เรื่อง พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา:มหาอุบาสิกาวิสาขา กัณฑ์ที่ ๔

พระธรรมบทเทศนา

พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา

(๘) เรื่องมหาอุบาสิกาวิสาขา

กัณฑ์ที่ ๔

---------------------------------------

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา กยิรา มาลาคุเณ พหู

เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสฺลํ พหุนฺติ

อนุสนธิพระธรรมเทศนา ณ บัดนี้จะวิสัชนาพระธรรมเทศนา เรื่องมหาอุบาสิกาวิสาขา กัณฑ์ที่ ๔ โดยอนุสนธิสืบเนื่องมาจากกัณฑ์ที่ ๓ ซึ่งได้วิสัชนามาแล้ว เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลส่วนธรรมเทศนามัย และขอเชิญท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย จงตั้งใจสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาโดยโยนิโสมนสิการเป็นอันดี เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลบุณยนฤธีส่วนธรรมสวนมัยสืบไป ณ บัดนี้ ดําเนินความว่า -

 

ภิกฺขู ตสฺสา สทฺทํ สุตฺวา - ภิกษุทั้งหลายได้ยินเสียงอุทานของมหาอุบาสิกาวิสาขานั้นแล้ว ได้นําความกราบทูลแด่สมเด็จพระบรมศาสดาว่า “ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่เคยได้เห็นมหาอุบาสิกาวิสาขาขับร้องมาตลอดกาลนานถึงปานนี้ วันนี้มหาอุบาสิกาห้อมล้อมไปด้วยบุตรและหลานเหลนขับร้องเที่ยวไปรอบ ๆ ปราสาท มหาอุบาสิกานั้นจะเกิดเป็นโรคดีกําเริบเสียแล้วกระมัง หรืออาจจะเป็นคนวิกลจริตไปเสียแล้ว ? สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสชี้แจงว่า “ ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเรามิได้ขับร้องดอก แต่เธอได้มีอัชฌาสัยของตนเต็มบริบูรณ์แล้ว เธอมีความดีใจว่า ความปรารถนาของเธอที่ได้ปรารถนาไว้แล้วนั้น ได้ถึงซึ่งขั้นสุดยอดแล้ว จึงได้เที่ยวเดินเปล่งอุทานอยู่ดังนั้น “ ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามว่า “ ก็มหาอุบาสิกาวิสาขาได้ตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแต่เมื่อไร พระพุทธเจ้าข้า จึงทรงซักว่า “ พวกเธอต้องการจักฟังหรือภิกษุทั้งหลาย “ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ ข้าพระพุทธเจ้า ทั้งหลายปรารถนาจะฟัง พระพุทธเจ้าข้า “ ดังนี้แล้วจึงทรงนําเรื่องอดีตนิทานมาแสดง ซึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้ -

 

อตีเต ภิกฺขเว - ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลนับถอยหลังแต่ภัททกัปนี้ไปได้แสนกัป สมเด็จพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบังเกิดในโลก พระพุทธองค์ทรงมีพระชนมายุได้แสนปี มีพระขีณาสพแสนหนึ่งเป็นพุทธบริวาร พระนครของพระองค์ชื่อพระนครหังสวดี พระพุทธบิดาเป็นพระราชา พระนามว่าพระเจ้าสุนันทะ พระพุทธมารดาเป็นพระราชเทวี พระนามว่าพระนางเจ้าสุชาดา อุบาสิกาผู้เป็นยอดอุปฐายิกาของพระพุทธองค์นั้น ขอพร ๘ ประการ ดํารงอยู่ในฐานะดังพระพุทธมารดา ปฏิบัติพระพุทธองค์ด้วยปัจจัยทั้ง ๔ ไปสู่ที่อุปัฏฐากทั้งเช้าทั้งเย็น หญิงสหายคนหนึ่งของอุบาสิกานั้นได้ไปวัดกับอุบาสิกานั้นเนืองนิตย์ ครั้นได้เห็นการสนทนาและความโปรดปรานระหว่างอุบาสิกานั้นกับสมเด็จพระพุทธองค์อย่างสนิทสนม จึงคิดว่า เพราะทําอะไรมาหนอจึงเป็นที่โปรดปรานของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ แล้วได้กราบทูลถามสมเด็จพระพุทธองค์ว่า “ พระพุทธเจ้าข้า หญิงผู้นี้เป็นอะไรกับพระพุทธองค์ ? “ สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ เป็นยอดแห่งอุปฐายิกาทั้งหลาย อุบาสิกา “ หญิงสหายนั้นกราบทูลถามว่า “ เขาทําบุญกรรมอะไรไว้จึงได้เป็นยอดแห่งอุปฐายิกาทั้งหลาย พระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ เธอได้ตั้งความปรารถนาไว้เป็นเวลาหนึ่งแสนกัป อุบาสิกา หญิงสหายนั้นกราบทูลถามว่า “ หม่อมฉันจะตั้งความปรารถนาเดี๋ยวนี้จะเป็นไปได้ไหม พระพุทธเจ้าข้า “ สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ เป็นไปได้ อุบาสิกา หญิงสหายนั้นจึงกราบทูลอาราธนาว่า “ พระพุทธเจ้าข้า ถ้าเช่นนั้น ขอสมเด็จพระพุทธองค์กับภิกษุสงฆ์แสนหนึ่ง จงทรงพระกรุณารับอาหารบิณฑบาตของหม่อมฉันเป็นเวลา ๗ วันเถิด “ สมเด็จพระพุทธองค์ก็ได้ทรงรับอาราธนาตามความประสงค์ หญิงสหายนั้นถวายทานตลอดกาล ๗ วัน แล้วในวันสุดท้ายได้ถวายผ้าจีวรทั้งหลาย กราบถวายบังคมพระพุทธองค์ แล้วหมอบลงแทบพระพุทธบาทตั้งความปรารถนาว่า “ พระพุทธเจ้าข้า ! ด้วยผลแห่งทานนี้ หม่อมฉันมิได้ปรารถนาผลอย่างใดอย่างหนึ่ง มีความเป็นใหญ่ในเทวโลกเป็นต้น แต่ขอหม่อมฉันพึงได้พร ๘ ประการ ในสํานักของพระพุทธเจ้าเช่นกับพระพุทธองค์สักพระองค์หนึ่ง จึงดํารงอยู่ในฐานะดังพระพุทธมารดา เป็นยอดของสตรีทั้งหลาย ผู้สามารถปฏิบัติพระพุทธเจ้าด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สมเด็จพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ทรงรําพึงดูกาลอนาคตว่าความปรารถนาของอุบาสิกานี้จักสําเร็จหรือไม่ประการใด ทรงตรวจพระพุทธญาณดูไปตลอดแสนกัปแล้วทรงพยากรณ์แก่หญิงสหายนั้นว่า “ ในที่สุดแห่งแสนกัปนับแต่นี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ จักทรงบังเกิดขึ้นในโลก ในกาลนั้น เธอจักได้เป็นอุบาสิกานามว่า วิสาขา จักได้พร ๘ ประการ ในสํานักของพระโคตมพุทธเจ้านั้น จักดํารงอยู่ในฐานะตั้งพุทธมารดา เป็นยอดของอุปฐายิกาทั้งหลายผู้ปฏิบัติพระพุทธเจ้าด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สมบัตินั้นได้ปรากฏแก่หญิงสหายนั้นเป็นดุจว่าเป็นสิ่งอันตนจะพึงได้ในพรุ่งนี้นั่นเทียว ด้วยประการฉะนี้

 

สา ยาวตายุกํ ปุญฺญํ กตฺวา - หญิงสหายนั้น ครั้นบําเพ็ญบุญกุศลอยู่ในชาตินั้นจนตลอดกาลอายุขัยแล้ว ก็ได้ถึงแก่มรณกรรมตามสังขารธรรมวิสัย ไปบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในเทวโลกและมนุสสโลกตลอดกาลนาน ครั้นต่อมาในศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เกิดเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากิกีผู้ครองแว่นแคว้นกาสี องค์เล็กในบรรดาพระราชธิดา ๗ องค์ มีพระนามว่าพระนางสังฆทาสี ไม่ทรงอภิเษกสมรส ทรงบําเพ็ญบุญกุศลนานาประการมีทานเป็นต้นร่วมกับบรรดาพระเชฏฐภาคินีทั้ง ๗ องค์ นั้นตลอดกาลนาน แล้วได้ทรงทําความปรารถนาไว้แทบพระพุทธบาทของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ในอนาคตกาล ขอหม่อมฉันพึงได้รับพร ๘ ประการ ในสํานักของพระพุทธเจ้า เหมือนอย่างพระพุทธองค์ดํารงอยู่ในฐานะดังพุทธมารดา ซึ่งเป็นยอดของอุบาสิกาทั้งหลายผู้ถวายปัจจัย ๔ - ก็จําเดิมแต่นั้นมา เธอได้ท่องเที่ยวไปเกิดในเทวโลกและมนุสสโลกตลอดกาลนาน ครั้นมาในชาตินี้ เธอได้บังเกิดเป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐีผู้เป็นบุตรของเมณฑกเศรษฐี ได้บําเพ็ญกุศลเป็นอันมากในศาสนาของเรา ฉะนี้

 

สมเด็จพระบรมศาสดา ครั้นทรงนําอดีตนิทานมาแสดงดังนี้แล้ว ได้มีพระพุทธดํารัสว่า “ ภิกษุทั้งหลายธิดาของเรามิได้ขับร้องดอก แต่เธอเห็นความสําเร็จแห่งความปรารถนาที่เธอตั้งไว้แล้ว ก็เปล่งคําอุทานออกมาเท่านั้น เมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาได้ทรงประทานพระพุทธโอวาทว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายมาลาการช่างดอกไม้ผู้ขยัน รวมดอกไม้ต่าง ๆ ไว้เป็นกองใหญ่แล้ว ย่อมร้อยเป็นพวง ๆ มาลาหลายอย่างหลายประการ ฉันใด จิตของวิสาขาก็น้อมไปเพื่อจะบําเพ็ญกุศลมีประการต่าง ๆ ฉันนั้น ครั้นแล้วพระพุทธองค์จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดภิกษุทั้งหลาย โดยพระพุทธนิพนธคาถาเป็นปัจฉิมพจน์ ดังนี้

 

ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา กยิรา มาลาคุเณ พหู

เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสฺลํ พหํ

 

ช่างดอกไม้ผู้ฉลาดจึงร้อยดอกไม้จากกองดอกไม้ให้เป็นพวงมาลัยเป็นอันมาก

แม้ ฉันใด บุคคลผู้เกิดมาแล้วพึงบําเพ็ญกุศลไว้ให้มาก ๆ ฉันนั้น

 

เทสนาวสาเน พหู - ภิกษุทั้งหลายเป็นอันมากส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนาโดยโยนิโสมนสิการเป็นอันดี ในเวลาจบพระธรรมเทศนาต่างก็ได้สําเร็จเป็นพระอริยบุคคลมีพระโสดาบัน เป็นต้น พระธรรมเทศนาครั้งนั้น ได้สําเร็จเป็นประโยชน์แก่มหาชนเป็นอันมาก ด้วยประการฉะนี้แล

 

จบนิทาน

 

ลําดับนี้ จะได้วิสัชนาอรรถาธิบายความในท้องนิทานและในพระพุทธนิพนธคาถาสุภาษิต โดยอาศัยหลักอรรถกถานัย และโดยอัตตโนมัตยาธิบาย เพื่อเฉลิมเพิ่มเติมสติปัญญาฉลองศรัทธาบารมี เพิ่มพูนกุศลบุญภษีส่วนธรรมสวนมัยแก่สาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายสืบต่อไป

 

นิทานเรื่องนี้ค่อนข้างจะยาว เพื่อให้เหมาะสมกับเวลาในการแสดงธรรมจึงได้แบ่งเป็น ๔ กัณฑ์ และเป็นเรื่องที่ให้เกิดความรู้แก่พุทธศาสนิกชนหลายประการ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ด้านบุคคลสําคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาสมัยพุทธกาล และด้านสารธรรมที่ควรนํามาเป็นคติเครื่องเตือนใจเป็นต้น

 

ในด้านประวัติศาสตร์นั้น นิทานเรื่องนี้แสดงให้ได้ความรู้ว่า สมัยพุทธกาลนั้น ได้มีพระราชาที่มีส่วนได้ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอยู่ ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าพิมพิสาร ผู้ทรงเป็นอิสระในแว่นแคว้นแดนดินมคธ ซึ่งทรงดํารงสิริราชสมบัติอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ อันเป็นพระนครหลวงพระองค์ ๑ พระเจ้าปเสนทิ ผู้ทรงเป็นอิสระในแว่นแคว้นแดนดินโกศล ซึ่งทรงดํารงสิริราชสมบัติอยู่ ณ กรุงสาวัตถี อันเป็นพระนครหลวง ซึ่งมักจะเรียกพระองค์ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ๑ พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้ ต่างก็ทรงได้กนิษฐภาคินีของกันและกันมาเป็นพระอัครมเหสี พระเจ้าพิมพิสารพระเจ้าแผ่นดินมคธนั้น ได้ทรงถวายพระราชอุทยานสวนไม้ไผ่ สร้างเป็นพระอารามถวายสมเด็จพระบรมศาสดา ซึ่งอยู่ชานพระนครราชคฤห์ อันมีนามว่า เวฬุวันมหาวิหาร และนับว่าเป็นวัดแรกที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา พระองค์เองก็ทรงสําเร็จเป็นพระโสดาบันอริยบุคคล และทรงเป็นองค์เอกอัครสานูปถัมภ์ คือทรงช่วยทะนุบํารุงพระพุทธศาสนาจนตลอดพระชนมายุ จึงทรงมีพระนามปรากฏติดอยู่ในพระพุทธวจนะ ซึ่งมีทั้งในพระบาลีอรรถกถาและชาดก จนเป็นที่รู้จักของชาวพุทธบริษัททั้งหลายสืบมาตลอดถึงสมัยปัจจุบันทุกวันนี้ ส่วนพระเจ้าปเสนทิ พระเจ้าแผ่นดินโกศลหรือที่รู้กันว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น ทรงครองพระนครสาวัตถีมีพระนางมัลลิกาเป็นพระอัครมเหสี ครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวันมหาวิหาร พร้อมด้วยพระอัครมเหสี พระนางมัลลิกา ได้ทรงบําเพ็ญมหาทานถวายสมเด็จพระพุทธองค์ พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ เป็นงานอันยิ่งใหญ่มโหฬาร มหาทานครั้งนั้นได้นามว่า อสมิสทาน ซึ่งหมายความว่า ไม่มีทานอื่นใดเสมอเหมือน และทราบว่าทานอันยิ่งใหญ่ที่ได้นามว่า อสทิสทานนั้นในสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ก็มีได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงได้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้ทรงบำเพ็ญมหาทานอันยิ่งใหญ่ในพระพสุทธศาสนา อย่างไม่มีใครทําได้เสมอเหมือน เรื่องอสทิสทานนี้ มีข้อความพิสดารอยู่ในโลกวรรคที่ ๑๓ ลําดับเรื่องที่ ๑๔๖ ข้างหน้า และพระเจ้าปเสนทิโกศลนี้ ก็ทรงมีพระนามปรากฏอยู่ใน พระพุทธวจนะในพระไตรปิฎกหลายแห่งสืบมาจนสมัยปัจจุบันทุกวันนี้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้ จึงนับว่าได้ทรงบําเพ็ญพระราชจริยาวัตรไว้เป็นอันดี จนมีพระนามปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาด้วยประการฉะนี้

 

ส่วนที่พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์มีพระราชกรณียกิจเกี่ยวข้องในเรื่องนี้นั้น คือ ธนัญชัยมหาเศรษฐีซึ่งเป็นบิดาของมหาอุบาสิกาวิสาขานั้น เดิมมีชาติภูมิอยู่ที่ภัททิยนคร ซึ่งอยู่ในแว่นแคว้นมคธ อันพระเจ้าพิมพิสารทรงครอบครองอยู่ เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปขอมหาเศรษฐีที่มีบุญมาก ขนาดที่มีโภคสมบัติจนนับไม่ถ้วน เพื่อเชิญไปไว้เป็นมิ่งขวัญมงคลในแว่นแคว้นโกศลนั้น พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงพระราชทานธนัญชัยมหาเศรษฐีถวาย ส่วนพระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อทรงนําธนัญชัยมหาเศรษฐีไปไว้อยู่ประจําแว่นแคว้นโกศลนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกเมืองหนึ่งสําหรับเป็นที่อยู่ของธนัญชัยมหาเศรษฐี ซึ่งมีนามว่าเมืองสาเกตสืบมา มีระยะทางห่างจากพระนครสาวัตถี ๗ โยชน์ หรือประมาณ ๒๘๐ กิโลเมตร ครั้นต่อมาในคราวงานมงคลสมรสของมหาอุบาสิกาวิสาขากับปุณณวัฒนกุมารบุตรของมิคารเศรษฐีชาวพระนครสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ทรงพระกรุณาเป็นพระประมุขเสด็จไปรับนางวิสาขาถึงเมืองสาเกต และเสด็จประทับอยู่ที่เมืองสาเกตนั้นถึง ๔ เดือน จึงนับว่าพระมหากษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแด่ตระกูลของมหาอุบาสิกาวิสาขามาด้วยประการฉะนี้

 

ในด้านที่แสดงถึงบุคคลสําคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานั้น ได้แก่มหาอุบาสิกาวิสาขา แม้สมัยพุทธกาลซึ่งมีสมเด็จพระพุทธองค์ทรงเป็นประมุขอยู่นั้น การดํารงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาก็ดี การเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญกว้างขวางไปก็ดี ก็ต้องอาศัยกําลังอุปถัมภ์จากพุทธบริษัทที่เป็นอุบาสกและอุบาสิกาปัจจัยอันสําคัญ เพราะถ้าขาดกําลังอุปถัมภ์จากอุบาสกอุบาสิกาแล้ว พระพุทธศาสนาก็ย่อมจะดํารงอยู่หรือแพร่หลายออกไปไม่ได้ เช่นเดียวกับสมัยปัจจุบันนี้ ถ้าจังหวัดไหนวัดใดได้รับอุปการะเป็นอย่างดีโดยสมควรกันจากอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายแล้ว วัดวาศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองงาม และสําเร็จเป็นคุณประโยชน์แก่สังคมมหาชนอย่างคู่ควรกัน ในสมัยพุทธกาลนั้น ด้านอุบาสิกาผู้ช่วยอุปถัมภ์ศาสนาและวัดวาอาราม สมเด็จพระพุทธองค์ทรงได้มหาอุบาสิกาวิสาขาเป็นกําลังอันสําคัญยิ่งใหญ่ที่สุด จนมหาอุบาสิกาวิสาขาได้รับยกย่องว่าเป็นยอดของอุบาสิกาทั้งหลายในโลก เพราะฉะนั้น สาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย จึงสมควรที่ศึกษาให้รู้จักมหาอุบาสิกาวิสาขา ทั้งในด้านชาติเชื้อตระกูล ทั้งในด้านการประพฤติปฏิบัติ ตามที่ได้วิสัชนาแล้วโดยลําดับ เพราะมหาอุบาสิกาวิสาขานั้น นับว่าเป็นสตรีแบบอย่างทั้งในทางโลกทั้งในทางธรรม ในทางโลกมหาอุบาสิกาวิสาขาได้เป็นธิดาที่ดีของมารดาบิดา เมื่อมีบ้านเรือนแล้วก็ เป็นภริยาที่ดีของสามีและเป็นศรีสะใภ้ที่ดีของปู่ย่า เมื่อดํารงอยู่ในฐานะเป็นมารดา ก็เป็นมารดาที่ดีของบุตรธิดา และเป็นคุณย่าคุณยายที่ดีของบรรดาหลานเหลนทั้งหลาย ในทางศาสนาก็ได้ถวายตนเป็นอุบาสิกาที่ดีของพระพุทธศาสนา เป็นที่พึ่งแก่ภิกษุสามเณรตลอดถึงอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ในส่วนตนของตน ได้มีความเชื่อเลื่อมใสในพระศาสนาอย่างแน่วแน่มั่นคง ดํารงตนอยู่ในฐานะเป็นอริยสาธิกาขั้นพระโสดาบันบุคคล ซึ่งนับเป็นบุคคลที่เที่ยงแท้แน่นอนในอันที่จะพ้นจากสังสารทุกข์อย่างเด็ดขาดอย่างนานก็ไม่เกิน ๗ ชาติข้างหน้า และเป็นบุคคลที่แน่นอนในอันที่จะไม่ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ คือไม่เกิดในกําเนิดเดียรัจฉาน ไม่เกิดในกําเนิดเปรต ไม่เกิดในกําเนิดอสูรกาย และไม่ตกนรก ตลอดกาลนิรันดร ในส่วนเสียสละตนและทรัพย์สมบัติช่วยเหลือสังคมทั่ว ๆ ไปนั้น ไม่ว่าใคร ๆ จะทําบุญสุนทรีทานที่ไหน มหาอุบาสิกาวิสาขา ก็ยอมเสียสละเวลาไปร่วมเป็นสหายบุญทุกหนทุกแห่งโดยไม่รังเกียจ และไม่เห็นแก่การทุกข์ยากลําบากส่วนตน จนถึงกับปรากฏเป็นที่รู้ทั่วกันว่า ถ้าในงานการกุศลของใคร ณ ที่ไหนมหาชนไม่เห็นมหาอุบาสิกาไปร่วมเป็นสหายอยู่ด้วยแล้ว งานนั้นก็จะได้รับการครหานินทาจากคนทั้งหลายว่า จะเป็นบุญกุศลอะไรจะเป็นการเป็นงานอะไร ดังนี้ ในส่วนการทะนุบํารุงภิกษุสามเณรผู้ศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนานั้น มหาอุบาสิกาวิสาขาได้เสียสละเวลาออกไปสู่ที่บํารุงสงฆ์ ณ ที่วัดวันละ ๒ หน คือ เวลาเช้ากับเวลาบ่าย เมื่อไปเวลาเช้า ก็ให้สาวใช้ถือของเคี้ยวของฉันติดมือไปด้วย เมื่อไปเวลาบ่ายก็ให้ถือเภสัช คือสิ่งที่เป็นยาภิกษุสามเณรฉันใดในเวลาวิกาลไปด้วย เช่น เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และน้ำปานะทั้ง ๘ คือ น้ำปานะที่ปรุงด้วยผลมะม่วง ผลลูกหว้า ผลกล้วยมีเมล็ด ผลกล้วยไม่มีเมล็ด ผลมะปราง ผลลูกจันทร์ เหง้าบัว และผลมะปรางคหรือลิ้นจี่ ไม่เคยมีมือเปล่าไปวัดเลย แม้ ณ ที่บ้านของมหาอุบาสิกาวิสาขานั่นเล่า ก็ได้ปูลาดอาสน์สงฆ์ไว้เป็นประจําถึงสองพันที่ ภิกษุสามเณรต้องการของเคี้ยวของฉันอะไร เมื่อไปถึงบ้านแล้ว เป็นอันได้สําเร็จสมดังความประสงค์

 

ในส่วนสร้างถาวรวัตถุปูชนียสถาน มหาอุบาสิกาวิสาขาได้บริจาคทรัยพ์สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งถวายสมเด็จพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ใกล้ ๆ ประตูพระนครสาวัตถีด้านทิศบูรพา ซึ่งมีชื่อว่า วัดบุพพารามมหาวิหาร การสร้างวัดนั้นเมื่อรวมทั้งค่าซื้อสถานที่ ค่าก่อสร้าง และทํางานฉลองวัดแล้ว สิ้นทรัพย์ไปถึง ๒๗ โกฏิ หรือ ๒๗๐ ล้าน เฉพาะกุฏิหลังใหญ่ ซึ่งเรียกว่า ปราสาทนั้น สร้างเป็น ๒ ชั้น ๆ หนึ่ง ๆ มี ห้องรวม ๕๐๐ ห้อง รวม ๒ ชั้น เป็นพันห้อง นอกจากตัวปราสาทแล้วยังสร้างสิ่งที่เป็นบริวารล้อมปราสาทอีก คือเรือนคน ๕๐๐ หลัง ปราสาทเล็ก ๆ ๕๐๐ หลัง โรงยาวอีก ๕๐๐ หลัง จงวาดมโนภาพดูเถิดว่า วัดบุพพารามครั้งนั้น จะกว้างใหญ่ไพศาลสักเพียงไร และจะสวยสดงดงามสักแค่ไหน คติแห่งการวางแผนผังสร้างวัดตามที่มหาอุบาสิกาวิสาขาสร้างมาครั้งนั้น โดยมีพระมหาโมคคัลลานเถระ เป็นผู้ดูแล การก่อสร้างอาจจะเป็นพระมหาเถระเป็นผู้ดําริออกแบบให้ก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี คติแห่งการสร้างวัดโดยกําหนดให้มีแผนผังอย่างนั้น ยังเป็นอุดมการติดสืบเนื่องมาให้เราได้เห็นภาพแผนผังสืบมาจนปัจจุบันทุกวันนี้ ถึงแม้จะไม่ใหญ่โตกว้างขวางเท่าสมัยพุทธกาล แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นอุดมการสืบเป็นมรดกมาแต่ครั้งพุทธกาลโน้น ตัวอย่างเช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในกรุงเทพฯ พระมหานคร ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นผู้ทรงสร้างขึ้น ในบริเวณพุทธวาสของวัดพระเชตุพนนั้น มีพระอุโบสถตั้งอยู่ใจกลาง ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นปราสาท แล้วสร้างเป็นเรือนยาวล้อมรอบพระอุโบสถนั้น ๒ ชั้น ยกหลังคาขึ้นเป็นยอดปราสาทเป็นตอน ๆ แล้วมีศาลาทิศอยู่ในทิศทั้ง ๔ นอกออกมาอีกชั้นหนึ่งก็ศาลารายเรียงมาอยู่เป็นหลัง ๆ เป็นระยะ ๆ นอกออกมาอีกก็สร้างเป็นโรงยาวหักมุมตามมุมทิศน้อยทั้ง ๔ ที่เรียกกันว่า ศาลาคต ต่อจากนั้นจึงจะเป็นกําแพงล้อมรอบบริเวณพุทธาวาส เมื่อวาดมโนภาพดูภาพแผนผังวัดบุพพารามที่มหาอุบาสิกาวิสาขาสร้างในสมัยพุทธกาล ตามที่ปรากฏในนิทานนี้แล้ว ถึงจะไม่เหมือนกันหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ลักษณะส่วนใหญ่ก็มีอาการละม้ายคล้ายคลึงกัน ด้วยประการฉะนี้

 

อุดมการแผนผังแห่งการสร้างวัดในพระพุทธศาสนานี้นั้น มีลักษณะส่วนใหญ่ละม้ายคล้ายคลึงกัน นั้นไม่ใช่แต่เฉพาะในเมืองไทยเราเท่านั้น แม้ในประเทศอื่น ๆ เช่นประเทศพม่า ประเทศลังกา ก็มีส่วนสัดใหญ่ ๆ คล้ายคลึงกันอยู่ แม้จนชั้นที่สุดในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เช่นวัดในประเทศญี่ปุ่น วัดใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นวัดโบราณและมีความสําคัญนั้น ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากทีเดียว วัดใหญ่วัดหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นที่เมืองนาธา ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเมืองเกียวโตเท่าไรนัก ก็มีลักษณะส่วนสัดใหญ่ ๆ คล้ายกันกับของเรามาก มีพระวิหารใหญ่อยู่ใจกลาง ภายในพระวิหารนั้นมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่โตมากประดิษฐานอยู่ ล้อมรอบพระวิหารนั้นก็มีเรือนยาวเปิดหน้า ข้างหลังตัน เหมือนกับพระระเบียงอุโบสถของเรา คล้าย ๆ กับพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ และมีประตูเข้าออก ๔ ประตู ในทิศทั้ง ๔ เหมือนกัน จากนั้นออกมาก็เป็นศาลาราย และกําแพงตามลําดับ สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นวัตถุไม่มีชีวิตจิตใจ แต่ก็สร้างขึ้นด้วยชีวิตจิตใจของนายช่าง และของคนใจบุญ ขึ้นชื่อว่า สภาวะที่แท้จริง คือ ความมีใจบุญของมนุษย์นั้น จะเป็นชาติใดภาษาใด และมีรูปร่างผิดแผกแตกต่างไปได้ตามธรรมชาติของดินฟ้าอากาศก็ตาม ส่วนจิตใจอันเป็นบุญเป็นมหากุศล และเป็นตัวนามธรรม และเป็นสัจธรรมนั้น ย่อมตรงกันเหมือนกันและเข้ากันได้ทุกกาลทุกสมัย และทั่วทุกมุมโลก ทั่วทุกจักรวาฬ โดยความจริงข้อนี้ ถ้ามนุษย์เรานี้ ถือใจอันเป็นบุญเป็นกุศลเข้าหากัน โดยไม่ยกเอาเชื้อชาติภาษาและตระกูลมาเป็นเครื่องกีดกันแล้ว ก็จะเป็นพี่น้องกันได้ทั่วทั้งโลกที่เดียว แต่ว่าการที่จะสอนคนทั้งโลกให้มีใจเป็นบุญเป็นกุศลนั้น เป็นสิ่งที่ทําได้ยากอย่างยิ่ง แม้แต่ในวงการแคบ ๆ เพียงวัดหนึ่งหรือบ้านหนึ่งเท่านั้น ก็เป็นสิ่งทําได้ยากพอดู ดังที่ปรากฏเห็นเป็นประจักษ์อยู่ในกาลทุกวันนี้

 

ส่วนในด้านสารธรรมที่เป็นคติเครื่องเตือนใจนั้นในท้องนิทาน ประการแรก ได้แสดงให้เห็นถึงความงามของสตรีผู้มีบุญ ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจกัลยาณี คือ เกสกัลยาณี มีผมงาม ๑ มังสกัลยาณี มีริมฝีปากงาม ๑ อัฏฐิกัลยาณี มีฟันงาม ๑ ฉวิกัลยาณี มีผิวพรรณงาม ๑ วยกัลยาณี มีวัยงาม ๑ ผมงามนั้น คือเมื่อสยายออกแล้วผมจะห้อยตกลงไปถึงชายผ้านุ่ง แล้วมีปลายงอนตั้งขึ้นโดยธรรมชาติเอง ริมฝีปากงามนั้น คือสนิทชิดกันอย่างสม่ำเสมอ ไม่แบบาน หรือไม่สม่ำเสมอกันตามส่วน และมีสีแดงคล้าย ๆ ผลตําลึงสุก ฟันงามนั้น คือ ขาวเป็นมันเรียบสม่ำเสมอไม่โหว่หว่อง ไม่เกไปเกมา เหมือนแถวเพ็ชรที่ จัดไว้อย่างเป็นระเบียบ หรือเหมือนแถวสังข์ที่ขัดติดดีแล้ว ผิวพรรณงาม คือผิวพรรณไม่มีริ้วรอยด้วยไฝฝ้า สําหรับสตรีผิวดําก็ดําสนิทเหมือนกลีบดอกบัวเขียว สําหรับสตรีผิวขาวก็ขาวเรียบ ๆ เหมือนกลีบดอกกัณณิกากี วัยงามนั้นคือ แม้จะคลอดบุตรแล้วตั้ง ๑๐ ครั้ง ก็ยังงามอยู่เหมือนเพียงคลอดครั้งเดียว ร่างกายไม่ทรุดโทรมไม่แก่น่าเกลียดจนตลอดอายุ ที่เรียกกันว่า ไม่รู้จักแก่ หรือแก่ยาก ผลเหล่านี้ย่อมสําเร็จมาแต่บุญทั้งนั้น ฉะนั้นจึงมิได้เฉพาะสตรีที่มีบุญเช่นมหาอุบาสิกาวิสาขาเป็นต้น

 

ประการที่ ๒ คน ๔ จําพวกวิ่งไม่งาม คือ พระราชา ๑ ช้าง ๑ บรรพชิต ๑ สตรี ๑ อธิบายว่า พระราชาที่ทรงราชาภิเษกแล้ว ทรงเครื่องพระมหากษัตริย์อย่างพร้อมสรรพ แล้วจะทรงถกเขมรวิ่งไปตามพระหน้าพระลานหลวงนั้น ย่อมไม่สง่างดงาม ย่อมจะได้รับข้อครหานินทาว่า อะไร พระราชาแท้ ๆ วิ่งไปเหมือนคหบดี แต่เมื่อค่อยเสด็จพระราชดําเนินไปอย่างปกติย่อมสง่างดงาม ช้างมงคลหัตถีของพระราชาที่ประดับตกแต่งเครื่องแล้ววิ่งไปก็ไม่งาม เมื่อเดินไปตามธรรมดาด้วยท่าทางของช้าง จึงงาม บรรพชิตคือ ภิกษุสามเณรอันเป็นที่เคารพนับถือของคฤหัสถ์ แต่ย่อมงดงามด้วยการเดินไปอย่างสงบเสงี่ยม สตรีทั้งหลายเมื่อวิ่งก็ย่อมไม่งาม จะต้องถูกครหานินทาว่า อะไรหญิงคนนี้วิ่งไปเหมือนอย่างผู้ชาย แต่ย่อม งดงามน่าดูด้วยการเดินไปอย่างปกติ ด้วยประการฉะนี้

 

ประการที่ ๓ โอวาท ๑๐ ข้อ ของธนัญชัยมหาเศรษฐีที่สอนนางวิสาขาก่อนแต่งจะส่งไปสู่ตระกูลสามี และเป็นข้อปฏิบัติอันสตรีทั้งหลายพึงถือเอามาเป็นแบบอย่างนั้น คือ ๑.ไฟในอย่านําออกไปข้างนอก ๒.ไฟนอกอย่านําเข้ามาข้างใน ๓. อย่าให้แก่คนที่ไม่ให้คืน ๔. จงให้แก่คนที่ให้คืน ๕. จงให้แก่คนทั้งที่ ให้คืนและไม่ให้คืน ๖.จึงนั่งให้เป็นสุข ๗. จึงรับประทานให้เป็นสุข ๘. พึงนอนให้เป็นสุข ๙. พึงบูชา ไฟ ๑๐. จึงไหว้เทวดา อธิบายว่า ความไม่ดีต่าง ๆ ย่อมทําให้เกิดความเดือดร้อนใจเหมือนกับไฟ จึงเรียกความไม่ดีนั้นว่าไฟ และโอวาทข้อที่ ๑ ที่ว่าไฟในอย่านําออกไปข้างนอกนั้น หมายความว่า หญิงสะใภ้อย่านําเอาความไม่ดีไม่งามต่างๆ เช่น เมื่อเจ้าได้เห็นโทษของมารดาบิดาของสามี และโทษของสามีของเจ้าแล้ว อย่าเอาไปนินทาข้างนอกตามบ้านนั้น ๆ เพราะขึ้นชื่อว่าไฟแล้วที่จะแรงร้ายเหมือนกับไฟชนิดนี้ย่อมไม่มี โอวาทข้อที่ ๒ ที่ว่า ไฟนอกอย่านําเข้ามาข้างในนั้น หมายความว่า เมื่อหญิงสะใภ้ไปได้ฟังคนภายนอกครหานินทาพ่อตัวแม่ผัวหรือสามีแล้ว อย่านําเอามาเล่าให้ฟัง เพราะเป็นเหมือนกับนําไฟเข้ามาเผาบ้านของตนเอง โอวาทข้อที่ ๓ ที่ว่า จงให้แก่คนที่ให้คืน นั้น หมายความว่า ถ้า ใคร ๆ ขอยืมทรัพย์สินหรือเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ไปแล้ว นํามาใช้คืน จงให้แก่คนเช่นนั้นอีก โอวาทข้อที่ ๔ ที่ว่า อย่าให้แก่คนที่ไม่ให้คืนนั้น หมายความว่า ถ้าใคร ๆ ที่ขอยืมอะไร ๆ ไปแล้วไม่นํากลับคืนมาให้ ก็ อย่าให้แก่คนเช่นนั้นอีก โอวาทข้อที่ ๕ ที่ว่า จงให้แก่คนทั้งที่ให้คืนและไม่ให้คืนนั้น หมายความว่า ถ้ามีญาติพี่น้อง ซึ่งยากจนมาขอยืมอะไรไปแล้ว เขาจะให้คืนหรือไม่ให้คืนก็ตาม จงให้แก่ญาติพี่น้องเช่นนั้นอีก เพื่ออนุเคราะห์ด้วยเมตตากรุณา และเพื่อเป็นการสงเคราะห์ญาติ โอวาทข้อที่ ๖ ที่ว่า พึงนั่งให้เป็นสุขนั้น หมายความว่า จงเลือกหาที่นั่งอันสมควรแก่ตน อย่าไปนั่งในที่ ๆ จะต้องลุกขึ้นบ่อย ๆ เพราะเห็นพ่อผัว แม่ผัวหรือสามี โอวาทข้อที่ ๗ ที่ว่า พึงรับประทานให้เป็นสุขนั้น หมายความว่า จงจัดแจงตกแต่งสิ่งที่จะต้องปฏิบัติพ่อผัวแม่ผัวและสามีให้แล้วเสร็จเสียก่อนแล้วจึงค่อยรับประทาน จะได้ไม่ต้องลุกไปจัดสิ่งโน้นแต่งสิ่งนี้ ในเวลาที่ตนรับประทาน โอวาทข้อที่ ๘ ที่ว่า พึงนอนให้เป็นสุขนั้น หมายความว่า อย่านอนก่อนพ่อผัวแม่ผัวและสามี จงจัดแจงหรือปรนนิบัติท่านเหล่านั้นให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน ตนเองจึงนอนในภายหลัง โอวาทข้อที่ ๙ ที่ว่า พึงบูชาไฟนั้น หมายความว่า พึงเห็นพ่อผัวแม่ผัวและสามีเหมือนไฟหรือเหมือนงูพิษเป็นสิ่งที่ ไม่ควรประมาทดูหมิ่น ให้ระมัดระวังเจียมตนในท่านเหล่านั้นด้วยความเกรงกลัวและความเคารพ โอวาทข้อที่ ๑๐ ที่ว่า พึงบูชาเทวดานั้น หมายความว่า พึงเห็นพ่อผัวแม่ผัวและสามีเหมือนดังเทวดา คือเป็นบุคคลที่มีพระคุณสูงเหนือตนคล้าย ๆ เทวดา แล้วไม่ดูหมิ่นดูแคลน แสดงความเคารพกราบไหว้ เหมือนคนเคารพกราบไหว้เทวดา ด้วยประการฉะนี้

 

ประการที่ ๔ เครื่องประดับของสตรีที่มีชื่อว่า มหาลดาปสาธน์ ซึ่งมีราคาถึง ๙ โกฏิ ค่าแรงนายช่างอีก ๑ แสน นั้น สตรีที่จะได้มีเครื่องประดับเช่นนั้น ด้วยผลอานิสงส์ขั้นสุดยอดแห่งการถวายผ้า ไตรจีวร คือเป็นผลขั้นสูงสุดของการถวายไตรจีวรสําหรับสตรี ถ้าเป็นบุรุษแล้วก็ได้บาตรและไตรจีวรอันลอยมาเองด้วยบุญฤทธิ์ เช่น พระเบญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ เป็นต้น ก็สตรีที่มีบุญถึงขนาดได้ใช้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์สมัยนั้นมีเพียง ๓ คน คือ มหาอุบาสิกาวิสาขานี้ ๑ นางมัลลิกา ภริยาของพันธุลมัลลเสนาบดี ๑ ธิดาของเศรษฐีเมืองพาราณสี ๑ เท่านั้น

 

ประการที่ ๕ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงปรารภมหาอุบาสิกาวิสาขาให้เป็นเหตุ แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดภิกษุทั้งหลายด้วยพระพุทธนิพนธสุภาษิตอันเป็นสารธรรมอย่างประเสริฐ ซึ่งมีข้อความสั้น ๆ ดังนี้ ๆ

 

ช่างดอกไม้ผู้ฉลาด พึงร้อยดอกไม้จากกองดอกไม้ให้เป็นพวงมาลัยเป็นอันมากแม้ฉันใด บุคคลผู้เกิดมาแล้วพึงบําเพ็ญกุศลไว้ให้มาก ๆ ฉันนั้น

 

ในพระธรรมเทศนาพุทธสุภาษิตนี้ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ คําว่า กุศลในที่นี้ เป็นชื่อของจิตและเจตสิกอันเป็นบุญ โดยพยัญชนะ แปลว่า ธรรมชาติที่กําจัดบาปธรรมอันน่าเกลียด หรือ ธรรมชาติที่ตัดบาปธรรมอันนอนอยู่ในจิตสันดาน โดยอาการอันน่าเกลียด ซึ่งมีอรรถวิเคราะห์ว่า กุจฺฉิเต ปาปธมฺเม สลยติ วิทฺธํเสตีถิ กุสลํ กุจฺฉิเตน วา อากาเรน สยนฺตี กุสา เต กุเส ลุนาติ ฉินฺทตีติ กุสลํ แปลว่า ธรรมชาติใดย่อมกําจัดบาปธรรมอันน่าเกลียดทั้งหลาย ธรรมชาตินั้นชื่อว่า กุศล อีกอย่างหนึ่ง บาปธรรมเหล่าใดย่อมนอนอยู่ในจิตสันดานโดยอาการอันน่าเกลียด บาปธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นสภาพนอนอยู่ในจิตสันดานอันน่าเกลียด ซึ่งได้แก่ ความโลภ โกรธ หลง เป็นต้น ธรรมชาติใดย่อมตัดเสียซึ่งบาปธรรมอันนอนอยู่ในจิตสันดานโดยอาการอันน่าเกลียดเหล่านั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่ากุศล ดังนี้ อธิบายว่าคําว่า กุศล กับคําว่า บุญ โดยความหมายเป็นอันเดียวกัน การที่คนทําบุญทํากุศลนั้น ความมุ่งหมายโดยตรงก็เพื่อกําจัดหรือตัดออกซึ่งบาปธรรมอันน่าเกลียด ซึ่งซึมแทรกอยู่ในจิตสันดานคือ ความโลภ ความโกรธ และความหลงเป็นต้น เพราะความโลภ โกรธและหลงนี้ ไม่ใช่แต่มันแทรกซึมอยู่ในจิตสันดานของคนพาลเฉย ๆ แต่มันบันดาลให้แสดงอาการอันน่าเกลียดน่าชังออกมาทางกายและทางวาจาด้วย ถ้ามันได้ปัจจัยอุดหนุนอย่างรุนแรง มันก็สามารถบันดาลให้คนลงมือทําการสิ่งที่ไม่ควรทําให้พูดถ้อยคําที่ไม่ควรพูด ให้เห็นคนรัก เป็นศัตรู แล้วทําบาปกรรมอันหยาบคายร้ายกาจมีประการต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย เมื่อบุคคลทํากุศลชั้นกามาจจร เช่น ให้ทานรักษาศีลด้วยจิตเป็นกุศล จิตนั้นย่อมกําจัดหรือตัดความโลภให้หายไปด้วยอํานาจทั้งคปหาน คือกําจัดตัดกิเลศนั้นได้เป็นพัก ๆ เมื่อบุคคลทํากุศลชั้นรูปาวจร เช่น เจริญสมถกรรมฐานจนให้จิตเป็นสมาธิสําเร็จเป็นรูปาวจรกุศลจิต จิตนั้นย่อมกําจัดหรือตัดความโลภและความโกรธได้ด้วยวิกขัมธานปหาน คือกําจัดตัดกิเลสได้ในระยะยาวจนกว่าสมาธิจะเสื่อม ถ้าสมาธิจิตตั้งมั่นอยู่ตราบใด กิเลสบาปธรรมก็เกิดขึ้นในจิตสันดานไม่ได้อยู่ตราบนั้น เมื่อบุคคลทํากุศลชั้นโลกุตระ เริ่มต้นแต่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทําให้วิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นโดยลําดับ จนส่งให้อริยมรรคปัญญาเกิดขึ้นในที่สุด จิตสําเร็จเป็นโลกุตระกุศลจิตได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ จิตนั้นย่อมกําจัดหรือตัด ความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นบาปธรรมได้ด้วยสมุจเฉทปหาน คือกําจัดตัดกิเลสได้เด็ดขาด ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป นี้เป็นผลแห่งการบําเพ็ญกุศลโดยตรง ส่วนผลโดยอ้อมหรือที่เรียกว่าผลพลอยได้นั้น คนผู้บําเพ็ญกุศลไว้ มาก ๆ นั้น ถ้ายังจะเกิดในชาติในภพใด ๆ ก็ย่อมเกิดเป็นคนมีบุญ รูปร่างก็สวยสดงดงาม จิตใจก็เป็นบุญกุศล เป็นร่มโพธิ์ทองของคนเป็นอันมาก และพร้อมมูลบริบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติบริวารเป็นต้น เหมือนตัวอย่างมหาอุบาสิกาวิสาขาในนิทานเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสสอนว่า เกิดมาเป็นคนแล้ว อย่าประมาทหลงไหลอยู่แต่ในลาภยศ สรรเสริญสุข เพราะสิ่งเหล่านั้นเอาติดตามตนไปไม่ได้ในอีกโลก นอกจากบุญกุศลเท่านั้น จึงจึงหาโอกาสเร่งทําบุญมีประการต่าง ๆ ไว้ให้มาก เหมือนนายช่างดอกไม้ผู้ฉลาดและมีความขยัน เขาย่อมทําดอกไม้ให้เป็นพวงมาลัยไว้ขายเป็นอันมากฉันใด คนเราที่เกิดมาแล้วในโลกนี้ ก็อย่าประมาทพึงบําเพ็ญบุญกุศลไว้สําหรับเป็นที่พึ่งของตนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ฉันนั้น ซึ่งมีอรรถาธิบายดังรับประทานวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้