เรื่อง พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา:มหาอุบาสิกาวิสาขา กัณฑ์ที่ ๒

 

พระธรรมบทเทศนา

พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐถถา

(๔) เรื่องมหาอุบาสิกาวิสาขา [๔๐]

กัณฑ์ที่ ๒

---------------------------

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา กยิรา มาลาคุเณ พหู

เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุนฺติ

 

อนุสนธิพระธรรมเทศนา ณ บัดนี้จะวิสัชนาพระธรรมเทศนา เรื่องมหาอุบาสิกาวิสาขา กัณฑ์ที่ ๒ โดยอนุสนธิสืบเนื่องมาจากกัณฑ์ที่ ๑ ซึ่งได้วิสัชนามาแล้ว เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลส่วนธรรมเทศนามัย และขอเชิญท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย จงตั้งใจสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาโดยโยนิโสมนสิการเป็นอันดี เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลบุณยนฤธี ส่วนธรรมสวนมัยสืบไป ณ บัดนี้ ดําเนินความว่า

 

กิสฺส ปน นิสฺสนฺเทน - มีคําถามสอดเข้ามาว่า นางวิสาขาได้เครื่องประดับนั้น ด้วยอานิสงส์แห่งบุญกรรมอะไร ?

 

วิสัชนาว่า - ได้ยินว่า ในศาสนาแห่งสมเด็จพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า นางวิสาขานั้นได้ถวายผ้าจีวรกับทั้งด้ายเข็มและเครื่องย้อมผ้าอันเป็นสมบัติของตนแก่ภิกษุทั้งหลาย ๒๐ พันองค์ ด้วยอานิสงส์แห่งจีวรทานนั้น นางจึงได้เครื่องประดับนี้ จริงอย่างนั้น จีวรทานของสตรีทั้งหลายย่อมสําเร็จผลถึงขั้นสุดยอดด้วยได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ จีวรทานของบุรุษทั้งหลายย่อมสําเร็จผลถึงขั้นสุดยอดด้วยได้บาตรและจีวร อันสําเร็จด้วยฤทธิ์ ฉะนี้

 

เอวํ มหาเสฏฺฐิ - ธนัญชัยมหาเศรษฐี ครั้นทําการตระเตรียมเพื่อธิดาเสร็จลงแล้ว โดยเวลาถึง ๔ เดือนอย่างนี้แล้ว เมื่อจะให้เครื่องไทยธรรมแก่นางวิสาขา ได้ให้สมบัติต่าง ๆ ดังนี้ คือ กหาปณะเต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียน ภาชนะทองเต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียน ภาชนะเงินเต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียน ภาชนะทองแดงเต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียน ภาชนะสัมฤทธิ์เต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียน ผ้าด้ายและผ้าไหมเต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียน เนยใสเต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียน น้ำมันเต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียน น้ำอ้อยเต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียน ข้าวสารข้าวสาลีเต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียน และเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ มีไถและผาลเป็นต้น เต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียน ได้ยินว่าท่านมหาเศรษฐีได้ดําริอย่างนี้ว่า ในสถานที่ที่ธิดาของเราไปอยู่แล้วนั้น เธออย่าได้ส่งคนไปบ้านของคนอื่นว่าฉันต้องการของสิ่ง สิ่งนั้น ๆ ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงได้จัดการให้เครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปอย่างพร้อมสรรพ และได้ให้รถ ๕๐๐ คัน บนรถคันหนึ่ง ๆ จัดสาวใช้รูปงามประดับแต่งตัวอย่างครบชุด ให้อยู่ประจําคันละ ๓ คน ให้สตรีสําหรับรับใช้ ๑,๕๐๐ คน พร้อมกับสั่งกําชับว่า “ พวกเจ้าจํานวนเท่านี้จงทําหน้าที่ให้ธิดาของเราอาบน้ำ พวกเจ้าจํานวนเท่านี้จงทําหน้าที่ให้ธิดาของเรารับประทาน พวกเจ้าจํานวนเท่านี้จงแต่งตัวให้ธิดาของเรา “ ถัดนั้นท่านมหาเศรษฐีดําริว่า จักต้องให้แม่โคทั้งหลายแก่ธิดาเราไปด้วย จึงได้สั่งชายฉกรรจ์ ๆ ทั้งหลายว่า “ พ่อพนายทั้งหลาย พวกเธอจงไปเปิดประตูคอกเล็กแล้วเอากลอง ๓ ใบ ไปยืนกันอยู่ในที่ ๓๐๐ เส้น ยืนกันอยู่ข้างทั้งสองในที่ประมาณ ๒๕ วา โดยกว้าง ห้ามอย่าให้แม่โคทั้งหลายเดินต่อไป แต่นั้น เวลาที่แม่โคทั้งหลายยืนอยู่แล้วอย่างนั้นจงมีสัญญาณกลองขึ้น พวกชายฉกรรจ์ทั้งหลายได้ปฏิบัติตามคําสั่งของท่านมหาเศรษฐีนั้น เมื่อเวลาแม่โคทั้งหลายออกจากคอกไปได้ ๑๐๐ เส้น ได้ตีสัญญานกลองขึ้นครั้งหนึ่ง เมื่อเวลาแม่โคทั้งหลายไปได้อีก ๒๐๐ เส้น ได้ตีสัญญาณกลองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเวลาแม่โคทั้งหลายไปได้ถึง ๓๐๐ เส้น ก็ได้มีสัญญาณกลองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และห้ามมิให้แม่โคทั้งหลายเดินต่อไปในด้านกว้างด้วย แม่โคทั้งหลายได้ยืนเบียดเสียดซึ่งกันและกันอยู่ในที่โดยยาว ๓๐๐ เส้น โดยกว้างประมาณ ๒๕ วา โดยอาการอย่างนี้

 

มหาเสฏฺฐิ มม ธีตุ เอตฺตกา คาโว - ฝ่ายมหาเศรษฐีได้สั่งให้ปิดประตูคอกว่า “ แม่โคทั้งหลายจํานวนเท่านี้ พอแล้วสําหรับธิดาของเรา พวกเธอจงปิดประตูคอกเสีย “ ก็ด้วยผลบุญของนางวิสาขาถึงจะได้ปิดประตูคอกแล้ว แม่โคกําลังและแม่โคนมทั้งหลายก็พากันกระโดดออกไป กระโดดออกไป เมื่อชายฉกรรจ์ทั้งหลายพากันห้ามกันอยู่ ห้ามกันอยู่ นั่นเทียว โคกําลัง ๖๐ พัน และแม่โคนม ๖๐ พัน ออกไปได้แล้ว พวกลูกโคกําลังก็ออกไปได้เท่านั้นเหมือนกัน โคอุสภะทั้งหลายก็พากันกระโดดติดตาม แม่โคนมเหล่านั้นไปด้วย

 

มีคําถามสอดเข้ามาว่า ก็ด้วยอานิสงส์แห่งบุญกรรมอะไร แม่โคทั้งหลาย จึงได้ไปแล้วอย่างนั้น ?

 

วิสัชนาว่า - ด้วยผลทานที่นางวิสาขาได้ถวายแล้วแก่ภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลายซึ่งห้ามอยู่ว่า พอแล้ว ๆ ในชาติก่อน ได้ยินว่า ในศาสนาของสมเด็จพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า นางวิสาขานั้น ได้เกิดเป็นพระราชธิดาองค์เล็ก ในบรรดาพระราชธิดา ๗ องค์ ของพระเจ้ากิกี มีพระนามว่า พระนางสังฆทาสี เมื่อทรงถวายทานด้วยเบญจโครส ( นมโค ๕ ชนิด ) แก่ภิกษุ ๒๐ พันองค์นั้น แม้ภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลายจะได้ปิดบาตรแล้วห้ามอยู่ว่า พอแล้ว พอแล้ว พระนางก็ยังทรงถวายพร้อมกับทรงรับสั่งเร้าใจภิกษุสามเณรว่า “ ของนี้อร่อย ของนี้ชื่นใจ เจ้าค่ะ “ ด้วยอานิสงส์แห่งบุญกรรมนั้น แม่โคทั้งหลายเหล่านั้น แม้ถึงชายฉกรรจ์ทั้งหลายจะได้ห้ามกันไว้ ก็ได้กระโดดออกไปแล้ว ด้วยประการฉะนี้

 

เวลาที่ท่านมหาเศรษฐีได้ให้ทรัพย์สมบัติมากหลายถึงเท่านี้แก่ธิดาของตนแล้ว ภริยาของท่านมหาเศรษฐีจึงพูดเตือนว่า “ ทุกสิ่งทุกอย่างท่านก็ได้จัดแจงให้ธิดาของเราหมดแล้ว แต่คนใช้ชายหญิงที่จะช่วยทําการงาน ท่านมิได้จัดแจงแต่งให้ เพราะเหตุอะไรหรือ ? มหาเศรษฐีตอบว่า “ ที่มิได้จัดแจงแต่งให้นั้น เพื่อจะได้รู้คนรักและคนชังในธิดาของเรา เพราะฉันจะไม่บังคับจับคอคนที่ไม่อยากไป ส่งไปกับธิดาของเรา แต่ถึงเวลาที่จะขึ้นยานไปนั่นแหละ ฉันจึงจะประกาศว่า ใคร ๆ อยากจะไปกับธิดาของเราก็จงไปเถิด ใคร ๆ ไม่อยากไปก็จงอย่าไป ดังนี้ “

 

อถ เสวฺ มม ธีตา - ต่อมามหาเศรษฐีดําริว่า ธิดาของเราจักไปพรุ่งนี้แล้ว ขณะที่นั่งอยู่ในห้องได้เรียกธิดามานั่งใกล้ ๆ แล้วให้โอวาทว่า “ แม่หนู ! ธรรมดาสตรีที่อยู่ในตระกูลของสามี ควรที่จะรักษามารยาทอย่างนี้และอย่างนี้ “ ฝ่ายมิคารเศรษฐีแม้นั้นก็นั่งอยู่ในห้องถัดไป จึงได้ยินโอวาทของธนัญชัยเศรษฐีด้วย ส่วนธนัญชัยเศรษฐีให้โอวาทธิดามีข้อความว่าดังนี้

 

แม่หนู ! ธรรมดาสตรีที่อยู่ในตระกูลของมารดาบิดาสามีนั้น

ไฟในไม่ควรนําไปข้างนอก ไฟนอกไม่ควรให้เข้ามาข้างใน

ควรให้แก่คนที่ให้คืนเท่านั้น ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้คืน

ควรให้ทั้งแก่คนที่ให้คืนทั้งแก่คนที่ไม่ให้คืน ควรนั่งให้เป็นสุข

ควรรับประทานให้เป็นสุข ควรนอนให้เป็นสุข ควรบูชาไฟ

ควรไหว้เทวดาภายใน

 

อิมํ ทสวิธํ โอวาทํ ทตฺวา - ท่านธนัญชัยเศรษฐีครั้นให้โอวาท ๑๐ ข้อนี้แก่ธิดาแล้ว วันรุ่งขึ้นได้เชิญหมู่เสนาทั้งปวงให้ประชุมกันแล้ว เชิญเอาคนชั้นกุฎมพี ๘ ท่านให้เป็นผู้รับประกันในท่ามกลางราชเสนา แล้วขอร้องไว้ว่า “ ถ้าความผิดจะเกิดขึ้นแก่ธิดาของข้าพเจ้า ณ สถานที่เขาไปอยู่แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลาย พึงชําระสะสาง “ ครั้นแล้วก็เอาเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์อันมีราคา ๙ โกฏิ ประดับธิดา ให้ทรัพย์สําหรับเป็นมูลค่าเครื่องจุณสําหรับอาบสรง จํานวน ๕๔ โกฏิ ให้อุ้มธิดาขึ้นสู่ยานแล้ว ให้ตีกลองประกาศไปในบ้านส่วย ๑๔ หมู่บ้าน ซึ่งมีประมาณเท่าเมืองอนุราธบุรี ( เมืองอนุราธบุรีอยู่ใน ประเทศลังกา หนังสือเรื่องนี้แต่งที่ลังกา ท่านผู้แต่งจึงได้เทียบเช่นนั้น ) อันเป็นสมบัติของคนอยู่โดยรอบเมืองสาเกตว่า “ ใคร ๆ มีความปรารถนาอยากจะไปกับธิดาของเราก็จงไปเถิด “ ชาวบ้านส่วย ๑๔ หมู่บ้านเหล่านั้น พอได้ฟังประกาศเช่นนั้น ต่างก็คิดว่า พวกเราจะมีประโยชน์อะไรในการอยู่ ณ ที่นี้ ในเมื่อคุณแม่เจ้าของพวกเราจะไปเสียแล้ว จึงพากันหลั่งไหลออกไปไม่เหลือใคร ๆ ไว้เลย ฝ่ายธนัญชัยเศรษฐี ทําการสักการะถวายแด่พระราชาและมิคารเศรษฐีแล้วตามส่งเสด็จเล็กน้อย แล้วก็ส่งธิดาไปพร้อมกับท่านอิสรชนเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้

 

มิคารเสฏฺฐิปิ สพฺพปจฺฉโต - ฝ่ายมิคารเศรษฐีนั่งยานไปข้างหลังของคนทั้งปวงได้เห็นหมู่พลนิกายเป็นอันมากแล้วจึงถามว่า “ คนทั้งหลายเหล่านี้ เป็นพวกไหนกัน ? “ คนอุปัฏฐากเรียนตอบว่า “ เป็นคนรับใช้ชายหญิงที่ช่วยทําการงานของสะใภ้ท่านทั้งนั้น “ มิคารเศรษฐีจึงสั่งว่า “ คนมากหลายถึงปานนี้ ใครจักเลี้ยงดูกันหวาดไหว พวกเธอจงช่วยกันโบยตีไล่ให้มันหนีไปเสีย พวกที่ไม่ยอมหนีไปก็จงลงอาญามันเสียแต่ตรงนี้เลย “ ส่วนนางวิสาขาได้พูดทัดทานว่า “ พวกท่านจงออกไปเสีย อย่ามาห้ามเขาเลย กําลังนั่นเองจักให้อาหารแก่กําลัง “ แม้ถึงนางวิสาขาจะได้พูดแล้วอย่างนี้ มิคารเศรษฐีก็ยังพูดอยู่ว่า “ แม่ หนู ! เราไม่ต้องการคนเหล่านี้ ใครจะเลี้ยงเขาหวาดไหว “ ครั้นแล้วก็สั่งให้โบยตีด้วยไม้ค้อนก้อนดินเป็นต้นให้หนีไป พาเอาแต่คนที่เหลือไป พลางพูดว่า “ เท่านี้พอดีแก่เราแล้ว “ ครั้งนั้นนางวิสาขาเมื่อเวลาไปถึงประตูเมืองสาวัตถี ได้คิดพิจารณาดูว่า เราจักนั่งในยานอันปกปิดเข้าไปดี หรือว่าจะยืนไปบนรถดีหนอ ครั้นแล้วนางได้ตกลงใจว่าเมื่อเราเข้าไปด้วยยานอันปกปิด ความวิเศษของเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ก็จักไม่ปรากฏแก่มหาชน นางจึงยืนบนรถแสดงตนให้ปรากฏแก่ชาวเมืองทั้งมวลเข้าไปสู่พระนคร คนชาวพระนครสาวัตถีทั้งหลาย ครั้นได้เห็นสมบัติของนางวิสาขาแล้ว ต่างก็พูดกันอย่างเซ็งแซ่ว่า “ ได้ยินว่า สตรีนั้นคือนางวิสาขา สมบัติเห็นปานนี้ช่างสมควรกับนางเสียจริง ๆ “ นางวิสาขาได้เข้าไปสู่เคหาสน์ของมิคารเศรษฐีด้วยสมบัติอันยิ่งใหญ่ ด้วยประการดังนี้

 

ก็ในวันที่นางวิสาขาไปถึงนั้น ชาวเมืองทั้งมวลได้ส่งของขวัญไปให้แก่นางวิสาขาตามสัตติกําลังของตน ด้วยนึกถึงพระคุณของท่านธนัญชัยเศรษฐีว่า ธนัญชัยเศรษฐีนั้น เมื่อพวกเราไปถึงนครของท่าน ท่านได้ทําการต้อนรับพวกเราอย่างยิ่งใหญ่ ส่วนนางวิสาขาได้สั่งให้ของขวัญที่ชาวพระนครส่งมา ๆ นั้น ให้เป็นประโยชน์ทั่วกันแก่ตระกูลอื่น ๆ ในพระนครนั้นนั่นเอง นางวิสาขานั้นส่งของขวัญไปให้พลางกล่าวด้วยถ้อยคําอันไพเราะเหมาะสมแก่วัยของคนรุ่นนั้น ๆ ว่า สิ่งนี้จงให้แก่คุณแม่ของเรา สิ่งนี้จึงให้แก่คุณพ่อของเรา สิ่งนี้จงให้แก่พี่ชายน้องชายของเรา สิ่งนี้จงให้แก่พี่สาวน้องสาวของเรา “ ได้ทําชาวพระนครทั้งสิ้นให้เป็นดุจหมู่ญาติ ด้วยประการดังนี้ ต่อมานางฟ้าอันเป็นแม่ม้าอาชาไนยของนางวิสาขาได้ตกลูกในเวลาถัดค่อนคืนไป นางวิสาขาจึงให้สาวใช้ทั้งหลายถือตะเกียงแล้วได้ไปดูที่แม่ฟ้าตกลูกนั้น สั่งให้เอาน้ำอุ่นรดแม่ฟ้า ให้ทาด้วยน้ำมัน แล้วจึงได้กลับไปสู่ที่อยู่ของตนนั่นแล

 

มิคารเสฏฺฐิปิ ปุตฺตสฺส อาวาหมงฺคลํ - ฝ่ายมิคารเศรษฐีนั้นเมื่อทํางานอาวาหมงคลของบุตร ก็มิได้สนใจถึงพระตถาคตเจ้า แม้เสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารใกล้ ๆ อันความรักที่ติดแน่นอยู่ในพวกสมณะเปลือยมานานกระตุ้นเตือนอยู่ วันหนึ่งได้ให้คนครัวหุงข้าวปายาสแข้นในภาชนะใหม่ ๆ หลายร้อยถาด ด้วยตั้งใจว่า เราจักทําการสักการะแม้แก่พระผู้เป็นเจ้าของเรา ครั้นแล้วก็ให้นิมนต์พวกอเจลกะ คือ สมณะเปลือยไม่นุ่งห่มผ้ามา ๕๐๐ องค์ ให้เข้าไปในบ้านแล้วได้ส่งข่าวไปบอกแก่นางวิสาขาว่า “ ลูกสะใภ้ของเราจงมา จงไหว้พระอรหันต์ทั้งหลาย “ ส่วนนางวิสาขาเป็นอริยสาวิกาผู้โสดาบันบุคคล พอได้ยินคําว่า พระอรหันต์ ก็ดีอกดีใจ ได้มายังที่บริโภคของพวกอเจลกะเหล่านั้น แต่พอแลเห็นพวกอเจลกะ ก็คิดว่า คนที่ปราศจากหิริโอตตัปปะเห็นปานดังนี้ จะชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ท่านบิดาให้เรียกเรามาทําอะไรกัน ครั้นแล้วก็ครหาเศรษฐีว่า “ โธ่! โธ่! “ แล้วก็กลับไปที่อยู่ของตนเสีย พวกอเจลกะทั้งหลายทุกๆ องค์พอเห็นนางวิสาขาแสดงอาการดังนั้นแล้ว ก็พากันครหามิคารเศรษฐีเป็นเสียงเดียวว่า ท่านคฤหบดี ท่านหาสตรีอื่นไม่ได้แล้วหรือ ท่านพาเอาสตรีมหากาฬกัณณี ผู้เป็นสาวิกาพระสมณโคดมเข้ามาไว้ในบ้านนี้ จงให้ฉุดมันออกไปเสียจากบ้านนี้โดยเร็ว มิคารเศรษฐีดําริว่า เราไม่อาจที่ให้ฉุดสะใภ้ของเราออกไป ด้วยเหตุสักว่าคําแนะนําของพระผู้เป็นเจ้าเหล่านี้ สะใภ้ของเรานั้นเป็นธิดาของตระกูลใหญ่ แล้วจึงเรียนตอบพวกอเจลกะว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ธรรมดาเด็กหนุ่ม ๆ สาว ๆ นั้น พึงกระทําอะไรลงไป เพราะรู้บ้าง เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์บ้าง ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายนิ่งเฉย ๆ เสียเถิด “ ครั้นส่งพวกอเจลกะกลับไปแล้ว ตนเองก็นั่งเหนืออาสนะอันมีค่า รับประทานข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อยในถาดทองอยู่ ด้วยประการฉะนี้

 

ตสฺมึ สมเย เอโก ปิณฺฑจาริกตฺเถโร - เวลานั้นมีพระเถระผู้ถือเดินบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง เมื่อเดินไปบิณฑบาตได้เข้าไปสู่นิเวศน์นั้น นางวิสาขายืนพัดคุณพ่ออยู่ ได้เห็นพระเถระนั้นแล้วคิดว่า การที่เราจะบอกแก่คุณพ่อนั้นไม่สมควร จึงได้ยืนเลี่ยงไป พอที่เศรษฐีนั้นจะเห็นพระเถระได้เอง แต่เศรษฐีเป็นคนพาล แม้จะได้เห็นพระเถระแล้วก็ทําเป็นเหมือนไม่เห็น ก้มหน้ารับประทานเฉย ส่วนนางวิสาขาทราบว่า คุณพ่อของเราแม้จะได้เห็นพระเถระแล้ว ก็ไม่ทําความสําคัญอะไร จึงเรียนพระเถระว่า “ นิมนต์ไปข้างหน้าเถิด เจ้าข้า คุณพ่อของดิฉันท่านรับประทานของเก่า “ มิคารเศรษฐีนั้น แม้จะอดกลั้นไว้ได้ในคราวที่พวกนิครณฑ์บอกแล้ว แต่ในขณะที่นางวิสาขาพูดว่ารับประทานของเก่าคราวนี้ วางมือแล้วสั่งพวกคนใช้ว่า “ เอาข้าวปายาสนี้ไปเสียให้พ้นจากที่นี้ จงช่วยกันฉุดเอาแม่คนนี้ออกไปเสียจากบ้านนี้ แม่คนนี้มันว่าข้าเป็นคนกินของสกปรกในกาลอันเป็นมงคล เห็นปานนี้ ก็ในนิเวศน์นั้นแล “ ทาสและกรรมกรทั้งปวงเป็นคนของนางวิสาขาทั้งนั้น ย่อมไม่กล้าที่จะเข้าไปใกล้ ใครเล่าจักกล้าจับนางที่มือหรือที่เท้าได้ แม้แต่จะพูดด้วยปากก็ไม่มีใครสามารถ ส่วนนางวิสาขาครั้นได้ฟังถ้อยคําของบิดาสามีดังนั้น จึงเรียนชี้แจงว่า “ คุณพ่อเจ้าคะ ฉันจะยังไม่ออกไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ คุณพ่อมิได้นําดิฉันมาเหมือนอย่างนํานางกุมภทาสีมาจากท่าน้ำ ธรรมดาธิดาทั้งหลายของมารดาบิดาที่ยังมีชีวิตอยู่ ย่อมไม่ยอมออกไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ นั่นเทียว ด้วยเหตุนี้นั่นเอง ท่านบิดาของดิฉันในเวลาที่ดิฉันจะมาอยู่ ณ ที่นี้ จึงได้เชิญท่านกุฎมพี ๘ ท่านมาแล้วสั่งไว้ว่า ถ้าความผิดจะเกิดขึ้นแก่ธิดาของข้าพเจ้า ขอให้ท่านทั้งหลายช่วยกันชําระสะสาง แล้วมอบดิฉันไว้ในเงื้อมมือของท่านกุฎมพีทั้ง ๘ นั้น คุณพ่อจงเชิญกุฎมพีเหล่านั้นมาให้ชําระความผิดของดิฉันซี เจ้าข้า “

 

เสฏฺฐิ กลฺยาณํ เอสา กเถติ - ฝ่ายมิคารเศรษฐี ได้ฟังคําชี้แจงของนางวิสาขาดังนั้นแล้ว สํานึกขึ้นมาได้ว่า แม่คนนี้มันพูดดีอยู่ จึงให้เชิญกุฎมพีทั้ง ๘ มาแล้ว ตั้งข้อหาขึ้นว่า “ ขณะที่ข้าพเจ้านั่งรับประทานข้าวปายาสแข้นในถาดทองในกาลอันเป็นมงคล แม่ทาริกาคนนี้มันว่าข้าพเจ้าว่าเป็นคนกินของสกปรก ขอให้ท่านทั้งหลายจงยกโทษของแม่ทาริกาคนนี้ขึ้นพิจารณา แล้วช่วยกันฉุดมันออกไปจากบ้านของข้าพเจ้านี้เสีย “ กุฎมพีทั้ง ๘ สอบถามนางวิสาขาว่า แม่หนู ! ได้ยินว่าเธอได้ทําอย่างนั้น จริงหรือ ? “ นางวิสาขาได้แถลงแก้ข้อหาว่า “ ดิฉันมิได้พูดอย่างนั้น เจ้าข้า แต่ว่าเมื่อพระเถระผู้ถือการเดินบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งมายืนคอยอยู่ที่ประตูเรือน คุณพ่อของดิฉันรับประทานข้าวมธุปายาสแข้นเพลินอยู่ มิได้สนใจต่อพระเถระนั้น ดิฉันจึงคิดว่าคุณพ่อของเราไม่ทําบุญในอัตภาพนี้ รับประทานอยู่แต่บุญเก่าเท่านั้น แล้วได้เรียนพระเถระว่า นิมนต์ไปข้างหน้าเถิด เจ้าข้า คุณพ่อของดิฉันท่านรับประทานของเก่า ดังนี้ ดิฉันจะมีความผิดอะไรในเพราะเหตุนี้ เจ้าข้า “ กุฎมพีทั้ง ๘ ครั้นได้ฟังคําแถลงแก้ของนางวิสาขาแล้ว จึงเรียนแก่เศรษฐีว่า “ ท่านขอรับ ในเพราะเหตุนี้ไม่มีความผิดอะไร ธิดาของเราพูดถูกแล้ว ท่านจะไปโกรธเขาทําไม มิคารเศรษฐีได้ตั้งข้อหาขึ้นอีกว่า “ ท่านทั้งหลาย ! ความผิดข้อนั้นจงเป็นอันพ้นไปก่อน แต่ยังมีข้ออื่น คือ แม่ทาริกาคนนี้ ในเวลามัชฌิมยามวันหนึ่ง ได้มีหมู่หญิงคนใช้ห้อมล้อมไปทางหลังบ้าน ซึ่งเป็นอาการอันไม่สมควร “ กุฎมพีทั้ง ๘ ได้สอบถามนางวิสาขาว่า “ แม่หนู ! ได้ยินว่า เธอได้ทําอย่างนั้นจริงหรือ ? “ นางวิสาขาแถลงแก้ข้อหาว่า “ คุณพ่อทั้งหลาย ! ดิฉันมิได้ไปด้วยเหตุอย่างอื่นใด แต่ว่าเมื่อนางฟ้าซึ่งเป็นแม่ม้าอาชาไนยในบ้านนี้มันเกิดตกลูกขึ้น ดิฉันคิดว่า การที่จะนั่งเฉยเสียไม่เอาเป็นธุระอะไรเลยนั้นไม่สมควร จึงได้ให้คนใช้ถือตะเกียงเอาน้ำอุ่นเป็นต้น พร้อมกับพวกสาวใช้ไปให้เขา ช่วยกันทําการบริหารการตกลูกแก่แม่ฟ้านั้น ในเพราะเหตุนี้ ดิฉันจะมีความผิดอะไรเล่า เจ้าข้า กุฎมพีทั้ง ๘ ได้ฟังคําแถลงของนางวิสาขาแล้ว จึงเรียนแก่เศรษฐีว่า “ ท่านขอรับในเพราะเหตุนี้ไม่มีความผิดอะไร ธิดาของเราอุตส่าห์ทํางานสิ่งที่แม้แต่พวกสาวใช้ก็ไม่ต้องทําในบ้านของท่านเอง ท่านจะไปเพ่งโทษเขาอะไรในเพราะเหตุเช่นนี้ “

 

(๑) มิคารเศรษฐี ได้ฟังดังนั้นแล้วก็ยังไม่ยอมยุติลงเพียงเท่านั้น ยังตั้งข้อหาอีกต่อไปว่า “ ท่านทั้งหลาย แม้ในเพราะเหตุนี้จะไม่เป็นความผิด ก็ขอผ่านไปก่อน แต่บิดาของแม่ทาริกานี้ เมื่อโอวาทสั่งสอนเขาในเวลาที่จะมา ณ ที่นี้นั้น ได้ให้โอวาท ๑๐ ข้อ ซึ่งล้วนแต่มีความลี้ลับซับซ้อน ข้าพเจ้าไม่เข้าใจความหมายของโอวาทนั้น แม่ทาริกาจงชี้แจงความหมายของโอวาทนั้นให้ข้าพเจ้าทราบ คือ ประการแรก บิดาของแม่ทาริกานี้สอนว่า ไฟในไม่ควรนําไปข้างนอก ดังนี้ เราทั้งหลายจะสามารถอยู่ได้เทียวหรือ ที่จะไม่ให้ไฟแก่พวกเพื่อนบ้านที่คุ้นเคยกันทั้ง ๒ ฟากข้าง “ กุฎมพีทั้ง ๘ สอบถามนางวิสาขาว่า แม่หนู ! ได้ยินว่า เป็นอย่างนั้นจริงหรือ ? “ นางวิสาขาได้แถลงแก้ว่า “ คุณพ่อทั้งหลาย ! ท่านบิดาของดิฉันมิได้พูดหมายความอย่างนั้น แต่ท่านได้สอนหมายความดังนี้ - แม่หนู เมื่อเจ้าได้เห็นโทษของมารดาบิดาของสามี และโทษของสามีของเจ้าแล้ว อย่าเอาไปนินทาข้างนอกตามบ้านนั้น ๆ เพราะขึ้นชื่อว่าไฟแล้วที่จะแรงร้ายเหมือนกับไฟชนิดนี้ย่อมไม่มี “

 

(๒) มิคารเศรษฐี ได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้ตั้งข้อสงสัยต่อไปอีกว่า “ ท่านทั้งหลาย ข้อนั้นขอผ่านไป แต่ว่าบิดาของแม่ทาริกานี้ได้สอนว่า ไฟข้างนอกไม่ควรให้เอาเข้ามาข้างใน “ ดังนี้ เราทั้งหลายจะสามารถเทียวหรือ เมื่อไฟภายในบ้านดับแล้ว ที่จะไม่นําไฟข้างนอกเข้ามา กุฎมพีทั้ง ๘ สอบถามนางวิสาขาว่า “ แม่หนู ! ได้ยินว่าเป็นความจริงอย่างนั้นหรือ ? “ นางวิสาขาแถลงแก้ว่า คุณพ่อทั้งหลาย ! ท่านบิดาของดิฉันมิได้พูดหมายความอย่างนั้น แต่ท่านได้สอนหมายความดังนี้ - ถ้าสตรีหรือบุรุษทั้งหลายในบ้านใกล้เรือนเคียงของเจ้า พูดถึงโทษของมารดาบิดาสามีและของสามี เจ้าอย่าได้นําเอาโทษที่เขาพูดแล้วนั้น มาพูดสับส่อว่า คนชื่อโน้นได้กล่าวโทษของท่านอย่างนี้ เพราะขึ้นชื่อว่าไฟที่จะแรงร้ายเหมือนไฟชนิดนี้ ย่อมไม่มี “ นางวิสาขานั้นได้พ้นความผิดในเพราะเหตุนี้ ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ในโอวาทข้อที่เหลือนางวิสาขาก็ได้พ้นความผิดเหมือนในข้อนี้ ส่วนอรรถาธิบายความในโอวาทข้อที่เหลือ มีความหมายดังต่อไปนี้

 

(๓) โอวาทข้อที่บิดาของนางวิสาขาสอนว่า แม่หนู ควรให้แก่คนที่ให้คืนเท่านั้น ท่านเศรษฐีกล่าวหมายความว่า คนพวกใดขอยืมเอาเครื่องอุปกรณ์ไปแล้วนํามาส่งคืน ควรให้แก่คนพวกนั้นนั่นแล

 

(๔) โอวาทข้อว่า ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้คืน ดังนี้ ท่านเศรษฐีกล่าวหมายความว่า คนจําพวกใดขอยืมเอาเครื่องอุปกรณ์ไปแล้ว ไม่นํามาส่งคืน ไม่ควรให้แก่คนจําพวกนั้น

 

(๕) โอวาทข้อว่า ควรให้ทั้งแก่คนที่ให้คืนทั้งแก่คนที่ไม่ให้คืน ดังนี้ ท่านเศรษฐีกล่าว หมายความว่า เมื่อหมู่ญาติมิตรที่ยากจนมาหา ญาติมิตรเหล่านั้นจะสามารถให้คืนก็ตาม ไม่สามารถจะให้คืนก็ตาม ควรให้แก่ญาติมิตรเช่นนั้นนั่นแล

 

(๖) โอวาทข้อว่า ควรนั่งให้เป็นสุข ดังนี้ ท่านเศรษฐีกล่าวหมายความว่า ไม่ควรจะนั่งในสถานที่ที่เห็นมารดา

บิดาของสามีและเห็นสามีแล้วต้องลุกขึ้น

 

(๗) โอวาทข้อว่า ควรรับประทานให้เป็นสุข ดังนี้ ท่านเศรษฐีกล่าวหมายความว่า ไม่ควรรับประทานก่อนมารดาบิดาของสามีและก่อนสามี เลี้ยงดูท่านเหล่านั้นให้เรียบร้อย รู้ว่าทุก ๆ คนได้อะไร หรือยังไม่ได้อะไรเสียก่อน แล้วตนเองจึงรับประทานภายหลัง

 

(๘) โอวาทข้อว่า ควรนอนให้เป็นสุข ดังนี้ ท่านเศรษฐีกล่าวหมายความว่า ไม่ควรขึ้นนอนก่อนมารดาบิดาของสามีและก่อนสามี ทําการปรนนิบัติสิ่งที่ควรทําแก่ท่านเหล่านั้นให้แล้วเสร็จเสียก่อน ตนเองจึงนอนภายหลัง

 

(๙) โอวาทข้อว่า ควรบูชาไฟดังนี้ ท่านเศรษฐีกล่าวหมายความว่า มารดาสามีก็ดี บิดาสามีก็ดี สามีก็ดี ควรเห็นเป็นดุจกองไฟ และเป็นดุจพระยางู

 

(๑๐) โอวาทข้อว่า ควรไหว้เทวดาภายใน ดังนี้ ท่านเศรษฐีกล่าวหมายความว่า มารดาสามี บิดาสามีและสามี ควรเห็นให้เป็นดุจเทวดา

 

มิคารเศรษฐี ครั้นได้ฟังความหมายของโอวาททั้ง ๑๐ ข้อนี้ อย่างนี้แล้ว ก็มองไม่เห็นคําที่จะโต้แย้งต่อไป เลยนั่งก้มหน้านิ่งอยู่ ด้วยประการฉะนี้

 

อถ นํ กุฏมฺพิกา - ขณะนั้น กุฎมพีทั้งหลายจึงเรียนถามมิคารเศรษฐีว่า “ ท่านเศรษฐี ความผิดอย่างอื่น ๆ ของธิดาข้าพเจ้าทั้งหลายยังมีอยู่ไหม ? มิคารเศรษฐีตอบว่า “ ไม่มีแล้วท่านทั้งหลาย “ กุฎมพีทั้ง ๘ เรียนกับเศรษฐีว่า “ เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรท่านจึงสั่งให้ฉุดธิดาของพวกข้าพเจ้าซึ่งไม่มีความผิดออกจากบ้าน โดยไม่มีเหตุการณ์อันสมควรเล่า “ เมื่อกุฎมพีทั้ง ๘ พูดอย่างนี้แล้ว นางวิสาขาจึงเรียนว่า “ คุณพ่อทั้งหลาย ครั้งแรกดิฉันไม่ควรจะด่วนไปตามคําขับไล่ของบิดาสามีของดิฉันก็จริง แต่เดี๋ยวนี้ดิฉันควรจะไปได้แล้ว เพราะว่าเวลาที่ดิฉันจะมาท่านบิดาของดิฉันได้ฝากฝังดิฉันไว้ในเงื้อมมือของท่านทั้งหลาย เพื่อให้ช่วยชําระสะสางความผิดความถูกของดิฉัน และท่านทั้งหลายก็ได้ทราบแล้วว่า ดิฉันไม่มีความผิดอะไร “ ครั้นแล้วก็ได้สั่งบรรดาคนใช้หญิงชายทั้งหลายว่า “ พวกเธอจงตระเตรียมการมียานพาหนะเป็นต้นได้ “ ลําดับนั้น มิคารเศรษฐียึดกุฎมพีทั้ง ๘ ไว้แล้วพูดกับนางวิสาขาว่า “ แม่หนู ! พ่อได้พูดไป เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เจ้าจงให้อภัยแก่พ่อเสียเถิด “ นางวิสาขาจึงเรียนว่า “ คุณพ่อเจ้าคะ สิ่งที่ควรให้อภัยแก่คุณพ่อ ดิฉันขอให้อภัยได้ แต่ดิฉันเป็นธิดาของตระกูลที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง เมื่อเว้นจากภิกษุสงฆ์แล้ว ก็จะเป็นไปไม่ได้ ถ้าดิฉันได้ปฏิบัติภิกษุสงฆ์ตามความพอใจของดิฉันแล้ว จึงจักอยู่ได้ “ มิคารเศรษฐีให้โอกาสว่า “ แม่หนู ! เจ้าจงปฏิบัติสมณะทั้งหลายของเจ้าตามความพอใจเถิด “

 

วิสาขา ทสพลํ นิมนฺตาเปตฺวา ปุนทิวเส - ครั้นวันรุ่งขึ้น นางวิสาขาก็ได้ให้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระทศพลพุทธเจ้าให้เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของตน ฝ่ายพวกสมณะเปลือยได้ยินข่าวว่า สมเด็จพระบรมศาสดาจะเสด็จไปบ้านมิคารเศรษฐี จึงได้พากันไปนั่งล้อมเรือนมิคารเศรษฐีไว้ ฝ่ายนางวิสาขาถวายน้ำทักขิโณทกแล้ว ก็ส่งสาส์นไปเชิญมิคารเศรษฐีว่า “ เครื่องสักการะทุก ๆ อย่าง ดิฉันจัดแจงเรียบร้อยแล้ว ขอเชิญคุณพ่อของลูกจงมาอังคาสพระทศพลพุทธเจ้าเถิด เจ้าข้า “ ขณะนั้น พวกอาชีวกได้ห้ามมิคารเศรษฐีซึ่งอยากจะมาอยู่ว่า “ ท่านคหบดี ท่านอย่าไปสํานักของพระสมณโคดมเลย มิคารเศรษฐีเมื่อถูกห้ามดังนั้น จึงส่งข่าวไปบอกนางวิสาขาว่า “ ขอให้ลูกสะใภ้ของพ่อจงอังคาสเสียเองเถิด นางวิสาขาได้อังคาสเลี้ยงดูภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประธาน ครั้นภิกษุสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ได้ส่งข่าวไปบอกแก่มิคารเศรษฐีอีกว่า “ ขอเชิญคุณพ่อของลูกจงมาฟังพระธรรมเทศนา “ ขณะนั้น มิคารเศรษฐีดําริว่า คราวนี้ที่จะไม่ไปย่อมไม่สมควรอย่างยิ่ง จึงเดินไปด้วยประสงค์จะฟังธรรม พวกอาชีวกเหล่านั้นได้พูดแนะนําเศรษฐีว่า “ ถ้าเช่นนั้น เมื่อท่านจะฟังธรรมของพระสมณโคดม ก็จงนั่งฟังอยู่แต่ภายนอกม่าน “ ครั้นแล้วก็รีบล่วงหน้าไปก่อนเศรษฐี จัดการกั้นม่านไว้อย่างเรียบร้อย เมื่อมิคารเศรษฐีไปถึงแล้วก็นั่งอยู่ภายนอกม่าน ส่วนสมเด็จพระบรมศาสดาทรงพระพุทธดําริว่า “ เจ้าจะนั่งอยู่ภายนอกม่านก็ตาม จะนั่งอยู่ภายนอกฝาก็ตาม จะนั่งอยู่ภายนอกภูเขาก็ตาม หรือจะนั่งอยู่นอกจักรวาฬก็ตาม เราชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าย่อมสามารถที่จะทําให้เจ้าได้ยินเสียงของเราได้ “ ครั้นแล้วก็ทรงปรารภอนุปุพพิกถา เพื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนา เป็นเสมือนทรงจับต้นหว้าใหญ่สั่นอยู่ หรือเป็นเสมือนทรงยังฝนอมฤตธรรมให้ตกอยู่ฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้

 

แสดงพระธรรมเทศนามาในเรื่องมหาอุบาสิกาวิสาขากัณฑ์ที่ ๒ ยังไม่สุดสิ้นระบิลความ แต่เป็นการสมควรแก่เวลา จึงขอยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้