เรื่อง พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา:พระมหากัปปินะเถระ กัณฑ์ที่ ๒

 

พระธรรมบทเทศนา

พระธรรมเทศนาธัมมปฑัฏฐกถา

(๔) เรื่องพระมหากัปปินะเถระ [๖๓]

กัณฑ์ที่ ๒

-----------------------------

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ธมฺมปีติ สุขํ เสติ วิปฺปสนฺเนน เจตสา

อริยปุปเวทิเต ธมฺเม สทา รมติ ปณฺฑิโตติ

 

อนุสนธิ พระธรรมเทศนา ณ บัดนี้จะวิสัชนาพระธรรมเทศนา เรื่องพระมหากัปปินะเถระ สืบต่อจากกัณฑ์ที่ ๑ เป็นลําดับไปดําเนินความว่า

 

เตปิ วาณิชกา ราชกุลํ คนฺตฺวา - ฝ่ายว่าพวกพ่อค้าทั้งหลาย ๕๐๐ เหล่านั้น ครั้นเดินทางไปถึงพระนครแล้ว ก็พากันไปยังพระราชวัง แจ้งพระราชหัตถเลขาที่พระราชาทรงฝากมานั้นให้เจ้าหน้าที่พระราชสํานักทราบ ครั้นพระราชเทวีทรงตรัสอนุญาตให้เข้าเฝ้าแล้ว ก็พากันเข้าไปถวายบังคม แล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ขณะนั้นพระราชเทวีมีพระราชเสาวนีย์ตรัสถามพ่อค้าเหล่านั้นว่า พ่อมหาจําเริญทั้งหลาย พวกท่านทั้งหลายพากันมา ณ ที่นี้ด้วยมีความประสงค์อะไร พวกพ่อค้ากราบทูลว่า หม่อมฉันทั้งหลาย พระราชามีพระราชบัญชาสั่งให้มาเฝ้าพระแม่เจ้า ทราบว่าพระแม่เจ้าจะพระราชทานทรัพย์จํานวนสามแสนแก่พวกหม่อมฉัน พระเจ้าข้า พระราชเทวีมีพระราชเสาวนีย์ว่า พ่อมหาจําเริญท่าน ทั้งหลายพูดมากไป พวกท่านได้ทําอะไรให้แก่พระราชาหรือ พระราชาทรงเลื่อมใสพวกท่านในเพราะเหตุอะไร จึงทรงให้ฉันพระราชทานทรัพย์แก่พวกท่านจํานวนถึงเท่านั้น พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พวกหม่อมฉันไม่ได้กระทําอะไรอย่างอื่น แต่ได้กราบทูลข่าวสาส์นแด่พระราชา พระเจ้าข้า พระราชเทวีดํารัสถามว่า พ่อมหาจําเริญทั้งหลาย ก็พวกท่านสามารถที่จะบอกข่าวสาส์นนั้นให้ฉันทราบได้หรือไม่เล่า พวกพ่อค้ากราบทูลว่า สามารถที่จะกราบทูลให้ทรงทราบได้ พระเจ้าข้า พระราชเทวีทรงอนุญาตว่า ถ้าดังนั้น พวกท่านบอกได้ พ่อมหาจําเริญ พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก พระราชเทวีนั้น พอได้ทรงสดับข่าวนั้น ก็ทรงมีพระปีติซาบซ่านไปทั่วพระสรีรกาย เหมือนกับพระราชา ทรงกําหนดความอะไรไม่ได้ถึงสามครั้ง ครั้นถึงครั้งที่สี่พอได้ทรงสดับบทว่า พุทโธ แล้วดํารัสถามว่า “ พ่อมหาจําเริญ ในบท พุทโธ นี้ พระราชาพระราชทานทรัพย์ให้แก่พวกท่านเท่าไร “ พวกพ่อค้าทูลว่า พระราชทานให้แสนหนึ่ง พระเจ้าข้า พระราชเทวีมีพระราชเสาวนีย์ว่า พ่อมหาจําเริญทั้งหลาย พระราชาได้ทรงสดับข่าวสาส์นเห็นปานนี้ แล้วพระราชทานทรัพย์ให้เป็นรางวัลแก่พวกท่านเพียงแสนเดียวนั้น ชื่อว่าทรงทํายังไม่สมควรกัน แต่ฉันขอให้รางวัลแก่พวกท่านในบรรณาการอันยากเข็ญของฉันจํานวนสามแสน พวกท่านได้กราบทูลข่าวอย่างอื่นอะไรแก่พระราชาอีกเล่า พ่อมหาจําเริญ พวกพ่อค้าได้กราบทูลอีกสองข่าว คือ ข่าวพระธรรมเกิดขึ้นแล้วในโลก และพระสงฆ์เกิดขึ้นแล้วในโลกเหมือนอย่างกล่าวมาในตอนที่กราบทูลแด่พระราชา พระราชเทวีพอได้ทรงสดับข่าวนั้นๆ แล้ว ทรงมีพระปีติมีวรรณะ ๕ ซาบซ่าน ปทั่วพระสรีรกายเหมือนครั้งก่อน ทรงกําหนดด้วยคําอะไรไม่ได้ถึงสามครั้ง ครั้นถึงครั้งที่สี่ได้ทรงสดับเช่นนั้นๆ อีกแล้ว จึงพระราชทานรางวัลให้แก่พวกพ่อค้าข่าวละสามแสนๆ พวกพ่อค้าเหล่านั้นได้รับพระราชทานรางวัลหมดด้วยกันทั้งสิ้นเป็นทรัพย์จํานวน ๑๒ แสน ด้วยประการฉะนี้

 

อถ เน เทวี ปุจฺฉิ - ลําดับนั้น พระราชเทวีมีพระราชเสาวนีย์ตรัสถามพ่อค้าเหล่านั้นว่า พ่อมหาจําเริญทั้งหลาย พระราชาเสด็จไปไหน พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระราชาตรัสว่าเราจักผนวชอุทิศเฉพาะต่อสมเด็จพระบรมศาสดา แล้วก็เสด็จไปแล้ว พระราชเทวีมีพระดํารัสตรัสถามว่า พ่อมหาจําเริญ พระราชาได้พระราชทานข่าวอะไรมาให้แก่ฉันบ้างหรือ พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ได้ยินว่าพระราชาทรงมอบเวนอิสริยสมบัติถวายแด่พระแม่เจ้าหมดทุกอย่าง ได้ยินว่าขอพระแม่เจ้าจงทรงเสวยพระราชสมบัติตามแต่ที่จะทรงมีพระราชประสงค์ พระราชเทวีตรัสถามต่อไปว่า พ่อมหาจําเริญทั้งหลาย ก็พวกมุขอํามาตย์พากันไปไหนเล่า พวกพ่อค้ากราบทูลว่า แม้พวกมุขอํามาตย์เหล่านั้นพูดว่า เราก็จักบวช โดยเสด็จพระราชานั้นเทียว แล้วพากันตามเสด็จไปแล้ว พระเจ้าข้า พระราชเทวีทรงรับสั่งหาบรรดาภริยาของมุขอํามาตย์ให้มาเฝ้า แล้วมีพระราชเสาวนีย์ปรึกษาว่า แม่มหาจําเริญทั้งหลาย สามีของพวกเธอพูดว่าจักบวชตามเสด็จพระราชาแล้วก็พากันตามเสด็จไปแล้ว พวกเธอจักทําอย่างไรกัน พวกภริยามุขอํามาตย์กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สามีของพวกหม่อมฉันนั้นส่งข่าวมาให้แก่พวกหม่อมฉันว่าอย่างไร พระเจ้าข้า พระราชเทวีตรัสบอกว่า ได้ยินว่า สามีของพวกเธอนั้นสละสมบัติของตนๆ ให้แก่พวกเธอทั้งหมด ได้ยินว่า พวกเธอจงบริโภคใช้สอยสมบัตินั้นๆ ตามความประสงค์ของตนๆ พวกภริยามุขอํามาตย์กราบทูลถามพระราชเทวีว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็พระแม่เจ้าจักทรงปฏิบัติอย่างไร พระเจ้าข้า พระราชเทวีทรงตอบชี้แจงอย่างคมคายว่า แม่มหาจําเริญทั้งหลาย พระราชานั้นครั้นได้ทรงสดับข่าวอันเป็นมงคล ได้ทรงดํารงพระองค์ไว้ในทางที่ถูกก่อน ทรงบูชาพระรัตนะทั้งสามด้วยทรัพย์สามแสน แล้วทรงละพระราชสมบัติทิ้งเป็นดุจก้อนน้ำลาย เสด็จออกด้วยทรงมั่นหมายพระราชหฤทัยว่าจักทรงผนวช ส่วนฉันได้ทราบข่าวพระรัตนะทั้งสามแล้วบูชาพระรัตนะทั้งสามด้วยทรัพย์เก้าแสน ก็ขึ้นชื่อว่าราชสมบัตินี้ ไม่ใช่แต่จะนําทุกข์มาให้แด่พระราชาเท่านั้น ย่อมนําทุกข์มาให้แม้แก่ฉันด้วยเหมือนกัน ใครเล่าจักคุกเข่าทั้งสองลงเอาปากรองรับก้อนน้ำลายที่พระราชาทรงบ้วนทิ้ง ฉันไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ แม้ฉันก็จักไปบวชอุทิศเฉพาะต่อพระบรมศาสดา พวกภริยามุขอํามาตย์กราบทูลคล้อยตามว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า แม้พวกหม่อมฉันทั้งหลายก็จักขอบวชกับพระแม่เจ้านั้นเที่ยว พระราชเทวีมีพระราชดํารัสว่า ถ้าพวกเธอสามารถที่จะบวช ข้อนั้นเป็นความดี แม่มหาจําเริญทั้งหลาย พวกภริยามุขอํามาตย์กราบทูลยืนยันว่า พวกหม่อมฉันสามารถที่จะบวชพระเจ้าข้า พระราชเทวีมีพระราชเสวนีย์ว่า ดีแล้วแม่มหาจําเริญทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นพวกเธอจงมาไปด้วยกัน ทรงให้เทียมรถขึ้นพันคันแล้วเสด็จขึ้นสู่รถเสด็จออกไปพร้อมด้วยหมู่ภริยามุขอํามาตย์เหล่านั้น ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำแม่แรกในระหว่างทาง ตรัสถามสตรีราชบริพารเหมือนกับพระราชาได้ตรัสถามหมู่มุขอํามาตย์ ครั้นทรงทราบประวัติการทั้งปวงแล้วทรงรับสั่งว่า พวกเธอจงตรวจดูรอยทางที่พระราชาเสด็จไปแล้ว เมื่อหมู่สตรีราชบริพารกราบทูลว่า ไม่เห็นรอยเท้าม้าสินธพเลยพระเจ้าข้า พระราชเทวีทรงระลึกถึงคุณแห่งพระรัตนะทั้งสามพร้อมกับทรงอธิษฐานว่า พระราชาทรงจักกระทําสัตยาธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะออกมาอุทิศเฉพาะต่อพระรัตนะทั้งสามดังนี้ เสด็จไปได้แล้ว แม้ข้าพเจ้าก็ออกมาอุทิศเฉพาะต่อพระรัตนะทั้งสาม ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนะทั้งสามของข้าพเจ้า ขอน้ำนี้จงอย่าได้เป็นเหมือนน้ำ ครั้นแล้วทรงส่งรถไปทั้งพันคัน น้ำได้ปรากฏเช่นกับหลังแผ่นหิน รถทั้งพันคันได้เปียกเฉพาะแต่วงคุมปลายล้อเท่านั้น พระราชเทวีพร้อมด้วยสตรีราชบริพารได้ทรงข้ามแม่น้ำอีกสองแม่ไปได้โดยสวัสดีด้วยทํานองนี้นั่นแล.

 

อถ สตฺถา - ในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา ครั้นทรงทราบว่าพระราชเทวีเสด็จมา ได้ทรงบันดาลมิให้ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งนั่งอยู่ที่สํานักของพระองค์นั่นเองมิให้ปรากฏเห็นตัว ฝ่ายพระราชเทวี เมื่อเสด็จมาๆ โดยลําดับ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระรัศมีอันพุ่งออกจากพระสรีรกายของสมเด็จพระบรมศาสดา แล้วทรงพระราชดําริเหมือนกับพระเจ้ามหากัปปินะะราชา ทรงน้อมพระองค์ลงเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้วประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลถามว่า ข้าแด่สมเด็จพระพุทธองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระเจ้ามหากัปปินะะเสด็จออกมาอุทิศเฉพาะต่อสมเด็จพระพุทธองค์ คงจะเสด็จมา ณ ที่นี้เดี๋ยวนี้พระองค์เสด็จไปไหน ขอสมเด็จพระพุทธองค์ทรงพระกรุณาชี้บอกพระเจ้ากัปปินะแก่หม่อมฉันด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสปฏิสันถารว่า เชิญประทับนั่งก่อนเถิด พระนางจักทรงเห็นพระเจ้ากัปปินะนั้น ณ ที่ตรงนี้นั่นแล หมู่สตรี ซึ่งมีพระราชเทวีเป็นประมุข เหล่านั้นต่างก็พากันมีจิตร่าเริงยินดีพร้อมกันนั่งลงด้วยหมายใจว่า ครั้นนั่งแล้วก็จักได้เห็นสามีของตนๆ ณ ที่ตรงนี้นั่นเทียว สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอนุบุพพิกถาโปรดสตรีเหล่านั้น ในเวลาจบพระธรรมเทศนา พระนางอโนชาราชเทวีพร้อมทั้งสตรีราชบริพารก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล ฝ่ายพระมหากัปปินะเถระพร้อมทั้งภิกษุบริวาร ฟังพระธรรมเทศนาที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงอธิบายขยายความแก่หมู่สตรีเหล่านั้น ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ ในทันใดนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา ก็ทรงแสดงภิกษุเหล่านั้นผู้บรรลุพระอรหันต์แล้วให้สตรีเหล่านั้นได้เห็น ได้ยินว่าถ้าสตรีเหล่านั้นได้เห็นสามีของตนผู้ทรงผ้ากาสาวพัสตร์มีศีรษะโล้นในขณะที่มาถึงครั้งแรก จิตก็จะไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ด้วยเหตุนั้นจักไม่อาจได้บรรลุมรรคผลทั้งหลาย เพราะฉะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงแสดงภิกษุเหล่านั้นผู้บรรลุพระอรหันต์แล้วให้สตรีเหล่านั้นเห็นในเวลาที่ดํารงมั่นอยู่ในศรัทธาอันไม่หวั่นไหวแล้ว คือสําเร็จเป็นพระโสดาบันอริยบุคคลแล้ว ด้วยประการฉะนี้

 

ตาปิ เต ทิสฺวา - ฝ่ายสตรีผู้ภริยาเหล่านั้น ครั้นเห็นภิกษุผู้สามีเหล่านั้นแล้ว ก็พากันกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วเรียนว่า " ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลาย ท่านทั้งหลายได้บรรลุถึงซึ่งที่สุดแห่งกิจบรรพชิตก่อนแล้ว ครั้นแล้วกราบถวายบังคมพระบรมศาสดายืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่งแล้ว พร้อมกัน ทูลขอบรรพชา ส่วนสมเด็จพระบรมศาสดาได้มีพระพุทธดํารัสตรัสสั่งกับอุบาสิกาเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย จงพากันไปเมืองสาวัตถีแล้วบวชในสํานักแห่งภิกษุณีต่อไป อุบาสิกาเหล่านั้นพากันเดินทางไปโดยลําดับ ในระยะระหว่างทางมีมหาชนจัดเครื่องสักการะบูชาเป็นระยะๆ ไป ได้เดินทางด้วยเท้าสิ้นระยะทาง ๒,๐๐๐ โยชน์ ก็ถึงเมืองสาวัตถีไปบวชอยู่ในสํานักภิกษุณี ต่อมาก็ได้บรรลุพระอรหันต์ผลสําเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสพสิ้นทั้งมวล ฝ่ายสมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงนําภิกษุจํานวนพันหนึ่งนั้นเสด็จกลับมาสู่พระเชตวัน มหาวิหาร โดยทางอากาศเวหาส์ ด้วยประการฉะนี้

 

ตตฺร สุทํ อายสฺมา มหากปฺปิโน - ได้ยินว่า ท่านพระมหากัปปินะะนั้น มักจะเที่ยวเปล่งอุทานตามที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันเป็นต้นว่า โอ สุขหนอ โอ สุขหนอ ดังนี้เสมอ ภิกษุทั้งหลายจึงนําความกราบทูลแต่สมเด็จพระบรมศาสดาให้ทรงทราบว่า ข้าแต่สมเด็จพระพุทธองค์ พระมหากัปปินะะชอบเที่ยวเปล่งอุทานว่า โอ สุขหนอ โอ สุขหนอ ดังนี้ ชะรอยเห็นจะกล่าวเพ้อถึงความสุขในราชสมบัติของตนดอกกระมัง พระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระบรมศาสดารับสั่งให้พระมหากัปปินะะมาเฝ้าแล้ว ตรัสถามว่า กัปปินะได้ยินมาว่า เธอเปล่งอุทานเพ้อถึงสุขในราชสมบัติอันเป็นกามสุข จริงละหรือ พระมหากัปปินะเถระกราบทูลว่า ข้าแต่สมเด็จพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบดีว่าข้าพระองค์เปล่งอุทานเพ้อถึงสุขในราชสมบัติหรือไม่ประการใด “

 

สมเด็จพระบรมศาสดา จึงได้ทรงประทานพระพุทธโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย บุตรของเรามิได้เปล่งอุทานเพ้อถึงความสุขในราชสมบัติอันเป็นกามสุข แต่ว่าปีติในธรรมได้บังเกิดแก่บุตรของเรา บุตรของเรานั้น เปล่งอุทานอย่างนั้น เพราะปรารภถึงซึ่งอมตมหานิพพาน ครั้นแล้วเมื่อพระองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดภิกษุทั้งหลายสืบอนุสนธิต่อไป จึงได้ตรัสพระพุทธนิพนธคาถาเป็นปัจฉิมพจน์ ดังนี้ -

 

ธมฺมปีติ สุขํ เสติ วิปฺปสนฺเนน เจตสา

อริยปฺปเวทิเต ธมฺเม สทา รมติ ปณฺฑิโต.

 

บุคคลผู้ดื่มธรรมมีจิตผ่องใสเป็นบัณฑิต ย่อมอยู่เป็นสุข

และยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าแสดงแล้วตลอดกาล.

 

ภิกษุทั้งหลายจํานวนมากซึ่งฟังธรรมอยู่ ณ สมาคมนั้นส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนาโดยโยนิโสมนสิการเป็นอันดีในเวลาจบพระธรรมเทศนา ต่างก็ได้สําเร็จเป็นพระอริยบุคคล มีพระโสดาบันเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้แล.

 

ลําดับนี้ จะได้วิสัชนาอรรถาธิบายความในท้องนิทาน และในพระธรรมเทศนาพุทธนิพนธคาถา โดยอาศัยอรรถกถานัยและโดยอัตตโนมัตยาธิบาย เพื่อเฉลิมเพิ่มเติมสติปัญญาฉลองศรัทธาบารมี เพิ่มพูนกุศลบุญราษีส่วนธรรมสวนมัยแก่ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายสืบต่อไป

 

ในนิทานเรื่องนี้ค่อนข้างจะยาวต้องแบ่งเป็นธรรมเทศนา ๒ กัณฑ์ เพื่อให้สมควรแก่เวลา บัดนี้จะอธิบายความในธรรมเทศนาทั้ง ๒ กัณฑ์นั้น ดังต่อไปนี้ คือท่านพระมหากัปปินะเถระพร้อมด้วยภิกษุบริวารพันหนึ่ง กับภิกษุณีที่เคยเป็นภริยาอีกพันหนึ่งนั้นได้ร่วมกันสร้างบุญญาภินิหารมานาน เริ่มมาตั้งแต่ศาสนาของสมเด็จพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เมื่อนับถอยหลังไปจากพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ ก็เป็นพระองค์ที่ ๑๕ ต่อจากพระนารทสัมมาสัมพุทธเจ้าและก่อนพระสุเมธสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกาลครั้งนั้น พระมหากัปปินะเถระพร้อมทั้งบริวารได้เป็นนายช่างหูกอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งไม่ไกลจากเมืองพาราณสี พระมหากัปปินะเถระเป็นหัวหน้านายช่างหูกทั้งหลาย และภริยาของนายช่างหูกนั้น เป็นผู้มีสติปัญญาดี และมีศรัทธาแก่กล้า วันหนึ่งได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าจํานวนพันองค์ จึงได้นิมนต์ให้มาฉันบิณฑบาตในหมู่บ้านของตน แล้วชักชวนบรรดาพวกช่างหูกในหมู่บ้านนั้น ซึ่งมีจํานวนพันหลังคาเรือนเหมือนกันช่วยกันถวายอาหารบิณฑบาต และในที่สุดได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าพันองค์นั้น ให้อยู่จําพรรษาตลอดไตรมาสสามเดือน และได้ร่วมกันเสียสละแรงงานสร้างบรรณศาลาขึ้นถวายถึงจํานวนพันหลัง ภายในพรรษาต่างก็ได้แบ่งกันเป็นโยมอุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นเรือนละ ๑ องค์ ต่างก็ได้พากันปรนนิบัติอุปัฏฐากด้วยควมเคารพเลื่อมใสตลอดไตรมาส และภายในพรรษานั้นพากันสร้างผ้าจีวรถวายองค์ละผืนถึงพันผืน ผืนหนึ่ง ๆ มีมูลค่าถึงจํานวนพัน และด้วยอานิสงส์นั้นส่งให้ตระกูลนายช่างหูกทั้งพันตระกูลนั้น ได้ไปบังเกิดเป็นคณะเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงสพิภพตลอดกาลนาน ด้วยประการฉะนี้

 

ครั้นจําเนียรกาลต่อมาในศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า คณะเทพบุตรเหล่านั้น ก็ได้กลับลงมาบังเกิดเป็นกุฎมพีในเมืองพาราณสีอีก ก็พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ พระองค์หนึ่ง คือรองจากพระโคนาคมนสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้านับสงเคราะห์ในพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์แล้ว ก็เป็นองค์ที่ ๓ ดังนี้ ๑.กกุสันโธ ๒.โคนาคมโน ๓.กัสสโป ๔.โคตโม ๕.อริยเมตเตยโย ก็หัวหน้านายช่างหูกนั้นได้มาเป็นหัวหน้ากุฎมพี ส่วนบริวารและภริยาทั้งหลายก็ได้มาเกิดเป็นกุฎมพีบริวารและเป็นภริยาร่วมกันทั้งหมด วันหนึ่งคณะกุฎมพีพร้อมทั้งภริยาได้พากันไปฟังธรรมที่วัด ขณะที่ไปถึงกลางลานวัดนั้น ฝนก็ตกเทลงมาใหญ่ ผู้ที่มีภิกษุสามเณรอาศัยตระกูล หรือที่เรียกว่าเป็นลูกบุญธรรมก็ได้พากันเข้าไปอาศัยหลบฝนที่กุฏิพระภิกษุสามเณรเหล่านั้น ส่วนพวกที่ไม่มีภิกษุสามเณรเช่นนั้น ก็จําต้องยืนตากฝนเปียกปอนอยู่ที่กลางลานวัดนั้นเอง อาศัยเหตุที่เห็นประจักษ์เฉพาะหน้าครั้งนั้น หัวหน้ากุฎมพี จึงชี้ให้เห็นคุณและโทษว่าที่เราไม่มีที่อาศัยหลบฝนทั่วถึงกันนั้น ก็เพราะไม่ได้ทําบุญสร้างกุฏิวิหารถวายไว้ในพระศาสนา จึงชักชวนกันบริจาคทรัพย์ร่วมทุนสร้างพระวิหารถวายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสปะ เมื่อตกลงกันแล้วก็สร้างพระวิหารขนาดใหญ่มีเรือนยอดเป็นบริวารตั้งพันหลัง ครั้นสร้างเสร็จแล้วก็ทําบุญฉลองกันอย่างใหญ่โตมโหฬาร ถวายทานแก่พระสงฆ์ ๒ หมื่น ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน ในการทําบุญครั้งนั้น ภริยาของหัวหน้ากุฎมพีเป็นผู้มีปัญญาและเจริญด้วยศรัทธาแก่กล้าเป็นพิเศษ ได้จัดแจงตบแต่งดอกอังกาบและผ้าสาฎกสําหรับทําจีวรราคาพันหนึ่งไปเป็นส่วนพิเศษกว่าคนอื่น ๆ ทั้งหลาย ครั้นก่อนแต่พระสงฆ์จะอนุโมทนา นางก็ได้น้อมดอกอังกาบนั้นเข้าไปบูชาสมเด็จพระบรมศาสดา แล้วนําผ้าสาฎกราคาพัน ซึ่งมีสีสันเหมือนดอกอังกาบไปวางไว้แทบพระบาทยุคลของพระพุทธองค์ แล้วตั้งปณิธานความปราถนาไว้ว่าจะเกิดชาติใดในภพไหนก็ขอให้มีผิวพรรณเหมือนสีดอกอังกาบ และให้ได้ชื่อว่าอโนชา (อังกาบ) ตลอดไป ด้วยอานิสงส์บุญครั้งนั้น คณะกุฎมพีทั้งหลาย เมื่อแตกกายตายไปแล้วก็ได้ไปบังเกิดบนเทวโลกสถานโดยพร้อมเพรียงกัน ด้วยประการฉะนี้

 

ครั้นจําเนียรกาลต่อมาในศาสนาของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ คณะเทพบุตรเหล่านั้นก็ได้กลับลงมาเกิดในมนุษยโลกนี้อีก หัวหน้ากุฎมพีได้มาบังเกิดในราชตระกูลในกุกกุฏวตีนคร ครั้นทรงพระเจริญวัยก็ได้ทรงมุรธาภิเสกเป็นพระมหากษัตริย์มีพระนามว่า พระเจ้ามหากัปปินะราชา ครองกรุงกุกกุฏวตีนคร ส่วนภริยาของหัวหน้ากุฎมพี ก็ได้มาบังเกิดในราชตระกูลในสาคลนครในแว่นแคว้นมัททราษฎร์ ครั้นทรงพระเจริญวัยก็ได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้ามหากัปปินะราชา มีพระนามว่าพระนางอโนชาราชเทวี ฝ่ายกุฎมพีบริวารและภริยาทั้งหลายก็ได้มาบังเกิดในตระกูลมุขอํามาตย์ราชมนตรี ครั้นเจริญวัยก็ได้เป็นมุขอํามาตย์ราชบริพารของพระเจ้ากัปปินะราชาสิ้นทั้งมวล ด้วยอํานาจบุญญาภินิหารที่ท่านเหล่านี้ ได้สร้างสมอบรมมานานและเป็นอันมากในอดีตกาลดังวิสัชนามาแล้วนั้น แม้ในชาติปัจจุบันนี้ จะได้เป็นผู้บริบูรณ์เพรียบพร้อมด้วยลาภยศสรรเสริญสุขทางโลกียวิสัยอย่างสูงยิ่งถึงเพียงนั้นแล้วก็ตาม แต่ก็มิได้หลงไหลในอิสริยสมบัติเห็นปานนั้น กลับเห็นราชสมบัติอิสริยสมบัติเป็นเสมือนก้อนเขฬะคือน้ำลาย พอได้ทราบจากสํานักพ่อค้าว่าพระรัตนตรัยบังเกิดขึ้นแล้วในโลก ก็สละละทิ้งสมบัติอันโลกถือว่ายิ่งใหญ่เห็นปานนั้น เสมือนบ้วนน้ำลายทิ้งแล้วไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ในที่สุดก็ได้บรรพชาอุปสมบทสําเร็จเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา ฝ่ายพระนางอโนชาราชเทวีกับทั้งสตรีราชบริพารทั้งหลายพันหนึ่งนั้น ครั้นทรงทราบจากพวกพ่อค้าว่า พระราชาและมุขอํามาตย์ราชบริพารทั้งหลายไปบวชอุทิศชีวิตต่อสมเด็จพระบรมศาสดาแล้ว และได้ทรงมีพระบรมราชโองการมามอบพระราชสมบัติถวายแด่พระนางให้ทรงเสวยรมย์บริโภคตามพระราชประสงค์ แม้มวลมุขอํามาตย์ก็ส่งสาส์นมามอบสมบัติของตน ๆ ให้แก่ภริยาทั้งหลาย เช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น พระนางอโนชาราชเทวีได้มีพระราชเสาวนีย์อย่างคมคายกับบรรดาภริยามุขอํามาตย์ทั้งหลายว่า เชื่อว่าราชสมบัตินี้มิใช่แต่จะนํามาซึ่งความทุกข์แด่พระราชาเท่านั้น มันย่อมนําความทุกข์มาให้แม้แก่ฉันเช่นกัน ใครเล่าจักคุกเข่าทั้งสองลงแล้วเอาปากรับเอาก้อนเขฬะที่พระราชาบ้วนทิ้งนั้นเล่า ฉันไม่ต้องการราชสมบัติ ฉันจักบวชอุทิศชีวิตต่อพระบรมศาสดา ครั้นแล้วพระนางพร้อมด้วยภริยามุขอํามาตย์ทั้งหลายก็พากันสละละทิ้งสมบัติตามเสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ได้สดับพระธรรมเทศนา บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ก็พากันไปบวชเป็นภิกษุณีในสํานักภิกษุณีที่เมืองสาวัตถี และต่อมาก็ได้บรรลุพระอรหันต์ขีณาสพในพระพุทธศาสนาด้วยกันหมดทั้งสิ้น ด้วยประการฉะนี้

 

ในนิทานเรื่องนี้มีข้อสังเกตควรจะยกขึ้นมาวิสัชนา คือประการต้นจะเห็นว่าสตรีนั้นมีความเลื่อมใส ศรัทธาดีและมีจํานวนมากกว่าบุรุษมาตั้งแต่ครั้งดึกดําบรรพ์แล้ว เช่น ดังสตรีภริยาหัวหน้านายช่างหูก ครั้งศาสนาของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าจํานวนพันองค์ในระหว่างทางแล้วก็มีศรัทธาเลื่อมใสและกล้าอาราธนาไปรับบิณฑบาตที่หมู่บ้านของตนหมดทั้งพันองค์นั้น แล้วก็เอาเป็นภาระธุระชักจูงชาวเพื่อนบ้านหมู่ช่างหูกด้วยกันให้มาร่วมทําบุญให้ทาน และได้เป็นผู้ริเริ่มขอนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้จําพรรษาอยู่ใกล้ ๆ หมู่บ้านนั้นตลอดสามเดือน รับเป็นภาระชักชวนเพื่อนบ้านให้ช่วยกันสร้างบรรณศาลาถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าให้อาศัยอยู่จําพรรษาองค์ละหลัง ครั้นแล้วได้ชักนํามวลสตรีทอผ้าจีวร ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าพันองค์ด้วยจีวรพันผืน จีวรแต่ละผืนมีมูลค่าจํานวนพัน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็น ความมีศรัทธาเลื่อมใสของสตรีมีกําลังแรงแก่กล้ากว่าบุรุษประการหนึ่ง ครั้นต่อมาในศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า คณะนายช่างหูกและภริยาเหล่านั้นได้ไปบังเกิดเป็นกุฎมพีอยู่ในเมืองพาราณสี ได้พากันสร้างพระวิหารใหญ่มีเรือนยอดถึงพันยอดเป็นบริวาร ครั้นถึงคราวฉลองมีงานถึง ๗ วันนั้น ภริยาหัวหน้ากุฎมพีก็มีศรัทธาพิเศษแก่กล้ากว่าคนอื่น ๆ ซึ่งคนอื่น ๆ บริจาคทรัพย์มีจํานวนเท่า ๆ กัน แต่ภริยาหัวหน้ากุฎมพีจัดแจงตบแต่งดอกอังกาบพร้อมกับผ้าสาฎกราคาตั้งพัน ซึ่งมีสีสันวรรณะเหมือนดอกอังกาบ ขึ้นไว้เป็นพิเศษ แล้วก็นําไปบูชาถวายสมเด็จพระบรมศาสดาในวาระสุดท้าย พร้อมกับทั้งตั้งปณิธานความปรารถนาไว้ว่า ถ้าจะไปบังเกิดชาติใดในภพไหนก็ตาม ขอให้ข้าพเจ้ามีผิวพรรณเหมือนสีดอกอังกาบ และขอให้ได้ชื่อว่า อโนชา ซึ่งแปลว่า ดอกอังกาบนั้น ครั้นต่อมาในศาสนาของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ภริยาหัวหน้ากุฎมพีนั้น ก็ได้มาบังเกิดเป็นพระราชเทวีเอกอัครมเหสีของพระเจ้ามหากัปปินะ ในกรุงกุกกุฏวตีนคร เมื่อพระนางทรงทราบว่าพระรัตนตรัยได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลกจากพวกพ่อค้า ก็ได้ทรงบูชาด้วยพระราชทรัพย์จํานวนถึงเก้าแสน ส่วนพระเจ้ามหากัปปินะะทรงบูชาเพียงสามแสนเท่านั้น นี้ก็แสดงให้เห็นว่าสตรีมีศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนาและทําบุญมากกว่าบุรุษทั้งหลาย ซึ่งปรากฏเป็นสถาบันสืบ ๆ กันมาตั้งแต่ครั้งดึกดําบรรพ์ แม้ในปัจจุบันทุกวันนี้ก็ปรากฏเป็นเช่นเดียวกันนั้น ไม่ว่าจะมีงานการกุศลทางศาสนา ณ ที่ไหนวัดใดจะเป็นงานกุศลฟังธรรมก็ดี หรืองานถือศีลกินบวชตามประเพณีพุทธศาสนาก็ดี แม้ชั้นที่สุดงานปฏิบัติธรรมเจริญพระกรรมฐานก็มีพวกสตรีเพศจํานวนมากกว่าบุรุษเพศ โดยทั่วไปข้อว่าสตรีเพศมีศรัทธาและทําบุญบารมีดีและมีจํานวนมากกว่าบุรุษเพศนั้นเป็นสถาบันที่ปรากฏมีมาตั้งแต่กาลดึกดําบรรพ์สืบๆ กันมาจนตลอดกาลปัจจุบันทุกวันนี้ ด้วยประการฉะนี้

 

อีกประการหนึ่ง คนที่มีปีติปราโมทย์อย่างแรงกล้าย่อมจะทําให้เคลิบเคลิ้มถึงกับลืมตัวไปได้เป็นพัก ๆ เพราะอํานาจปีติมีวรรณะ ๕ ประการ คือ ขุททกาปีติ ขณิกาปีติ โอกกันติกาปีติ อุพเพงคาปีติ และ ผรณาปีติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมแผ่สร้านไปทั่วสรรพางค์กายทั่วทุกขุมขน ทําให้บุคคลปลาบปลื้มจนลืมตัวไปได้ ซึ่งเป็นธรรมดานิยมดังนั้น ด้วยเหตุนั้น พระเจ้ามหากัปปินะะก็ดี พระนางอโนชาราชเทวีก็ดี เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บังเกิดขึ้นแล้วในโลกทรงได้พระปิติมีวรรณะ ๕ นั้น จึงทรงกําหนดถ้อยคําอะไรไม่ได้ถึงสามครั้ง จนถึงครั้งที่สี่ เมื่อปีตินั้นลดกําลังลงแล้วจึงเกิดความปกติภาพ และทรงมีพระสติกําหนดเหตุการณ์ได้ การที่กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงได้พระปีติอันมีกําลังกล้าเห็นปานดังนั้น ก็เพราะเหตุที่ได้ทรงสร้างบุญาธิการอย่างมากมานานหลายร้อยชาติ บุญบารมีนั้นแก่กล้าอยู่ในพระบวรขันธสันดาน เพียงแต่ได้ทรงสดับคําว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ เท่านั้น ก็สําเร็จเป็นอารมณ์เร้าพระราชหฤทัยเกิดพระปีติปราโมทย์อย่างฉับพลันทันที เปรียบเหมือนดอกประทุมที่พ้นน้ำขึ้นมาแล้วได้กระทบแสงพระอาทิตย์ ก็แย้มบานขึ้นทันทีฉะนั้น ดังนั้นอันปีติที่เกิดแก่พระเจ้ามหากัปปินะ และพระนางอโนชาราชเทวีนั้น จึงเป็นสภาวธรรมที่มีได้เป็นได้ไม่ใช่นอกเหนือไปจากความจริงเลย แม้ผู้เจริญพระกรรมฐานในกาลทุกวันนี้ก็ได้ประสบพบเห็นกับปีติมีวรรณะ ๕ นั้น มีลักษณะดังกล่าวมาอยู่เสมอ แต่ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ทําคุณงามความดีถึงขนาดพอที่ปีติจะบังเกิดขึ้น ย่อมไม่ได้ประสบพบเห็นปีติดังกล่าวนี้ แม้ตลอดชาติที่เกิดมา และก็มักจะพาลให้เห็นผิดจากทํานองคลองธรรมไปว่าไม่เป็นความจริง เป็นการเสกสรรปั้นขึ้นด้วยความหลอกลวง เป็นทํานองพวกคนตาบอดไม่รู้จักสีและไม่เชื่อว่าจะมีสีต่างๆ ฉะนั้น

 

ความจริงในข้อนี้จึงเห็นตัวอย่างท่านพระมหากัปปินะเถระ เมื่อสําเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่ว่าจะไปพักอยู่ ณ ที่พักกลางคืนหรือที่พักกลางวัน ก็มักจะเปล่งอุทานหลุดปากออกมาลอยๆ ด้วยอํานาจปีติว่า อโห สุขํ โอ สุขหนอ อโห สุขํ โอ สุขหนอ ดังนี้เสมอ จนเป็นเหตุให้ภิกษุทั้งหลายเกิดความสงสัยว่า เพราะท่านเคยเป็นพระเจ้าแผ่นดินมา ที่กล่าวเช่นนั้นเห็นจะกล่าวเพ้อถึงสุขในราชสมบัติอันเป็นกามสุขกระมัง จึงนําความไปกราบทูลแด่สมเด็จพระบรมศาสดาให้ทรงทราบ สมเด็จพระบรมศาสดา จึงได้ทรงแสดงแก้ข้อข้องใจแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้หลาย บุตรของเรามิได้เปล่งอุทานเพ้อถึงสุขในราชสมบัติอันเป็นความสุขนั้น แต่ปีติในธรรมได้เกิดขึ้นแก่บุตรของเรา บุตรของเรานั้นเปล่งอุทานอย่างนี้ เพราะ ปรารภถึงอมตมหานิพพาน ครั้นแล้วได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดภิกษุทั้งหลาย โดยพระพุทธนิพนธคาถาเป็นสุภาษิต ซึ่งมีข้อความสั้นๆ ดังนี้

 

บุคคลผู้ดื่มธรรม มีจิตผ่องใส เป็นบัณฑิต ย่อมอยู่เป็นสุข

และยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าแสดงแล้ว ตลอดกาล

 

อธิบายว่า คําว่า ผู้ดื่มธรรม ได้แก่ผู้ที่มีปีติในธรรมได้เกิดขึ้นในใจนั่นเอง ความจริงการดื่มธรรม ไม่ใช้ดื่มด้วยถาดภาชนะอย่างหนึ่งอย่างใด เหมือนอย่างดื่มข้าวยาคูหรือดื่มเครื่องดื่มต่าง ๆ การสัมผัสโลกุตรธรรมทั้ง ๔ ด้วยนามกายหรือด้วยมรรคญาณ คือกระทําให้แจ้งชัดโดยเป็นอารมณ์ หรือการรู้แจ้งแทงตลอด อริยสัจ คือ รู้แจ้งทุกข์ ละสมุทัย เจริญมรรค ทําให้แจ้งนิโรธ ดังนี้ ชื่อว่าดื่มธรรม บุคคลผู้ปฏิบัติธรรมจนได้ดื่มธรรมโดยลักษณะดังกล่าวมานี้ นอกจากจะมีจิตบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่โดยธรรมดานิยมแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุขทุกอริยาบถ คือจะยืนเดินทั้งนอนหรือจะอยู่ ณ ที่ไหน ๆ ที่คนไม่ได้ดื่มธรรมเห็นว่าเป็นทุกข์ก็ย่อมเป็นสุขไปทั้งนั้น และท่านผู้ดื่มธรรมมีจิตผ่องใสประกอบด้วยความเป็นบัณฑิตเห็นปานนั้น ย่อมอภิรมย์ยินดีอยู่ในธรรมที่พระอริยเจ้าทั้งหลายแสดงไว้แล้วตลอดกาล คือย่อมยินดีอยู่แต่ในอารมณ์พระกรรมฐาน เช่น ชอบพิจารณาชีวิตประจําวันของคนหรือของบุคคลอื่นอยู่ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ ไม่ว่าจะกระดิกพลิกแพลงไปไหน อิริยาบถใดท่าไหนก็ชอบใช้สติตามกําหนดอิริยาบถนั้นท่านั้น และพร้อมกันนั้นก็ใช้สัมปชัญญะพิจารณาให้รู้แจ้งว่าอิริยาบถนี้ท่านี้เป็นแต่เพียงสักว่ากายคือรูปธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ของเราของเขาหรือของใคร ๆ ทั้งสิ้น หากเป็นแต่เพียงสมมติขึ้นเรียกกันตามโลกโวหาร เพื่อใช้เรียกขานกันเท่านั้น โดยนัยนี้เมื่อทุกข์หรือสุขเกิดขึ้น ก็ใช้สติกําหนดใช้สัมปชัญญะพิจารณาให้รู้แจ้งว่านั้นเป็นเพียงสักว่าเวทนา และมีจิตโลภโกรธหลงหรือไม่โลภไม่โกรธไม่หลงเป็นต้น ก็กําหนดพิจารณาให้รู้แจ้งว่านั้นสักว่าจิตโลภโกรธหลง หรือจิตไม่โลภไม่โกรธไม่หลง และเมื่อพิจารณาธรรม ๕ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็กําหนดพิจารณาให้รู้แจ้งว่านั้นเป็นสักแต่ธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ของเราของเขา หรือของใคร ๆ ดังนี้ เป็นต้น

 

บุคคลผู้ดื่มธรรมคือมีปีติในธรรม ซึ่งเป็นบัณฑิตนั้นย่อมเพลิดเพลินยินดีพิจารณาตนหรือบุคคลอื่น อยู่แต่ในแง่ธรรมะดังวิสัชนามาด้วยสังเขปนี้ คือไม่ยินดีดูตนหรือบุคคลอื่นในแง่โลกสมบัติ เป็นต้นว่า คนนั้นสวย คนนี้ไม่สวย หรือหน้าตาแขนขาสวยไม่สวย นั่นนี้ เป็นเราเป็นเขา เป็นของเราของเขา ซึ่งเป็นการมองดูชีวิตประจําวันด้วยความลุ่มหลงมัวเมา ไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริงของความจริง เพียงแต่รู้ความจริง ของสิ่งที่ไม่จริงอย่างผิวเผิน เพราะฉะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงแสดงว่าผู้ดื่มธรรมมีจิตผ่องใสเป็นบัณฑิต ย่อมยินดีในธรรมตลอดกาล ด้วยประการฉะนี้

 

แสดงพระธรรมเทศนาในเรื่องพระมหากัปปินะเถระ ก็นับว่าพอเป็นเครื่องโสดสรงองค์ศรัทธา และสมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

 

( ๙ มิ.ย. ๒๕๐๕ เวลา ๑๔.๓๐ น. )