เรื่อง พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา:พระฉันนเถระ

พระธรรมบทเทศนา

พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา

(๓) เรื่องพระฉันนเถระ [๖๒]

----------------------------------------

มโน ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

น ภเช ปาปเก มิตฺเต น ภเช ปุริสาธเม

ภเชถ มิตฺเต กลฺยาเณ ภเชถ ปุริสุตฺตเมติ

 

บัดนี้ จะวิสัชนาพระธรรมเทศนาเรื่องพระฉันนเถระอันมีมาในคัมภีร์อรรถกถาพระธรรมบท ขุททกนิกาย ปัณฑิตวรรค แห่งสุดตันปิฎก นับเป็นลําดับเรื่องที่ ๖๒ เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลส่วนธรรมเทศนามัย และขอเชิญท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย จงตั้งใจสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาโดยโยนิโสมนสิการเป็นอันดี เพื่อให้สําเร็จเป็นมหากุศลบุณยนฤษี ส่วนธรรมสวนมัยสืบไป ณ บัดนี้ ดําเนินความว่า

 

สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต - สมัยหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จประทับพระอิริยาบถอยู่ ณ วัดพระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา โดยทรงปรารภพระฉันนเถระให้เป็นอุปบัติเหตุ ซึ่งมีเรื่องเล่าโดยย่อดังต่อไปนี้ -

 

โส กรายสฺมา - ดังได้ยินมาว่า ท่านผู้มีอายุฉันนะภิกษุนั้น ครั้งบวชในพระพุทธศาสนา แล้วมิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้ใกล้ชิดกับสมเด็จพระบรมศาสดาเหมือนอย่างเมื่อเป็นคฤหัสถ์ เป็นเหตุให้เกิดความโทมนัสน้อยเนื้อต่ำใจ จึงบริภาษด่าว่าท่านพระอัครสาวกทั้งสองโดยลําเลิกความเก่าขึ้นมาว่า เราเป็นผู้ตามเสด็จพระลูกเจ้าของเราทั้งหลายออกมหาภิเนกษกรมณ์แต่ผู้เดียว ( คือตามเด็จออกบวช ) ในเวลานั้น ไม่เห็นมีใครอื่นแม้สักคนเดียว แต่เดี๋ยวนี้สิ ท่านเหล่านี้เที่ยวกล่าวอวดอ้างว่า ฉันชื่อสารีบุตร ฉันชื่อโมคคัลลานะ เราเป็นพระอัครสาวก ฝ่ายสมเด็จพระบรมศาสดาครั้นได้ทรงทราบพฤติการณ์ของพระฉันนเถระดังนั้นจากสํานักของภิกษุทั้งหลาย จึงทรงรับสั่งให้หาพระฉันนเถระมาเฝ้า แล้วทรงประทานพระพุทธโอวาทสั่งสอน พระฉันนเถระนั้น สงบเงียบเสียงลงได้ก็ชั่วแต่ขณะที่อยู่ต่อพระพักตร์พระพุทธองค์เท่านั้นครั้นออกไปแล้วก็ยังคงบริภาษว่าพระเถระทั้งหลายเหมือนอย่างเดิมนั้นอีก สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงรับสั่งหาพระฉันนเถระผู้ยังคงบริภาษด่าว่าอยู่อย่างนั้นให้เข้าเฝ้าแล้วประทานพระพุทธโอวาทถึงสามครั้ง ครั้งหลังทรงย้ำให้เห็นความเป็นมิตรที่ดีของพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะว่า ดูก่อนฉันนะ พระอัครสาวกทั้งสองเป็นกัลยาณมิตรของเธอ เป็นคนมีคุณธรรมสูง เธอจงส้องเสพ จงคบหา กับกัลยาณมิตรเช่นนั้น " เมื่อสมเด็จพระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาสืบอนุสนธิโปรดภิกษุทั้งหลายต่อไป จึงได้ตรัสพระพุทธนิพนธคาถาเป็นปัจฉิมพจน์ ว่าดังนี้

 

น ภเช ปาปเก มิตฺเต น ภเช ปุริสาธเม

ภเชถ มิตฺเต กลฺยาเณ ภเชถ ปุริสุตฺตเม.

 

ไม่พึงคบปาปมิตร ไม่พึงคบคนคุณธรรมต่ำ

พึงคบกัลยาณมิตร จึงคบคนมีคุณธรรมสูง

 

ภิกษุทั้งหลายจํานวนมากซึ่งฟังธรรมอยู่ในสมาคมนั้น ส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนาโดยโยนิโสมนสิการเป็นอันดี ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุมรรคผลมีโสดาปัตติผลเป็นต้น โดยสมควร แก่อุปนิสัยของตนๆ

 

ฝ่ายพระฉันนเถระแม้จะได้ฟังพระพุทธโอวาทนั้นแล้วก็ตาม ก็ยังคงด่า ยังคงบริภาษภิกษุทั้งหลายอีกเหมือนแต่ก่อนนั่นแล ภิกษุทั้งหลายได้นําความกราบทูลสมเด็จพระบรมศาสดาให้ทรงทราบอีก สมเด็จพระบรมศาสดามีพระพุทธดํารัสตรัสแนะนําว่า ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรายังทรงชีวิตอยู่พวกเธอจักไม่สามารถที่จะทําให้พระฉันนะสํานึกรู้สึกตัวได้ แต่เมื่อเราปรินิพพานแล้ว พวกเธอจักสามารถทําให้เธอรู้สึกตัวได้ ครั้นจําเนียรกาลต่อมาในเวลาใกล้จะปรินิพพานของสมเด็จพระบรมศาสดา ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลถามเรื่องที่จะควรปฏิบัติกับพระฉันนเถระว่า พวกข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติกับพระฉันนเถระอย่างไรหรือ พระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระบรมศาสดาทรงรับสั่งบังคับเป็นพุทธอาญาไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนภิกษุเถิด ” ครั้นต่อมาเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว พระฉันนเถระนั้นได้ทราบพรหมทัณฑ์ที่พระอานนท์เถระ แจ้งให้ทราบ เกิดเป็นทุกข์เป็นร้อนเสียอกเสียใจถึงกับเป็นลมสลบล้มฟุบลงสามครั้ง เมื่อได้สติจึงขอวิงวอนต่อสงฆ์ว่า ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญ ขอท่านทั้งหลายอย่าทําให้ข้าพเจ้าฉิบหายเสียเลย ตั้งแต่นั้นมาก็มุ่งหน้าบําเพ็ญวัตรปฏิบัติโดยชอบ อยู่มาไม่นานเท่าไร ก็ได้บรรลุพระอรหัตกับทั้งปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยประการฉะนี้แล

 

ลําดับนี้ จะได้วิสัชนาอรรถาธิบายความในท้องนิทานและในพระธรรมเทศนาพุทธนิพพนธคาถา โดยอาศัยอรรถกถานัยและโดยอัตตโนมัดตยาธิบาย เพื่อเฉลิมเพิ่มเติมสติปัญญาฉลองศรัทธาบารมี เพิ่มพูนกุศลบุญราษีส่วนธรรมสวนนัยแก่ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายสืบต่อไป.-

ก็พระฉันนเถระนี้นั้น ย่อมเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่พุทธบริษัททั้งหลายว่า เมื่อครั้งท่านยังเป็นคฤหัสถ์อยู่นั้น ได้เป็นมหาดเล็กตัวโปรดอย่างใกล้ชิดของสมเด็จเจ้าชายสิทธัตถราชกุมารมานาน และเมื่อสมเด็จเจ้าชายสิทธิธัตถราชกุมารหลบหนีออกทรงผนวชด้วยม้ามงคลกัณฐวกะก็ทรงได้ฉันนะมหาดเล็กตัวโปรด เพียงคนเดียวเป็นพระสหายคู่ทุกข์คู่ยากตามเสด็จไปสนองรับใช้ในเวลาสู่ที่ทุรกันดาร ครั้งสมเด็จเจ้าชายสิทธิธัตถราชกุมารทรงผนวชเรียบร้อยแล้ว ฉันนะมหาดเล็กตัวโปรดก็ได้เป็นผู้อาสานําข่าวกลับคืนมากราบทูลพระชนก พระมหษีและพระญาติพระวงศ์ทั้งหลาย ครั้นต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าชายสิทธิธัตถราชกุมารได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ สําเร็จเป็นองค์พระบรมศาสดาอาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว นายฉันนะหมาดเล็กตัวโปรดนั้น ก็ได้ออกบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาตามพระบาทยุคลของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จําเนียงกาลนานมาได้มีนามว่า ฉันนเถระ แต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าอยู่ในฐานะอันใกล้ชิดกับองค์สมเด็จพระบรมศาสดาหรือเป็นพระที่โปรดปราณเหมือนอย่างเมื่อเป็นคฤหัสถ์ เพราะบุญบารมีไม่ถึงฐานะที่จะเป็นเช่นนั้นได้ในเพศบรรพชิพ แม้แต่มรรคผลเบื้องต้นก็ยังมิได้บรรลุ ดังนั้นจึงไม่สมควรที่จะรับสนองการงานของสมเด็จพระบรมศาสดาในตําแหน่งใกล้ชิดได้ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงใช้ท่านพระสารีบุตรเถระเป็นดุจพระพาหาเบื้องขวา ทรงใช้ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นดุจพระพาหาเบื้องซ้าย ท่านพระเถระทั้งสองนั้น จึงเป็นที่รู้จักกันในหมู่พุทธบริษัทสมัยนั้นว่า ท่านพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย ซึ่งถือว่าเป็นตําแหน่งที่มีความสําคัญที่สุดประจําพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือนับว่าเป็นตําแหน่งที่สองรองลงมาจากสมเด็จพระพุทธองค์ และที่เป็นเช่นนั้น ก็ไม่ใช่เพราะมุโขโลกนะ คือการเห็นแก่หน้าบุคคลหรือที่เรียกว่าเลือกที่รักผลักที่ชังก็หามิได้ แต่หากท่านพระอัครสาวกทั้งสองนั้น นอกจากเป็นพระอรหันตขีณาสพแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่ทรงคุณวุฒิพิเศษยิ่งกว่าพระอรหันต์ทั้งหลาย คือท่านพระสารีบุตรเถระนั้น เป็นผู้ล้ำเลิศประเสริฐที่สุดในทางเป็นผู้ทรงปัญญา เว้นเสียแต่สมเด็จพระพุทธองค์แล้วก็ไม่มีพระเถระรูปใดที่มีปัญญาเทียบถึง ส่วนท่านพระมหาโมคคัลลานเถระนั้นเป็นผู้เลิศประเสริฐที่สุดในทางเป็นผู้ทรงฤทธิ์ เว้นเสียแต่สมเด็จพระพุทธองค์แล้ว ก็ไม่มีพระรูปใดที่มีอิทธิฤทธิ์เทียบถึง

 

ฝ่ายพระฉันนเถระนั้นในฐานะที่ตนเคยได้เป็นมหาดเล็กตัวโปรดมาแต่เมื่อเป็นคฤหัสถ์ ทิฏฐิมานะในเหตุนั้นยังติดสันดานมาอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งได้เห็นท่านพระอัครสาวกทั้งสองเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะใกล้ชิดติดต่อกับสมเด็จพระบรมศาสดาเสมออย่างหนึ่ง และโดยเหตุที่ตนยังเป็นภิกษุปุถุชนอยู่ด้วย จึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจมากขึ้นทุกทีๆ จนในที่สุดเมื่อทิฏฐิมานะแก่กล้าขึ้นก็อดรนทนอยู่ไม่ได้ จึงบริภาษด่าว่าท่านพระอัครสาวกทั้งสองด้วยประการต่างๆ เป็นต้นว่า เมื่อเวลาที่สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จออกบวช นั้น ไม่เห็นมีใครแม้สักคนเดียวที่ตามเสด็จ ครั้นเมื่อเดี๋ยวนี้พระทั้งสองนั้นเที่ยวพูดอวดอ้างตนว่า ฉันชื่อสารีบุตรฉันชื่อโมคคัลลานะ เราเป็นอัครสาวก เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบดังนั้น ก็ได้รับสั่งให้มาเฝ้าแล้วทรงพระโอวาทสั่งสอนด้วยดี แต่พระฉันนเถระนั้นก็เชื่อฟังนิ่งสงบได้ก็เฉพาะต่อพระพักตร์ของสมเด็จพระพุทธองค์เท่านั้น ครั้นออกพ้นพระเนตรพระกัณฐ์ไปแล้วก็ยังคงบริภาษด่าว่าอยู่อย่างเดิม โดยทํานองนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงพระมหากรุณารับสั่งให้เข้าเฝ้าและทรงพระโอวาทพร่ำสอนด้วยพระองค์เองถึงสามครั้งสามหน แต่กระนั้นพระฉันนเถระ ก็หาถอดถอนทิฏฐิมานะได้ไม่ คือยังคงบริภาษด่าว่าพระเถระทั้งหลายอยู่อย่างเดิม จนในที่สุดสมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงรับสั่งกับพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากไว้ให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนเถระในเมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว และเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว พระฉันนเถระถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์จึงเกิดได้สํานึกรู้สึกตัว แล้วละเลิกการบริภาษมุ่งหน้าบําเพ็ญสมณธรรมด้วยดี ต่อมาไม่นานก็ได้สําเร็จเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา

 

การที่พระฉันนเถระมีทิฏฐิมานะอวดดื้อถือดีนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ เพราะเหตุที่ตนเคยเป็นมหาดเล็กคนโปรดมาอย่างใกล้ชิดเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์ ประการที่ ๒ เพราะเหตุที่พระฉันนเถระได้ยึดถือเอาสมเด็จพระบรมศาสดาเป็นสรณะด้วยทิฏฐิมานะ ในฐานะที่พระองค์เคยเป็นเจ้านายมาก่อน รวมความว่า เพราะพระฉันนเถระมีฐานที่ตั้งแห่งทิฏฐิมานะอย่างใหญ่ ๆ ถึง ๒ ประการ ดังนั้นทิฏฐิมานะจึงเจริญแก่กล้าหรือมีฐานที่ตั้งมั่นคงแข็งแรง จึงไม่มีใครสามารถปลดเปลื้องหรือทําลายทิฏฐิมานะของท่านออกได้ ต้องรอจนฐานผุพังเสียก่อน คือสมเด็จพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว สงฆ์จึงสามารถทําลายทิฏฐิมานะของท่านได้ โดยความจริงในข้อนี้จึงมีเชื้อสายสืบมาจนกระทั่งสมัยปัจจุบัน วันนี้ คือถ้าผู้ใดเป็นลูกสมภารเป็นหลานเจ้าวัดแล้ว ก็มักจะมีทิฏฐิมานะกล้าเป็นเหตุให้ว่านอนสอนยาก จนมีคํากล่าวกันเป็นสถาบันอย่างหนึ่งว่า ถ้าผู้ใดอวดดื้อถือดีว่ายากสอนยากแล้ว ก็มักจะพูดว่า เพราะเป็นลูกสมภารหลานเจ้าวัดดังนี้ ข้อนี้จึงควรถือเป็นกฎแห่งความจริงได้อย่างหนึ่ง สําหรับผู้ที่มีทิฏฐิมานะมากมาแต่กําเนิด อธิบายว่า คนที่ว่ายากสอนยากนั้น มี ๒ จําพวก คือจําพวกแรก เพราะได้ทิฏฐิมานะอย่างแรงกล้าติดสันดานมาตั้งแต่กําเนิด หรือที่เรียกว่าเป็นกรรมพันธุ์ จําพวกที่ ๒ ได้ทิฏฐิมานะแต่กําเนิดไม่แรงกล้า แต่ได้ฐานที่รองรับดีในภายหลัง คนว่ายากสอนยากจําพวกแรก ย่อมว่ายากสอนยากไปตลอดกาล เลยไม่มีใครอาจสั่งสอนให้ถอนทิฏฐิมานะได้ในชาติเดียวนั้น ตัวอย่างเช่นพระเทวทัตเถระที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับสมเด็จพระบรมศาสดา คนว่ายากสอนยากจําพวกหลัง ย่อมเป็นอยู่ชั่วระยะกาลที่มีฐานรองรับอยู่ เมื่อฐานนั้นถูกทําลายไปแล้ว ก็มีทางกลับเป็นคนว่านอนสอนง่ายได้ ตัวอย่างเช่นพระฉันนเถระในเรื่องนี้

 

อนึ่ง ฐานอันเป็นที่ตั้งของทิฏฐิมานะเช่นตําแหน่งแห่งที่ หรือผู้หลักผู้ใหญ่อุปถัมภ์ค้ำชูเป็นต้นนั้น ความจริงมิได้สําเร็จเป็นฐานของทิฏฐิมานะแก่คนทุกคน จะเป็นได้ก็เฉพาะจําพวกที่มีทิฏฐิมานะเป็นทุนมาแต่กําเนิดเท่านั้น ส่วนบุคคลที่ไม่มีทิฏฐิมานะมาแต่กําเนิด หรือมีก็ชนิดบางเบา แม้ถึงจะได้ฐานรองรับ ดังกล่าวแล้วก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิมานะจนถึงขนาดสอนมิได้หรือเอาไว้ไม่ฟัง ซึ่งมีตัวอย่างอยู่ทั่วไป บุคคลที่อยู่ในฐานะเป็นลูกสมภารหลานเจ้าวัด หรือมีผู้หลักผู้ใหญ่อุ้มชูอย่างยิ่งใหญ่ แต่ก็มิได้เป็นบุคคลที่ว่ายากสอนยาก เช่นดังพระฉันนเถระนั้น

 

กิเลส คือ ทิฏฐิและมานะอันเป็นตัวการปรุงแต่งจิตใจคนให้เป็นผู้ว่ายากสอนยากนี้นั้น เป็นชาติเจตสิกธรรมและเป็นสังขารขันธ์ในขันธ์ ๕ และอยู่ในเครือของโลภเจตสิก โลภะนั้นเป็นมูลฐานให้เกิดอกุศล จิตได้ ๘ ดวง ซึ่งเรียกว่าโลภมูลจิต ดังนั้น ทิฏฐิหรือมานะ จึงเกิดร่วมกับจิตที่เป็นโลภมูลนี้ ไม่เกิดร่วมจิตที่เป็นโทสมูล และโลภมูลจิต ๘ ดวงนั้น ทิฏฐิเกิดร่วมกับจิตที่เป็นทิฏฐิสัมปยุต ๔ ดวง มานะเกิดร่วมกับจิตที่เป็นทิฆฐิวิปปยุต ๔ ดวง หาเกิดร่วมกับจิตอื่นนอกจากนี้ไม่ ดังนั้นเมื่อจิตดวงที่จะให้ปฏิสนธิคือให้มาเกิดนั้น เป็นจิตที่มีทิฏฐิหรือมีมานะประสมอยู่ด้วย คนนั้นก็ได้ชื่อว่า มีทิฆฐิมานะมาแต่กําเนิด แต่ถ้าจิตดวงที่ให้ปฏิสนธินั้นไม่มีทิฏฐิมานะประสมอยู่ด้วย คนนั้นก็ได้ชื่อว่าไม่มีทิฏฐิมานะมาแต่เกิดเช่นนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นจึงปรากฏเป็นประจักษ์ให้เห็นในบุคคลแต่ละบุคคลอยู่ทั่วไปว่า ลางบุคคลว่านอนสอนง่ายไม่มีทิฏฐิมานะ ลางบุคคลก็ว่ายากสอนยากมีทิฆฐิมานะกล้าแข็ง ลางบุคคลก็พอจะสอนได้ ลางบุคคลก็สอนไม่ได้จนตลอดชีวิต ผลเหล่านี้ย่อมเกิดมาแต่เหตุสันฐานคือจิตใจอันมีนัยดังวิสัชนามาโดยสังเขปนี้

 

สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงอาศัยปฏิปทาของพระฉันนเถระเป็นเหตุ จึงได้ทรงเสดงพระธรรมเทศนา โปรดภิกษุทั้งหลายซึ่งรวมทั้งพระฉันนเถระด้วย โดยพระพุทธนิพนธคาถาสุภาษิตซึ่งมีข้อความสั้นๆ ดังนี้

 

ไม่พึงคบปาปมิตร ไม่พึงคบคนมีคุณธรรมต่ำ พึงคบกัลยาณมิตร พึงคบคนมีคุณธรรมสูง.

 

อธิบายว่า คําว่า ปาปมิตร แปลว่า มิตรบาปหรือมิตรชั่วได้แก่คนที่หลงใหลพอใจในการกระทํา อกุศลบาปกรรม ๑๐ อย่างเป็นนิสัยสันดาน อกุศลกรรม ๑๐ อย่างนั้น คือ ฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติ ผิดประเวณี ๑ สามข้อนี้เรียกว่ากายกรรม พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคําหยาบ ๑ พูดไร้ประโยชน์ ๑ สี่ข้อ นี้เรียกว่า วจีกรรม คิดโลภอยากได้ ๑ พยายามป้องร้าย ๑ เห็นผิด ๑ สามข้อนี้เรียกว่า มโนกรรม, คําว่า คนมีคุณธรรมต่ำ ได้แก่บุคคลที่มีใจเป็นอกุศล แล้วชักจูงนําพาให้กระทําในสิ่งที่ไม่สมควรต่างๆ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็ชักจูงนําพาในทางตัดช่องย่องเบาหรือปล้นสะดมเป็นต้น ถ้าเป็นบรรพชิด ก็ชักจูงนําพาให้ประพฤติอนาจาร หรืออเนสนากรรมต่างๆ เช่นแสวงหาลาภด้วยลาภอย่างคฤหัสถ์ ประจบตระกูลเพื่อให้คนเคารพนับถือในทางไม่เป็นธรรมไม่เป็นวินัยเป็นต้น. สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสสอนไม่ให้คบหาสมาคมกับบุคคลที่เป็นบาปมิตรและบุคคลที่มีคุณธรรมต่ำ เช่นที่กล่าวมาแล้ว เพราะการคบหาสมาคมเช่นนั้นจะไม่มีความดีเลย จะมีแต่ความเสื่อมเสียโดยส่วนเดียว เมื่อพระองค์ทรงห้ามมิให้คบหาสมาคมกับบุคคลเช่นนั้นแล้ว จึงทรงสอนให้คบหาสมาคมกับบุคคลที่ควรคบหาสมาคมต่อไปว่า พึงคบกัลยาณมิตร พึงคบคนมีคุณธรรมสูง

 

คําว่า กัลยาณมิตร แปลว่ามิตรดี ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับบาปมิตร คือ พอใจกระทําแต่กุศล กัลยาณกรรม ๑๐ ประการ มีไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์เป็นต้น อนึ่งบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตรชั้นผู้ใหญ่ที่ควรจะเข้าไปมอบกายถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านนั้น ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยองค์คุณ ๑๐ ประการ ที่ท่านพระโบราณาจารย์แสดงเป็นคาถาภาษาบาลีไว้ดังนี้

 

บีโย ครุ ภาวนีโย อตฺตา จ วจนกตฺขโม

คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา โน จฏฺฐาเน นิโยชโก

 

๑.เป็นที่รัก ๒. เป็นที่เคารพ ๓. เป็นที่สรรเสริญ ๔. เป็นผู้กล้าว่ากล่าว ๕. เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคําได้ ๖. เป็นผู้สามารถสอนถึงอรรถรส ๗. เป็นผู้ไม่ชักจูงในทางที่ไม่สมควร บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์คุณ ๗ ประการนี้ เรียกว่า เป็นกัลยาณมิตร ส่วนเป็นคนผู้มีคุณธรรมสูงนั้น หมายเอาสัตบุรุษมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ต่ำลงมาจนถึงพระอริยเจ้าทั้ง ๔ จําพวก มีพระโสดาบันอริยบุคคลเป็นที่สุด บุคคลที่นับว่าเป็นกัลยาณมิตร และเป็นผู้มีคุณธรรมสูงดังพรรณนามาโดยย่อนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงสั่งสอนให้เข้าคบหาสมาคม โดยเฉพาะในที่นี้ สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสสอนพระฉันนเถระว่า สารีบุตรและโมคคัลลานะนั้นเป็นกัลยาณมิตรของเธอ เธอจงส้องเสพ จงคบหากับกัลยาณมิตรเช่นนั้น โดยปกตินั้นบุคคลผู้มีคุณธรรมสูง ย่อมไม่กระทําความชั่ว ดังนั้น จึงได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรด้วย บุคคลที่มีคุณธรรมในใจ และตั้งตนไว้ในความเป็นกัลยาณมิตรดังพรรณนามานี้ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสสอนให้นําตนเข้าไปส้องเสพคบหา เพราะต้องเสพคบหากับบุคคลเช่นนั้น ย่อมจะมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อม ด้วยประการฉะนี้

 

แสดงพระธรรมเทศนาในเรื่องพระฉันนเถระ ก็นับว่าพอเป็นเครื่องโสดสรงองค์ศรัทธา และสมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงนี้ เอวํ ก็มี ด้วยประการฉะนี้

 

( ๖ มิ.ย. ๒๕๐๕ เวลา ๑๘.๓๒ น. )