เรื่อง พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา: พระจูฬปันถกเถระ กัณฑ์ที่ ๑

พระธรรมบทเทศนา

พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา

(๓) เรื่องพระจูฬปันถกเถระ [๑๗ ]

กัณฑ์ที่ ๑

--------------------------

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

อุฏฐาเนนปฺปมาเทน สญฺญเมน ทเมน จ

ทีปํ กยิราถ เมทวี ยํ โอโฆ นาภิกีรตีติ.

 

บัดนี้ จะวิสัชนาพระธรรมเทศนา เรื่องพระจุฬปันถกเถระ อันมีมาในคัมภีร์อรรถกถาพระธรรมบท ขุททกนิกาย อัปปมาทวรรคที่ ๒ แห่งพระสุตตันตปิฎก นับเป็นลําดับเรื่องที่ ๑๗ เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลส่วนธรรมเทศนามัย และขอเชิญท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย จงตั้งใจสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาโดยโยนิโสมนสิการเป็นอันดี เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลบุณยนฤธีส่วนธรรมสวนมัยสืบไป ณ บัดนี้ ดําเนินความว่า

 

สตฺถา เวฬุวเน วิหรนฺโต - สมัยหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จประทับพระอิริยาบถอยู่ ณ วัดพระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดภิกษุทั้งหลาย โดยทรงปรารภพระจูฬปันถกเถระให้เป็นอุปบัติเหตุ ซึ่งมีเรื่องเล่าดังต่อไปนี้

 

ราชคเห คิร - ได้ยินมาว่า ยังมีธิดาของตระกูลธนเศรษฐีอยู่คนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ ในเวลาที่เธอเจริญวัยใหญ่เป็นสาว มารดาบิดารักษาอย่างกวดขันให้อยู่ชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น แต่เธอเป็นหญิงที่ชอบเกี่ยวเกาะเหลาะแหละในผู้ชาย เพราะหลงใหลมัวเมาในความเป็นสาว ต่อมาจึงได้ทําสันถวะกับคนใช้ของตนเอง แล้วเกิดความกลัวขึ้นมาว่า แม้คนอื่นๆ ก็จะพึงล่วงรู้ถึงกรรมของเรานี้จงได้ จึงได้ปรึกษากับคนใช้ว่า “ เราทั้งสองจะไม่อาจอยู่ ณ ที่นี้ต่อไป ถ้าคุณแม่คุณพ่อจักล่วงรู้ความผิดของเรานี้ขึ้น ท่านก็จักสับเราให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่เป็นแน่ เราควรจะหลบหนีไปอยู่ในที่ต่างถิ่น “ ครั้นแล้วคนทั้งสองนั้นเก็บเอาสิ่งของที่เป็นสาระเท่าที่จะถือไปได้ด้วยมือในเรือน แล้วก็พากันหนีออกทางประตูด้านเหนือ ปรึกษากันว่า เราจะไปอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่ไม่มีคนอื่นรู้จัก แล้วก็พากันเดินทางไป เมื่อสองสามีภริยานั้นพากันไปอยู่ ณ ที่ตําบลหนึ่ง อาศัยการอยู่ร่วมกัน ฝ่ายภริยาก็ได้ครรภ์ขึ้นมา ครั้นเมื่อครรภ์แก่แล้ว ภริยาได้ปรึกษาสามีว่า “ ครรภ์ของฉันแก่เต็มที่แล้ว ธรรมดาการคลอดบุตรในสถานที่ที่ปราศจากญาติพี่น้อง ย่อมจะนําความลําบากมาให้แก่เราแม้ทั้งสอง เราควรจักกลับไปเรือนแห่งตระกูลดีกว่า “ ฝ่ายสามีด้วยเกรงกลัวว่า ถ้าเราจักขืนกลับคืนไปที่บ้านนั้น ชีวิตของเราคงจะไม่รอดแน่ แล้วจึงพูดผัดผ่อนกับภริยาว่า “ เราจักไปวันนี้ “ “ เราจักไปพรุ่งนี้ “ จนล่วงเลยมาหลายวัน ก็มิได้พาภริยากลับไป ฝ่ายภริยาคิดว่า พ่อคนนี้ขี้ขลาด ไม่กล้าที่จะพาเรากลับไป เพราะตนมีความผิดมาก ธรรมดามารดาบิดานั้น เป็นผู้มุ่งประโยชน์โดยส่วนเดียว พ่อคนนี้เขาจะไปหรือไม่ไปก็ตามทีเถิด เราจักต้องไปให้ได้ ครั้นแล้วเมื่อสามีออกจากบ้านไปป่า นางเก็บงําสิ่งของในบ้านเรียบร้อยแล้ว บอกแก่เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงถึงการที่ตนจะกลับไปสู่เรือนแห่งตระกูล แล้วก็ออกเดินทางไป ด้วยประการฉะนี้

 

โสปิ ฆรํ อาคนฺตฺรา - ฝ่ายสามีนั้นครั้นกลับมาถึงไม่เห็นภริยาจึงถามคนบ้านใกล้เรือนเคียงดู ครั้นรู้ว่าภริยากลับไปเรือนตระกูลแล้ว จึงรีบติดตามไปโดยเร็ว แล้วก็ไปทันในระหว่างทางพอดี แม้ภริยาของเขาก็ได้คลอดบุตร ณ ที่ตรงระหว่างทางนั้นนั่นเอง สามีจึงถามว่า “ นี่อะไรกัน ? ภริยาตอบว่า “ พี่บุตรชายของเราคนหนึ่งเกิดแล้ว “ สามีพูดว่า “ คราวนี้เราจักทําอย่างไรกันเล่า ? ฝ่ายภริยาได้ให้ความเห็นว่า “ เราจะกลับไปเรือนแห่งตระกูลเพื่อการใด การนั้นก็ได้สําเร็จเสียแล้วในระหว่างทาง เราจักกลับไปเรือนตระกูลทําอะไร กลับคืนเสียดีกว่า “ ทั้งสองสามีภริยามีใจตรงกัน จึงได้พากันกลับคืนมายังที่อยู่ของตนตามเดิม ก็เพราะทารกนั้นได้เกิดในระหว่างทาง เขาจึงตั้งชื่อบุตรของเขาว่า ปันถกะ ครั้นอยู่ต่อมาไม่นานสักเท่าไร ภริยาก็ได้ตั้งครรภ์ขึ้นใหม่อีก แล้วนางก็วิงวอนสามีให้พากลับไปคลอดที่ตระกูล และในที่สุดก็ได้หลบหนีไป และได้คลอดบุตรที่ระหว่างกลางทางเหมือนครั้งแรกทุกประการ เพราะทารกนั้นได้เกิดในระหว่างทางเหมือนกัน เขาจึงได้ตั้งชื่อบุตรคนเกิดที่แรกว่า มหาปันถกะ คนที่เกิดภายหลังว่า จูฬปันถกะ แล้วสองสามีภริยานั้นก็ได้พาบุตรทั้งสองกลับคืนมายังที่อยู่ของตนตามเดิมอีก เมื่อพ่อแม่ลูกทั้ง ๔ คนนั้น อยู่ ณ ที่นั้น ต่อมาเด็กชายจูฬปันถกะได้ยินบรรดาเพื่อนเด็ก ๆ ด้วยกันเรียกขานว่า คุณอา คุณลุง และคุณปู่ คุณตา คุณย่า คุณยาย ดังนี้ จึงถามมารดาว่า “ คุณแม่ครับ เด็กๆ พวกอื่นเขาย่อมเรียกขานว่า คุณปู่ คุณตา คุณย่า คุณยาย ดังนี้ ญาติๆ ของเราไม่มีบ้างหรือครับ ? มารดาตอบว่า “ เออลูก ณ ที่นี้พวกญาติของเราไม่มี แต่ในเมืองราชคฤห์ โน้น ธนเศรษฐีเป็นคุณตาของพวกเจ้า ในเมืองราชคฤห์นั้นญาติของเรามีมาก “ เด็กชายมหาปันถกะถามว่า “ เพราะเหตุไรเราจึงไม่ไปอยู่ในเมืองราชคฤห์นั้นเล่าคุณแม่ “ ฝ่ายมารดาไม่กล้าบอกเหตุที่ตนหนีมาตามความจริงแก่บุตร แต่เมื่อบุตรเพียรถามอยู่แล้วๆ เล่าๆ จึงพูดกับสามีว่า “ พวกเด็กๆ นี้มันรบกวนฉันให้ลําบากใจเหลือเกิน มารดาบิดาเห็นเราแล้ว ท่านจักกินเนื้อเราเชียวหรือ บัดนี้เรามาไปแสดงบอกตระกูลของคุณตาให้แก่พวกเด็กๆ เถิด “ สามีตอบว่า “ ฉันจักไม่กล้าไปประเชิญหน้ากับมารดาบิดาได้ แต่ก็จักพาพวกเด็กๆ มันไป “ ภริยาสนับสนุนว่า “ ดีแล้วพี่ การที่เราบอกตระกูลของคุณตาให้พวกเด็กๆ ทราบ ด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น สมควรทีเดียว “ ครั้นแล้วทั้ง ๒ สามีภริยาก็ได้พาบุตรทั้งสองไป บรรลุถึงเมืองราชคฤห์โดยลําดับแล้วไปพักอาศัยอยู่ที่ศาลาหลังหนึ่งใกล้ๆ กับประตูเมือง มารดาของเด็กจึงสั่งความไปเรียนแด่มารดาบิดาถึงการที่ตนได้พาบุตรทั้งสองมาถึงแล้ว ฝ่ายมารดาบิดาครั้นได้ทราบข่าวนั้นแล้ว ได้มอบทรัพย์ส่งให้ทูตไปพร้อมกับสั่งว่า “ เมื่อคนเราทั้งหลายยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนั้น คนที่จะไม่เคยเป็นบุตรไม่เคยเป็นธิดาของกันและกันนั้นย่อมไม่มี คนทั้งสองนั้นมันมีความผิดต่อเรามาก มันจึงไม่กล้ามาอยู่ต่อหน้าต่อตาเรา ขอให้มันทั้งสองนั้นรับเอาทรัพย์จํานวนเท่านี้แล้ว จงไปเลี้ยงดูกันอยู่ในที่อันสบายเถิด แต่จงให้เขาส่งเด็กทั้งสองนั้นมาที่นี้ “

 

เต เตหิ เปสตํ ธนํ คเหตฺวา - ฝ่ายสองสามีภริยานั้นรับเอาทรัพย์ที่มารดาบิดาส่งมาให้แล้ว ก็ส่งเด็กทั้งสองให้ในมือของพวกฑูตที่มานั้นไป เด็กทั้งสองนั้นก็ได้เจริญวัยเติบโตอยู่ในตระกูลของท่านตาท่านยายเทียว ในเด็กทั้งสองคนนั้นเด็กชายจูฬปันถกะยังเด็กมาก ส่วนเด็กชายมหาปันถกะไปฟังพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระทศพลพุทธเจ้าพร้อมกับท่านตาได้ เมื่อเด็กชายมหาปันถกะนั้นไปยังสํานักของสมเด็จพระบรมศาสดาอยู่เนืองนิจเช่นนั้น จิตใจของเธอก็ได้น้อมเอียงไปในการบรรพชา อยู่มาวันหนึ่งเธอจึงได้เรียนกับท่านตาว่า “ คุณตาครับ ถ้าคุณตาอนุญาตให้ผม ผมก็จะบวช ท่านตาพูดว่า “ เจ้าพูดอะไรหลาน การบวชของหลานเป็นความดีสําหรับตายิ่งกว่าการบวชของชาวโลกทั้งสิ้น ถ้าหลานกล้าที่จะบวช ก็จงบวชเถิด “ ครั้นแล้วก็ได้พาเด็กชายมหาปันถกะนั้นไปยังสํานักของสมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อสมเด็จพระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ ท่านคฤหบดี ท่านได้เด็กมาด้วยหรือ ? “ ท่านคฤหบดี ธนเศรษฐี กราบทูลว่า “ พระพุทธเจ้าข้า เด็กคนนี้เป็นหลานของข้าพระพุทธเจ้า เธอมีความปรารถนาอยากจะบวชในสํานักของสมเด็จพระพุทธองค์ “ ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงรับสั่งกับภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งว่า “ เธอจงจัดการบวชให้เด็กนี้ “ พระเถระสอนตจปัญจกกรรมฐานให้แก่เด็กชายมหาปันถกะแล้วก็ให้บวชเป็นสามเณรตามพระพุทธบัญชา สามเณรมหาปันถกะนั้น ครั้นบวชแล้วเรียนพระพุทธวจนะได้เป็นอันมาก เมื่ออายุครบแล้วก็ได้อุปสมบท พยายามบําเพ็ญกรรมฐานอยู่โดยโยนิโสมนสิการ ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ แล้วยังวันคืนให้ล่วงไปด้วยความสุขในฌาน และด้วยความสุขในผลสมาบัติ จึงคิดถึงน้องชายขึ้นว่า สามารถที่จะให้ความสุขนี้แก่จูฬปันถกะหรือไม่หนอ ? แต่นั้นจึงไปยังสํานักของท่านเศรษฐีผู้เป็นท่านตา แล้วพูดว่า “ ท่านมหาเศรษฐี ถ้าท่านอนุญาต อาตมาจะให้จูฬปันถกะบวช “ ท่านตาอนุญาตทันทีว่า “ นิมนต์ท่านให้เขาบวชเถิด พระคุณเจ้าผู้เจริญ “ ได้ยินว่าท่านธนเศรษฐีนั้นเป็นผู้เลื่อมใสมากในพระศาสนา และเมื่อมีใครมาถามว่าเด็กพวกนี้เป็นบุตรธิดาของท่านคนไหน ย่อมกระดากปากที่จะตอบว่าเป็นบุตรธิดาของคนที่หนีไป เพราะฉะนั้นจึงอนุญาตให้หลานทั้งสองนั้นบวชโดยง่ายดาย พระมหาปันถกเถระให้นายจูฬปันถกะน้องชายบวช ให้ดํารงตนไว้ในศีลทั้งหลาย ฝ่ายจูฬปันถกะนั้นพอบวชแล้วก็ได้กลายเป็นคนโง่ทึบ เมื่อพระมหาปันถกเถระจะสอนพระจูฬปันถกะนั้น ได้สอนพระคาถานี้อันมีมาในคัมภีร์สังยุตตนิกาย ซึ่งมีความว่า

ปทุทมํ ยถา โกกนุทํ สุคนฺธํ

ปาโต สิยา ผุลฺลมวีตคนธํ

องฺคีรสํ ปสฺส วิโรจมานํ

ตปนฺตมาทิจฺจมิวนฺตสิกเข.

 

เห็นไหมเล่า ดอกบัวชื่อ โกกนุท มีกลิ่นหอม บานแต่เช้า ไม่ปราศจาก

กลิ่นฉันใด พระอังคีรส ( คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ) ก็ฉันนั้น

เจิดจ้าอยู่ดูเหมือนกับพระอาทิตย์อันแจ่มจ้าอยู่กลางอวกาสเวหาส์ ฉะนั้น

 

พระคาถาเดียวนี้ พระจูฬปันถกะไม่สามารถจะเรียนจําได้เป็นเวลาถึง ๔ เดือน ถามว่า เหตุไร ? วิสัชนาว่าได้ยินมาว่า ในศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าโน้น พระจูฬปันถกะนั้น ได้บวชเป็นผู้มีปัญญาดี ได้ทําการหัวเราะเยาะเล่นในเวลาที่ภิกษุโง่ทึบรูปใดรูปหนึ่งเรียนพระบาลี ภิกษุโง่ทึบนั้นเกิดกระดากเพราะการหัวเราะเยาะนั้น เลยเลิกเรียนพระบาลีไม่ได้ทําการสาธยายต่อไปอีกด้วย กรรมนั้น พระจุฬปันถกะนี้พอบวชแล้ว จึงได้เกิดเป็นคนโง่ทึบ เมื่อเรียนบทต่อๆ ไป บทที่เรียนมาแล้วๆ ก็ลืมหายไปหมด เมื่อพระจูฬปันถกะนั้นพยายามเรียนเอาพระคาถานี้อยู่นั่นแล เวลา ๔ เดือนได้ล่วงเลยไปแล้ว ครั้งนั้น พระมหาปันถกะผู้พี่ชายจึงได้บอกกับพระจุฬปันถกะว่า “ จูฬปันถกะ เธอเป็นคนอาภัพ คือไม่สมควรในศาสนานี้เสียแล้ว ไม่สามารถจะเรียนจําเอาได้แม้เพียงพระคาถาเดียวตลอดเวลาถึง ๔ เดือน ก็เธอจักทํากิจของบรรพชิตให้ถึงขั้นสุดยอดได้อย่างไร เธอจงออกไปเสียจากที่นี้ “ ครั้นแล้วก็ขับให้ออกไปเสียจากวัด ฝ่ายพระจูฬปันถกะยังมีความเยื่อใยอาลัยอยู่ในพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรารถนาที่จะสึกไปเป็นคฤหัสถ์ ด้วยประการฉะนี้

 

ตสมิญฺจ กาเล มหาปนฺถโก - ก็แลในกาลครั้งนั้น พระมหาปันถกะทําหน้าที่เป็นภัตตุเทสก์ คือผู้แจกภัตตาหารแก่สงฆ์ตามพระพุทธบัญญัติ หมอชีวกโกมารภัจจ์ ถือเอาดอกไม้เครื่องหอมและเครื่องลูบไล้เป็นอันมาก แล้วไปยังอัมพวนารามบูชาสมเด็จพระบรมศาสดา ฟังพระธรรมเทศนาจบแล้วก็ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมสมเด็จพระทศพลแล้ว เข้าไปหาพระมหาปันถกะผู้ภัตตุเทสก์เรียนถามว่า “ พระคุณเจ้าผู้เจริญ ภิกษุในสํานักของสมเด็จพระบรมศาสดามีจํานวนเท่าไร ? พระมหาปันถกะตอบว่า “ ภิกษุมีประมาณ ๕๐๐ “ อุบาสกหมอชีวกโกมารภัจจ์เรียนอาราธนาว่า “ พระคุณเจ้าผู้เจริญ พรุ่งนี้ขอนิมนต์พระคุณเจ้านําภิกษุ ๕๐๐ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานไปรับภักษาหารในนิเวศน์ของกระผม ขอรับ “ พระมหาปันถกะตอบรับอย่างมีข้อยกเว้นว่า “ อุบาสก มีภิกษุโง่ทึบอยู่รูปหนึ่งชื่อจูฬปันถกะ ไม่มีธรรมะธัมโมเจริญงอกงามเลย อาตมาขอรับนิมนต์ภิกษุที่เหลือทั้งหลายให้แต่จะเว้นภิกษุนั้นเสีย “ ฝ่ายพระจุฬปันถกะครั้นได้ยินคําของพระพี่ชายดังนั้น จึงคิดตัดสินใจว่า พระเถระเมื่อจะรับนิมนต์ภิกษุทั้งหลายจํานวนมากถึงเพียงนี้ ก็รับนิมนต์โดยยกเราออกนอกบัญชี พี่ชายเราจักมีจิตคิดทําลายในเราโดยไม่ต้องสงสัย บัดนี้ เราจะธุระอะไรด้วยการทรงเพศอยู่ในพระศาสนานี้ เราจักสึกเป็นคฤหัสถ์แล้วทําบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้นเลี้ยงชีพอยู่ดีกว่า พอถึงวันรุ่งขึ้น พระจูฬปันถกะก็ออกไปแต่เช้ามืด ด้วยประสงค์เพื่อจะสึกเป็นคฤหัสถ์ต่อไป

 

สตฺถา ปจฺจสกาเลเยว - สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรวจดูหมู่สัตวโลกในเวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นเหตุนั้น จึงเสด็จพระพุทธดําเนินไปเสียก่อน แล้วไปเสด็จจงกรมอยู่ที่ซุ้มพระทวารตรงทางที่พระจูฬปันถกะจะเดินผ่านไป, เมื่อพระจูฬปันถกะเดินไปก็ได้เห็นสมเด็จพระบรมศาสดา จึงเข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคม ขณะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสถามว่า “ จูฬปันถกะ นี่เธอจะไปไหนในเวลานี้ ? “ พระจูฬปันถกะกราบทูลว่า “ พระพุทธเจ้าข้า พระพี่ชายขับข้าพระพุทธเจ้าออกจากวัดด้วยเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงจะไปสึกพระพุทธเจ้าข้า “ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงรับสั่งกับพระจูฬปันถกะว่า “ จูฬปันถกะ ชื่อว่าบรรพชาของเธอนั้นเป็นสมบัติของเรา แม้เมื่อเธอถูกพระพี่ชายขับไล่ ทําไมเธอจึงไม่มาสํานักของเราเล่า กลับมาเถิด เธอจะธุระอะไรกับความเป็นคฤหัสถ์ เธอต้องอยู่ในสํานักของเราต่อไป ครั้นแล้วก็ได้ทรงเอาฝ่าพระหัตถ์ซึ่งมีพื้นวิจิตรไปด้วยจักรลูบคลําที่ศีรษะของเธอแล้วทรงพากลับคืนไป “ ทรงรับสั่งให้นั่งอยู่ที่หน้ามุขพระคันธกุฏี แล้วทรงประทานท่อนผ้าอันสะอาด ซึ่งทรงบันดาลขึ้นด้วยพระฤทธิ์ให้ พร้อมกับทรงแนะนําว่า “ จูฬปันถกะ เธอจงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลูบคลําท่อนผ้านี้ บริกรรมว่า รโชหรณํ ผ้าเช็ดธุลี รโชหรณํ ผ้าเช็ดธุลี อยู่ ณ ตรงนี้แหละ พอดีภิกษุทั้งหลายกราบทูลเวลาภิกขาจาร สมเด็จพระพุทธองค์มีภิกษุสงฆ์เป็นบริวารก็ได้เสด็จคมนาการไปยังบ้านหมอชีวกโกมารภัจจ์ เสด็จประทับนั่งเหนือพระพุทธาอาศน์ ฝ่ายพระจูฬปันถกะมองดูพระอาทิตย์พลางนั่งลูบคลําท่อนผ้านั้น บริกรรมอยู่ว่า รโชหรณํ ผ้าเช็ดธุลี รโชหรณํ ผ้าเช็ดธุลี ดังนี้เรื่อย ๆ ไป เมื่อลูบคลําไปนาน ท่อนผ้านั้นก็ได้เศร้าหมองขึ้น แต่นั้นพระจูฬปันถกะก็เกิดความคิดขึ้นว่า ท่อนผ้านี้แต่แรกเป็นของสะอาดแท้ ๆ แต่เพราะได้อาศัยสัมผัสกับอัตภาพร่างกายของเรานี้แล้ว มันก็ละปกติเดิมเกิดเป็นของเศร้าหมองขึ้นอย่างนี้ สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอนหนอ ดังนี้แล้ว ก็เริ่มพิจารณาความสิ้นไปและความเสื่อมไปของสังขารธรรมทั้งหลาย เจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป ส่วนสมเด็จพระบรมศาสดาก็ได้ทรงทราบด้วยพระญาณว่า จิตของพระจูฬปันถกะขึ้นสู่ทางวิปัสสนากรรมฐานแล้ว จึงทรงนฤมิตให้มีพระรูปปรากฏ ทรงเปล่งพระรัศมีไปเป็นดุจว่าประทับนั่งอยู่เฉพาะหน้า พลางทรงพระโอวาทว่า “ จูฬปันถกะ เธออย่าได้สําคัญเพียงท่อนผ้านี้เท่านั้นว่าเศร้าหมองแล้ว เปื้อนธุลีแล้ว แต่ธุลีคือ ราคะ เป็นต้นทั้งหลาย ย่อมมีอยู่ในภายในจิตสันดานของเธอ เธอจงนําธุลีเหล่านั้นออกเสีย “ ครั้นแล้วได้ตรัสพระธรรมเทศนาโปรด ด้วยพระคาถา ๓ พระคาถา ซึ่งมีข้อความว่า ดังนี้

 

ราโค รโช น จ ปน เรณุ วุจฺจติ

ราคสฺเสตํ อธิวจนํ รโชติ

เอตํ รชํ วิปฺปชหิตฺว ภิกฺขโว

วิหรนฺติ เต วิคตรชสฺส สาสเน.

 

ราคะต่างหากที่เรียกว่าธุลี หาใช่ละอองไม่ คําว่าธุลีนี้ เป็น ชื่อของราคะ

ภิกษุทั้งหลายนั้น ครั้นละธุลีนี้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีได้.

 

โทโส รโช น จ ปน เรณู วุจฺจติ

โทสสฺเสตํ อธิวจนํ รโชติ

เอตํ รชํ วิปฺปชหิตฺว ภิกฺขโว

วิหรนฺติ เต วิคตรชสฺส สาสเน.

 

โทสะต่างหากที่เรียกว่าธุลี หาใช่ละอองไม่ คําว่าธุลีนี้ เป็นชื่อของโทสะ

ภิกษุทั้งหลายนั้น ครั้นละธุลีนี้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีได้.

 

โมโห รโช น จ ปน เรณู วุจฺจติ

โมหสฺเสตํ อธิวจนํ รโชติ

เอตํ รชํ วิปฺปชิตฺว ภิกฺขโว

วิหรนฺติ เต วิคตรชสฺส สาสเน.

 

โมหะต่างหากที่เรียกว่าธุลี หาใช่ละอองไม่ คําว่าธุลีนี้ เป็นชื่อของโมหะ

ภิกษุทั้งหลาย น ครั้นละธุลีนี้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีได้.

ในเวลาจบพระธรรมเทศนาพระพุทธนิพนธคาถา พระจูฬปันถกะก็ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ปิฎกทั้ง ๓ ได้ผุดเกิดแก่พระจูฬปันถกะพร้อมกับปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ นั่นเทียว

 

ได้ยินว่า ในชาติก่อน พระจูฬปันถกะนั้นเป็นพระราชา ขณะเมื่อเสด็จเลียบพระนคร พระเสโท คือเหงื่อไหลออกจากพระนลาฏ คือหน้าผาก พระองค์ได้ทรงเช็ดพระนลาฏด้วยผ้าอันสะอาด ผ้านั้นได้แปรเปลี่ยนเป็นผ้าเศร้าหมอง พระองค์จึงทรงได้อนิจจสัญญาขึ้นว่า ผ้าสะอาดเห็นปานดังนี้ เพราะอาศัยได้สัมผัสกับสรีระนี้ จึงละปกติเดิมแปรสภาพเป็นของเศร้าหมองไป สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอนจริงหนอ ด้วยเหตุนั้น ผ้าเช็ดธุลีนั่นแลจึงสําเร็จเป็นปัจจัยแก่พระจูฬปันถกะนั้น ด้วยประการฉะนี้

 

ชีวโกปี โข โกมารภัจฺโจ – ฝ่ายหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้น้อมนําน้ำปทักขิโณทก คือน้ำสำหรับกรวด เข้าไปถวายแด่สมเด็จพระทศพลพุทธเจ้า ส่วนสมเด็จพระบรมศาสดาทรงเอาพระหัตถ์ปิดบาตรพร้อมกับตรัสถามว่า “ คุณหมอชีวก ภิกษุในวัดยังมีอยู่มิใช่หรือ ? พระมหาปันถกะชิงกราบทูลว่า “ ภิกษุในวัดไม่มีมิใช่หรือ พระพุทธเจ้าข้า “ สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสยืนยันว่า “ มีซี คุณหมอชีวก “ หมอชีวกจึงส่งคนไปดูว่า “ แน่พนาย ถ้าเช่นนั้นเธอจงไปดูที จงรู้ว่าภิกษุทั้งหลายในวัดมีหรือไม่มีกันแน่ “ ขณะนั้น พระจูฬปันถกะคิดว่า พระพี่ชายของเราพูดว่า ภิกษุทั้งหลายในวัดไม่มี เราจักแสดงให้ปรากฏแก่พระพี่ชายว่า ภิกษุทั้งหลายในวัดมีอยู่ จึงนฤมิตอัมพวนารามทั้งสิ้นให้เต็มไปด้วยภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางจําพวกกําลังทําจีวร บางจําพวกกําลังย้อมจีวร บางจําพวกกําลังทําการสาธยาย นฤมิตภิกษุขึ้นพันรูปทําไม่ให้เหมือนกันและกันอย่างนี้ ฝ่ายคนใช้ไปเห็นภิกษุในวัดเป็นอันมาก แล้วกลับมาเรียนแด่หมอชีวกว่า “ ท่านครับ วัดอัมพวนารามทั้งสิ้น เต็มไปด้วยภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า “ พระจูฬปันถกะเถระนั้นแลได้นฤมิตตนถึงพันครั้งให้เป็นภิกษุพันรูป นั่งอยู่ในวัดอัมพวนารามอันน่ารื่นรมย์นั้น นั่นแล จนกว่าเขาจะบอกเวลาภัตตาหารดังนี้ “ ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสบอกกับคนใช้นั่นว่า “ เธอจงไปวัดใหม่แล้วพูดว่า พระศาสดาเรียกหาภิกษุชื่อจูฬปันถกะ “ เมื่อคนใช้นั้นไปวัดแล้วพูดตามที่ทรงตรัสสั่ง ปากทั้งพันปากได้ขานขึ้นพร้อมกันว่า ฉันชื่อจูฬปันถกะ ฉันชื่อจูฬปันถกะ คนใช้จึงกลับมากราบทูลอีกว่า “ ได้ยินว่า ภิกษุทั้งหลายชื่อจูฬปันถกะเหมือนกันหมดทุกรูป พระพุทธเจ้าข้า ” สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสแนะว่า “ ถ้าเช่นนั้น เธอจงไปใหม่ ภิกษุรูปใดพูดก่อนว่า ฉันชื่อจูฬปันถกะ จงจับมือภิกษุนั้นทันที ภิกษุที่เหลือจักอันตรธานหายไป “ คนใช้นั้นได้ไปทําตามพระพุทธบัญชาอีก ภิกษุทั้งหลายประมาณพันรูปก็ได้อันตรธานหายไปในทันทีนั้น นั่นเทียว พระจูฬปันถกะเถระจึงได้มาพร้อมกับคนใช้นั้น ส่วนสมเด็จพระบรมศาสดา ในเวลาเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว ได้ทรงเชิญหมอชีวกมารับสั่งว่า “ คุณหมอชีวก ท่านจงรับเอาบาตรของจูฬปันถกะ เธอจักทําอนุโมทนากถาแก่ท่าน “ หมอชีวกได้ทําตามพระพุทธดํารัสตรัสสั่งนั้น ส่วนพระจูฬปันถกะเถระบันลือสีหนาทเป็นเสมือนสิงห์หนุ่ม ได้ทําอนุโมทนากถา พรรณนาพระปิฎกทั้ง ๓ ให้กระฉ่อนไป ฝ่ายสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จลุกจากพุทธอาสน์อันภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมเป็นพุทธบริวาร เสด็จคมนาการกลับสู่พระวิหาร ครั้นภิกษุทั้งหลายทําวัตรแล้ว เสด็จลุกจากพุทธอาสน์ประทับยืนที่หน้ามุขแห่งพระคันธกุฎี ทรงประธานพระสุคโตวาทแก่ภิกษุสงฆ์ ทรงบอกพระกรรมฐานแล้วทรงส่งภิกษุสงฆ์ไป ครั้นแล้วก็เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี ซึ่งอบด้วยกลิ่นอันหอมตลบ เสด็จเข้าสู่พระสีหไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ( คือนอนอย่างราชสีห์ตะแคงข้างขวา ) ด้วยประการฉะนี้

 

อถ สายณฺหสมเย ภิกฺขุ – อยู่มาในเวลาเย็นภิกษุทั้งหลายนั่งล้อมวงกันข้างโน้นข้างนี้ เป็นดุจล้อมด้วยม่านผ้ากัมพลแดง พากันปรารภถึงพระคุณของสมเด็จพระบรมศาสดาว่า “ ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระมหาปันถกะไม่ทราบอัชฌาศัยของพระจูฬปันถกะ จึงไม่สามารถจะให้พระจูฬปันถกะเรียนเอาพระคาถาเพียงพระคาถาเดียวได้โดยเวลาถึง ๔ เดือน มิหนํายังสําคัญว่าพระจูฬปันถกะนั้นโง่ทึบ จนถึงกับขับไล่ให้ออกไปเสียจากวัด ส่วนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุที่พระองค์ทรงเป็นพระธรรมราชาชั้นสุดยอด ได้ทรงประทานพระอรหัตให้ภายในชั่วระยะเวลาเสวยภัตตาหารครั้งหนึ่งเท่านั้น พระปิฎกทั้ง ๓ ก็ได้ผุดขึ้นมาแก่พระจูฬปันถกะพร้อมกับปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ นั่นเทียว ชื่อว่า กําลังของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นของยิ่งใหญ่น่าอัศจรรย์จริง ๆ “ ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบการเกิดขึ้นแห่งกถาเรื่องนี้ในโรงธรรมสภา แล้วทรงพระพุทธดําริว่า วันนี้เราควรจะไป ณ ที่นั้น ดังนี้แล้ว เสด็จออกจากพุทธไสยาสน์ ทรงนุ่งผ้าสบง ๒ ชั้น อันย้อมดีแล้ว ทรงคาดประคดเอวอันมีลักษณะดังสายฟ้า ทรงห่มพระสุคตมหาบังสุกุลจีวร อันมีสีดุจผ้ากัมพลแดง แล้วเสด็จออกจากพระคันธกุฎีอันมีกลิ่นหอมตลบไปสู่โรงธรรมสภา ด้วยพระพุทธวิลาสอันสง่างามดุจการเยื้องกรายของพระยาช้างซับมันและพระยาราชสีห์ด้วยพระพุทธลีลาอันหาที่สุดมิได้ แล้วเสด็จขึ้นพระบวรพุทธาอาสน์อันปูลาดดีแล้ว ณ ท่ามกลางโรงกลมอันประดับตบแต่งแล้ว ทรงเปล่งพระพุทธรัศมีอันมีสี 5 ประการ เสด็จประทับนั่งตรงใจกลางอาสนะ เป็นเสมือนทรงยังท้องมหาสมุทรให้กระเพื่อมอยู่ และเป็นเสมือนพระอาทิตย์อ่อน ๆ ตั้งอยู่เหนือยอดเขายุคนธร ฉะนั้น ก็พอสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ภิกษุสงฆ์ก็ได้หยุดสนทนานิ่งเงียบอยู่ ด้วยประการฉะนี้

 

สตฺถา มุทุเกน จิตฺเตน - สมเด็จพระบรมศาสดาทรงมองดูพุทธบริษัทด้วยดวงพระหฤทัยอันเยือกเย็น แล้วทรงพระพุทธดําริว่า บริษัทนี้งามยิ่งนัก การคะนองมือก็ดี การคะนองเท้าก็ดี เสียงไอก็ดี เสียงจามก็ดี แม้ของภิกษุรูปหนึ่ง มิได้มี ภิกษุเหล่านี้หมดทุกรูปมีความคารวะในพระพุทธเจ้า อันเดชของพระพุทธเจ้าข่มไว้ เมื่อเรานั่งอยู่ไม่พูดแม้ตลอดอายุกัป ใคร ๆ ก็จักไม่กล้าจะยกเรื่องขึ้นก่อน ธรรมเนียมยกเรื่องขึ้นเป็นหน้าที่อันเราเท่านั้นจะพึงทราบ เราเท่านั้นจักต้องพูดก่อน ครั้นแล้วจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะเหมือนเสียงพรหม ตรัสถามว่า “ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ ก็เรื่องอะไรที่พวกเธอสนทนาค้างไว้ในระหว่าง “ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสชี้แจงว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่ภิกษุจูฬปันถกะเป็นคนโง่ทึบนั้น มิใช่แต่ในชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อนเธอก็เป็นคนโง่ทึบเหมือนกัน อนึ่ง เราได้เป็นที่พึ่งของเธอมิใช่แต่ในชาตินี้อย่างเดียวเท่านั้น แม้ในชาติก่อนเราก็ได้เป็นที่พึ่งของเธอเช่นกัน อนึ่ง ในชาติก่อนก่อนเราได้ทําจูฬปันถกะนี้ให้เป็นเจ้าของแห่งโลกียทรัพย์ ในชาตินี้ได้ทําให้เธอเป็นเจ้าของแห่งโลกุตรทรัพย์ ดังนี้ “ เมื่อภิกษุทั้งหลายใคร่จะฟังเรื่องโดยพิสดารได้ทูลอาราธนา จึงได้ทรงนําเรื่อง อดีตนิทานมาแสดงโปรดภิกษุทั้งหลาย ซึ่งมีข้อความดังจะได้วิสัชนาเป็นลําดับไป แต่บัดนี้สมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้