ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

ไขปัญหาธรรม เรื่อง ปฏิบัติธรรม
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : ไขปัญหาธรรม เรื่อง ปฏิบัติธรรม
#106
ไขปัญหาธรรม เรื่อง ปฏิบัติธรรม 13 ปี, 4 เดือน ก่อน  
มีผู้มาฝึกใหม่ที่สำนักปฏิบัติธรรมวัดป่าสุธัมมาราม หลายคนก็ถามคำถามเดียวกันว่า ที่เขาเข้าใจการปฏิบัติธรรมก็คือ การมานั่งสมาธิและสวดมนต์ จะได้ยินคนจำนวนมากมักพูดว่า นั่งไม่ค่อยสะดวกบ้าง จิตไม่นิ่งบ้าง ยังไม่พร้อมบ้าง และอีกมากมายที่จะหลีกเลี่ยง บอกปัดการชักชวนของญาติมิตร พวกพ้อง ที่ชักชวนให้เดินทางดีทางถูก แต่คนส่วนใหญ่มักชอบการชักชวนให้เดินทางไม่ดี ทางผิดกันเสียมากกว่า

การปฏิบัติธรรมนั้น อย่างน้อยต้องให้เกิดขึ้นกับตนสักครั้งในชีวิต อย่ารอให้มีปัญหาชีวิตแล้วค่อยคิดเข้าวัด เข้าสถานฝึกอบรม เพราะว่าเมื่อนั้นอาจจะสายเกินไปก็ได้ และก็มีคนจำนวนไม่น้อยในสถานปฏิบัติธรรม ก็มักจะสอนกันไปในแนวที่เหมือนกับที่คนทั่วไปเข้าใจกัน

การปฏิบัติธรรม ถ้าว่ากันให้ถูกแล้ว ก็คือ การปฏิบัติกิจส่วนตนให้เข้าใจในเรื่องของธรรมหรือกรรม ที่เรียกว่า กรรมฐาน หรือ กัมมัฏฐาน ว่าโดยง่ายก็คือให้เข้าใจในพื้นฐานของการสร้างกรรมของสัตว์ทั้งหลาย เมื่อเข้าใจในพื้นฐานแล้ว ก็ให้ศึกษากรรมของตนที่กระทำผ่านมา ที่กำลังทำอยู่ และแนวโน้มว่าจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไร เมื่อได้ศึกษาพฤติกรรมที่ผ่านมาของตนแล้ว มีความคิดเห็นเช่นไร มองเห็นความผิดพลาดหรือไม่ มองเห็นวิธีการที่จะแก้ไขพฤติกรรมหรือไม่ มองเห็นอนาคตหรือไม่ว่าถ้าดำเนินไปตามพฤติกรรมเดิมจะส่งผลอย่างไร หลังจากนั้น ครูอาจารย์ ผู้สอนก็จะให้แนวคิด หรือหลักคิด โดยให้มองเห็นความเป็นจริง โดยใช้หลักคำสอนของทางโลกและทางธรรมมาผนวกกัน เพื่อให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจถึงหลัก มัชฌิมาปฏิปทา คือทางเดินสายกลาง เพื่อที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบา และที่สุดก็สอนทางเดินสายถูกให้ เพื่อที่ผู้ศึกษาจะได้พ้นจากทุกข์ภัย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของผู้สอน และผู้ศึกษา

การเดินวกวนนั้น เป็นพฤติกรรมหนึ่งซึ่งสัตว์ทั้งหลายกระทำอยู่แล้วเป็นปกติ เพียงแต่ว่า การเดินของสัตว์นั้น เป็นการเดินแบบที่มีปัญหาแล้วจึงเดินวกวนไปมาเพื่อที่จะให้เกิดความคิดในการแก้ปัญหา บ้างก็เดินเพื่อที่จะปรับอารมณ์ที่แตกกระจาย ตื่นเต้น หรือวิตกกังวล การนั่งก็เช่นกัน สัตว์ทั้งหลายก็หยุดเดินแล้วนั่งลง เมื่อสะดุดกับความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อเมื่อคิดไม่สำเร็จก็จะลุกขึ้นเดินต่อ อย่างนี้เรื่อยไปจนอ่อนล้า แล้วที่สุดก็หยุดลงปลงใจเสียว่าจะเป็นไรก็เป็นกัน

ส่วนการเดินจงกรมนั้น มีลักษณะการเดินที่แตกต่างจากการเดินวกวนของสัตว์ การเดินที่เป็นปกติของสัตว์นั้น เป็นการเดินแบบขาดสติในระยะแรกเพื่อที่จะเรียกสติกลับคืนมา แต่การเดินจงกรมนั้น เป็นการเดินที่ต้องตั้งสติ ให้รู้ทุกขั้นตอนของการเดิน เพื่อให้เกิดสมาธิ เป็นการง่ายที่จะให้เกิดสมาธิด้วยการเคลื่อนไหว บางอาจารย์ก็สอนการเคลื่อนไหวกายบ้าง มือบ้าง เพื่อให้เกิดสมาธิ ซึ่งนั่นไม่ใช่ทางถูก แต่ก็เป็นทางหนึ่งที่ถูกดัดแปลงเอามาใช้กับบุคคลที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ก็จำเป็นที่จะต้องหาอุบายที่จะให้มีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่ไม่น่าเบื่อ แต่ส่งผลน้อย เป็นเพียงแค่การเรียกอารมณ์ให้มาสนใจในการเคลื่อนไหว เป็นการฝึกเช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวกายในการเล่นกีฬา ซึ่งก็ต้องใช้สมาธิเช่นกัน แต่จะเห็นว่านักกีฬานั้นก็ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ แต่จะถูกเกมกีฬาที่เล่นอยู่นั้นเป็นฝ่ายควบคุมอารมณ์ของผู้เล่น นักกีฬาที่หวังความสำเร็จสูงสุด จึงหันมาฝึกสมาธิแบบถูกวิธี หรือบ้างก็ฝึกเอาเองโดยมีหลักของการควบคุมการเคลื่อนไหวและจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียวกัน นี้ก็เป็นตัวอย่างที่เราได้เห็นบ่อยๆ

การเดินจงกรมที่ถูกต้องนั้น ต้องอาศัยการกำหนดรู้ คือต้องตั้งสติก่อน ว่าเดินเพื่ออะไร แล้วจะเดินอย่างไร โยนิโสมนสิการ คือการกำหนดไว้ในจิตอย่างแยบคายด้วยอุบายปัญญา ฉะนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องโยนิโสฯ ก่อน ถ้าเราไม่รู้ ไม่กำหนดรู้ ไมรู้จักการโยนิโสฯ การกระทำกรรมหรือสร้างกรรมใดๆ ก็จะส่งผลไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับขณะจิตที่สร้างกรรม เพราะว่าถูกอารมณ์ร่วมของกรรมมาควบคุมจิต จึงทำให้การดำเนินไปของกรรมนั้นๆ ไม่อยู่ในควบคุม หรือเรียกว่าสติไม่สมบูรณ์ หรือในบางเรื่องก็ถึงขั้นขาดสติได้ โลภะ โทสะ โมหะ ที่รวมเรียกว่า ราคะ นั้น เป็นเหตุใหญ่ที่ทำให้สัตว์ดำเนินกรรมไปอย่างผิดทำนองครรลองแห่งกรรม ทำให้เบี่ยงเบนพฤติกรรม ที่สุดก็สลับซับซ้อน ยุ่งเหยิงยิ่งกว่ารกชัฏ เราจึงต้องแก้ไขพฤติกรรมที่ผิดเหล่านี้ เพื่อให้ชีวิตมีสุข ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

การได้ศึกษา การได้ทำความเข้าใจ และการเพียรพยายามที่จะแก้ไขสิ่งที่เคยผิดมาแล้ว ไม่กระทำต่อไปอีก นี้จึงเป็นทางถูก เป็นการปฏิบัติธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่อย่างที่เข้าใจกัน ไปปฏิบัติธรรมเพื่ออย่างนั้น เพื่ออย่างนี้ เพื่อให้เห็นอะไรต่ออะไรที่ไร้สาระ สาระอันสำคัญของการปฏิบัติธรรมก็เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ที่สมบูรณ์ขึ้น เพื่อให้หลุดพ้นจากพฤติกรรมอันไม่ควร อันเป็นธรรมดาของสัตว์ที่ยังไม่ได้รับการอบรม

คนส่วนมากยังไม่เข้าใจ จึงถือโอกาสนี้แจงให้เข้าใจพอสมควร ไม่มากไม่น้อย เอาเพียงแค่เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อที่จะได้เข้าใจเสียใหม่ว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่เพียงแค่ไปนั่งสมาธิเหมือนที่คนจำนวนมากตั้งคำถามให้หลวงตาตอบ คนที่เดินเข้ามาก็จะถามคำถามเดิมๆ ว่า มาทำอะไรบ้าง แล้วก็ตอบตัวเองว่า ไม่ชอบ ไม่มีเวลา ไม่พร้อม ยังไม่ศรัทธา เอาไว้ว่างๆก่อน ตอนนี้มีความสุขดีแล้ว เคยฝึกแล้ว สอนแนวอาจารย์ไหน สอนแบบยุบหนอพองหนอ หรือแบบพุทโธ นั่งแล้วเห็นอะไร และอีกมากมายคำถามที่ไม่เข้าสาระเลย นี่เรียกว่าล้มเหลวในการสอนกรรมฐาน หรือกัมมัฏฐาน หรืออาจเรียกได้ว่า ศาสนาพุทธล้มเหลวในคนส่วนใหญ่ เหตุเพราะไม่มีการสอนที่ถูก มีการตั้งสำนักมากมาย แต่สอนกันไปแบบตามใจกิเลส คนส่วนใหญ่ก็ชอบ แล้วที่สุดก็หลง กลายเป็นว่างเปล่า คำสอนขององค์พระพุทธศาสดาหายไปหมด ว่างเปล่าในคนที่เรียกว่าแผ่นดินพุทธ ยิ่งสังคมยุคใหม่ยิ่งแย่ลง ไม่เข้าใจแล้วยังพูดต่อ ขยายความต่อไปอย่างผิดๆ นี้แหละที่พระพุทธศาสดากล่าวเตือนไว้แล้วในพุทธกาล เหตุที่ทำให้พระธรรมคำสอนของพระองค์เสื่อม ก็ด้วย เรียนผิด ทรงจำผิด ถ่ายทอดผิด นี้เอง

วันนี้ก็ขอจบเพียงเท่านี้ก่อน ลุกขึ้นมาตอนตีสอง ทำกิจเสร็จก็ตั้งใจมาเขียนเรื่องนี้ให้ ส่วนการที่จะฝึกเดินจงกรมและนั่งสมาธิให้ถูกวิธีตามหลักสติปัฏฐานสี่นั้น หลวงตาได้เคยอธิบายไว้แล้ว ขอให้ไปค้นหาอ่านเอาเองสำหรับผู้ที่สนใจ ส่วนผู้ที่ไม่สนใจก็ตามอัธยาศัย เป็นเรื่องของบุคคล ย่อมมีชอบ ไม่ชอบ เป็นเรื่องธรรมดา แต่จะบอกว่า ชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าเอาไปเสี่ยง ถ้าได้เรียนรู้ทางถูกเสียแต่ยังเยาว์วัย โอกาสที่จะเป็นผู้สำเร็จตามเจตนาปรารถนาก็มีได้สูง เมื่อถึงกาลอันวิบัติแล้ว ก็จะร้องคร่ำครวญว่า “รู้อย่างนี้ไม่ทำเสียดีกว่า” ก็อาจจะสายเกินไปแล้ว

ถ้ายังไม่ตายเสียก่อน มีโอกาสก็จะมาเล่าสู่กันใหม่ วันนี้พอเพียงเท่านี้ บุญรักษา


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
kittiyano

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1