เรื่อง พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา:พระราธเถระ

พระธรรมบทเทศนา

พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา

(๑) เรื่องพระราธเถระ [๖๐]

--------------------------------

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสุส

นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ

นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ ตาทิสํ ปณฺทิตํ ภเช

ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโยติ.

 

บัดนี้ จะวิสัชนาพระธรรมเทศนา เรื่องพระราธเถระอันมีมาในคัมภีร์อรรถกถาพระธรรมบท ขุททกนิกาย ปัณฑิตวรรคแห่งสุตตันตปิฎก นับเป็นลําดับเรื่องที่ ๖๐ เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลส่วนธรรมเทศนามัย และขอเชิญท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย จงตั้งใจสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาโดยโยนิโสมนสิการเป็นอันดี เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลบุญยนฤธีส่วนธรรมสวนมัยสืบไปณบัดนี้ ดําเนินความว่า -

 

สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต - สมัยหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จประทับพระอิริยาบถ อยู่ ณ วัดพระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดภิกษุทั้งหลาย โดยทรงปรารภพระราธะผู้มีอายุให้เป็นอุปบัติเหตุ ซึ่งมีเรื่องเล่าดังต่อไปนี้

 

โส กิร คิหิกาเล - ดังได้ยินมา พระราธะผู้มีอายุนั้นในเวลาที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่โน้น เป็นคนจําพวกพราหมณ์ผู้ตกยากคนหนึ่งอยู่ในเมืองสาวัตถี ราธพราหมณ์นั้น เมื่อมองไม่เห็นทางอื่นใดจึงตัดสินใจว่า “ เราจักไปอาศัยเลี้ยงชีพอยู่ในสํานักของภิกษุทั้งหลาย " แล้วจึงไปอาศัยอยู่ในวัดตั้งแต่นั้นมา รับอาสาดายหญ้าวัด ปัดกวาดบริเวณวัด ถวายน้ำล้างหน้าและน้ำฉันเป็นต้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายภิกษุทั้งหลายก็พากันสงเคราะห์ราธพราหมณ์นั้นด้วยเมตตากรุณา ครั้งต่อมาราธพราหมณ์มีศรัทธาปรารถนาจะบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา แต่ว่าภิกษุทั้งหลายไม่มีใครที่จะกล้าทําการบวชให้เพราะเป็นคนแก่ ราธพราหมณ์นั้น เมื่อไม่ได้บวชสมความปรารถนาดังนั้น มีความเสียใจกินไม่ได้นอนไม่หลับถึงซูบผอมลงไป

 

อเถกทิวสํ - อยู่มาในกาลวันหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรวจพระญาณเล็งดูหมู่สัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นราธพราหมณ์นั้น ทรงใคร่ครวญดูว่า เป็นอย่างไรหนอ “ ทรงทราบว่า ราธพราหมณ์นั้นจักสําเร็จเป็นพระอรหันต์ ครั้นถึงเวลาเย็น สมเด็จพระพุทธองค์ทรงทําเป็นเสมือนเสด็จพระพุทธดําเนินเล่นในวัด เสด็จไปสํานักของราธพราหมณ์ แล้วมีพระพุทธดํารัสตรัสถามว่า พราหมณ์ ! เธอทําการงานอะไร ราธพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าพระองค์ทําวัตรปฏิบัติแก่ภิกษุทั้งหลาย พระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสถามต่อไปว่า " เธอได้รับความสงเคราะห์จากภิกษุทั้งหลายละหรือ ราธพราหมณ์กราบทูลว่า " ได้รับความสงเคราะห์แต่สักว่าอาหารการบริโภค แต่ว่าไม่มีภิกษุรูปใดที่จะสงเคราะห์ให้ข้าพระองค์บวช พระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระบรมศาสดาทรงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุนั้น ตรัสถามเรื่องนั้นกับราธพราหมณ์ให้ภิกษุสงฆ์ทราบแล้ว จึงมีพระพุทธดํารัสตรัสถามภิกษุสงฆ์ในที่ประชุมว่า ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใครที่ระลึกถึงอุปการคุณของพราหมณ์นี้ได้มีอยู่ละหรือ " พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า ข้าแต่สมเด็จพระพุทธองค์ ข้าพระองค์ระลึกได้ ครั้งหนึ่งเมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ พราหมณ์นี้ได้ถวายภิกษาหารที่เขาจัดมาเพื่อตนทัพพีหนึ่ง ข้าพระองค์ระลึกได้ซึ่งอุปการคุณนั้นของพราหมณ์นี้ พระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสกับพระสารีบุตรเถระว่า ดูก่อนสารีบุตร การที่เธอช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้แก่พราหมณ์ผู้เคยทําอุปการคุณอย่างนั้น จะไม่สมควรละหรือ พระสารีบุตรเถระกราบทูลรับว่า สาธุ ภนฺเต ข้าพระองค์จักรับบวชให้แก่พราหมณ์นี้ พระพุทธเจ้าข้า แล้วก็ได้จัดการบวชให้แก่พราหมณ์นั้นสมดังความปรารถนาต่อไป เมื่อราธพราหมณ์บวชแล้วย่อมได้อาสนะในโรงฉันภัตตาหารท้ายที่สุดเขา ดังนั้นจึงลําบากด้วยข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้น พระสารีบุตรเถระจึงได้พาราธภิกษุนั้นหลบหลีกไปเสียสู่ที่จาริก และได้ถือโอกาสว่ากล่าวสั่งสอนราธภิกษุ อยู่เนืองๆ ว่า " สิ่งนี้เธอควรทํา สิ่งนี้เธอไม่ควรทํา ราธภิกษุนั้นเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย รับปฏิบัติตามโอวาทด้วยความเคารพ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านปฏิบัติตามคําสั่งสอนอยู่เนือง ๆ ดังนั้น ต่อมาไม่นานเท่าไรก็ได้บรรลุพระอรหัตสําเร็จเป็นพระอรหันตขีณาสพในพระพุทธศาสนา

 

เถโร ตํ อาทาย - ฝ่ายพระสารีบุตรเถระ เมื่อพระราธะบรรลุพระอรหัตแล้วจึงพาไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ครั้นไปถึงที่เฝ้ากราบถวายบังคมแล้วก็นั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ลําดับนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทําการปฏิสันถารแล้วมีพระพุทธดํารัสตรัสถามพระสารีบุตรเถระว่า สารีบุตร อันเตวาสิกของเธอว่านอนสอนง่ายดีดอกหรือ พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ราธภิกษุเป็นผู้ว่านอนสอนง่ายเหลือเกิน แม้ข้าพระองค์จะว่ากล่าวในโทษอะไรๆ ก็ไม่เคยโกรธเลย สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสถามต่อไปว่า สารีบุตร ? เมื่อเธอได้สัทธิวิหาริกเช่นนี้เธอจักรับสงเคราะห์ได้สักเท่าไร ? พระสารีบุตรเถระทูลตอบว่า จักรับสงเคราะห์ได้จํานวนมากทีเดียว พระพุทธเจ้าข้า

 

อเถก ทิวสํ ธมฺมสภายํ ภิกฺขู - อยู่มาในกาลวันหนึ่งภิกษุทั้งหลายวิพากษ์วิจารณ์กันในโรงธรรมสภาว่า " ได้ยินว่า พระสารีบุตรเถระ เป็นผู้กตัญญู เป็นผู้กตเวที อุปการคุณเพียงภิกษาหารทัพพีเดียวก็ระลึกได้ แล้วรับเอาธุระบวชให้พราหมณ์ผู้ตกยาก ฝ่ายพระราธเถระเล่าก็เป็นผู้อดทนต่อโอวาทและได้พระอาจารย์ผู้อดทนโอวาทแล้วนั้นเทียว สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงสดับการวิพากษ์วิจารณ์ของภิกษุเหล่านั้นแล้วได้รับพระพุทธดํารัสตรัสเสริมว่า “ ภิกขฺเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่ในชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อน สารีบุตรได้เป็นผู้กตัญญู เป็นผู้กตเวทีมาแล้วนั้นเที่ยว เพื่อจะทรงประกาศข้อความนั้นให้ปรากฏ สมเด็จพระพุทธองค์ได้ตรัสอลีนจิตตชาดกให้พิสดาร ซึ่งความปรากฏในพระบาลีทุกนิบาต ขุททกนิกาย ดังนี้

 

อลีนจิตฺตํ นิสฺสาย ปหฐจา มหตี จมู

โกสลํ เสนาสนฺตุฏฐํ ชีวคาหํ อคาหยิ

เอวํ นิสฺสยสมฺปนฺโน ภิกฺขุ อารทฺธวิริโย

ภาวยํ กุสฺลํ ธมฺมํ โยคกฺเขมสฺส ปตฺติยา

ปาปุเณ อนุปุพเพน สพฺพสํโยชนกฺขยํ

 

เพราะได้อาศัยเจ้าอลีนจิตตกุมาร เสนาเป็นอันมากจึงพากันยินดี และได้ให้ช้าง

จับเป็นซึ่งพระเจ้าโกศลผู้ไม่ทรงยินดีในราชสมบัติ ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยนิสสยสมบัติอย่างนี้

มีความเพียรพยายาม ทําวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นอยู่ เพื่อบรรลุพระนิพพานอันเป็นแดนเกษม

จากโยคะ พึงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการโดยลําดับ

 

ได้ยินว่า ช้างที่รู้อุปการคุณอันนายช่างไม้ทั้งหลายกระทําแก่ตนโดยรักษาเท้าให้หายโรค แล้วให้ลูกช้างเผือกผ่องทั้งตัวแก่นายช่างไม้เหล่านั้น ซึ่งเที่ยวไปอยู่ตัวเดียวในกาลครั้งนั้น ได้มาเป็นพระสารีบุตรเถระบัดนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาครั้นทรงแสดงชาดกปรารภพระสารีบุตรเถระอย่างนี้แล้ว ได้ทรงประทานพระพุทธโอวาทปรารภพระราธเถระอีกว่า " ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุจึงเป็นผู้ว่านอนสอนง่ายเหมือนอย่างราธะ แม้ถูกอาจารย์ชี้โทษให้เห็นโอวาทอยู่ก็ไม่พึงโกรธ อนึ่ง จึงเห็นบุคคลผู้ให้โอวาทเหมือนกับบุคคลผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ ครั้งทรงเห็นว่าภิกษุทั้งหลายมีอินทรีย์แก่กล้าควรแก่ที่จะได้รับฟังพระธรรมเทศนา เมื่อพระองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาสืบอนุสนธิ โปรดภิกษุทั้งหลายต่อไป จึงได้ตรัสพระพุทธนิพนธคาถาเป็นปัจฉิมพจน์ว่าดังนี้

 

นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ

นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช

ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย

 

พึงเห็นบุคคลผู้ชี้โทษให้เหมือนคนบอกขุมทรัพย์ พึงคบกับ

อาจารย์ผู้กล่าวข่ม ผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญาเช่นนั้น เพราะ

เมื่อคบกับอาจารย์เช่นนั้น จะมีแต่ความดีไม่มีความเสียเลย.

 

ภิกษุทั้งหลายจํานวนมากซึ่งฟังธรรมอยู่ในสมาคมนั้น ส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนาโดย

โยนิโสมนสิการเป็นอันดี ในเวลาจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุมรรคผลมีโสดาปัตติผลเป็นต้น โดยสมควรแก่อุปนิสัยของตนๆ ด้วยประการฉะนี้แล

 

ลําดับนี้จะได้วิสัชนาอรรถาธิบายความในท้องนิทานและในพระธรรมเทศนาพุทธนิพนธคาถา โดยอาศัยอรรถกถานัยและโดยอัตตโนมัตยาธิบาย เพื่อเฉลิมเพิ่มเติมสติปัญญา ฉลองศรัทธาบารมี เพิ่มพูนกุศลบุญราษี ส่วนธรรมสวนมัยแก่ท่านสาธุชนพุทธบริษัทสืบต่อไป

 

ในนิทานเรื่องนี้เบื้องต้นแสดงให้เราทั้งหลายได้ทราบว่า การที่พระอุปัชฌาย์ทั้งหลายส่วนมากในสมัยปัจจุบันทุกวันนี้ มีความรังเกียจคนแก่ไม่ยอมเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์รับบวชให้นั้น มีตัวอย่างมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลสมัยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เช่นราธพราหมณ์ซึ่งเป็นคนแก่แลยากจน แม้จะเข้าไปยอมมอบตนเป็นศิษย์วัด รับทําการงานต่างๆ ตั้งแต่ดายหญ้าปัดกวาดบริเวณวัด ตักน้ำฉันน้ำใช้ปฏิบัติฐากพระภิกษุสงฆ์เป็นอันดี ถึงกระนั้น เมื่อราธพราหมณ์จะบวช ก็ไม่มีภิกษุใดกล้ารับอาสาบวชให้ ข้อนี้ได้เป็นธรรมเนียมประเพณีสืบมาจนกระทั่งปัจจุบันสมัยนี้ ส่วนความจริงนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาก็มิได้ทรงบัญญัติห้ามไว้แต่ประการใด เฉพาะในเรื่องราธพราหมณ์นี้ พระองค์ทรงสนับสนุนให้ราธพราหมณ์ได้บวชสําเร็จสมความปรารถนา โดยทรงยกให้เป็นภาระของพระสารีบุตรเถระด้วยความสมัครใจ ส่วนพระสารีบุตรเถระที่รับเป็นภาระบวชให้นั้น ก็ด้วยอํานาจกําลังแห่งความกตัญญูกตเวทิตาธรรม โดยที่ราธพราหมณ์นั้นเคยได้ถวายบิณฑบาตทัพพีหนึ่งครั้งหนึ่งในเมืองราชคฤห์ดังวิสัชนามาแล้ว

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์รังเกียจคนแก่ คือไม่ยอมรับบวชคนแก่ให้เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนานั้น ไม่เป็นการขาดเมตตากรุณา และขัดต่อปฏิปทาของพระมหาอัครสาวก หรือขัดต่อพระพุทธประสงค์ของสมเด็จพระพุทธองค์ไปหรือ ข้อนี้เมื่อได้พิจารณาดูตามเรื่องนี้โดยละเอียดแล้วก็ให้สันนิษฐานได้ว่า การที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์ครั้งนั้น ไม่ยอมบวชให้ราธพราหมณ์นั้น พระองค์ก็มิได้ทรงตําหนิโทษแต่ประการใด อันส่อว่าพระพุทธองค์ทรงอนุโลม เมื่อพระสารีบุตรเถระจะรับบวชให้แก่ราธพราหมณ์ซึ่งเป็นคนแก่ พระพุทธองค์ก็ทรงอนุโมทนา โดยอาศัยเหตุนี้ จึงให้ลงสันนิษฐานว่า การที่จะรับบวชคนแก่หรือไม่รับบวชนั้น ย่อมถูกทั้งสองประการ ขึ้นอยู่กับการพินิจพิจารณาของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ว่าจะสมควรรับบวชหรือไม่สมควรนั้น ต้องอาศัยเหตุผลและผลได้ผลเสียในกาลนั้น ๆ ในถิ่นนั้น ๆ เข้าประกอบ คือถ้าคนแก่นั้นยังมีร่างกายแข็งแรงและมีจิตใจเป็นปกติพอที่จะศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ ตามวิสัยของสมณะ และเมื่อบวชแล้วตนก็สามารถที่จะแนะนําสั่งสอนก็ควรรับบวชเช่นพระสารีบุตรเถระรับบวชพราหมณ์นั้น แต่ถ้าคนแก่นั้นร่ายกายไม่แข็งแรงพอที่จะศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ จิตใจก็ฟั่นเฟือน หลงๆ ลืมๆ และตนเองก็ไม่สามารถที่จะอนุเคราะห์แนะนําสั่งสอนได้ เช่นนี้ไม่ควรรับบวช เมื่อพระอุปัชฌาย์อาจารย์ปฏิบัติโดยอาศัยเหตุผลและผลได้ผลเสียเข้าประกอบเช่นนี้แล้ว จึงจะไม่รับบวชหรือรับบวชคนแก่ก็ชื่อว่าไม่เป็นการขัดต่อปฏิปทาของพระมหาอัครสาวกหรือขัดต่อพระพุทธประสงค์ของสมเด็จพระพุทธองค์แต่ประการใด

 

อนึ่ง การที่จะควรรับบวชหรือไม่ควรรับนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ที่จะบวชด้วย ถ้าผู้ที่จะบวชนั้น แม้ถึงจะเป็นคนแก่ แต่เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสหนักแน่น มีอัธยาศัยจิตใจงาม เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย เมื่อบวชแล้วก็จะตั้งหน้าศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุผลแห่งการบวชตามสมควรแก่อุปนิสัยเช่นดังราธพราหมณ์เป็นตัวอย่าง ก็สมควรที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์จะพึงสงเคราะห์รับบวชให้ เดินตามรอยทางที่ท่านพระสารีบุตรเถระผู้มหาอัครสาวกได้ปฏิบัติมาแล้ว แต่ถ้าคนแก่นั้น เป็นผู้ไม่ค่อยจะมีศรัทธาและความเลื่อมใสอย่างจริงจัง ทั้งเป็นผู้ไม่สุภาพเรียบร้อย มีอัธยาศัยจิตใจกระด้างแข็งกล้า เป็นผู้ว่ายากสอนยาก เมื่อบวชแล้วก็จะทําตนให้เป็นดุจหลักตอในวัดวาศาสนา เช่นนี้ก็ไม่สมควรจะรับบวช ด้วยเหตุนั้นกุลบุตรผู้จะบวชในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นคนอยู่ในวัยหนุ่มหรือวัยแก่ก็ตาม ประการสําคัญจะต้องประพฤติตนให้เป็นผู้ว่านอนสอนง่ายเป็นคุณสมบัติประจําตน เพราะบุคคลผู้ว่านอนสอนง่ายนั้น ย่อมไม่เป็นที่หนักอกหนักใจของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เมื่อพระอุปัชฌาย์อาจารย์ไม่หนักใจในการที่จะแนะนําสั่งสอนแล้ว ท่านจะมีความเมตตากรุณายินดีรับสงเคราะห์ได้เป็นจํานวนมาก อันเป็นทางที่จะนํามาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระศาสนาและความอยู่เป็นสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย สมดังที่พระสารีบุตรเถระทูลตอบสมเด็จพระพุทธองค์ว่า เมื่อได้สัทธิวิหาริก ผู้ว่านอนสอนง่าย เหมือนพระราธะแล้ว จะรับสงเคราะห์ได้มากทีเดียว ดังนี้

 

อนึ่ง นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้คุณค่าแห่งความเป็นคนกตัญญูกตเวที โดยมีพระสารีบุตรเถระผู้อัครสาวกเป็นตัวอย่าง คําว่า กตัญญู แปลว่า ผู้รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นได้ทําไว้ คือผู้รู้จักคุณคนนั่นเอง กตเวที แปลว่าผู้ทําอุปการคุณที่ผู้อื่นทําไว้แล้วนั้นให้ปรากฏ ได้แก่สามารถรักษาอุปการคุณนั้นไว้ได้ไม่ให้เสื่อมสูญไปเสีย คุณธรรมคือความเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทิตาธรรมนี้ โดยปกติเป็นภาระหน้าที่ของอนุชน เช่นพระสาวกต้องเป็นผู้กตัญญูกตเวทีต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ราษฎรต้องเป็นผู้กตัญญูกตเวทีต่อพระมหากษัตริย์หรือรัฐบาล บุตรธิดาต้องเป็นผู้กตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดา ศิษย์ต้องเป็นผู้กตัญญูกตเวทีต่ออาจารย์ แต่เมื่อว่าโดยพิเศษแล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของบุคคลผู้ที่ได้รับอุปการคุณจากบุคคลอื่นมาก่อนจะเป็นผู้ใหญ่หรือผู้น้อยก็ตาม ต้องเป็นผู้มีภาระหน้าที่จะต้องเป็นคนกตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่อุปการะมาก่อนทั้งนั้น เช่นพระสารีบุตรเถระ ซึ่งท่านอยู่ในฐานะแห่งพระอรหันต์ชั้นมหาอัครสาวก ท่านก็ต้องทําหน้าที่กตัญญูกตเวทีต่อราธพราหมณ์ซึ่งเป็นคนชั้นสามัญธรรมและยากจนด้วย แต่ด้วยเหตุได้เคยถวายบิณฑบาตแก่ท่านพระสารีบุตรเถระทัพพีหนึ่งนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ได้ทําอุปการคุณแก่ท่านพระสารีบุตรเถระมาก่อน การที่ท่านพระสารีบุตรเถระ ระลึกอุปการคุณนั้นได้ไม่หลงลืมแม้บิณฑบาตเพียงทัพพีเดียว ข้อนี้ได้ชื่อว่าท่านเป็นผู้ " กตัญญู " คือรู้คุณบิณฑบาตอันเล็กน้อยนั้น การที่ท่านพระสารีบุตรเถระประกาศอุปการคุณนั้นให้ปรากฏในที่กลางสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธองค์เป็นประธานก็ดี การที่ท่านรับสงเคราะห์ราธพราหมณ์ให้บวชก็ดี ชื่อว่าท่านเป็นผู้ " กตเวที ” คือประกาศอุปการคุณให้ปรากฏหรือรักษาอุปการะคุณนั้นไว้เป็นคุณสมบัติ แม้พียงนิดเดียวไม่เสื่อมหายไปจากจิตสันดานของท่าน เพราะฉะนั้นท่านพระสารีบุตรเถระจึงเป็นที่ปรากฏกันในวงชาวพุทธทั่วโลกว่าเป็นบุคคลตัวอย่างในหน้าที่กตัญญูกตเวทีบุคคล มาจนกระทั่งปัจจุบันทุกวันนี้

 

ในสมัยพุทธกาลโน้น เพราะเหตุที่ท่านพระสารีบุตรเถระระลึกถึงอุปการคุณของราธพราหมณ์ได้ด้วยเพียงบิณฑบาตทัพพีเดียว และรับเป็นภาระธุระสงเคราะห์ราธพราหมณ์ให้ได้บวชในศาสนา แล้วได้บรรลุพระอรหัตในที่สุดนั้น ภิกษุทั้งหลายเห็นเป็นที่น่าอนุโมทนาสาธุการจึงได้นํามาวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ได้ยินว่าพระสารีบุตรเถระเป็นผู้กตัญญูเป็นผู้กตเวที อุปการคุณเพียงภิกษาหารทัพพีเดียวก็ระลึกได้ แล้วรับสงเคราะห์พราหมณ์ผู้ตกยากให้ได้บวช แม้พระราธเถระก็เป็นผู้อดทนต่อโอวาท และได้พระอาจารย์ผู้อดทนโอวาท ฝ่ายสมเด็จพระบรมศาสดาครั้นทรงทราบดังนั้นจึงตรัสเสริมว่า มิใช่แต่ในชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อน สารีบุตรก็เป็นผู้กตัญญูเป็นผู้กตเวทีมาแล้วเหมือนกัน ดังนี้แล้ว ได้ทรงแสดงอลีนจิตตชาดกโดยพิสดาร เพื่อประกาศความเป็นผู้กตัญญูกตเวทีของพระสารีบุตรเถระในชาติก่อน ส่วนความพิสดารนั้น มีปรากฎอยู่ในชาดกนั้นแล้ว ไม่สามารถนํามาวิสัชนาในที่นี้ได้ แต่มีใจความสําคัญว่า ในชาติก่อนนั้น ท่านพระสารีบุตรเถระได้เป็นช้างอยู่โดยโดดเดี่ยว เมื่อเกิดเท้าเจ็บขึ้นได้อาศัยพวกนายช่างไม้รักษาให้หายจากโรคนั้น ช้างรู้อุปการคุณนั้นจึงให้ลูกช้างเผือกผ่องทั้งตัวเป็นการสนองคุณแก่พวกช่างไม้นั้น ตามที่วิสัชนามานี้แสดงให้เห็นว่า ท่านพระสารีบุตรเถระเป็นบุคคลตัวอย่างในทางกตัญญูกตเวทีนั้น ภิกษุทั้งหลายในสมัยพุทธกาลโน้นก็พากันอนุโมทนาสาธุการ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงสนับสนุนส่งเสริมยกย่องเช่นนั้น และทรงแสดงให้เห็นยาวไปอีกว่าเคยได้เป็นผู้หนักในความกตัญญูกตเวทีมาแต่ชาติปางก่อนแล้ว ดังวิสัชนามานั้น อันปฏิปทาของท่านพระสารีบุตรมหาอัครสาวกนี้ สมควรที่พวกเราเหล่าสาธุชนพุทธบริษัท ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ทั้งหลาย จะพึงยึดถือเป็นหลักปฏิบัติอนุวัตรตามท่าน เพราะความกตัญญูกตเวทีนั้น เป็นคุณธรรมที่มีความสําคัญยิ่งในทางที่สร้างนิสัยอนุชนให้เป็นคนดี เพราะเหตุที่จะให้รักษาสมบัติของบรรพบุรุษบุรพาจารย์ได้มอบไว้ให้แก่อนุชนนั้นก็มีแต่จะสาบสูญอันตรธานไป เช่นถ้าอนุชนฝ่ายโลกเป็นคนอกตัญญูกตเวที ชาติก็จะสูญ ถ้าอนุชนฝ่ายศาสนาเป็นคนอกตัญญูกตเวที ศาสนาก็จะสิ้นสูญอันตรธานโดยไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะในทางศาสนานี้ถ้าชาวพุทธทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ไม่มุ่งหน้าศึกษาให้รู้ธรรม เกิดเป็นอกตัญญูขึ้น และไม่ปฏิบัติธรรมให้ธรรมปรากฏในตน เกิดเป็นคนอกตเวทีขึ้น ดังนี้เมื่อไร ปริยัติศาสนาและปฏิบัติศาสนารวมทั้งปฏิเวธศาสนาด้วย ก็ได้ชื่อว่าสิ้นสูญอันตรธานเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นความเป็นคนกตัญูกตเวที จึงนับว่าเป็นเรื่องสําคัญอย่างยิ่ง ด้วยประการฉะนี้

 

เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาตรัสโอวาทภิกษุทั้งหลายโดยทรงปรารภพระสารีบุตรเถระเป็นตัวอย่างแล้ว จึงตรัสโอวาทโดยปรารภพระราธเถระเป็นตัวอย่างอีกว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุพึงทําตนให้เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย เหมือนอย่างพระราธะ พระราธะนั้น แม้อาจารย์จะชี้โทษว่ากล่าวสักเท่าไรๆ ก็ไม่โกรธ อนึ่งพึ่งเห็นอาจารย์ผู้ให้คําสั่งสอนเหมือนคนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ ครั้งแล้วได้ตรัสพระธรรมเทศนาโปรดโดยพระพุทธนิพนธคาถาสุภาษิต ซึ่งมีข้อความสั้น ๆ ดังนี้

 

พึงเห็นบุคคลผู้ชี้โทษให้เหมือนคนบอกขุมทรัพย์ พึงคบกับ

อาจารย์ผู้กล่าวข่ม ผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญาเช่นนั้น เพราะ

เมื่อคบกับอาจารย์เช่นนั้น จะมีแต่ความดีไม่มีความเสียเลย

 

อธิบายว่า คนที่ชี้โทษนั้น มี ๒ ประเภท คือประเภทหนึ่งคอยเสาะหาโทษของคนอื่นด้วยอกุศลเจตนา หวังจะนําไปประจานหน้ากันในที่ประชุมให้เกิดความอัปยศอดสูแก่ผู้อื่นเป็นประมาณ อีกประการหนึ่ง คอยนําความบกพร่องต่างๆ มาชี้ให้เห็นด้วยกุศลเจตนา หวังจะช่วยให้บรรลุถึงซึ่งความเจริญรุ่งเรืองเป็นเบื้องหน้า คนผู้ชี้โทษในที่นี้หมายเอาประเภทหลัง ธรรมดาคนเราส่วนมากนั้น ทั้งๆ ที่ตนบกพร่องก็ไม่อยากให้ใครกล่าวว่าบกพร่อง ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ผิดก็ไม่อยากให้ใครกล่าวว่าผิด ทั้งนี้เพราะกิเลสเป็นเครื่องสร้างจิตใจให้เห็นแก่ตัวให้เข้าข้างตัว ซึ่งมีประจําสันดานสามัญชนอยู่ เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ จึงถ้ามีครูบาอาจารย์คือใครๆ มาชี้ความผิดหรือชี้โทษของตนให้เห็น จึงไม่ชอบและมักจะโกรธ หรือมิดังนั้นก็ไม่อยากจะเข้าหน้าคบค้าสมาคม เพราะฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสสอนในที่นี้อย่างตรงกันข้ามว่า อย่าโกรธอย่าเกลียดผู้ที่ชี้โทษหรือบอกความบกพร่องของตนให้ จึงเห็นคนที่ชี้โทษให้เหมือนคนบอกขุมทรัพย์ หมายความว่าคนที่ยากจนนั้น ถึงแม้คนที่บอกขุมทรัพย์ให้นั้นจะขู่ตวาดบ้างจะตบตีเอาบ้างก็ไม่โกรธด้วย มีความดีอกดีใจและเพียรพยายามเข้าไปใกล้ ฉันใด อันคนเรานี้ว่าตามที่ถูกแล้ว เมื่อมีครูอาจารย์หรือคนอื่นใดเห็นความบกพร่องหรือการกระทําที่ไม่สมควร ไม่ดีไม่งาม แล้วอุตส่าห์มาบอก หรือ กรุณาชี้แจงให้ได้เห็นคุณและโทษ ไม่ควรจะโกรธจะเกลียดเลย ตรงกันข้ามควรจะดีใจและขอบคุณท่านผู้นั้น และควรจะปวารณาขอให้ท่านผู้นั้นกรุณาว่ากล่าวตักเตือนเช่นนั้นต่อไป เพราะฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาเมื่อจะทรงสอนตามทางที่ถูก ไม่เอนเอียงไปตามจิตใจของบุคคลที่มีกิเลส จึงได้ตรัสสอนว่า พึงเห็นคนชี้โทษให้เหมือนคนบอกขุมทรัพย์ ฉะนี้

 

ไม่ใช่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระบรมศาสดายังทรงตรัสสอนให้ยิ่งไปอีกว่า พึงคบอาจารย์ผู้กล่าวข่มผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญาเช่นนั้น “ หมายความว่า ครูอาจารย์หรือผู้ใหญ่ที่ดีแล้วย่อมไม่ตามใจศิษย์และผู้น้อยในทางที่ผิด เมื่อเห็นผิดเมื่อไรจักต้องนํามาชี้ให้เห็นทันที พร้อมกันนั้นก็ห้ามมิให้กระทําเช่นนั้นต่อไป ถ้ายังขืนทํา ก็ต้องลงโทษกันตามควรแก่โทษ คนเช่นนี้ชื่อว่าอาจารย์ผู้กล่าวข่ม คือข่มขัดไว้ไม่ให้กระทําสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม และอาจารย์เช่นนั้นชื่อว่าเป็นบัณฑิตและใช้ปัญญาเป็นทางปฏิบัติกับศิษย์ ซึ่งคนธรรมดาโดยมาก ย่อมกลัวต่ออาจารย์ซึ่งมีลักษณะกล่าวข่มและเป็นบัณฑิตใช้ปัญญาเช่นนี้ ไม่อยากจะไปคบหาสมาคม ไม่อยากเข้าไปอยู่ใกล้ คือไม่อยากไปศึกษาอบรมอยู่ในสํานักของอาจารย์เช่นนั้น แต่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสสอนตรงกันข้าม คือให้เข้าคบหาสมาคม ให้เข้าไปสมัครอยู่ในสํานักอาจารย์เช่นนั้น เพราะเหตุไรจึงตรัสสอนบทสุดท้ายว่า เพราะการเข้าไปคบหากับอาจารย์เช่นนั้น จะมีแต่ความดีไม่มีความเสียเลย เพราะเหตุว่าเมื่อบุคคลได้อาจารย์ที่ดีมีความสามารถหักห้ามจิตใจของศิษย์ คือไม่ปล่อยให้ทําอะไรอย่างเสียๆ ไปตามใจ เหมือนอย่างท่านพระสารีบุตรเถระหมั่นพยายามพร่ำสอนราธะภิกษุอยู่เนืองๆ นับแต่บวชมาไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตสําเร็จเป็นพระอรหันตขีณาสพในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นผู้ที่กล้าเข้าไปอยู่กับอาจารย์ที่เป็นครูแท้มีคุณสมบัติอันดีงาม และกล้าสามารถในอันข่มขัดดัดสันดาน แสดงให้เห็นชัดถึงผลได้ผลเสีย อย่างบัณฑิตนักปราชญ์ไม่อ่อนแอเช่นนั้น จึงย่อมจะมีแต่ความเจริญอย่างเดียวไม่มีความเสื่อมเสียเลย ด้วยประการฉะนี้

 

แสดงพระธรรมเทศนาในเรื่องพระราธเถระ ก็นับว่าพอเป็นเครื่องโสดสรงองคศรัทธาและสมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้