่หมู่บ้านนายจ้าง เสด็จเข้าไปยังเรือนหลังหนึ่งแล้วทรงถามว่า “ คุณแม่เจ้าข้า พวกดิฉันเป็นคนเดินทางใคร่จะขอพักอาศัยอยู่ ณ ที่นี้สักวันสองวันแล้วก็จักไป เจ้าของบ้านตอบว่า “ แม่มหาจําเริญ คนในเรือนนี้มีมาก แม่ไม่อาจจะพักอยู่ในเรือนนี้ได้ นั่นบ้านของนายกุมภโฆสกว่างเปล่า เชิญพากันไปพัก ณ ที่นั้นเถิด “ พระสนมไปที่บ้านของนายกุมภโฆสกแล้วพูดว่า “ นายขา พวกดิฉันเป็นคนเดินทาง ใคร่ที่ขอกรุณาพักอาศัยอยู่ในบ้านของท่านนี้สักวันสองวันค่ะ “ แม้จะได้ถูกเศรษฐีบุตรนั้นปฏิเสธแล้วปฏิเสธเล่า ก็พยายามวิงวอนว่า “ นายขา พวกดิฉันจักขออาศัยอยู่สักวันเดียวเฉพาะวันนี้เท่านั้น แล้วจักไปแต่เช้ามืดทีเดียว “ แล้วก็ไม่ยอมออกไปจากบ้าน ครั้นพระสนมได้พักอาศัยอยู่ในบ้านของเศรษฐีบุตรนั้นแล้ว พอวันรุ่งขึ้นเวลาที่เศรษฐีบุตรจะไปทํางานในป่า พระนางได้ทรงออดอ้อนว่า “ นายขา กรุณาให้ค่าอาหารของนายไว้แล้วจึงไป ดิฉันจะจัดปรุงอาหารไว้ให้นายเจ้าข้า “ เมื่อเศรษฐีบุตรนั้นปฏิเสธว่า “ อย่าเลยแม่คุณ ฉันจะหุงหารับประทานเองโดยลําพัง “ พระนางก็ตามรบเร้าบ่อย ๆ พอรับเอาค่าอาหารที่เศรษฐีบุตรนั้นให้แล้ว ก็ไปจ่ายเอาโภชนะและข้าวสารชนิดที่ ๑ เป็นต้นมาจากร้านตลาด แล้วก็หุงข้าวสุกอย่างละมุนละไม ทํากับข้าวอย่างอร่อย ๒-๓ อย่างตามแบบที่ปรุงในพระราชวัง เมื่อเศรษฐีบุตรกลับมาจากป่าแล้วก็จัดให้รับประทานทันใดนั้น พระสนมครั้นทรงทราบว่าเศรษฐีบุตรนั้นได้รับประทานอาหารที่มีโอชารสแล้ว ก็ถึงความเป็นผู้มีจิตใจอ่อน จึงฉวยโอกาสพูดวิงวอนว่า “ นายขาพวกดิฉันยังบอบช้ำจากกรเดินทางอยู่ ขอความกรุณาอยู่ในบ้านของนายนี้อีกสักวันสองวันเถิด “ เศรษฐีบุตรก็รับคําให้พักอาศัยอยู่สมความปราถนา ด้วยประการฉะนี้

 

อถสฺส สายมฺปิ ปุนทิวรสํ - แม้ในวันรุ่งขึ้นเวลาเย็นพระสนมก็ได้ปรุงแต่งอาหารอย่างอร่อยไว้ให้เศรษฐีบุตรนั้นอีก และครั้นรู้ว่าเศรษฐีบุตรมีจิตอ่อนจึงฉวยโอกาสวิงวอนอีกว่า “ นายขา พวกดิฉันขอความกรุณาพักอาศัยอยู่ ณ ที่นี้อีกสัก ๒ - ๓ วัน เจ้าข้า “ เมื่อพระสนมพักอยู่ที่บ้านนั้น ได้เอามีดอย่างคมเลาะขอบเตียงของเศรษฐีบุตรภายใต้ไม้แคร่ ณ ที่นั้น ๆ ไว้ เมื่อเศรษฐีบุตรกลับมา พอขึ้นนั่งเตียงก็ได้ห้อยหย่อนลงไปข้างล่าง เศรษฐีบุตรจึงถามว่า “ เพราะเหตุไรเตียงนี้มันจึงได้ขาดหย่อนลงไปอย่างนี้ ? พระสนมตอบว่า “ นายขา ดิฉันไม่อาจที่จะห้ามพวกเด็กเล็ก ๆ มันพากันมารวมกลุ่มเล่นอยู่ ณ ที่ตรงนี้ “ เศรษฐีบุตรจึงบ่นว่า “ แม่มหาจําเริญ ความลําบากนี้ได้เกิดขึ้นแก่ฉันเพราะอาศัยพวกเจ้าแท้ ๆ เพราะเมื่อก่อนฉันจะไปไหน ๆ ปิดประตูแล้วก็ไป “ พระสนมตอบว่า “ จะทําอย่างไรได้เล่าพ่อคุณ ดิฉันไม่อาจจะห้ามพวกเด็ก ๆ ได้ “ แล้วก็เอามีดเลาะขอบเตียง ๒ - ๓ วัน โดยทํานองนั้น แม้จะถูกเศรษฐีบุตรบ่นตําหนิติเตียนว่ากล่าวอยู่ ก็โต้ตอบออกตัวเหมือนอย่างเดิม แล้วเลาะเชือกผูกเตียงอีก เหลือไว้เพียงเส้นสองเส้นเท่านั้น วันนั้นพอเศรษฐีบุตรนั่งเท่านั้น ขอบเตียงทั้งหมดก็หลุดตกลงไปถึงพื้น ทําให้ศีรษะของเศรษฐีบุตรได้จรดกันกับเข่าทั้งสอง เศรษฐีบุตรลุกขึ้นได้ก็บ่นว่า “ จะทําอย่างไรกัน บัดนี้ฉันจะไปนอนที่ไหน เจ้าทั้งสองแม่ลูกทําให้ฉันไม่มีเตียงนอน “ พระสนมทรงปลอบใจว่า “ จะทําอย่างไรได้พ่อมหาจําเริญ ดิฉันไม่กล้าที่จะห้ามพวกเด็ก ๆ ซึ่งคุ้นเคยกัน ช่างเถิด แล้วไปแล้วก็แล้วไป นายอย่าคิดมากไปเลย เวลานี้จักไปที่ไหนกัน “ ครั้นแล้วจึงทรงเรียกพระธิดามารับสั่งว่า “ แม่หนู เจ้าจงให้โอกาสแก่พี่ชายเจ้านอนด้วย ฝ่ายพระธิดานอนติดไปข้างทางหนึ่งแล้วรับสั่งว่า “ เชิญมานอนตรงนี้เถิดนาย “ ส่วนพระสนมก็รับสั่งเสริมว่า “ ไปซี พ่อมหาจําเริญ ไปนอนกับน้องสาวโน้น “ เศรษฐีบุตรนั้นได้ขึ้นนอนบนเตียงเดียวกันกับพระธิดานั้น และได้ทําความสันถวะสมัครรักใคร่กันในวันนั้น นั่นเทียว ฝ่ายพระธิดาได้เกิดทรงกรรแสงขึ้น ขณะนั้น พระมารดาจึงรับสั่งถามว่า “ แม่หนูเจ้าร้องไห้ทําไมกัน “ พระธิดาทูลว่า “ คุณแม่ค่ะ เหตุนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว “ พระมารดารับสั่งว่า “ ช่างเถิดแม่ ใครจะมากล้าทําอะไรได้ การที่เจ้าได้ชายคนหนึ่งเป็นสามีก็ดี การที่พ่อกุมภโฆสกนี้ได้หญิงคนหนึ่งเป็นภริยาก็ดี ย่อมเป็นการสมควรแล้ว “ พระนางได้ทรงเสกสรรปั้นแต่งนายกุมภโฆสกนั้นให้เป็นพระราชบุตรเขยด้วยอาการดังนี้ นายกุมภโฆสกและพระธิดาก็ได้อยู่เป็นคู่ครองกันด้วยความสมัครใจ ด้วยประการฉะนี้

 

สา กติปาหจฺจเยน รญฺโญ - โดยกาลล่วงมาได้สัก ๒-๓ วัน พระสนมนั้นได้ทรงส่งสาส์นไปกราบทูลแด่พระเจ้าพิมพิสารว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดให้ทําการประกาศว่า ประชาชนที่อยู่ถนนคนจ้าง จงพากันมีงานมหรสพ ก็บ้านของใครไม่ได้มีงานมหรสพ คนนั้นจะได้ถูกลงอาชญ์เท่านี้ “ พระราชาได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศไปเหมือนอย่างนั้น ครั้งนั้น พระสนมทรงดํารัสกับนายกุมภโฆสกว่า พ่อมหาจําเริญ ประชาชนจําที่จะต้องทํางานมหรสพที่ถนนคนจ้างตามพระราชบัญชา เราจะทําอย่างไร “ นายกุมภโฆสกพูดว่า “ คุณแม่ครับ แม้แต่ผมทํางานรับจ้างอยู่ก็เกือบจะเอาชีวิตไปไม่รอด จักให้ผมทําอย่างไร “ พระสนมทรงแนะนําว่า “ พ่อมหาจําเริญ ธรรมดาคนอยู่ครองบ้านเรือนก็ย่อมจะกู้หนี้ยืมสินบ้าง ที่จะไม่ทําตามพระราชบัญชานั้นเป็นอันไม่ได้ เราอาจจะปลดเปลื้องหนี้สินได้ด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง พ่อมหาจําเริญ เจ้าจงไปไปขอยืมทรัพย์มาสัก ๑ กหาปณะหรือ ๒ กหาปณะแต่ที่ไหน ๆ สักแห่งหนึ่งเถิด “ นายกุมภโฆสกบ่นอู้อี้อุบอิบพลางก็เดินไป แล้วไปเอาทรัพย์จากที่ฝังไว้ ๔๐ โกฏินั้นมาเพียงกหาปณะเดียวเท่านั้น ฝ่ายพระสนมทรงส่งกหาปณะนั้นไปถวายพระเจ้าพิมพิสารเสีย แล้วเอากหาปณะส่วนของพระองค์ทํางานมหรสพ ครั้นโดยกาลล่วงมาสัก ๒ - ๓ วัน พระนางก็ได้ทรงส่งสาส์นไปกราบทูลพระราชาเหมือนครั้งก่อนอีก พระราชาก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดบัญชาไปอีกว่า ประชาชนจงพากันมีงานมหรสพ เมื่อใครไม่ได้ทํามหรสพจะได้รับพระราชอาชญ์ประมาณเท่านี้ ฝ่ายกุมภโฆสกเมื่อถูกพระสนมทรงรับสั่งรบเร้าเบียดเบียนเหมือนครั้งก่อนอีก ก็ได้ไปเอาทรัพย์มาให้ ๓ กหาปณะ ส่วนพระสนมได้ทรงส่งกหาปณะทั้งหมดแม้นั้นไปถวายพระราชา ครั้นกาลล่วงมาได้สัก ๒ - ๓ วัน พระนางได้ทรงส่งสาส์นไปกราบทูลพระราชาอีกว่า “ คราวนี้ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดส่งราชบุรุษทั้งหลายมาเชิญเอานายกุมภโฆสกนี้เข้าไปเฝ้าเถิดเพค่ะ “ ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารก็ได้ทรงส่งราชบุรุษทั้งหลายไปเชิญตัวนายกุมภโฆสก พวกราชบุรุษไปถึงถนนคนจ้างนั้นแล้ว เที่ยวถามหาไปว่า “ คนไหนที่ชื่อกุมภโฆสก “ ครั้นพบนายกุมภโฆสกแล้วจึงบอกว่า “ ท่านผู้เจริญ ขอเชิญท่านไป นายหลวงทรงรับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้า ฝ่ายนายกุมภโฆสกพอได้ทราบดังนั้นก็ตกใจกลัว จึงพูดอิดเอื้อนเป็นต้นว่า “ นายหลวงไม่ทรงรู้จักข้าพเจ้าแล้วก็ไม่ปราถนาอยากจะไปเฝ้า “ ขณะนั้นพวกราชบุรุษจึงพากันเข้าฉุดนายกุมภโฆสกที่มือเป็นต้นด้วยพลการ ฝ่ายพระสนมทรงเห็นดังนั้น จึงทรงทําเป็นที่ตำหนิพวกราชบุรุษเหล่านั้นว่า “ เฮ้ย ! เจ้าพวกหน้าด้านพวกเจ้าไม่สมควรที่จะเข้ายึดมือเป็นต้นของบุตรเขยของข้า “ แล้วทรงรับสั่งปลอบใจนายกุมภโฆสกว่า “ มาเถิด พ่อมหาจําเริญ เจ้าอย่าเกรงกลัวเลย ฉันเข้าเฝ้านายหลวงแล้วจักกราบทูลให้ทรงตัดมือของพวกที่เข้ายึดมือของเจ้าเป็นต้นให้จงได้ “ ครั้นทรงปลอบดังนั้นแล้ว ก็ทรงพาพระธิดาล่วงหน้าไปก่อน ครั้นถึงพระราชมณเฑียรแล้ว ก็ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงประดับแต่งองค์ด้วยเครื่องประดับอย่างครบชุด แล้วได้เฝ้าอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ฝ่ายนายกุมภโฆสกนั้น พวกราชบุรุษก็ฉุดนําตัวไปจนถึงที่เฝ้า ด้วยประการฉะนี้

 

อถ นํ วนฺทิตวา ฐิตํ ราชา - ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงรับสั่งถามนายกุมภโฆสก ขณะที่เขาถวายบังคมแล้วยืนเฝ้าอยู่ว่า “ เจ้าหรือที่ชื่อว่ากุมภโฆสก “ นายกุมภโฆสกกราบทูลว่า “ ใช่แล้ว พระพุทธเจ้าข้า “ พระราชาตรัสถามว่า “ เพราะเหตุไร เจ้าจึงลวงทรัพย์ไว้บริโภคเป็นอันมากเล่า ? นายกุมภโฆสกกราบทูลปฏิเสธว่า “ ทรัพย์ของข้าพระพุทธเจ้ามีที่ไหนพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทำการรับจ้างเลี้ยงชีพ “ พระราชาตรัสเน้นว่า “ เจ้าอย่าทําอย่างนั้นเลย จะลวงข้าไปทําอะไร “ นายกุมภโฆสกยังกราบทูลปฏิเสธอยู่ว่า “ ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ลวง พระพุทธเจ้าข้า ทรัพย์ของข้าพระพุทธเจ้าไม่มีจริง ๆ “ ทันใดนั้น พระราชาจึงทรงเอากหาปณะของนายกุมภโฆสกเหล่านั้นออกมาแสดง แล้วทรงรับสั่งถามว่า “ กหาปณะเหล่านี้เป็นของใครเล่า ? “ นายกุมภโฆสกเห็นกหาปณะเหล่านั้นแล้วจําได้ จึงเกิดประหลาดใจว่า “ โอ ! เราฉิบหายแล้ว กหาปณะเหล่านี้มันมาถึงพระหัตถ์ของนายหลวงได้อย่างไรหนอ ? ครั้นมองไปข้างโน้นข้างนี้ก็ได้เห็นพระสนมกับพระธิดาทั้งสองนั้นประดับตกแต่งองค์ประทับยืนอยู่ ณ ที่ใกล้ประตูห้อง จึงคิดว่า “ ตายจริง หญิงสองคนแม่ลูกนี้เห็นจะเป็นเรื่อง นายหลวงทรงแต่งไปลวงเราแน่ “ ขณะนั้นพระราชาได้ทรงรับสั่งถามนายกุมภโฆสกว่า “ พ่อมหาจําเริญ พูดตามความจริงซิ เพราะเหตุไรเจ้าจึงได้ทําอย่างนั้น ? “ นายกุมภโฆสกกราบทูลว่า “ ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีที่พึ่ง พระพุทธเจ้าข้า “ พระราชาตรัสว่า “ คนอย่างฉันเป็นที่พึ่ง ไม่มีหรือ ? นายกุมภโฆสกกราบทูลว่า “ เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงที่สุด พระพุทธเจ้าข้า ถ้าพระองค์จะทรงพระกรุณาเป็นที่พึ่งของข้าพระพุทธเจ้า “ พระราชาตรัสว่า “ เราจะรับเป็นที่พึ่งพ่อมหาจําเริญ ทรัพย์ของเจ้ามีจํานวนสักเท่าไรเล่า ? นายกุมภโฆสกราบทูลว่า “ มี ๔๐ โกฏิ พระพุทธเจ้าข้า “ พระราชาตรัสถามว่า “ ได้อะไรไปขนมาจึงจะดี “ นายกุมภโฆสกกราบทูลว่า “ ได้เกวียนเป็นดี พระพุทธเจ้าข้า “ พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงรับสั่งให้เทียมเกวียนขึ้นหลายร้อยเล่ม แล้วทรงส่งไปให้บรรทุกเอาทรัพย์นั้นมา แล้วทรงรับสั่งให้กองไว้ที่พระลานหลวง ทรงรับสั่งให้ประชุมชาวพระนครราชคฤห์ แล้วตรัสถามว่า “ ทรัพย์จํานวนเท่านี้ในพระนครนี้ของใครมีบ้างหรือ ? เมื่อชาวพระนครกราบทูลว่า “ ไม่มีพระพุทธเจ้าข้า “ จึงตรัสถามว่า “ จะทําอย่างไรแก่นายกุมภโฆสกนั้นจึงจะสมควร “ เมื่อชาวพระนครกราบทูลแนะว่า “ ควรทําสักการะแก่เขาจึงจะสมควร พระพุทธเจ้าข้า “ จึงทรงแต่งตั้งนายกุมภโฆสกนั้นไว้ในตําแหน่งเศรษฐีด้วยเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ แล้วได้พระราชทานพระธิดาของพระสนมนั้นให้แก่กุมภโฆสกเศรษฐี ครั้นแล้ว ก็ได้เสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดาพร้อมด้วยกุมภโฆสกเศรษฐีนั้น ทรงถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า “ ข้าแต่สมเด็จพระพุทธองค์ ขอจงทรงทอดพระเนตรดูบุรุษคนนี้เถิด คนเจ้าปัญญาเห็นปานดังนี้ย่อมไม่มี แม้ถึงเขาจะมีสมบัติตั้ง ๔๐ โกฏิ ก็ไม่ทําอาการเย่อหยิ่งหรือเหตุสักว่าความถือตนถือตัว ทําเป็นเหมือนคนกําพร้านุ่งผ้าเก่า ๆ ทําการรับจ้างเลี้ยงชีพอยู่ที่ถนนคนจ้าง หม่อมฉันจะรู้จักเขาได้ก็โดยใช้อุบายอย่างนี้ แล้วให้เชิญตัวเขามาให้รับสารภาพถึงความเป็นคนมีทรัพย์ ให้ไปขนเอาทรัพย์มาแล้วตั้งเขาไว้ในตําแหน่งเศรษฐี แม้หม่อมฉันก็ได้ยกพระธิดาให้เขาคนหนึ่ง คนเจ้าปัญญาเห็นปานดังนี้ หม่อมฉันไม่เคยเห็นเลย พระพุทธเจ้าข้า “

 

ตํ สุตฺวา สตฺถา – ฝ่ายสมเด็จพระบรมศาสดา ครั้นได้ทรงสดับพระราชดํารัสของพระเจ้าพิมพิสารที่ทรงกราบทูลดังนั้นแล้ว ได้ตรัสประทานพระพุทธโอวาทว่า “ ดูก่อนมหาบพิตร ความเป็นอยู่ของคนผู้เลี้ยงชีพอยู่เหมือนอย่างกุมภโฆสกเศรษฐีนั้น ชื่อว่าความเป็นอยู่โดยชอบธรรม ส่วนการงานเช่นโจรกรรมเป็นต้น ย่อมส่งผลบีบคั้นเบียดเบียนตนเอง ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ขึ้นชื่อว่าความสุขอันมีโจรกรรมเป็นต้นนั้น เป็นเหตุให้เกิดย่อมไม่มี เพราะว่าในคราวที่คนหมดสิ้นทรัพย์แล้ว ทําการกสิกรรมหรือทําการรับจ้างเลี้ยงชีวิตนั่นแล ชื่อว่าเป็นอยู่โดยชอบธรรม จริงอยู่ ความเป็นใหญ่ย่อมเจริญอย่างแน่นอนแก่คนผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียร ถึงพร้อมด้วยสติ มีการงานทางกายและวาจาสะอาด ใคร่ครวญด้วยปัญญาแล้วจึงทํา ผู้สํารวมระวังกายวาจาใจ เลี้ยงชีพอยู่โดยชอบธรรม ดํารงอยู่ในความไม่ประมาท “ ครั้นแล้ว ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารและกุมภโฆสกเศรษฐีเป็นต้น ด้วยพระพุทธนิพนธคาถาเป็นปัจฉิมพจน์ ดังนี้ -

 

อุฏฐานวโต สตีมโต

สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน

สญฺญฺตสฺส จ ธมฺมชีวิโน

อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ.

ยศคือความเป็นใหญ่ และความสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ

หรือการสรรเสริญเกียรติคุณย่อมเจริญยิ่ง ๆ แก่บุคคลผู้มีความ

ขยันหมั่นเพียร ผู้มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วจึงทํา

ผู้สํารวมระวัง เลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม และไม่ประมาท.

 

กุมภโฆสกเศรษฐี ส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนาโดยโยนิโสมนสิการเป็นอันดี ในเวลาจบพระธรรมเทศนาพุทธนิพนธคาถา ก็ได้ดํารงอยู่ในโสดาปัตติผล แม้คนเหล่าอื่นเป็นอันมากก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้น โดยสมควรแก่อุปนิสัยของตน ๆ พระธรรมเทศนาครั้งนั้น ได้สําเร็จเป็นประโยชน์แก่มหาชนเป็นอันมาก ด้วยประการฉะนี้แล

 

จบนิทาน

 

ลําดับนี้ จะได้วิสัชนาอรรถธิบายความในท้องนิทานและในพระธรรมเทศนาพุทธนิพนธคาถา โดยอาศัยหลักอรรถกตนัย และโดยอัตตโนมัตยาธิบาย เพื่อเฉลิมเพิ่มเติมสติปัญญา ฉลองศรัทธาบารมีเพิ่มพูนกุศลบุญภราษี ส่วนธรรมสวนมัยแก่สาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายสืบต่อไป

 

ในนิทานเรื่องนี้ ตอนต้นส่อให้เราได้ทราบความเป็นอยู่ของคนสมัยพุทธกาลโน้นว่า การแพทย์ทางรักษาอหิวาตกโรคยังไม่เจริญเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ เพราะว่า แม้คนถึงขนาดเศรษฐี เช่น เศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์พร้อมทั้งภริยา ซึ่งเป็นมารดาบิดาของกุมภโฆสกเศรษฐี ก็ยังจนปัญญาต้องยอมตายด้วยอหิวาตกโรคที่เกิดระบาดขึ้นในครั้งนั้น ส่วนกุมภโฆสกเศรษฐีผู้บุตรนั้นที่รอดชีวิตมาได้เพราะหลบหนีไป ซ่อนตัวอยู่ในป่าถึง ๑๒ ปี โรคอหิวาตก์นี้นั้น ได้แก่โรคลงราก มีพิษรุนแรงและขยายตัวลุกลามไปได้อย่างรวดเร็วเหมือนพิษงูพิษ สมัยโบราณเมื่อการแพทย์ยังไม่เจริญ ไม่รู้วิธีที่จะป้องกันอย่างไรนั้น เมื่อโรคนี้เกิด ระบาดขึ้นที่ตําบลใด ประชาชนต้องพาลูกพาหลานอพยพหลบหนีไปซ่อนอยู่ในป่าอันห่างไกล และห้ามมิให้ คนไปมาติดต่อกัน จึงจะรอดพ้นจากโรคได้ ในชีวิตของผู้รจนาหนังสือนี้ เมื่อยังเป็นเด็กขนาด ๑๐ ขวบปี เคยได้ประสบกับอหิวาตกโรคนี้มาครั้งหนึ่ง หมู่บ้านตั้ง ๕๐๐ หลังคาเรือน ต้องพากันอพยพหลยหนีไปซ่อนอยู่ในป่าเป็นหมู่ ๆ ข้าพเจ้าเองก็ถูกมารดาบิดาพาอพยพหลบหนีไปเหมือนกัน ณ ที่ป่าซึ่งไปหลบซ่อนอยู่นั้น มีหลายครอบครัวด้วยกัน ต้องล้อมรั้วรอบขอบชิด ใครไปมาติดต่อกันไม่ได้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ห้ามมิให้ออกนอกเขตบริเวณเลย ได้อยู่ในป่าด้วยอาการอย่างนั้นเป็นเวลาหลายเดือน เมื่อโรคในหมู่บ้านสงบแล้ว จึงได้อพยพกลับคืนเข้าอยู่ในบ้านตามเดิม เรื่องนี้เมื่อพิจารณาดูแล้วก็คล้าย ๆ กับสมัยพุทธกาล ซึ่งเมื่อโรคอหิวาตกโรคระบาดขึ้นแล้ว ก็ต้องอพยพหลบหนีเหมือนกัน จึงจะรอดชีวิตอยู่ได้ เหมือนอย่างกุมภโฆสกเศรษฐีในเรื่องนี้ ต่างแต่ว่ากุมภโฆสกเศรษฐีนั้น หลบไปอยู่ในป่านานถึง ๑๒ ปี จึงกลับคืนมาพระนคร จนคนชาวพระนครไม่มีใครจําได้

 

ประการที่ ๒ นิทานนี้แสดงให้เราได้ทราบวิธีการที่ดี ที่คนสมัยนั้นได้ช่วยสงเคราะห์ซึ่งกันและกันอย่างน่าอนุโมทนา คือการปลุกกันให้ตื่นดึกลุกเช้า และช่วยเตือนกันให้ลงมือประกอบการงานตามหน้าที่ของใครของมัน แม้แต่ในพระนครหลวงเช่นกรุงราชคฤห์ก็มีการปฏิบัติเช่นนั้น และมีคนใจบุญประกอบด้วยมีน้ําใจกว้างขวางเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ถึงกับจ้างคนไว้ประจําให้ทําหน้าที่เที่ยวประกาศป่าวร้องปลุกคนและเตือนคนทั่วทั้งเมือง กุมภโฆสกเศรษฐีเมื่อยังปกปิดความมั่งมีของตนอยู่นั้น ได้สมัครเป็นลูกจ้างทําหน้าที่นี้เลี้ยงชีวิตตลอดมา มาในสมัยปัจจุบันนี้ ไม่มีงานตําแหน่งนี้เป็นมรดกตกทอดมาให้เราเห็นหรือได้ปฏิบัติกันโดยตรง ถ้ายังถือปฏิบัติสืบกันมาอยู่ก็จะเป็นสิ่งที่มีคุณมิใช่น้อย เพราะเป็นการสงเคราะห์ช่วยเหลือจําพวกที่นอนขี้เซาหรือที่ไม่สามารถจะบังคับตนเองได้โดยลําพัง ให้ได้ลุกขึ้นประกอบการงานทันกาลทันเวลา เพราะการตื่นดึกลุกเช้าแล้วรีบประกอบการงานนั้น เป็นทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองของโลกียมหาชนประการหนึ่ง สงเคราะห์เข้าในองค์ธรรมว่าเป็นคนขยันหมั่นเพียรสมดังพระพุทธภาษิตว่า

 

“ วิริเยน ทุกฺขมจฺ เจติ

 

คนเราจะรอดพ้นความทุกข์ยากลําบากไปได้ก็เพราะอาศัยความหมั่นเพียร ดังนี้

 

แต่เมื่อได้ใคร่ครวญดูก็เห็นมีวิธีช่วยสงเคราะห์ในทํานองนี้เหลือติดอยู่ในวัดวาอาราม ซึ่งภิกษุสามเณรถือปฏิบัติกันสืบมา ได้แก่การตีสัญญาณระฆังเช้ามืดตั้งแต่เวลา ๔.๐๐ นาฬิกา หรือที่เรียกว่าตี 4 บางภาค เช่น ภาคอิสานใช้ตีกลองเป็นสัญญาณเรียกว่าตีกลองดึก หรือตีกลองเด็ก สัญญาณทั้ง ๒ อย่างนี้ มีความมุ่งหมายว่า เพื่อเป็นการปลุกและเตือนภิกษุสามเณรให้ลุกขึ้นทํากิจวัตร และเพื่อปลุกเตือนชาวบ้านให้ลุกขึ้นประกอบการงาน มีลุกขึ้นไปทําไร่ไถนาหรือหุงข้าวต้มแกงเป็นต้น โบราณประเพณีอันนี้นับว่ามีคุณประโยชน์มาก ขอให้ภิกษุสามเณรจงพากันรักษาปฏิบัติไว้ให้ปรากฏอยู่สม่ำเสมอ และให้เป็นมรดกตกทอดสืบ ๆ ไปจนตลอดถึงชั่วลูกหลานเหลน ประเพณีอันดีงามจะได้ไม่เสื่อมสูญไป และจะได้สําเร็จเป็นการ สงเคราะห์ซึ่งกันและกันตามวิสัยของกัลยาณมิตร ด้วยประการฉะนี้

 

ประการที่ ๓ แสดงให้เราได้รู้ว่า คนที่จะดีหรือไม่ดีมั่งมีหรือยากจนนั้น ย่อมแสดงออกมาภายนอกให้คนผู้ฉลาดรู้ได้ในทางเสียงสําเนียงกล่าวขาน คือถ้าคนฉลาดเป็นปราชญ์ในทางฟังเสียง ก็ย่อมจะดูคนออกว่าเป็นเช่นไร แม้จะปลอมแปลงแต่งตัวด้วยอุบายอย่างไรก็ตาม เหมือนอย่างพระเจ้าพิมพิสารพระเจ้าแผ่นดินมคธ แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นหมอดูรู้จักเสียงคนทั้งปวงว่าเป็นอะไรด้วย กล่าวคือพระองค์ทรงได้สดับเสียงของนายกุมภโฆสก เมื่อยังเป็นลูกจ้างทําหน้าที่ป่าวประกาศเที่ยวปลุก และเตือนคนทั่วทั้งเมืองให้ลุกขึ้นประกอบการงานนั้น พระองค์ทรงรับสั่งออกมาว่า เสียงนั้นเป็นเสียงของคนมีเงินมาก และเมื่อพระสนมทรงเชื่อและได้ทรงพยายามใช้กุสโลบายตรวจสอบดูจนถึงข้อเท็จจริงแล้ว ก็ปรากฏผลเป็นความจริงเหมือนอย่างที่ทรงทํานายทายทักไว้นั้น แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในนิทานนี้มิได้แสดงรายละเอียดเป็นหลักวิชาไว้ว่า เสียงอย่างไรเป็นเสียงของคนมั่งมี เสียงอย่างไรเป็นลักษณะเสียงของคนยากจน แต่ก็ปรากฏว่าตําราบอกลักษณะเสียงคนนั้นมีอยู่ในที่อื่น ไม่ใช่โอกาสที่จะนํามาแสดงไว้ในธรรมเทศนากัณฑ์นี้ได้

 

ประการที่ ๔ นายกุมภโฆสกนั้น นอกจากเป็นคนมั่งมีแล้ว ก็เป็นผู้ที่ประกอบด้วยคุณธรรมหลายประการ คือ เป็นผู้ขยันหมั่นเพียรหนักเอาเบาสู้ไม่รังเกียจการงาน มีสติและปัญญาฉลาดรอบคอบ รู้ว่าสิ่งใดควรและไม่ควร ทําอย่างไรจะเป็นคุณและเป็นโทษ สํารวมรักษาตนมาด้วยดี มีอาชีพโดยชอบธรรมและไม่ประมาทหลงไหลเมามัว ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้มีทรัพย์สมบัติมากถึงเพียงนั้น ประกอบด้วยได้กัลยาณมิตร คือพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งพระองค์เป็นผู้ทรงเลื่อมใสมั่นในพระพุทธศาสนาสําเร็จเป็นพระอริยโสดาบันมาแต่ครั้งสมเด็จพระพุทธองค์เสด็จไปโปรด ณ พระนครราชคฤห์ครั้งแรก ดั่งที่ได้วิสัชนามาแล้วในเรื่องสญชัยปริพ พาชกนั้น เมื่อพระองค์ได้ทรงเห็นนายกุมภโฆสกแล้ว นอกจากที่จะทรงเป็นที่พึ่งในทางคดีโลก คือทรงยกย่องขึ้นเป็นเศรษฐีแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงนําพากุมภโฆสกเศรษฐีไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ซึ่งเสด็จประทับอยู่ ณ วัดพระเวฬุวันมหาวิหารที่พระองค์ทรงสร้างถวาย เมื่อกุมภโฆสกเศรษฐีได้สดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระพุทธองค์แล้ว ก็ได้สําเร็จเป็นพระโสดาบันอริยบุคคล นับได้ว่าเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโลกีย์ทรัพย์ และโลกุตรทรัพย์ทั้ง ๒ ประการ โดยได้อาศัยพระบารมีของพระเจ้าพิมพิสารเป็นที่พึ่ง ด้วยประการฉะนี้

 

ประการที่ ๕ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงนํากุมภโฆสกเศรษฐีไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ณ วัดพระเวฬุวันมหาวิหารครั้งนั้น สมเด็จพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดโดยทรงเพ่งเล็งถึงอุปนิสัยของกุมภโฆสกเศรษฐีเป็นประมาณ ซึ่งมีข้อความสั้น ๆ ดังนี้

 

ยศ คือความเป็นใหญ่และความสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ

หรือการสรรเสริญเกียรติคุณ ย่อมเจริญยิ่ง ๆ แก่บุคคลผู้มีความ

ขยันหมั่นเพียร ผู้มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทํา

ผู้สํารวมระวังตนดี มีอาชีพโดยชอบธรรม และไม่ประมาท

 

ในพระธรรมเทศนาพุทธนิพนธสุภาษิตนี้ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ คําว่า ยศ ในที่นี้ท่านแสดงไว้ เป็น ๓ ลักษณะ คือ ยศคือความเป็นใหญ่ ได้แก่ตําแหน่งฐานันดรศักดิ์ต่าง ๆ จนกระทั่งความเป็นพระราชา มหากษัตริย์ ซึ่งเรียกว่าอิสริยยศอย่างหนึ่ง ยศคือความเป็นผู้สมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยโภคสมบัติ เช่น กุฎมพี คหบดี เศรษฐี ซึ่งรวมเรียกว่าบริวารยศอย่างหนึ่ง ยศคือการได้รับความสรรเสริญยกย่องด้วยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการงานนั้น ๆ เช่น เป็นคนต้นคิดประดิษฐ์เรือบินหรือค้นพบความจริงของสิ่งต่าง ๆ จนชาวโลกถือเป็นหลักสืบมาเป็นต้น รวมเรียกว่าเกียรติยศอย่างหนึ่ง อิศริยยศก็ดี บริวารยศก็ดี เกียรติยศก็ดี ที่จะเจริญบังเกิดมีขึ้นแก่บุคคลนั้นด้วยอาศัยคุณธรรม ๗ ประการ คือ ความขยันหมั่นเพียร ความมีสติรอบคอบ ๑ การงานสะอาด ๑ ใคร่ครวญแล้วจึงทํา ๑ ความสํารวมระวังตนดี ๑ เลี้ยงชีพโด ชอบธรรม ไม่ประมาท ๑ ฉะนี้

 

อธิบายว่า ความขยันหมั่นเพียรนั้น ได้แก่ความเป็นคนขยันหมั่นลุกขึ้นประกอบการงานตามกาลเวลาที่กําหนดไว้ ไม่เกียจคร้านปล่อยให้กาลเวลาล่วงเลยไป โดยมิได้ทําการงานนั้น ๆ และเมื่อประกอบการงานนั้น ให้มีสติคอยตามกําหนดไปเสมอ อย่าให้เกิดความพลั้งเผลอทําการงานอย่างผิด ๆ ถูก ๆ ต้องคอยประคองสติให้มีประจําอยู่กับการประกอบการงานนั้น ๆ อยู่เป็นนิจ เมื่อเป็นเช่นนี้การงานนั้น ๆ จะเป็นการงานทางกายทางวาจาหรือทางใจก็ดี จะเป็นการงานที่ไม่มีโทษ คือไม่มีความผิดพลาด ซึ่งเรียกว่า การงานสะอาดบริสุทธิ์ แม้ถึงกระนั้นแล้วก็มี ก็ยังจะต้องพิจารณาใคร่ครวญดูด้วยปัญญาให้รู้แน่ชัดเสียก่อนว่า ถ้าผลงานอย่างนี้จักสําเร็จ เราจึงจักทํางานอย่างนี้ หรือเมื่อเราลงมือทําการงานอย่างนี้แล้ว จักต้องได้รับผลอย่างนี้ ครั้นแล้วจึงลงมือประกอบการงานทั้งปวง อย่าทําโดยสะเพร่าหรือโดยหุนหันพลันแล่น โดยปราศจากการใคร่ครวญพิจารณาเสียก่อน แล้วพยายามสํารวมระวังการแสดงออกทางกาย ทางวาจาหรือคิด ทางใจ อย่าให้มีช่องโหว่ อันเป็นทางที่จะให้อกุศลบาปธรรม หรือความชั่วต่าง ๆ รั่วไหลเข้าไปทําจิตใจให้หม่นหมอง และพยายามเลี้ยงชีพแต่ในทางที่ชอบธรรม เช่น ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็ไม่คดไม่โกงเขามาเลี้ยงชีพ แม้ชั้นที่สุดมีการโกงด้วยตราชั่งเป็นต้น พยายามทํามาค้าขายแต่โดยดีหรือทําอาชีพที่ปราศจากโทษ เช่น การทําไร่ ทํานา และเลี้ยงโคนมเป็นต้น ถ้าเป็นบรรพชิต ก็งดเว้นการแสวงหาอันไม่สมควร เช่น เป็นหมอรับจ้าง หรือยอมตนเป็นคนรับใช้คฤหัสถ์เป็นต้น แล้วเลี้ยงชีพอยู่ด้วยภิกขาจารวัตร คือด้วยการเที่ยวบิณฑบาตด้วยกําลังปลีแข้งของตนเอง อันนับว่าเป็นการชอบธรรมอย่างบรรพชิตแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท หาโอกาสเจริญธรรมกรรมฐาน เพื่อให้มีสติสัมปชัญญะกําหนดรู้เท่าทันต่อกลมายาของโลกอันวิจิตรตระการตา แต่เป็นตัวมารยาเครื่องเร้าหลอกให้ลุ่มหลงนั้น เมื่อได้เจริญธรรมกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งสม่ำเสมอ จนสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเหมือนเสาเขื่อน และมีสัมปชัญญะคือญาณอันคมกล้ารู้เท่าทันจังหวะมารยาของโลกแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท คือไม่อยู่ปราศจากสติ มีสติประจําทวารทั้ง ๖ อยู่เป็นนิจ แต่นั้นบาปอกุศลต่างๆ จะรั่วไหลเข้ามาโดยทางประตูทั้ง 5 ไม่ได้ จิตใจก็จะบริสุทธิ์สะอาด และเป็นสุขสบาย บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรม ๗ ประการ คือประพฤติปฏิบัติตนโดยอาศัยธรรม ๗ ประการเป็นหลัก ดังที่ได้บรรยายมาโดยสังเขปนี้ จักได้ประสบ ซึ่ง ยศ ๓ ประการ มีอิสริยยศเป็นต้น เหมือนดังกุมภโฆสกเศรษฐีเป็นตัวอย่าง ซึ่งมีอรรถาธิบายดัง รับประทานวิสัชนามา ด้วยประการฉะนี้