ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

ไขปัญหาธรรม เรื่อง กรวดน้ำ รับพร
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : ไขปัญหาธรรม เรื่อง กรวดน้ำ รับพร
#105
ไขปัญหาธรรม เรื่อง กรวดน้ำ รับพร 13 ปี, 4 เดือน ก่อน  
หลวงตาว่าจะเอาเรื่อง สังโยชน์สิบ มาตัดตอนให้ได้อ่านกัน ก็พอดีนายต้น แสงทอง มาบอกว่า น่าจะเอาเรื่องที่เคยสอนเขาไว้ เกี่ยวกับเรื่องการ กรวดน้ำรับพรจากพระเมื่อเวลาที่ทำกุศล เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลวงตาเล่าสู่ศิษย์ฟังเป็นประจำ เป็นเรื่องให้วินิจฉัยกัน ไม่กล้าที่จะไปบอกว่าใครผิดใครถูก แต่จำได้ว่า เคยอ่านเจอที่ไหนสักแห่ง ที่เขียนเรื่องชีวประวัติของสมเด็จพระนเรศรวมหาราช ท่านบอกว่าที่ไทยต้องแพ้สงครามอยู่เป็นประจำ ก็เพราะว่าพระไทยไม่ศึกษาอย่างถูกต้องจริงจัง ในยุคนั้นไม่มีใครเชื่อท่าน เพราะว่าท่านศึกษามาจากอาจารย์ฝ่ายพม่า หลวงตาก็ศึกษาจากฝ่ายอาจารย์ที่ร่ำเรียนมาจากพม่าเหมือนกัน ก็ไม่ได้มีอะไรวิเศษกว่ากัน ศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยภาคเหนือและไทยภาคอีสาน จึงได้เห็นความต่าง เป็นความต่างที่สังเกตเห็นและนำมาวินิจฉัยร่วมกับหลักธรรม และธรรมนิทานที่ได้สดับศึกษามา ก็เห็นอยู่ข้อหนึ่ง ที่ฝ่ายเราทำกันเป็นประเพณี ไม่ได้วิเคราะห์วิจัยกัน ทั้งที่ในตำราท่านก็ว่าเอาไว้ถูกแล้ว แต่ว่าเราเอาประเพณีความเคยชินมาว่ากัน ไม่แก้ไขให้ถูก แต่ก็บอกทุกคนว่า แล้วแต่โอกาส ถ้ากระทำได้เองโดยไม่มีใครตำหนิ ก็ทำไป ถ้าว่ามีใครทวงติงตำหนิ ก็อย่าไปถกเถียงกับเขา เดี่ยวอาจารย์จะถูกจับสึก เพราะกระด้างกระเดื่องแน่มาจากไหน เขาทำกันทั้งเมืองเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมานาน ท่านจะเอาอะไรมาแก้ความเคยชินเคยคุ้นของชาวบ้าน เขาทำกันมาอย่างนี้ มีความรู้เท่าหางอึ่งมึงแน่มาจากไหน ก็เพราะไม่แก้นี่แหละมันถึงได้มีบุญน้อยวุ่นวายไม่รู้จบสืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันวันนี้ไง

เรื่องก็มีอยู่นิดเดียว เขียนเสียยาวยืด กลัวจะไม่พอหน้ากระดาษละซิ ถึงได้อารัมภบทเสียมากโข

เรื่องมีอยู่ว่า นายทุกขตะและภริยานั้นเป็นคนยากจนข้นแค้นที่สุดในเมือง อาศัยชายเขตขอบเมืองปลูกกระต๊อบเล็กๆ พอซุกตัวอยู่นอนกันสองผัวเมืย มาวันหนึ่ง เมื่อชาวเมืองได้มีโอกาสสดับฟังธรรมของพระพุทธศาสดาก็ให้ปีติยินดียิ่ง กระทั่งมีมานพนายหนึ่ง ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าฯ พร้อมด้วยสาวกจำนวนสองหมื่น รับบิณฑบาตจากชาวเมืองในวันรุ่งพรุ่งนี้ พระพุทธองค์ก็รับนิมนต์ มานพนั้นจึงรีบจัดแจงธุระด้วยการป่าวประกาศไปยังชาวเมืองทั้งหลาย มีเจ้าครองนครเป็นหัวหน้า บ้างก็ขอรับเอาพระสาวกไปรับบาตรที่วังเรือนของตนจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง มีตั้งแต่สองพันจนถึงสองร้อย มานพนั้นก็จัดสรรเป็นธุระแบ่งปันกันให้พอได้ทำกุศลกันทั้งเมือง แต่ก็ยังมีจิตคิดถึงเพื่อนผู้ยากไร้บุญน้อย จึงได้ไปพบหานายทุกขตะ แล้วบอกกล่าวเรื่องที่ว่าจะมีการทำกุศลใหญ่ในเมือง นายทุกขตะ เมื่อได้ยินก็เศร้าหมอง ว่าเรานี้จะกินก็ยังยากไร้เลย จะเอาอะไรไปทำกุศลเล่า เพื่อนมานพนั้นก็ว่า ก็เพราะไม่มีบุญไงเล่าถึงได้หากินยากไร้เช่นนี้ นายทุกขตะได้ยินดังนั้นก็เกิดความเข้าใจมีปีติขึ้นว่า นี้เป็นโอกาสแล้วหนอ จึงรับปากขอพระหนึ่งรูปมาทำบุญที่บ้าน ฝ่ายเพื่อนมานพก็เห็นใจว่าเป็นคนจนจึงรับภาระมา แต่ว่าลืมจดบันทึกไว้

นายทุกขตะก็ดีใจรีบกลับไปบอกภริยาว่าเราจะได้ทำบุญแล้วหนา เอาอย่างนี้ เรื่องที่บ้านทั้งหมดให้เป็นธุระเจ้า เราจะออกไปที่ในเมืองหางานพิเศษทำ เชื่อว่าต้องมีงานให้ทำมากแน่ เพราะว่าชาวเมืองต่างก็จะทำการบุญการกุศลกัน ข้าทาสบริวารในบ้านคงจะมีงานล้นมือกันเป็นแน่ บอกแล้วก็เร่งรุดไปหางานทำ ก็ได้งานสมใจ ความปีติยินดีที่จะได้ทำกุศล ทำให้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผ่าฟืนได้มากมายเกินกว่าคนงานธรรมดาของเศรษฐีที่ทำกันถึงสามเท่าห้าเท่า เมื่อเสร็จงานหนึ่งก็ร้องถามหางานอื่นอีก เป็นที่น่าพอใจของนายจ้าง เมื่อเสร็จงานตามที่ตกลงกัน นายจ้างให้ค่าจ้างด้วยข้าวแล้วก็ยังแถมให้อีกหลายส่วนเป็นการตอบแทนที่มีความขยันขันแข็งไม่รู้จักเหน็ดไม้รู้จักเหนื่อย

ข้างฝ่ายภริยานายทุกขตะ เมื่อสามีออกไปแล้ว จัดแจงงานที่บ้านซึ่งไม่เห็นจะมีอะไร ทำเสร็จแล้วก็ออกไปในเมืองเพื่อหางานทำบ้าง ก็ได้งานซักล้างภาชนะทั้งหลาย นางทำอย่างไม่รู้เหนื่อยด้วยปีติเช่นกัน เมื่อเสร็จงานคุณนายก็เอ็นดู ให้รางวัลเป็นเครื่องปรุงแห้งที่จำเป็นอีกมากมาย

เช้าวันรุ่งขึ้น นายทุกขตะก็เร่งรุดออกไปเก็บผักเพื่อที่จะมาร่วมแกงไว้เลี้ยงพระในตอนสาย อารมณ์ที่ปีติยินดีจึงเปล่งเสียงขับร้องอย่างสุขใจ เพื่อนชาวประมงที่กำลังจัดการแหอยู่ก็ถามไถ่ว่าอารมณ์ดีแต่เช้า ไม่เคยเห็นเจ้าเป็นเช่นนี้เลย ทุกขตะก็เล่าให้ฟังว่าจะทำบุญ เพื่อนที่ไม่ได้ข่าวก็พลอยดีใจไปด้วย จึงขอร่วมบุญด้วย จึงให้นายทุกขตะร้อยปลาเป็นพวงแล้วนำไปขาย เมื่อขายได้เสร็จจะแบ่งปลาให้ ปรากฏว่านายทุกขตะนั้นขายหมดตั้งแต่ยังไม่ได้เดินออกไปเลย มีผู้คนมาหาซื้อถึงที่ ก็บอกเพื่อนว่าปลาหมดแล้ว เพื่อนจึงได้บอกให้นายทุกขตะคุ้ยเอาปลาที่หมกขี้เถ้าเอาไว้จะเอากลับบ้าน ให้นายทุกขตะไปหมด โดยขอมีส่วนร่วมในบุญนี้ด้วย นายทุกขตะก็ยินดี จึงนำผักปลากลับบ้าน ให้ภริยาจัดเตรียมอาหาร ส่วนตนนั้นก็รีบรุดเข้าเมืองเพื่อไปรับพระมาฉันที่บ้าน ไปแต่หัวเช้า ยังไม่มีใครมา แกก็ยืนเข้าแถวเป็นอันดับแรก นึกว่าจะได้รีบพาพระรูปแรกไปเลี้ยง เมื่อมีคนมาทักทายกันแล้วก็ถามว่า เจ้าจะรับพระเท่าไร นายทุกขตะก็ตอบว่า หนึ่งรูป คนอื่นๆ ก็ว่าของเราร้อยรูปเจ้าไปต่อหลัง เป็นอย่างนี้จนที่สุดนายทุกขตะก็ไปอยู่ปลายแถว

เมื่อพระออกจากอารามคามเขตที่พักแล้ว ชาวเมืองมีเจ้าครองนครเป็นหัวหน้ารับพระไปสองพัน เศรษฐีรับไปสองพันบ้าง มากน้อยตามที่ได้ขอเอาไว้ จนที่สุดมาถึงนายทุกขตะพระหมดพอดี นายทุกขตะถึงกับร้องไห้โฮ ว่าโอโอ๋ วาสนาช่างน้อยนัก จะได้ทำกุศลสักครั้ง เพื่อนก็ลืมจดบันทึก แจกพระหมดแล้ว เราจะทำอย่างไรเล่า ยืนร้องคร่ำครวญอยู่คนเดียว คนอื่นๆ รับพระไปหมดแล้ว เหลือไว้แต่หัวหน้าที่ยังไม่ไป เพื่อนมานพก็บอกกล่าวคำขอโทษว่าลืมจด แต่ก็ยังไม่สาย ยังมีพระเหลืออีกรูปหนึ่ง เจ้าจงวิ่งไปที่วัด คุกเขาลงกราบแล้วบอกท่านว่าเจ้าชื่อเสียงไร เป็นใคร ต้องการอะไร บอกด้วยว่าเจ้าเป็นคนยากไร้อย่างไร นายทุกขตะก็ทำตามอย่างที่มานพผู้เป็นเพื่อนบอกสอนให้ เมื่อวิ่งถึงหน้าวัดแล้วก็ก้มลงกราบทูลไปตามนั้น แล้วก็วิ่งกลับมาที่ท้ายแถวดังเดิม


ครั้งนั้น พระพุทธศาสดาทรงบัลลังก์อยู่ เพ่งนิสัยดูหมู่สัตว์ จึงพบว่าวันนี้ถึงเวลาบุญของนายทุกขตะแล้ว ที่ต้องทนทุกข์ทรมานมานานปี ก็ด้วยกรรมของตนเองแต่ปางก่อน บัดนี้เป็นเวลาอันควรแล้ว จึงได้เสด็จออกจากที่ประทับ ทรงพระดำเนินไปตามเส้นทาง จนถึงหัวแถวที่เจ้าครองนครรออยู่ เจ้าครองนครนั้นคุกเข่าลงแล้วยกมือขึ้นเหนือหัวเพื่อรอรับบาตรของพระพุทธองค์ แต่ก็ไม่มีบาตรลงสู่มือ ผ่านไปตามแถวของบรรดาอำมาตย์ พ่อค้า คหบดีทั้งหลาย จนถึงปลายแถว นายทุกขตะก็ทำอาการเช่นเดียวกัน พระองค์ก้ทรงยื่นบาตรใส่มือนายทุกขตะ บรรดาผู้คนก็เซ็งแซ่ วิจารณ์กันไปต่างๆ นาๆ บ้างก็ถึงกับยอมที่จะจ่ายทรัพย์เป็นเหรียญทองคำจำนวนมากมายนับพันสองพันก็มี นายทุกขตะนั้นก็ส่ายหัวด้วยความปีติยินดี ยืนงงอยู่ ณ ที่นั้น จนกระทั่งพระพุทธองค์กล่าวคำว่านำไป นั่นแหละ นายทุกขตะถึงได้สติ ออกวิ่งนำหน้าพาไปที่บ้าน

ครั้งนั้น พระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทวดา รู้สึกว่าทิพย์อาสน์นั้นร้อนเหลือ ที่โลกมนุษย์คงจะมีเรื่องเดือดร้อนเป็นแน่แท้ จึงได้ส่องทิพย์เนตรลงมาดู ก็รู้ในขณะนั้นว่า เกิดเรื่องใหญ่แล้ว พระพุทธเจ้าผู้ซึ่งเหล่าทวยเทพทั้งหลายเคารพบูชา ต้องมาเสวยอาหารที่หยาบเช่นนั้น เป็นความบกพร่องของเราแล้วหนอ คำนึงได้เช่นนั้น ก็รีบแปลงกายมาเป็นนายมานพหนุ่ม เที่ยวร้องตะโกนว่า บ้านนี้แถวนี้ มีใครมีงานให้ทำบ้าง ฉันทำอาหารได้เลิศรสนัก ภริยานายทุกขตะได้ยินดังนั้น ก็จึงรีบเรียกว่า พ่อหนุ่ม มาช่วยฉันที ฉันทำอะไรไม่ถูกแล้ว ไม่เคยมีข้าวของมากมายเช่นนี้ ไม่รู้ว่าจะทำอะไรอย่างไหนจึงจะดี จึงจะควรแก่การทำกุศลเลี้ยงพระ ฝ่ายพระอินทร์ซึ่งแปลงกายมามีประสงค์อยู่แล้ว จึงรีบรับคำแล้วว่า ท่านน้าจงไปดูแลเรื่องบ้านเรือนเช็ดถูให้สะอาดเถิด จัดน้ำท่าปูที่นั่ง ปัดกวาดให้เรียบร้อย เรื่องอาหารฉันจัดการเอง ว่าแล้วก็เข้าเรือนไฟลงมือปรุงอาหารทันที

พระอินทร์เองก็ใช่ว่าจะทำอาหารเป็นดังอ้าง แต่ว่าท่านมีปัญญานัก จึงได้เนรมิตเครื่องปรุงที่เป็นรสทิพย์ขึ้นมา เยาะลงไปในหม้อแกงทั้งหลาย แล้วก็อธิษฐานจิตให้ได้ดังปรารถนา เมื่อชาวเมืองที่ติดตามขบวนของพระพุทธองค์ ที่มีนายทุกขตะวิ่งนำหน้าอยู่ เข้ามาใกล้บ้านนายทุกขตะ กลิ่นอาหารก็โชยหอมกรุ่นไม่มีที่ใดเหมือน ที่วิจารณ์กันไว้ว่า วันนี้พระพุทธเจ้าจะต้องฉันอาหารเลวแล้ว ต่างก็เกิดความแปลกใจ ถามไถ่กันไปเซ็งแซ่ว่า บ้านใครมีอย่างนี้หรือไม่ ทุกคนต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า หอมเหลือเกิน หอมเหลือเกิน ไม่เคยได้กลิ่นอาหารที่เหมือนชาวสวรรค์เช่นนี้ ที่บ้านเราว่ามีแม่ครัวชั้นเลิศแล้วยังเทียบไม่ได้ครึ่งอย่างนี้เลย ทำให้ทั้งหมดเงียบเสียงวิจารณ์ลงได้ ตามกันไปดูอย่างใกล้ชิด บ้านนายทุกขตะที่ใครๆว่า เก่าซอมซ่อ วันนี้ดูสะอาดสะอ้านงามตายิ่งนัก เมื่อไปถึง พระพุทธองค์ก็เสด็จเข้าไปประทับนั่งยังที่ที่เตรียมไว้ แล้วสองสามีภริยาก็ประเคนอาหารที่จัดเตรียมใส่บาตรให้พระองค์ ครั้นเมื่อเสวยอาหารในบาตรเสร็จแล้ว ก็ทรงห้ามภัตร เมื่อนั้นนายทุกขตะก็รู้กาลอันควร ถวายน้ำแล้วจึงตั้งจิตอธิษฐาน เมื่อพระพุทธองค์เสร็จกิจภัตตาหารแล้ว ทรงแย้มพระสรวล แล้วจึงกล่าวกับนายทุกขตะว่า

“อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ”
ความหมายว่า ขอพรที่ท่านปรารถนา จงสัมฤทธิ์ผลโดยพลัน

ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงให้พรดังว่าแล้ว พระอินทราช เจ้าชาวสวรรค์เทวดา จึงจัดการให้เหล่าชาวสวรรค์ผู้รู้กาล โปรยเพชรนิลจินดาอันเป็นบุญเก่าของนายทุกขตะเมื่อคราครั้งที่เกิดเป็นเศรษฐีขี้โอ่ ชอบโชว์การกินอาหารให้ชาวนครดู หลังจากที่ได้รู้จักกับมานพนายหนึ่งซึ่งมีคุณมาก สอนการสร้างกุศลทานให้ เศรษฐีนั้นจึงได้สร้างทานมหาศาล ตั้งแต่นั้นสืบมาจนสิ้นบุญ เกิดเป็นนายทุกขตะ รับผลแห่งกรรมของตนแล้ว เมื่อได้พบกับมานพที่เกื้อกูลให้ได้กุศล ก็สร้างด้วยชวนะจิตที่หนึ่ง และกระทำกาลอย่างอาจหาญไม่ย่อท้อต่อความลำบาก ไม่ท้อถอยที่จะสร้างแม้จะผิดหวังเพียงไรก็ตาม คิดเพียงอย่างเดียวว่าตัวนั้นบุญน้อย ผลเพียงเท่านี้ยังไม่สิ้นหวัง ยังต้องเพียรให้ได้สร้างบุญให้สำเร็จให้จงได้ ที่สุดก็สำเร็จการ ใช่ว่าทรัพย์นั้นจะมาด้วยการร้องขอ แต่ต้องมีบุญบารมีที่สั่งสมไว้ก่อน ไม่อาจร้องขอเบิกบุญก่อนได้ ต้องให้ถึงกาลถึงเวลาเสียก่อน เหล่าเทวดาผู้ซึ่งรู้กาล ก็จะจัดสรรให้ตามบุญ ต้องให้ได้เหตุ ต้องสร้างผล เมื่อถึงกาลก็ไม่ต้องร้องขอ ต้องได้รับไปตามบุญบารมีที่สั่งสมไว้ เมื่อยังไม่ถึงกาล ให้ร้องขอ ขอเบิกอย่างไร ก็ไม่มีหวัง กรรมตัวเจ้าของไม่ได้สร้างไว้ เหตุที่จะให้ถึงก็ยังไม่มี ผลที่รับอยู่ก็ยังไม่ถึงที่สุด แล้วจะเอาอะไรไปเบิกละ นอกจากใช้ปืนเข้าไปบุกธนาคารนั่นแหละ ไม่ถูกยิงตาย ก็ต้องถูกจับได้ในที่สุด ส่วนพวกที่งมงายเอาแต่ร้องขอเบิกบุญ ขอเบิกบุญ ทั้งคนสอนทั้งคนทำ เห็นที่สุดก็ไม่มีจ่าย ต้องหมดตัวไปเพราะโรคภัย แล้วก็สิ้นใจไปเกิดใหม่ใช้หนี้ไม่หมด นี่ก็เพราะไม่ยอมรับกรรมของตน เอาแต่สร้างความงมงาย ที่สุดก็ตายอย่างไม่รู้ที่ไป ไม่มีเว้น ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน ไม่มีใครใหญ่เกินกรรม

นายทุกขตะ เมื่อได้รับทรัพย์อันเป็นบุญเก่ามากมาย เจ้าผู้ครองนครก็ถามว่าใครมีอย่างนี้บ้าง แล้วต้องทำอย่างไร ทั้งหมดก็กล่าวกันในท่ามกลางนั้นว่า ต้องสักการะ คือต้องยกย่องให้เป็นเศรษฐี ทางการมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลทรัพย์นั้น ให้เจ้าหน้าที่ขนเข้าท้องพระคลัง แล้วจึงสั่งการให้จัดการสร้างบ้านพร้อมทั้งข้าทาสบริวารชุดสี่ และให้เก็บส่วยกินอีกสี่หมู่บ้าน นิทานธรรมทั้งหลายที่มีนั้น ไม่ใช่เรื่องเล่าเหลือเชื่อ คำว่านิทาน หมายถึงเหตุที่ให้เกิดเรื่องที่จะแสดง ถ้าไม่มีเหตุ อยู่ๆ ก็จะเอาเรื่องขึ้นมาแสดง ก็ไม่มีอุทาหรณ์ที่จะยกมาเปรียบเปรย เรื่องนี้ก็เช่นกัน เพราะมีเหตุให้คิดให้พิจารณา จึงนึกถึงนิทานธรรมเรื่องนายทุกขตะ เมื่อศึกษานิทานธรรมก็สามารถนำมาสอนใจสอนตัวได้

เรื่องทั้งหมดไม่ได้ต้องการให้ท่านทั้งหลายเชื่อ แต่ว่าหลวงตานั้นเข้าใจและเห็นเหตุตามเรื่องทั้งหมด กอปรกับมีประสบการณ์ชีวิต ได้เห็นประเพณีในถิ่นที่ต่างๆ ก็จึงนำมาเปรียบเทียบแล้วก็รวบรวมนำมาเล่าสู่กัน การตัดสินเป็นเรื่องของท่าน การนำเสนอเป็นเรื่องของพระ หลวงตามีหน้าที่นำเสนอในเรื่องที่ดี เพื่อให้ทุกชีวิตมีโอกาสเท่าเทียมกันในการสร้างบุญบารมี เน้นว่าสร้างบุญบารมี เพราะว่าพวกเราชอบพูดคำเดียวกันในเรื่องต่างกัน คนมีทรัพย์มีอำนาจ อาจไม่ใช่ได้มาเพราะบุญบารมี ส่วนบารมีนั้นมีได้ทั้งนั้น ทั้งทางดีและทางชั่ว อย่าสับสนพูดกันคนละเรื่องเดียวกัน ถ้าสร้างบารมีทางฝ่ายบุญ เรียกว่าบุญบารมี อย่างนี้อย่างเรื่องของนายทุกขตะนี่ ส่วนถ้าสร้างบารมีในทางฝ่ายบาป เช่นเป็นผู้นำในการสั่งฆ่านี่เรียกว่าบาปบารมี คำว่าบารมีจึงเป็นคำกลาง ต้องไม่เอาไปปะปนเสียจนสับสน ไม่เช่นนั้นจะประกอบมงคลสามสิบแปดในชุดที่หนึ่งไม่ได้ เพราะว่าไม่เข้าใจเรื่องบารมี ก็ทำความเพียรผิด “ปูชา จะ ปูชะนียานัง” ต้องยกย่องสรรเสริญบุคคลที่สมควร ถ้าพ่อแม่เป็นโจร ลูกก็ยกย่องสรรเสริญความเป็นโจร ก็ต้องเป็นโจรด้วยในกาลข้างหน้า ถ้าไม่ยกย่องในความเป็นโจร แต่ยกย่องบูชาพ่อแม่ที่เป็นบุพการี ผู้ให้กำเนิด ผู้เลี้ยงดูมา เมื่อได้โอกาสก็พยายามที่จะชักนำให้พ่อแม่เลิกกิจการการเป็นโจร พาให้ท่านเดินทางถูก อย่างนี้จึงจะได้บุญมาก เป็นมงคลอันสูงสุดได้

จากนิทานเรื่องนี้ก็คงรู้นะว่าหลวงตาหมายถึงอะไร พรที่พระให้ก็คือพร กรวดน้ำอุทิศกุศลก็คือกรวดน้ำอุทิศกุศล ในภาคเหนือและภาคอีสาน ชาวบ้านเมื่อไปทำบุญที่วัด ก็จะนำน้ำใส่ขวดเล็กๆติดตัวไป เมื่อทำกุศลถวายทานแล้ว ก็จะกรวดน้ำกัน โดยมี”ปู่จารย์” ก็มัคทายกของภาคกลางนี่แหละ เป็นผู้นำการกรวดน้ำ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ชาวบ้านจะว่าไปพร้อมๆกัน เขาฝึกกันทุกคนแหละ แล้วแต่ภาค แล้วแต่ถิ่น แต่สวนใหญ่ก็เหมือนกัน เมื่อชาวบ้านทำการกรวดน้ำเสร็จแล้ว พระก็ให้พร ด้วยเริ่มที่บท ยะถา.....ความหมายหลวงตาเคยแต่งไว้นะ จำได้บ้างไม่ได้บ้างลองดูละกัน

ธารน้ำที่เปี่ยมล้น ก่อเป็นต้นแห่งสาคร
ทานทำด้วยอาทร ย่อมส่งถึงผู้จากไป
อิฏฐะ พะละดล สำเร็จผลเพราะตั้งใจ
ดุจดังมณีใส แววระยับจับแสงเพ็ญ


ของเราในระยะหลังๆก็ให้พระว่าอย่างเดียว โยมคฤหัสถ์มีหน้าที่ทำตาม เลยเป็นประเพณีสืบกันมาตามใจ พระว่าไรก็ว่ากัน ภาคกลางจึงมักได้ยินพระบอกว่า เอ้าโยมเตรียมกรวดน้ำรับพรนะ พระว่า ยะถา ก็เทน้ำเลยนะ

ถ้าว่าตามที่ในนิทาน เมื่อนายทุกขตะถวายภัตตาหารแล้ว ก็เฝ้าชมบารมีอยู่ข้างๆ รอทำหน้าที่จนเสร็จ เมื่อเสร็จกิจห้ามภัตรแล้ว พระองค์ทรงล้างมือทำความสะอาดภาชนะเรียบร้อยแล้ว มองไปทางนายทุกขตะ เห็นตั้งจิตอธิษฐาน เมื่อพระองค์ที่ทรงเป็นผู้รู้กาล รู้ว่านายทุกขตะตั้งจิตอธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ให้พร ว่า

“ ขอพรที่ท่านปรารถนา จงสัมฤทธ์ผลโดยพลัน”

อย่างนี้ชาวบ้านทางต่างจังหวัดภาคเหนือภาคอีสานก็ทำถูกต้องตามประเพณีและความหมาย ส่วนภาคกลางก็เท่ากับเอาพรพระเททิ้งเสีย

วันนี้ขอจบเพียงเท่านี้ ดีชั่วอย่างไรท่านเป็นผู้ตัดสิน หลวงตานำเสนอแล้วท่านผู้มีปัญญาย่อมคิดเป็นทำเป็น ย่อมมีอุบายมาก ย่อมกระทำไว้ในจิตอย่างแยบคาย ย่อมเป็นผู้ควรแล้ว สาธุ ขอบุญจงรักษา มีโอกาสเวลา มาว่ากันใหม่ ถ้ายังไม่ตายนะ ความตายนี้มันไม่เที่ยง เอาแน่ไม่ได้ อย่าประมาท ต้องมีสติพร้อม ก่อนหน้านี้หลายวันก็เกือบไปแล้วละ คนแก่ เอาแน่ไม่ได้ ลมขึ้นมาจุกอก หัวใจขัดแน่นหายใจไม่ออก ระบายก็ไม่ได้ เลอก็ไม่ออก แน่นจนหน้าเขียว ดีที่มีคนมาเห็นทัน แต่ก็เตรียมตัวเตรียมใจอยู่ตลอดเวลา พักผ่อนน้อย ขณะที่เขียน(พิมพ์) เรื่องนี้อยู่ ก็เมาๆ หัวอยู่ตลอดเวลา จะหน้ามืดเมื่อไร ก็เป็นอันว่า ไม่ได้มาเล่าสู่กันอีกต่อไป


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
kittiyano

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1