เรื่อง พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา:พระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ

พระธรรมบทเทศนา

พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา

(๒) เรื่องพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ [๖๑]

----------------------------------------

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

โอวเทยฺยานุสาเสยฺย อสพฺภา จ นิวารเย

สตํ หิ โส ปิโย โหติ อสตํ โหติ อปฺปิโยติ.

 

บัดนี้ จะวิสัชนาพระธรรมเทศนาเรื่องพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ อันมีมาในคัมภีร์อรรถกถาพระธรรมบท ขุททกนิกาย ปัณฑิตวรรค แห่งสุตตันตปิฎก นับเป็นลําดับเรื่องที่ ๖๑ เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลส่วนธรรมเทศนามัย และขอเชิญท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย จงตั้งใจสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาโดยโยนิโสมนสิการเป็นอันดี เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลบุณยนฤธีส่วนธรรมสวนมัยสืบไป ณ บัดนี้ ดําเนินความว่า -

 

สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต - สมัยหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จประทับพระอิริยาบถ อยู่ ณ วัดพระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดภิกษุทั้งหลาย โดยทรงปรารภพระอสัสชิ กับพระปุนัพพสุกะให้เป็นอุปบัติเหตุ ซึ่งมีเรื่องเล่าโดยย่อดังนี้ พระธรรมเทศนา ครั้งนั้นได้มีขึ้น ณ ที่กิฎาคีรีวิหาร

 

เต กิร กิญฺจาปิ - ดังได้ยินมา พระภิกษุ ๒ รูป คือ พระอัสสชิกับพระปุนัพพสุกะนั้น ความจริงเป็นสัทธิวิหาริกของท่านพระอัครสาวกทั้ง ๒ คือ พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งนับว่าได้เข้าอยู่ในสํานักพระอุปัชฌาย์อาจารย์ที่ดีอันหาได้ยากแล้ว น่าจะเป็นภิกษุที่มีความประพฤติปฏิบัติดีงามตามพระอุปัชฌาย์อาจารย์ แต่ตรงกันข้ามพากันประพฤติตนเป็นอลัชชีไม่มีความกระดากละอาย ชอบประพฤติปฏิบัติเป็นพระเลวทราม กล่าวคือ เมื่อภิกษุ ๒ รูปนั้นกับทั้งภิกษุที่เป็นบริวาร ๕๐๐ รูป อยู่ที่กิฏาคีรีวิหาร พากันประพฤติอนาจารมีประการต่างๆ เช่น ปลูกต้นไม้กระถางเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง และทํากุลทุสกกรรม คือการประจบประแจงกับตระกูล เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยทั้งหลายอันเกิดแต่การกระทํานั้นๆ ได้กระทําอาวาส คือที่อยู่อาศัยนั้นไม่ให้เป็นที่น่าอยู่อาศัยของภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักทั้งหลาย ฉะนี้

 

สตฺถา ตํ ปวตฺตึ สุตฺวา - ฝ่ายสมเด็จพระบรมศาสดาเมื่อได้ทรงทราบถึงการประพฤติลามกอนาจารดังนั้น ด้วยพระพุทธประสงค์ที่จะทรงกระทําปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น จึงทรงมีพระพุทธบัญชาให้หาท่านพระอัครสาวกทั้ง ๒ พร้อมทั้งภิกษุบริวารมาเฝ้า แล้วมีพระพุทธดํารัสตรัสสั่งกับพระอัครสาวกทั้ง ๒ ว่า สารีปุตตา ดูก่อนสารีบุตรและโมคคัลลานะ พวกเธอจงพากันไปพิจารณา สอบสวนดูพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ พร้อมทั้งบริวารเหล่านั้น ถ้าจําพวกใดไม่เอื้อเฟื้อเชื่อฟังคําของพวกเธอ ก็จงกระทําปัพพาชนียกรรมขับไล่ภิกษุเหล่านั้นเสีย ส่วนจําพวกใดเอื้อเฟื้อเชื่อฟังคําของพวกเธอด้วยดี พวกเธอก็จงรับทําหน้าที่ว่ากล่าวและพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้น เพราะผู้ทําการว่ากล่าวทําการพร่ำสอนนั้น จะไม่เป็นที่รักที่ชอบใจก็เฉพาะในหมู่ชนที่ไม่ใช่บัณฑิต แต่ย่อมเป็นที่รักใคร่เป็นที่เจริญใจสําหรับบัณฑิตชนทั้งหลาย ครั้นประทานพระพุทธโอวาทดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาสืบอนุสนธิ โปรดภิกษุทั้งหลายต่อไป จึงได้ตรัสพุทธนิพนธคาถาเป็นปัจฉิมพจน์ ดังนี้

 

โอวเทยฺยานุสาเสยฺย อสพฺภา จ นิวารเย

สตํ หิ โส ปิโย โหติ อสตํ โหติ อปฺปิโย.

 

บุคคลพึงโอวาทพึงอนุสาสก์และพึงห้ามจากอกุศลธรรมทั้งหลาย

เพราะผู้โอวาท ผู้อนุสาสก์นั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย

จะไม่เป็นที่รัก แต่จำพวกอสัตบุรุษเท่านั้น.

 

ภิกษุทั้งหลายจํานวนมากซึ่งฟังธรรมอยู่ในสมาคมนั้น ส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนาโดยโยนิโสมนสิการเป็นอันดี ในเวลาจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุมรรคผลมีโสดาปัตติผลเป็นต้น โดยสมควรแก่อุปนิสัยของตนๆ ส่วนท่านพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะอัครสาวกทั้ง ๒ พากันไป ณ กิฏาคีรีวิหารนั้นแล้ว โอวาทอนุสาสก์ภิกษุเหล่านั้นตามพระพุทธบัญชา ภิกษุเหล่านั้นลางจําพวกก็ยินยอมรับโอวาทประพฤติปฏิบัติตามแต่โดยดี ลางจําพวกที่ไม่ชอบใจก็พากันสึกออกไป ลางจําพวกก็ถูกลงปัพพาชนียกรรมขับไล่ออกจากที่นั้นด้วยประการฉะนี้

 

ลําดับนี้ จะได้วิสัชนาอรรถาธิบายความในท้องนิทานและในพระธรรมเทศนาพุทธนิพนธคาถา โดยอาศัยอรรถกถานัย และโดยอัตตโนมัตยาธิบาย เพื่อเฉลิมเพิ่มเติมสติปัญญาฉลองศรัทธาบารมี เพิ่มพูนกุศลบุญราษี ส่วนธรรมสวนมัยแก่ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายสืบต่อไป

 

ในนิทานเรื่องนี้ แสดงให้เห็นความประพฤติปฏิบัติในทางที่ไม่ดีของภิกษุสมัยพุทธกาลอีกด้านหนึ่ง คือ มีภิกษุสองรูปที่เป็นหัวหน้าใหญ่ คือพระอัสสชิ ๑ พระปุนัพพสุกะ ๑ กับมีภิกษุที่เป็นบริวารอีก ๕๐๐ รูป และภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนแต่เป็นสัทธิวิหารริกของท่านพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ผู้อัครสาวกทั้งนั้น แต่ได้พากันแยกไปสํานักอยู่ที่กิฏาคีรีวิหาร ครั้นแล้วแทนที่จะพากันศึกษาพระพุทธวจนะให้มีความรู้ความฉลาดในพระธรรมวินัย หรือปฏิบัติธรรมกรรมฐานให้จิตใจสงบระงับดับกิเลสตัณหา ตามเยี่ยงอย่างสมณะที่ดีทั้งหลายเหล่าอื่น แต่ก็หาได้ประพฤติเช่นนั้นไม่ ได้พากันประพฤติสิ่งที่เป็นอนาจาร ไม่เอื้อเฟื้อในพระธรรมวินัยมีประการต่างๆ หลายอย่างหลายชนิด เช่นเล่นต้นไม้กระถางสวย ๆ งาม ๆ โดยลงมือปลูกด้วยตนเองบ้าง และใช้คนอื่นช่วยปลูกให้บ้างเพลิดเพลินเจริญใจไปตามการเล่นนั้น ๆ โดยไม่มีความกระดากละอายใจ กลับเห็นเป็นการดีการชอบไป และเที่ยวประจบประแจงกับคฤหัสถ์ โดยการให้สิ่งของกํานัล หรือแลกเปลี่ยนซื้อขายกันอย่างคฤหัสถ์ ตามสํานวนวินัยเรียกว่าประพฤติเป็น กุลทุสก แปลว่า ประทุษร้ายตระกูล คือการกระทําดังนั้น เป็นเหตุให้คนในตระกูลนั้นขาดศรัทธาเลื่อมใสในคุณงามความดีอันสําเร็จมาแต่สัมมาปฏิบัติ ถึงคฤหัสถ์จะรักจะนับถือก็ไม่ใช่รักนับถือคุณธรรม เป็นการรักนับถือกันอย่างคนดีทั้งหลายรักนับถือกัน เพราะเหตุที่ทําคนในตระกูลนั้น ๆ ให้ขาดจากศรัทธาและความเลื่อมใสในพระธรรมวินัยด้วยการประพฤติเช่นนั้น จึงเรียกเป็นสํานวนโวหารว่า กุลทุสก คือ ผู้ประทุษร้ายตระกูล ภิกษุเหล่านั้นพากันประพฤติอนาจารและประทุษร้ายตระกูลโดยปราศจากหิริความละอายแก่ใจ จนอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยการกระทําเช่นนั้น อันเป็นลักษณะแห่งการค้าขายเหมือนอย่างคฤหัสถ์ ซึ่งโดยปกติสมเด็จพระบรมศาสดาทรงห้ามมิให้ภิกษุในพระพุทธศาสนาประพฤติปฏิบัติดังนั้น อันไม่ใช่ธุระหน้าที่ของผู้เป็น สมณะ คําว่า สมณะ หมายความว่าเป็นผู้สงบระงับจากบาปอกุศล คําว่า ภิกขุ หมายความว่าผู้ทําลายกิเลส การประพฤติปฏิบัติที่จะให้สงบระงับหรือเพื่อทําลายกิเลสนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาทรงวางไว้ให้เป็นภาระธุระที่ภิกษุทั้งหลายจะพึงปฏิบัตินั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือ คันถะธุระ ได้แก่การเรียนให้รู้พระพุทธวจนะคือคําสั่งสอน ๑ วิปัสสนาธุระ ได้แก่การบําเพ็ญสมณธรรม คือเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสนากรรมฐาน ๑ ธุระทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นภาระหน้าที่ของพระภิกษุผู้บวชในพระพุทธศาสนา สิ่งอื่นนอกจากธุระ ๒ ประการนี้แล้ว ถือว่าไม่ใช่ธุระหน้าที่ หรือไม่เป็นสิ่งที่ภิกษุจะพึงกระทําเพราะธุระอื่นๆ นั้น จะทําให้จิตใจสงบระงับจากกิเลสไม่ได้ มีแต่จะเป็นเชื้อยั่วเย้าเร้ากิเลสให้เฟื่องฟูมากขึ้น เช่นการเล่นต้นไม้กระถาง การปลูกต้นไม้เล่นเองก็ดี หรือใช้คนอื่นปลูกก็ตามที ไม่ใช่วิสัยของสมณะ เพราะเป็นสิ่งที่เสริมสร้างหรือยั่วยุให้เกิดกิเลสตัณหาทั้งนั้น ด้วยเหตุนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสห้ามไว้มิให้ภิกษุทั้งหลายประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นด้วยประการฉะนี้

 

ส่วนพวกภิกษุอัสสชิกับภิกษุปุนัพพสุกะพร้อมด้วยบริวารนั้น แม้จะได้มีโชคดีเข้าไปบวชในสํานักพระอัครสาวกทั้ง ๒ แล้วก็ดี แต่เมื่อได้แยกสํานักไปอยู่ที่กิฏาคีรีวิหารมีศิษย์บริวารมาก ก็เกิดความประมาทปล่อยโอกาสให้นิสัยสันดานของคฤหัสถ์เข้ามาครอบงําจิตใจ เลยพากันปล่อยปละละทิ้งสมณวิสัย และเลิกล้างห่างเหินจากภาระธุระหน้าที่ของตน นําเอากิจการของคฤหัสถ์ชนมาเป็นธุระจนปราศจากหิริ โอตตัปปธรรม จึงพากันประพฤติอนาจารและกุลทุสกกรรมมีประการต่างๆ ดังวิสัชนามาแล้ว พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่บวชแล้วไม่มุ่งต่อธรรมวินัยและไม่ประสงค์ที่จะทําตนให้พ้นทุกข์ แต่บวชเพื่อบํารุงบําเรอตนให้เพลิดเพลินหลงใหลในปัญจกามคุณารมณ์เหมือนอย่างคฤหัสถ์ ได้เคยมีมาแล้วแต่ครั้งสมเด็จพระพุทธองค์ยังทรงพระชนมายุอยู่ และโดยเฉพาะเป็นสัทธิงวิหาริกของท่านพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นมหาเถระชั้นรองจากสมเด็จพระพุทธองค์ ก็ยังมีโอกาสประพฤติปฏิบัตินอกธรรมนอกวินัยเป็นพระภิกษุอลัชชีไม่มียางอาย เหมือนอย่างพวกภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะในเรื่องนี้ ดังนั้น การที่มีพระสมัยปัจจุบันนี้ ประพฤติปฏิบัตินอกลู่นอกทางนอกธรรมนอกวินัยอยู่บ้างนั้น จึงไม่เป็นของแปลกประหลาด ย่อมมี ย่อมเป็นได้เป็นธรรมดา เพราะแต่ในสมัยพุทธกาลซึ่งมีสมเด็จพระพุทธองค์ทรงเป็นประมุขอยู่ และอุปัชฌาย์อาจารย์ก็ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ผู้วิเศษแล้วทั้งนั้น ก็ยังมีภิกษุที่เป็นศิษย์เป็นอันเตวาสิกเป็นสัทธิงวิหาริกประพฤตินอกธรรมนอกวินัย ดังวิสัชนามาแล้ว ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าสมัยใด กาลไหน คนดีคนชั่ว คนสันดานดี คนสันดานชั่ว ย่อมมีประสมสับปนกันอยู่เสมอ ที่ว่าคนสมัยโน้นดี คนสมัยนี้เลว หรือคนสมัยนี้ดี คนสมัยโน้นเลวนั้นหาเป็นความจริงไม่ และคนดีหรือคนมีสันดานดีมาแต่กําเนิดนั้น ถึงจะชั่วจะเลวไปเพราะเหตุแห่งการร้องเสพคบหากับบาปมิตร หรือได้สิ่งที่แวดล้อมไม่ดีไปแล้วก็ตาม ถ้าภายหลังได้กัลยาณมิตรคือครูอาจารย์ที่ดีหรือได้อยู่กับสิ่งแวดล้อมดี ก็มีโอกาสจะกลับฟื้นคืนดีได้อยู่ แต่ถ้าเป็นคนชั่วหรือมีสันดานชั่วมาแต่กําเนิดแล้ว ถึงแม้จะได้ครูอาจารย์ดีอย่างไร หรือได้อยู่กับสิ่งแวดล้อมดีอย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะกลับฟื้นคืนมาเป็นคนดีได้ ข้อนี้เป็นธรรมนิยามอย่างหนึ่ง และพึงเห็นสักขีพยานในจําพวกภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะเป็นตัวอย่าง ในเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาทรงสั่งท่านพระอัครสาวกทั้งสองผู้เป็นพระอุปัชฌาย์โดยตรงไปอบรมสั่งสอนครั้งนั้น ปรากฏผลว่า ภิกษุเหล่านั้นแยกออกไปเป็น ๓ จําพวก จําพวกที่หนึ่งยอมรับโอวาท คือย่อมรับสารภาพผิดแล้วกลับจิตใจปฏิบัติตามโดยชอบต่อไป จําพวกที่สองไม่ยอมเชื่อฟังและไม่ยอมปฏิบัติตามโอวาท พากันสึกหาละเพศออกไป จําพวกที่สาม ซึ่งเชื่อฟังแต่ไม่สนิทไม่น่าไว้ใจ ถูกปัพพาชนียกรรมคือให้ออกจากที่นั้นไปอยู่ที่อื่นซึ่งมีพระอาจารย์เข้มงวดกวดขัน ดังนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้พระสารีบุตรเถระซึ่งเป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา แม้พระมหาโมคคัลานะเถระผู้ประเสริฐด้วยฤทธิเดช ก็ไม่สามารถที่จะบันดาลสัทธิงวิหาริกของตนซึ่งมีสันดานชั่วให้กลับตนเป็นคนดีได้ ต้องปล่อยไปตามยถากรรมของเขาเอง เมื่อเป็นความจริงดังนี้ ก็ไม่ต้องขวนขวายหาอุบายที่จะมาสอนคนเลวให้กลับเป็นคนดีให้เสียเวลาและเสียทุนไปเปล่าๆ ถ้ามีผู้ใดรับอาสาว่ามีอุบายทําให้สําเร็จได้ ผู้นั้นก็แสดงตนว่า เป็นผู้ประเสริฐวิเศษกว่าท่านพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ เราผู้เป็นพุทธศาสนิกชนจะพึงเชื่อได้ละหรือ ? อนึ่งพึงสังเกตได้ด้วยว่า คําว่าพระอัสสชินั้นมีชื่อเหมือนกันหลายองค์ เช่นพระปัญจวัคคีย์ ๕ รูป ก็มีชื่อว่าพระอัสสชิอยู่รูปหนึ่ง แต่พระอัสสชิในเรื่องนี้ไม่ใช่พระอัสสชิในภิกษุปัญจวัคคีย์ เพียงมีชื่อเหมือนกันเท่านั้น

 

ฝ่ายสมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อทรงทราบความประพฤติอนาจารของคณะภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะ ดังนั้น จึงทรงมีพระพุทธดํารัสสั่งให้พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะไปทําการปราบปรามและปรับปรุงแก้ไข และก่อนแต่จะทรงส่งไปได้ทรงประทานกุสโลบายอันประเสริฐว่า ถ้าภิกษุเหล่าใดไม่เอื้อเฟื้อเชื่อฟัง ก็จึงลงโทษปัพพาชนียกรรมให้ออกไปเสียจากที่นั้น ส่วนภิกษุเหล่าใดเอื้อเฟื้อเชื่อฟัง ก็ให้รับไว้โดยให้ว่ากล่าวและพร่ำสอนอย่างใกล้ชิดต่อไป อย่าเกรงกลัวว่าเขาจะโกรธจะเกลียด โดยให้ถือเอาประโยชน์ตามที่ถูกเป็นประมาณ ครั้นแล้ว สมเด็จพระพุทธองค์ก็ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด โดยพระพุทธนิพนธคาถาสุภาษิต ซึ่งมีข้อความสั้น ๆ ดังนี้

 

บุคคลพึงโอวาทพึงอนุสาสก์และพึงห้ามจากอกุศลธรรมทั้งหลาย

เพราะผู้โอวาทผู้อนุสาสก์นั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย

จะไม่เป็นที่รักก็แต่จําพวกอสัตบุรุษเท่านั้น.

 

อธิบายว่า การบอกให้รู้ในความผิดที่เกิดขึ้นนั้นชื่อว่า โอวาท คือ การว่ากล่าว การชี้ให้เห็นโทษอันจะมีขึ้นในกาลต่อไปในเพราะความผิดนั้น เช่นว่า ความเสื่อมเสียจะพึงมีแก่เธอดังนี้ ชื่อว่า อนุสาสก์ คือ การพร่ำสอน อีกอย่างหนึ่ง การว่ากล่าวต่อหน้าชื่อว่า โอวาท การส่งคนไปหรือส่งหนังสือไปสั่งสอนในที่ลับหลังชื่อว่า อนุสาสก์ อีกอย่างหนึ่งการว่ากล่าวครั้งเดียวชื่อว่า โอวาท การว่ากล่าวบ่อยๆ ชื่อว่า อนุสาสก์ ก็บุคคลผู้จะโอวาทหรืออนุสาสก์นี้นั้น โดยปกติหาได้ยากอยู่ ทั้งนี้ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ ผู้จะโอวาทหรืออนุสาสก์คนอื่นได้นั้น จักต้องเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดมีความรู้หลักเป็นนักปราชญ์พอสมควร และต้องประพฤติตนดีเป็นตัวอย่างของผู้อื่นได้ เป็นที่เคารพเชื่อถือของคนทั้งหลาย บุคคลประเภทนี้หาได้ยากในสังคม ประการที่ ๒ ผู้จะโอวาทหรืออนุสาสก์คนอื่นนั้น จักต้องเป็นผู้ยอมเสียสละหรือกล้าได้กล้าเสียตามที่ถูก เพราะการว่ากล่าวสั่งสอนคนอื่นนั้น จะต้องประสบอุปสรรคมีประการต่างๆ โดยเฉพาะคือการต่อต้านไม่ยอมรับผิดรับถูกโดยดี และเป็นที่ก่อกวนรําคาญแก่คนส่วนมาก บางที ถ้าผู้ว่ากล่าวสั่งสอนนั้นไม่ฉลาดไม่สามารถในเชิงสั่งสอน หรือไม่ฉลาดในวาทศิลป์ กลายเป็นการสร้างศัตรู เป็นที่เกลียดชังของคนทั้งหลาย เมื่อเป็นดังนี้ แม้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์โดยมากจึงไม่ชอบที่จะว่ากล่าวและพร่ำสอนศิษย์อย่างจริงจัง มักจะหลับหูหลับตาปล่อยปละละไปตามอารมณ์ของศิษย์ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์บางจําพวกเมื่อเห็นศิษย์ประพฤติบกพร่องหรือกระทําสิ่งที่ไม่ดีไม่งามแล้วก็คิดไปเสียว่า ถ้าไปว่ากล่าวพร่ำสอนเขา เขาก็จะโกรธ เขาจักไม่เคารพนับถือ เขาจักไม่ปฏิบัติวัตรฐาก แล้วก็จักเป็นการเสื่อมลาภหรือเสื่อมบริวาร จึงไม่สามารถที่จะคอยว่ากล่าวหรือเอาใจใส่พร่ำสอน ทั้ง ๆ ที่ตนเป็นผู้มีความรู้ความฉลาดพอที่จะว่ากล่าวสั่งสอนได้ เรียกว่าตกไปอยู่ในอํานาจแห่งภยาคติ คือเพราะเกรงกลัว ลักษณะของผู้เป็นครูอุปัชฌาย์อาจารย์ที่เป็นดังนี้มีอยู่เป็นอันมากทุกกาลทุกสมัย แม้ในครั้งสมัยสมเด็จพระบรมศาสดายังทรงพระชนมายุอยู่ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายใน เรื่องนี้ว่า

 

จงโอวาทจงอนุสาสก์ ดังนี้ ซึ่งหมายความว่า ผู้ใหญ่ซึ่งอยู่ในฐานะครูอุปัชฌาย์อาจารย์ หรืออยู่ในฐานะมารดาบิดานั้น อย่านิ่งนอนใจหรืออย่าปล่อยปละละโอกาส ในเมื่อได้เห็นความบกพร่องเสื่อมเสียของศิษย์หรือของบุตรธิดา จึงทําหน้าที่เป็นผู้ว่ากล่าว เป็นผู้คอยพร่ำสอน และคอยกีดกันหักห้ามจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็การโอวาทหรือการอนุสาสก์นั้นต้องชี้ให้เห็นโทษของอกุศลธรรม และให้เห็นอานิสงส์ของกุศลธรรมด้วยโอวาทหรืออนุสาสก์นั้น จึงจักได้ผลสมความประสงค์ ไม่ใช่แต่เพียงว่าเอา ๆ หรือดุด่าโดยถือว่าตนเป็นผู้ใหญ่กว่า หรือมีอํานาจเหนือกว่า โอวาทหรืออนุสาสก์ที่ไม่ได้ผลตรงกันข้ามกลับเป็นโทษก่อให้เกิดศัตรูนั้น ก็เพราะปราศจากเหตุผลและปราศจากธรรม คือเอาแต่อํานาจหรืออารมณ์ของตนเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น โอวาทหรืออนุสาสก์นั้น จึงจักต้องประกอบด้วยธรรม สมดังที่สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสสอนภิกษุทั้งหลายในบาทที่สองว่า และจงห้ามจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ดังนี้

 

อกุศลธรรมนั้น เป็นตัวการเป็นสมุฏฐานให้คนทําผิดหรือประพฤติสิ่งที่ไม่สมควร แต่โดยมากผู้กระทําผิดนั้นมองไม่เห็นหรือที่เรียกว่าไม่รู้สึกตัว ก็อกุศลธรรมเมื่อว่าโดยต้นเค้าได้แก่อกุศลจิต ๑๒ ดวง พร้อมทั้งสัมปยุตธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน ในอกุศลจิต ๑๒ ดวงนั้น มีโลภะเป็นสมุฏฐาน ๘ ดวง มีโทสะเป็นสมุฏฐาน ๒ ดวง มีโมหะเป็นสมุฏฐาน ๒ ดวง โดยนัยนี้จะเห็นว่า อกุศลธรรมโดยย่อได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ๓ ประการเท่านั้น คนที่ประพฤติตนนอกลู่นอกรอย หรือนอกธรรมนอกวินัย อันเป็นเหตุนําความเสียหายมาสู่สังคม หรือก่อกวนสังคมให้เดือดร้อนนั้น ก็เพราะลุอํานาจแก่ โลภะ โทสะ โมหะ นั้นเอง ดังนั้น ถ้าผู้โอวาทผู้อนุสาสก์สามารถว่ากล่าวสั่งสอนโดยแนะนําให้รู้จักหักห้ามใจจากอกุศลธรรม คือ โลภะ โทสะ โมหะ โอวาทและอนุสาสก์นั้น ก็จะมีคุณค่าหรือสําเร็จผลสมความมุ่งหมาย ยกเว้นจําพวกมีสันดานชั่วมาแต่กําเนิดเท่านั้น ก็การที่จะหักห้ามใจจากอกุศลธรรมได้นั้น ก็จักต้องแนะนําให้วางจิตใจไว้ในกุศลธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่ออกุศลธรรมนั้น กุศลธรรมโดยย่อก็ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือเรียกอย่างไทย ๆ ว่า ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง ทั้งนี้โดยชี้ให้เห็นโทษของอกุศลธรรม และอานิสงส์ของกุศลธรรมเป็นเบื้องต้น ครั้นแล้ว ก็โน้มน้าวใจให้ไหลเอียงไปหาทางที่จะไม่ก่อกวนให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง เช่นแนะนําพร่ำสอนให้เห็นคุณของความสันโดษ พอใจตามฐานะและวิสัยของตน อันเป็นส่วนแห่งความไม่โลภ แนะนําพร่ำสอนให้เห็นคุณของความเมตตา ความกรุณา และความปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งโลก ไม่เลือกชาติ ศาสนา และชั้นวรรณะแต่ประการใด อันเป็นส่วนแห่งความไม่โกรธ แนะนําพร่ำสอนให้เห็นคุณของความรู้เท่าทันต่อสิ่งที่เป็นมารยา เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือการละเล่นทั้งปวงในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งมารยา ไม่มีสาระอยู่ข้างใน ถ้าผู้รู้ไม่เท่า เอาไว้ ไม่ทัน สิ่งที่เป็นมารยานั้นๆ ก็จะหลอกลวงให้ประสบทุกข์อย่างแสนสาหัส นี้เป็นส่วนแห่งความไม่หลง เมื่อจิตใจกลับมาตั้งอยู่ในฝ่ายกุศลธรรมเช่นนี้แล้ว ก็จะมองเห็นโทษของความประพฤติไม่ดี เห็นคุณของความประพฤติดี เมื่อนั้นจึงจักสามารถกลับใจจากผิดมาสู่ถูก จากชั่วมาสู่ดีได้ สมดังความมุ่งหมาย ฉะนี้

 

เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดา จะทรงแสดงถึงผลได้ผลเสียสอนภิกษุทั้งหลาย จึงตรัสพระคาถาบทสุดท้ายว่า เพราะผู้โอวาทผู้อนุสาสก์นั้น ย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย จะไม่เป็นที่รักก็แต่พวกอสัตบุรุษเท่านั้น ดังนี้ ซึ่งหมายความว่า สมเด็จพระบรมศาสดาทรงสอนให้ถือคนดีที่เรียกสัตบุรุษมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเป็นมาตรฐาน การทําดีทําถูกนั้นคนดีย่อมรักใคร่สรรเสริญ ส่วนคนที่ไม่ดีที่เรียกว่าอสัตบุรุษ ได้แก่คนไม่ถือศีลถือธรรม หลงติดอยู่ในโลก มุ่งเห็นแต่แก่ได้อามิษ เช่นพวกภิกษุอัสสชิ และปุนัพพสุกะนั้น ไม่ให้ถือเป็นมาตรฐาน คนประเภทที่ไม่รู้จักศีลธรรม มุ่งแต่แก่ได้อามิษเป็นส่วนตน เพราะความโลภ โกรธ หลง นั้น ย่อมใช้หอกคือปากทิ่มแทงเป็นอาวุธเป็นธรรมดา ไม่ควรจะนํามาเป็นเครื่องกีดกั้นกันไม่ให้ทําความดี คือการโอวาท การอนุสาสก์ แนะนําพร่ำสอนศิษย์ทั้งหลายด้วยประการ ฉะนี้.

 

แสดงพระธรรมเทศนาในเรื่องพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ นับว่าพอเป็นเครื่องโสดสรงองคศรัทธา และสมควรแก่กาลเวลา ขอยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

 

( ๕ มิ.ย. ๒๕๐๕ เวลา ๒๐.๕๐ น. )