เรื่อง พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา:มหาอุบาสิกาวิสาขา กัณฑ์ที่ ๓

 

พระธรรมบทเทศนา

พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา

(๔) เรื่องมหาอุบาสิกาวิสาขา [๔๐ ]

กัณฑ์ที่ ๓

-------------------------------------

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส.

ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา กยิรา มาลาคุเณ พหู

เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุนฺติ

 

อนุสนธิพระธรรมเทศนา ณ บัดนี้ จะวิสัชนาพระธรรมเทศนา เรื่องมหาอุบาสิกาวิสาขา กัณฑ์ที่ ๓ โดยอนุสนธิสืบเนื่องมาจากกัณฑ์ที่ ๒ ซึ่งได้วิสัชนามาแล้ว เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลส่วนธรรมเทศนามัย และขอเชิญท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย จงตั้งใจสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาโดยโยนิโสมนสิการเป็นอันดี เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลบุณยนฤธีส่วนธรรมสวนมัยสืบไป ณ บัดนี้ ดําเนินความว่า

 

สมฺมาสมฺพุทฺเธ ปน ธมฺมํ เทเสนฺเต - ก็แลเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่นั้น คนที่อยู่ข้างหน้าก็ดี คนที่อยู่ข้างหลังก็ดี คนที่อยู่ไกลร้อยจักรวาฬ พันจักรวาฬก็ดี เทวดาที่อยู่บนพรหมโลกชั้นอกนิฏฐภพก็ดี ต่างก็พูดว่า พระบรมศาสดาทรงมองดูเรา นั่นเทียว พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เรา นั่นเทียว เพราะว่าสมเด็จพระบรมศาสดานั้นย่อมเป็นเสมือนทรงมองดูเราอยู่ ซึ่งบุคคลนั้น ๆ ย่อมเป็นเสมือนทรงเจรจาปราศรัยอยู่กับบุคคลนั้น ๆ ได้ยินว่าธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นเหมือนดังพระจันทร์ พระจันทร์ลอยอยู่บนท่ามกลางฟ้าย่อมปรากฏแก่คนทุกคนว่า พระจันทร์อยู่บนศีรษะของเรา พระจันทร์อยู่บนศีรษะของเรา ดังนี้ ฉันใด พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมปรากฏเป็นเหมือนประทับอยู่เฉพาะหน้าของพุทธบริษัททั้งหลาย ซึ่งอยู่ ณ ที่ใด ๆ ก็ตาม ฉันนั้น ได้ยินว่า ข้อนี้เป็นผลของทานบารมีที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทรงตัดพระเศียรที่ตบแต่งแล้ว ทรงควักลูกตาที่หยอดล้างดีแล้ว ทรงควักเนื้อหัวใจให้เป็นทาน และทรงเสียสละพระโอรสทั้งหลาย เช่น พระชาลีกุมาร ทรงเสียสละพระธิดาทั้งหลาย เช่น พระนางกัณหาชินา ทรงเสียสละพระชายาทั้งหลาย เช่น พระนางมัทรี ให้เป็นทาสของคนอื่น ฝ่ายมิคารเศรษฐี เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงยักย้ายเปลี่ยนแปลงแสดงพระธรรมเทศนาไปทั้ง ๆ ที่ นั่งอยู่ข้างนอกม่าน นั่นแล ได้ดํารงอยู่ในโสดาปัตติผลอันประดับด้วยนัยพันหนึ่ง ประกอบด้วยศรัทธาอันมั่นคง หมดความสงสัยในพระรัตนะทั้ง ๓ ยกชายม่านขึ้นแล้วเข้าไปคาบถันของนางวิสาขาผู้สะใภ้ด้วยปาก แล้วตั้งนางวิสาขาไว้ในฐานะแห่งมารดาว่า “ เจ้าจงเป็นมารดาของพ่อนับตั้งแต่วันนี้ไป จําเดิมตั้งแต่กาลนั้นมา นางวิสาขาได้เกิดมีนามขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า มิคารมารดา ต่อมาภายหลังนางได้บุตรชายก็ได้ตั้ง ชื่อบุตรนั้นว่า มิคาระ ด้วยประการฉะนี้

 

มิคารเสฏฺฐิ สุณิสาย ถนํ วิสฺสชเชตฺวา - ครั้งนั้น มิคารเศรษฐีปล่อยถันของลูกสะใภ้แล้ว ไปหมอบลงด้วยเศียรที่พระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า พลางเอามือทั้งสองลูบคลําพระบาทพลางเอาปากจูบ แล้วประกาศชื่อของตนขึ้น ๓ ครั้งว่า “ ข้าพระพุทธเจ้าชื่อมิคาระ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าชื่อมิคาระ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าชื่อมิคาระ พระพุทธเจ้าข้า “ แล้วกราบทูลว่า “ ข้าแต่สมเด็จพระพุทธองค์ ! ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบว่าให้ทานที่ไหนมีผลมากมาตลอดถึงเท่านี้ บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบแล้วเพราะอาศัยลูกสะใภ้ ข้าพระพุทธเจ้า นับว่าได้รอดพ้นแล้วจากทุกข์ในอบายทั้งปวง เมื่อลูกสะใภ้ของข้าพระพุทธเจ้ามาสู่บ้านนี้ ชื่อว่าเขามาเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของข้าพระพุทธเจ้าแท้ ๆ ครั้นแล้วมิคารเศรษฐีได้กล่าวคําที่ประพันธ์เป็นคาถา ดังนี้

 

โสหํ อชฺช ปชานามิ ยตฺถ ทินฺนํ มหปฺผลํ

อตฺถาย วต เม ภทฺทา สุณิสา ฆรมาคตา

 

ข้าพระพุทธเจ้านั้น เพิ่งจะได้ทราบวันนี้เองว่าทานที่ให้แล้วในที่ไหนมีผลมาก

ศรีสะใภ้คนดีเขามาสู่เรือนนี้ เพื่อประโยชน์ของข้าพระพุทธเจ้าโดยแท้

 

วิสาขา ปุนทิวสตฺถายปิ - ส่วนนางวิสาขาได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระบรมศาสดา เพื่อเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้นอีก ฝ่ายมารดาของสามีก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล สําเร็จเป็นพระโสดาบันอริยบุคคลแม้ในวันรุ่งขึ้นนั่นเอง จําเดิมตั้งแต่นั้นมาบ้านของมิคารเศรษฐีนั้นก็ได้เปิดประตูให้แก่พระศาสนา ครั้งนั้นมิคารเศรษฐีดําริว่า ศรีสะใภ้มีอุปการะแก่เรามาก เราจักสร้างของขวัญให้แก่เธอสักอย่างหนึ่ง ก็เครื่องประดับของเธอนั้นหนักมาก ไม่สามารถจะใช้ประดับได้ทุกกาลทุกเวลา เราจักให้นายช่างทําเครื่องประดับอย่างเบา ๆ ให้แก่เธอ ซึ่งควรที่จะประดับได้ทุก ๆ อิริยาบถทั้งกลางวันและกลางคืน ครั้น แล้วก็ได้ให้นายช่างนําเครื่องประดับชื่อ “ ฆนมัฏฐกะ “ มีราคาแสนหนึ่ง เมื่อเครื่องประดับนั้นสําเร็จแล้วได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประธานไปฉันภัตตาหารเลี้ยงดูโดยเคารพ เสร็จแล้วจึงให้นางวิสาขาสรงน้ำ ด้วยน้ำหอม ๑๖ หม้อ เสร็จแล้วให้มายืนอยู่เฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระบรมศาสดา ประดับเครื่องประดับให้แล้วให้กราบถวายบังคมสมเด็จพระบรมศาสดา ฝ่ายสมเด็จพระบรมศาสดาทรงทําอนุโมทนาแล้วก็เสด็จกลับไปพระวิหาร นั่นเทียว จําเดิมแต่นั้นมา แม้นางวิสาขาก็ได้บําเพ็ญบุญนานาประการมีทานเป็นต้น ได้รับพร ๘ ประการ ( พร ๘ อย่าง ดูในวินัยมหาวรรค ) จากสํานักสมเด็จพระบรมศาสดาปรากฏอยู่เป็นดุจว่าดวงจันทร์ในท้องฟ้า ถึงซึ่งความเจริญงอกงามด้วยบุตรและธิดาทั้งหลาย ได้ยินว่านางวิสาขานั้นมีบุตร ๑๐ คน มีธิดา ๑๐ คน ในบรรดาบุตรและธิดาเหล่านั้น คนหนึ่ง ๆ มีบุตรคนละ ๑๐ ๆ และมีธิดาคนละ ๑๐ ๆ แม้ในบรรดาหลานเหล่านั้น หลานคนหนึ่ง ๆ ก็มีบุตรคนละ ๑๐ ๆ และมีธิดาคนละ ๑๐ ๆ เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นนางวิสาขานั้นจึงมีบุตร มีหลาน และมีเหลนสืบเนื่องกันต่อ ๆ ไป รวมกันเป็น ๘,๔๒๐ คน ด้วยประการอย่างนี้ ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงได้กล่าวประพันธคาถาไว้ดังนี้

 

วิสาขา วีสติ ปุตฺตา นตฺตา จ จตุโร สตา

ปนตฺตา อฏฺฐสหสฺสา ชมฺพุทีเป สุปาถฏา

 

นางวิสาขานั้นปรากฏขจรไปในชมพูทวีปว่ามีบุตร ๒๐ คน

หลาน ๔๐๐ คน และเหลน ๘,๐๐๐ คน

 

ส่วนตัวนางวิสาขานั้นได้ดํารงชีวิตอยู่ถึง ๑๒๐ ปี ผมที่ศีรษะแม้สักเส้นหนึ่งก็ไม่มีหงอก ได้เป็นเหมือนสตรีอายุย่างเข้า ๑๖ ปี อยู่ตลอดกาลเป็นนิจ คนทั้งหลายเห็นนางวิสาขามีบุตรหลานเหลนเป็นบริวารเดินไปวัดแล้วถามกันว่า สตรีเหล่านั้นคนไหนเป็นนางวิสาขา คนเหล่าใดได้เห็นนางวิสาขากําลังเดินไปอยู่ คนเหล่านั้นต่างก็พากันนึกว่า ขอจงเดินไปสักประเดี๋ยวหน่อยเถิด แม่เจ้าของเราช่างเดินงามเสียจริงๆ คนเหล่าใดได้เห็นนางวิสาขายืน นั่ง นอน คนเหล่านั้นต่างก็พากันนึกว่า ขอให้จงยืนนั่งนอนสักประเดี๋ยวหน่อยเถิด แม่เจ้าของเราช่างยืนนั่งนอนงามเสียจริง ๆ นางวิสาขานั้นไม่มีใครเลยที่จะตําหนิว่าอิริยาบถทั้ง ๔ ไม่งามในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ด้วยประการดังนี้ อนึ่งนางวิสาขานั้น ย่อมทรงกําลังเท่ากับกําลังช้าง ๕ เชือกแล พระราชาได้ทรงทราบข่าวมาว่า นางวิสาขาทรงไว้ซึ่งกําลังเท่ากับกําลังช้าง ๕ เชือก ทรงมีพระราชประสงค์จะทรงทดลองดูกําลังเวลาที่นางไปวัดฟังธรรมแล้วกลับมา จึงทรงรับสั่งให้ปล่อยช้างไปใส่ ช้างนั้นได้ชูงวงขึ้นตรงหน้าไปหานางวิสาขาทันที สตรีบริวารของนางวิสาขา ๕๐๐ คน บางจําพวกพากันหลบหนีเอาตัวรอดไป บางจําพวกไม่ยอมทอดทิ้งนางวิสาขา เมื่อนางวิสาขาถามว่านี้มันเป็นเรื่องอะไรกัน สตรีบริวารเรียนว่า - คุณแม่เจ้าขาได้ทราบว่าพระราชาทรงมีพระราชประสงค์จะทรงทดลองดูกําลังของคุณแม่ จึงทรงรับสั่งให้ปล่อยช้างมาใส่ - นางวิสาขาจึงคิดว่า จะหลบหนีไปธุระอะไรเพราะเห็นช้างนี้ เราจักจับมันอย่างไรดีหนอ พิจารณาเห็นว่า ถ้าเราจักจับมันให้แน่น ๆ มันก็จะพึงพินาศไปเสียเท่านั้น ครั้นแล้วจึงเอานิ้วมือ ๒ นิ้ว จับงวงแล้วดันไป ช้างก็ไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ เขย่งเท้าล้มลงที่พระลานหลวง นั่นเอง. มหาชนได้พากันร้องซ้องสาธุการ ฝ่ายนางวิสาขาพร้อมทั้งบริวารก็ได้กลับไปถึงบ้านโดยสวัสดี ด้วยประการฉะนี้

 

เตน โข ปน สมเยน - ก็โดยสมัยนั้นแล นางวิสาขามิคารมารดาเป็นผู้มีบุตรมาก มีหลานเหลนมาก บุตรหลานเหลนปราศจากโรคาพยาธิ ยกย่องกันว่าเป็นมิ่งมงคลในพระนครสาวัตถี บรรดาบุตรหลานเหลนจํานวนมากหลายถึงปานนั้น แม้เพียงคนเดียวที่ได้ถึงซึ่งมรณกรรมไปในระหว่างแห่งอายุมิได้มีเลย ในงานพิธีมงคลทั้งหลาย ชาวพระนครสาวัตถีย่อมพากันเชื้อเชิญนางวิสาขาไปรับประทานเลี้ยงเป็นคนแรก อยู่มาในวันงานมหรสพครั้งหนึ่ง เมื่อมหาชน ซึ่งประดับตบแต่งตนไปวัดเพื่อจะฟังธรรม แม้นางวิสาขารับประทานอาหารในที่เชื้อเชิญเสร็จแล้ว ก็ประดับเครื่องมหาลดาปสาธณ์ไปวัดพร้อมกับมหาชน ได้ปลดเครื่องประดับออกเอาผ้าห่มมาห่อแล้วมอบให้สาวใช้ไว้ คํานี้สมด้วยพระบาลีที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ในคัมภีร์วินัยมหาวิภังค์ว่า

 

* ก็โดยสมัยนั้นแล ที่พระนครสาวัตถีมีงานมหรสพ คนทั้งหลายประดับ

ตบแต่งตนแล้ว ก็พากันไปยังพระอาราม แม้นางวิสาขา มิคารมารดา

ประดับตบแต่งตนแล้วก็ไปยังพระวิหาร ครั้งนั้นแล นางวิสาขามิคาร

มารดาปลดเครื่องประดับออกแล้ว เอาผ้าห่มห่อแล้วมอบให้สาวใช้

พร้อมกับสั่งว่า นี่แน่เธอจงรับเอาห่อนี้ไว้

 

สา กิร วิหารํ คจฺฉนฺตี - ได้ยินว่า นางวิสาขานั้น เมื่อไปพระวิหารได้คิดว่า การที่เราสวมเครื่องประดับอันมีค่ามากเห็นปานนี้ไว้บนศีรษะ แล้วประดับเครื่องประดับคลุมจนตลอดถึงหลังเท้าเข้าไปสู่พระวิหารนั้น ย่อมไม่สมควร ดังนี้แล้วจึงปลดเครื่องประดับนั้นออกห่อแล้วเอาวางใส่มือให้สาวใช้ ซึ่งทรงกําลังเท่าช้าง ๕ เชือก ที่เกิดมาด้วยบุญของตนนั่นเทียว สาวใช้คนนั้นเท่านั้นย่อมสามารถรับเครื่องประดับนั้นได้ ด้วยเหตุนั้น นางวิสาขาจึงได้บอกกับสาวใช้คนนั้นว่า “ นี่แน่เธอ จงรับเอาเครื่องประดับนี้ไว้ ฉันจักประดับมันในเวลาที่กลับออกไปจากสํานักของสมเด็จพระบรมศาสดา “ ก็แล ครั้นนางวิสาขาให้เครื่องประดับนั้นแก่สาวใช้แล้ว จึงประดับเครื่องประดับที่ชื่อฆนมัฏฐกะแทน แล้วเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดาฟังพระธรรมเทศนา เวลาจบพระธรรมเทศนากราบถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็ลุกขึ้นจากอาสนะไป ฝ่ายสาวใช้ของนางวิสาขานั้นได้ลืมเครื่องประดับนั้นไว้ ก็โดยปกตินั้น เมื่อพุทธบริษัทฟังพระธรรมเทศนากลับไปแล้ว ถ้ามีใคร ๆ ลืมสิ่งของอะไรไว้ พระอานันทเถระย่อมเก็บสิ่งของนั้นไว้เสมอ เพราะฉะนั้นในวันนั้นพระอานันทเถระเห็นเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์แล้ว จึงกราบทูลแด่สมเด็จพระบรมศาสดาให้ทรงทราบว่า “ พระพุทธเจ้าข้า นางวิสาขาลืมเครื่องประดับไว้กลับไปแล้ว สมเด็จพระบรมศาสดาทรงรับสั่งแก่พระอานันทเถระว่า “ เธอจงเอาไปเก็บไว้ ณ ที่อันสมควรส่วนข้างหนึ่งเสีย อานันทะ “ พระเถระจึงได้ยกเอาเครื่องประดับนั้นไปพาดห้อยไว้ตรงที่ข้างบันได ด้วยประการฉะนี้

 

วิสาขาปิ สุปฺปิยาย สทฺธี ฝ่ายนางวิสาขาพร้อมด้วยนางสุปปิยาพากันเดินเที่ยวไปภายในวัดด้วยตั้งใจว่า จักได้ทราบสิ่งที่ควรปฏิบัติแก่ภิกษุอาคันตุกะ ภิกษุเตรียมจะเดินทาง และภิกษุอาพาธเป็นต้น ก็โดยปกตินั้น ภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลายที่มีความต้องการเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำมัน เป็นต้น เห็นอุบาสิกาเหล่านั้นแล้ว ย่อมพากันถือเอาญาติเป็นต้นแล้วเข้าไปหา แม้ในวันนั้นภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลายก็ได้พากันกระทําเหมือนอย่างนั้นนั่นแล ครั้งนั้น นางสุปปิยาเห็นภิกษุอาพาธรูปหนึ่ง แล้วเรียนถามว่า “ พระผู้เป็นเจ้ามีความต้องการอะไรเจ้าข้า “ เมื่อภิกษุนั้นตอบว่า “ ต้องการวัตถุอันปกปิด “ อุบาสิกาจึงเรียนรับปากว่า “ ได้เจ้าข้า ดิฉันจักจัดส่งมาถวาย “ ครั้นถึงวันที่สองนางสุปปิยาหามังสะอันสมควรไม่ได้ จึงเชือดเอาเนื้อขาของตนแทน และด้วยความเลื่อมใสในพระบรมศาสดา สรีระกายก็กลับเป็นปกติดังเดิมอีกนั่นเทียว ฝ่ายนางวิสาขาครั้นตรวจดูภิกษุหนุ่มและสามเณรผู้อาพาธทั้งหลายเสร็จแล้ว ก็ออกจากวิหารไปทางประตูอีกประตูหนึ่ง ขณะที่ยืนอยู่ที่อุปจาระแห่งพระวิหารได้บอกแก่สาวใช้ว่า “ แม่จ๋า จงเอาเครื่องประดับมา ฉันจักประดับ “ ขณะนั้นสาวใช้คนนั้นจึงรู้สึกตัวว่า ตนได้ลืมเครื่องประดับไว้มาแต่ตนเปล่า จึงเรียนนางวิสาขาว่า “ คุณแม่เจ้าคะ ดิฉันลืมเสียแล้ว “ นางวิสาขาจึงสั่งสาวใช้ว่า ถ้าเช่นนั้นเธอจงกลับไปเอามา แต่ถ้าพระผู้เป็นเจ้าอานันทเถระของเรา ยกเอาไปเก็บไว้ที่อื่นแล้ว เธอจงอย่าเอามานะ ฉันบริจาคเครื่องประดับนั้นถวายพระผู้เป็นเจ้าเด็ดขาดเลย “ ได้ยินว่านางวิสาขานั้นย่อมทราบอยู่ดีว่าพระเถระย่อมเก็บสิ่งของที่คนทั้งหลายลืมไว้ เพราะฉะนั้นจึงได้สั่งสาวใช้อย่างนั้น ฝ่ายพระเถระพอเห็นสาวใช้นั้นก็ถามว่า “ เธอกลับมาทําไม เมื่อสาวใช้เรียนว่า “ ดิฉันลืมเครื่องประดับของคุณแม่ไว้ จึงกลับมา เจ้าข้า “ ก็บอกว่า “ ฉันเก็บไว้ที่ข้างบันไดนั่น จงเอาไปเสีย สาวใช้นั้นได้กราบเรียนพระเถระว่า “ ท่านเจ้าคะ สิ่งของที่พระคุณเจ้าจับต้องแล้วด้วยมือ คุณแม่ของดิฉันไม่ให้นํากลับคืนไป ครั้นแล้วก็กลับไปตัวเปล่า เมื่อนางวิสาขาถามว่า “ ว่าอย่างไรแม่ ? “ เธอก็ได้เรียนความนั้นให้ทราบ นางวิสาขาได้สั่งสาวใช้อีกว่า “ แม่จ๋า ฉันจักไม่ประดับสิ่งของที่พระผู้เป็นเจ้าของฉันจับต้องแล้ว ฉันสละถวายเลย แต่ว่าจะเป็นการลําบาก เพื่อที่จะรักษาแก่พระผู้เป็นเจ้า ฉันจักจําหน่ายเครื่องประดับนั้นแล้ว จึงจักนําเอาสิ่งที่สมควรไปถวาย เธอจงกลับไปเอาเครื่องประดับนั้นมาเสียก่อน “ สาวใช้จึงได้กลับไปเอาเครื่องประดับนั้นมา ส่วนนางวิสาขาไม่ยอมจะประดับเครื่องประดับนั้นแล้ว จึงให้เชิญนายช่างทองทั้งหลายมาให้ตีราคาเครื่องประดับดู เมื่อนายช่างทั้งหลายที่ราคาว่า “ เครื่องประดับนี้ราคา ๙ โกฏิ กับค่าแรงทําอีกแสนหนึ่ง “ ดังนี้ จึงให้เอาเครื่องประดับขึ้นใส่ยานแล้วสั่งว่า “ ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงไปขายเครื่องประดับนั้นให้ด้วยเถิด “ ใคร ๆ ก็ไม่สามารถจะให้ทรัพย์มากถึงเพียงนั้นรับเอาเครื่องประดับไป เพราะสตรีทั้งหลายผู้สมควรจะประดับเครื่องประดับนั้นหาได้ยาก จริงอยู่ในพื้นปฐพีมณฑล สตรีได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์มีเพียง ๓ คนเท่านั้น คือ มหาอุบาสิกาวิสาขานี้ ๑ นางมัลลิกาภริยาของพันธุลมัลลเสนาบดี ๑ ธิดาของเศรษฐีเมืองพาราณสี ๑ ด้วยประการฉะนี้

 

ตสฺมา วิสาขา สยเมว - เพราะเหตุดังนั้น นางวิสาขาจึงจ่ายมูลค่าเครื่องประดับนั้นเสียด้วยตนเองนั่นแล แล้วเอาทรัพย์ ๙ โกฏิ หนึ่งแสนบรรทุกเกวียนนําไปสู่พระวิหาร กราบถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้ว กราบทูลว่า “ พระพุทธเจ้าข้า เครื่องประดับของหม่อมฉัน พระผู้เป็นเจ้าอานันทเดชะ ของหม่อมฉัน จับต้องแล้วด้วยหัตถ์ จําเดิมแต่กาลที่พระผู้เป็นเจ้าจับต้องแล้ว หม่อมฉันไม่กล้าที่จะประดับเครื่องประดับนั้นอีก หม่อมฉันได้ตกลงใจว่าจัดจําหน่ายแล้วนําเอาสิ่งอันสมควรมาน้อมถวาย เมื่อให้นายช่างไปจําหน่ายไม่เห็นใครอื่นที่จะกล้าซื้อเอาได้ หม่อมฉันเองจึงให้บันทึกเอามูลค่าของเครื่องประดับนั้นมา ในบรรดาปัจจัย ๔ จะน้อมมูลค่าเข้าไปในปัจจัยประเภทไหน พระพุทธเจ้าข้า “ สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัส แนะนําว่า “ การสร้างที่อยู่ถวายสงฆ์ใกล้ประตูด้านทิศปราจีนเป็นการสมควรสําหรับเธอ วิสาขา “ วิสาขามีความพอใจจึงกราบทูลว่า “ ตกลงพระพุทธเจ้าข้า แล้วได้ซื้อเฉพาะพื้นที่อย่างเดียวด้วยทรัพย์ จํานวน ๙ โกฏิ แล้วปรารภที่จะสร้างพระวิหารด้วยทรัพย์จํานวนอื่นอีก ๙ โกฏิ ด้วยประการฉะนี้

 

อเถกทิวสํ สตฺถา ปจฺจูสสมเย - อยู่มาวันหนึ่ง เวลาใกล้รุ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรวจดูหมู่สัตวโลกด้วยพระญาณ ได้ทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยสมบัติของเศรษฐีบุตรชื่อภัททิยะ ซึ่งจุติลงมาจากเทวโลกแล้วมาบังเกิดในตระกูลเศรษฐีในภัททิยนคร ครั้นทรงเสวยภัตตาหารในบ้านของอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีเสร็จแล้ว ได้ทรงมุ่งหน้าตรงไปทางพระทวารด้านทิศอุดร ก็โดยปกตินั้น สมเด็จพระบรมศาสดาทรงรับภิกษาหารที่บ้านของมหาอุบาสิกาวิสาขา แล้วก็เสด็จออกทางพระทวารด้านทักษิณทิศ ไปประทับพระอิริยาบถอยู่ ณ วัดพระเชตวันมหาวิหาร ทรงรับภิกษาหารที่บ้านของอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีแล้วก็เสด็จออกทางพระทวารด้านปราจีนทิศไปประทับพระอิริยาบถอยู่ ณ วัดบุพพารามมหาวิหาร พุทธบริษัททั้งหลายครั้นเห็นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จพระพุทธดําเนินมุ่งตรงไปสู่พระทวารด้านทิศอุดรแล้ว ย่อมรู้กันว่า พระพุทธองค์จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริก วันนั้น แม้มหาอุบาสิกาวิสาขาพอได้ทราบว่า สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดําเนินมุ่งหน้าไปสู่พระทวารด้านทิศอุดร ก็รีบตามไปกราบถวายบังคม แล้วทูลถามว่า “ สมเด็จพระพุทธองค์จะเสด็จพระพุทธดําเนินไปสู่ที่จาริกหรือ พระพุทธเจ้าข้า “ สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสตอบว่า “ ถูกแล้ววิสาขา มหาอุบาสิกากราบทูลทัดทานว่า “ พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันได้บริจาคทรัพย์จํานวนเท่านี้ แล้วจะสร้างพระวิหารถวายสมเด็จพระพุทธองค์ ขอนิมนต์เสด็จกลับก่อนเถิด พระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสว่า “ นี้เป็นการไปไม่กลับวิสาขา “ มหาอุบาสิกาจึงสันนิษฐานว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าคงจะทรงทอดพระเนตรเห็นใคร ๆ ผู้ถึงพร้อมด้วยเหตุปัจจัยแล้วเป็นแน่ “ จึงกราบทูลว่า “ ถ้าเช่นนั้น ก็จงทรงพระกรุณาโปรดให้ภิกษุผู้รู้การงานว่าสิ่งใดทําสําเร็จ แล้วสิ่งได้ยังไม่สําเร็จกลับคืนไปให้แก่หม่อมฉันสักองค์หนึ่งเถิด พระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสว่า “ เธอชอบใจภิกษุรูปใด ก็จงรับเอาบาตรของภิกษุรูปนั้นเถิด วิสาขา มหาอุบาสิกานั้นย่อมเคารพรักใคร่พระอานนทเถระอยู่ก็จริง แต่ได้พิจารณาเห็นว่า พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ การงานของเราถ้าได้อาศัยพระมหาโมคคัลลานเถระแล้ว ก็จักสําเร็จลงโดยเร็ว ดังนี้ จึงได้ขอรับเอาบาตรของพระมหาโมคคัลลานเถระ พระเถระมองดูสมเด็จพระบรมศาสดา สมเด็จพระพุทธองค์จึงตรัสอนุญาตว่า เธอจงพาภิกษุบริวารของเธอ ๕๐๐ รูป กลับคืนไปเถิดโมคคัลลานะ ที่นั้น พระเถระจึงได้ปฏิบัติตามพระพุทธบัญชา กลับคืนมาดูแลการก่อสร้างพระ วิหารของมหาอุบาสิกาวิสาขา ด้วยอานุภาพของพระมหาโมคคัลลานเถระนั้น คนทั้งหลายที่ไปเอาไม้เอาหินระยะทางตั้ง ๕๐-๖๐ โยชน์ ก็เอาไม้และหินขนาดใหญ่ ๆ กลับมาถึงได้ในวันนั้น นั่นเทียว ยกไม้และหินขึ้นบรรทุกเกวียนก็ไม่ลําบากเลย เพลาเกวียนก็ไม่มีหัก สร้างปราสาท ๒ ชั้น สําเร็จลงโดยไม่ทันนาน ปราสาทนั้นประกอบด้วยห้อง ๑,๐๐๐ ห้อง คือชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง ภาคพื้นที่ที่สร้างปราสาทนั้น สะอาดงดงามมีเนื้อที่ ๘ กรีส ( กรีสหนึ่งเท่า ๑๒๕ ศอก ) มหาอุบาสิกาวิสาขาดําริว่า ปราสาทล้วน ๆ นั้นย่อมไม่งดงาม ดังนั้นจึงให้สร้างเรือนประธาน ๕๐๐ หลัง ปราสาทเล็ก ๆ ๕๐๐ หลัง โรงยาว ๕๐๐ หลัง ล้อมปราสาทนั้น ด้วยประการฉะนี้

 

อถ สตฺถา นวหิ มาเสหิ จาริกํ จริตฺวา - ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา ครั้นเสด็จพระพุทธดําเนินสู่ที่จาริกโดยกาล ๙ เดือน แล้วก็ได้เสด็จกลับมายังพระนครสาวัตถีอีก แม้การก่อสร้างปราสาทของมหาอุบาสิกาวิสาขาก็สําเร็จลงโดยเวลา ๙ เดือนเหมือนกัน ยอดแห่งปราสาทให้ทําด้วยทองคําสีสุกปลั่งหลอมเป็นแท่ง ทําเป็นที่สําหรับขังน้ำได้ถึง ๖๐ หม้อ มหาอุบาสิกาวิสาขาได้ทราบว่า สมเด็จพระบรมศาสดาจะเสด็จมาถึงพระเชตวันมหาวิหาร จึงไปทําการต้อนรับเสด็จ แล้วนําเสด็จพระพุทธองค์ไปยังวิหารของตนขอรับพระพุทธปฏิญาณว่า “ พระพุทธเจ้าข้า ขอสมเด็จพระพุทธองค์ทรงพระมหากรุณาพาภิกษุสงฆ์ประทับอยู่ ณ วิหารของหม่อมฉันนี้นั่นแล ตลอดเวลา ๔ เดือนนี้ หม่อมฉันจักทําการฉลองปราสาท ” สมเด็จพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนา จําเดิมแต่นั้น มหาอุบาสิกาได้ถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีสมเด็จพระพุทธองค์เป็นประธานในวิหารของตนนั้นนั่นแล ครั้งนั้นมีหญิงสหายของมหาอุบาสิกาวิสาขาคนหนึ่ง ถือผ้าราคาแสนผืนหนึ่งมาแล้วถามว่า “ แม่สหายเอ๋ย ! ดิฉันมีความประสงค์จะปูลาดผ้าผืนนี้ไว้ในปราสาทของเธอ โดยเฉพาะให้เป็นผ้าปูลาดพื้น กรุณาบอกที่ปูลาดให้ดิฉันสักแห่งด้วย “ มหาอุบาสิกาตอบว่า “ สหาย ! ถ้าดิฉันจักบอกแก่เธอว่าไม่มีโอกาสที่จะปูลาด เธอก็จักเข้าใจผิดว่าดิฉันไม่ปรารถนาจะให้โอกาสแก่เธอ เธอจงไปตรวจดูพื้นปราสาททั้ง ๒ ชั้น ห้องพันห้อง แล้วรู้ที่จะปูลาดด้วยตนเองก็แล้วกัน หญิงสหายนั้น ถือเอาผ้าราคาแสนนั้นแล้วไปเที่ยวหาดูในที่นั้น ๆ ไม่เห็นผ้าที่มีราคาต่ำกว่าผ้าของตนนั้นเลย จึงเกิดความเสียใจว่า เราไม่ได้ส่วนบุญในปราสาทนี้ จึงได้ไปยืนร้องไห้อยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง ขณะนั้น พระอานันทเถระเห็นหญิงคนนั้นแล้วถามว่า “ ร้องไห้ทําไม ? “ หญิงนั้นก็เรียนความนั้นให้พระเถระทราบทุกประการ พระเถระจึงพูดปลอบใจว่า “ อย่าคิดมากไปเลย ฉันจักบอกที่ปูลาดให้เธอ “ แล้วแนะนําว่า “ จงเอาผ้านี้ไปปูลาดเป็นผ้าสําหรับเช็ดเท้าตรงที่สําหรับล้างเท้าใกล้ ๆ เชิงบันไดนั้นแน่ ภิกษุทั้งหลายล้างเท้าแล้วต้องเช็ดเท้า ณ ที่ตรงนั้นก่อน แล้วจักเข้าไปภายในปราสาท เมื่อเป็นอย่างนี้ผลอันยิ่งใหญ่ก็จักมีแก่เธอ “ ได้ยินว่าที่ตรงนั้นเป็นที่ๆ มหาอุบาสิกาลืมวางแผนการณ์ไว้ จึงยังเหลือว่างอยู่ ด้วยประการฉะนี้

 

วิสาขา จตฺตาโร มาเส อนฺโตวิหาเร - มหาอุบาสิกาวิสาขาได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีสมเด็จพระพุทธองค์เป็นประธานภายในวิหารตลอดกาล ๔ เดือน ครั้นถึงวันสุดท้ายได้ถวายผ้าจีวรทั้งหลายแด่ภิกษุสงฆ์ ผ้าจีวรที่ภิกษุผู้อ่อนในสงฆ์ได้ไปมีราคาถึงพัน และได้ถวายเภสัชเต็มบาตรแก่ภิกษุทั้งหลายโดยทั่วถึงกัน เฉพาะในการบริจาคทานนั้นได้ใช้สินทรัพย์ไปถึง ๙ โกฏิ มหาอุบาสิกาวิสาขาได้บริจาคทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนารวมหมดทั้งสิ้นเป็นเงิน ๒๗ โกฏิ หรือ ๒๗๐ ล้าน คือ จ่ายในการซื้อพื้นที่พระวิหาร ๙ โกฏิ ในการก่อสร้างพระวิหาร ๙ โกฏิ ในการฉลองพระอินทร์ ๙ โกฏิ ฉะนี้ การบริจาคอันยิ่งใหญ่เห็นปานนี้สําหรับสตรีอื่น ๆ ที่ดํารงอยู่ในสตรีเพศอาศัยอยู่ในเรือนของคนเป็นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมมีไม่ได้เลย ในวันที่ฉลองพระวิหารเสร็จแล้ว เวลาบ่าย มหาอุบาสิกาวิสาขาดีใจว่า สิ่งใด ๆ ที่เราปรารถนาไว้แล้วแต่ก่อน สิ่งนั้น ๆ ทั้งหมดได้ถึงขั้นสุดยอดแล้ว มีหมู่บุตรและหลานเหลนห้อมล้อมเดินเที่ยวไปรอบ ๆ ปราสาท พลางเปล่งอุทานด้วยสัททสําเนียงเสียงอันไพเราะ โดยคําประพันธ์เป็นคาถา ๕ คาถา ซึ่งข้อความว่าดังนี้

 

กทาหํ ปาสาทํ รมฺมํ สุธามตฺติกเลปนํ

วิหารทานํ ทสฺสามิ สงฺกปฺโป มยฺห ปูริโต.

 

ความดําริของเราที่ว่า เมื่อไรจึงจักได้ถวายปราสาทอันน่ารื่นรมย์

ฉาบทาด้วยปูนขาวและดินเหนียว ให้เป็นวิหารทานดังนี้ ได้สําเร็จบริบูรณ์แล้ว

 

กทาหํ มญฺจปีฐญฺจ ภิสิพิมฺโพหนานิ จ

เสนาสนภณฺฑํ ทสฺสามิ สงฺกปฺโป มยฺห ปูริโต.

 

ความดําริของเราที่ว่า เมื่อไรจึงจักได้ถวายเตียงตั่ง และฟูกหมอนทั้งหลาย

ให้เป็นเสนาสนะภัณฑ์ดังนี้ ได้สําเร็จบริบูรณ์แล้ว

 

กทาหํ สลากภตฺตํ สุจึ มํสูปเสจนํ

โภชนทานํ ทสฺสามิ สงฺกปฺโป มยฺห ปูริโต.

 

ความดําริของเราที่ว่า เมื่อไรเราจึงจักได้ถวายสลากภัต อันปรุงด้วยเนื้อ

อันสะอาดให้เป็นโภชนทานดังนี้ ได้สําเร็จบริบูรณ์แล้ว

 

กทาหํ กาสิกวตฺถํ โขมกปฺปาสิกานิ จ

จีวรทานํ ทสฺสามิ สงฺกปฺโป มยฺห ปูริโต.

 

ความดําริของเราที่ว่า เมื่อไรเราจึงจักได้ถวายผ้าเปลือกไม้และผ้าฝ้าย

ซึ่งทําในแคว้นกาสี ให้เป็นจีวรทานดังนี้ ได้สําเร็จบริบูรณ์แล้ว

 

กทาหํ สปฺปินวนีตํ มธุเตสญฺจ ผาณิตํ

เภสชฺชทานํ ทสฺสามิ สงฺกปฺโป มยฺห ปูริโน.

 

ความดําริของเราที่ว่า เมื่อไรเราจักได้ถวายเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง

และน้ำอ้อย ให้เป็นเภสัชทานดังนี้ ได้สําเร็จบริบูรณ์แล้ว

 

แสดงพระธรรมเทศนามาในเรื่องมหาอุบาสิกาวิสาขา กัณฑ์ที่ ๓ ยังไม่สุดสิ้นระบิลความ แต่เป็นการสมควรแก่เวลา จึงขอยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้