ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

ไขปัญหาธรรม เรื่อง สังโยชน์สิบ
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : ไขปัญหาธรรม เรื่อง สังโยชน์สิบ
#107
ไขปัญหาธรรม เรื่อง สังโยชน์สิบ 13 ปี, 4 เดือน ก่อน  
วันนี้ หลวงตาจะมาเริ่มเรื่องใหม่ คือเครื่องผูกสัตว์ให้ติดอยู่ หรือจะเรี่ยกว่า ห่วง ก็น่าจะได้ เพราะว่าอย่างที่เคย อธิบายเอาไว้แล้วว่า ห่วงอะไรก็เกิดที่นั่น ห่วงนี้ร้ายนัก ห่วงอะไร หวงอะไร ก็ติดอยู่ที่นั้น ไม่อาจที่จะตัดใจให้ละวางได้ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ก็เท่ากับว่า ผู้ที่ห่วงหรือหวงนั้น จะเป็นผู้ที่ได้รับความทุกข์เอง เช่น แม่ห่วงลูก ก็ต้องเฝ้าอบรมสั่งสอน พร่ำบ่นจนลูกรำคาญ แต่หารู้ไม่ว่า ทั้งสองฝ่ายเป็นทุกข์ทั้งคู่ เพราะแม่เองก็บอกว่ารักนะจึงเฝ้าห่วง คอยอบรมบ่มเพาะนิสัย อยากให้ได้ดั่งใจตน ส่วนด้านฝ่ายลูก ก็ใช่ว่าจะยอมรับรู้เรื่องไปทั้งหมด ต้องมีบ้างไม่มากก็น้อยที่ไม่ยอมรับความคิดเห็นของฝ่ายแม่ จึงมีการขัดแย้ง ขัดขืน ฝืนคำสั่งสอน หนักเข้าก็พลอยรำคาญ ที่สุดก็ทะเละเบาะแว้งกัน ต้องขึ้นเสียงโต้เถียงกัน หนักนักก็ทำร้ายกัน

แม่ตีลูกเพราะไม่ได้ดั่งใจรัก
ลูกก็หักหาญน้ำใจให้ขัดขืน
แม่พร่ำบ่นตีไปสอนไปทุกวันคืน
ลูกก็ขืนขัดใจเพราะวัยทราม

ทั้งสองฝ่ายไม่ลงรอยก็เพราะรัก
แม่ฟูมฟักเลี้ยงดูหวังได้ชื่น
ลูกก็ขัดข้องหมองใจให้จำกลืน
ไม่ยิ้มรื่นเหมือนเมื่อครั้งยังเยาว์วัย

แม่รักเจ้าใยเจ้าไม่รู้ว่าแม่รัก
ที่แม่หักหาญน้ำใจให้เจ้าฝืน
ก็เพราะห่วงวันข้างหน้าจะไม่ยืน
ให้เจ้าฝืนก็เพื่อวัยที่ใสงาม

ลูกไม่ชอบกรรมวิธีที่แม่สอน
แม่ลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน
ใยต้องฝืนบังคับน่ารำคาญ
เรื่องสำราญเบิกบานใจใยไม่ทำ

วัยของแม่ที่ผ่านมาช่างน่าเบื่อ
ให้ช่วยเหลือการกิจมีที่ไหน
เรื่องของแม่แม่ก็ทำของแม่ไป
ฉันไม่ใช่เด็กแล้วหนา เข้าใจไหม

เมื่อตอนเด็กแม่เฆี่ยนตีฉันไม่ว่า
ตอนนี้อย่ามาเฆี่ยนตีฉัน รู้ไหม
เมื่อวัยเด็กฉันยังเล็กไม่เป็นไร
ตอนนี้ใหญ่แล้วนะแม่ อย่าเฆี่ยนตี

เอ็งจะสู้แม่หรือไอ้ลูกหมา
แม่จะด่าแม่จะเฆี่ยนมีไรไหม
ถ้าเองสู้แม่จะแช่งให้บรรลัย
ใหญ่แค่ไหนแม่ก็จะเฆี่ยนตี

ลูกทรพีคิดสู้กระทั่งแม่
ที่เหลียวแลคอยป้อนข้าวและเช็ดขี้
เอ็งรู้ไหมว่าใคร ตรองให้ดี
เอ็งเติบใหญ่มานี่ใครดูแล

ฉันไม่สู้ดอกแม่ อย่าเข้าใจผิด
ฉันไม่ติดสุรายาบ้าก็ดีถม
ฉันเพียงอยากให้แม่ ออกปากชม
อย่าเพียงข่มด่าว่าและเฆี่ยนตี

ที่ว่าใหญ่ฉันหมายถึงว่าโตแล้ว
เพื่อนพ้องแผ้วผ่านไปมาจะว่าเสีย
โตใหญ่แล้วใยถึงต้องถูกเฆี่ยนตี
แล้วเมื่อไรจะมีได้ละลูกเมีย

เอ็งไม่รักแม่แล้วหรือลูกของแม่
เห็นแม่แก่หรืออย่างไรคิดหนีเสีย
รอแม่ตายก่อนค่อยคิดมีลูกเมีย
จ้างให้เสียอย่างไร กูก็ไม่ยอม.............

ถ้าเขียนต่อเห็นทีผีเพลงยาวจะเข้าสิงเสียกระมัง เอาว่า ห่วง และ หวง นี้แหละตัวทุกข์ เพราะยึดเอาไว้ ถือเอาไว้ ก็เลยลำบากนาน

ที่เริ่มเรื่องเอาไว้ว่าเครื่องผูกสัตว์ให้ติดอยู่นั้น ในระดับพื้นฐานทั่วไป ก็อย่างที่เราท่านทั้งหลายได้ผ่านมาแล้ว ลองว่าได้ห่วงและหวงละก็ เป็นอันไม่ไปไหนสะดวกแน่ สมาธิที่จะทำอะไรก็ไม่สมบูรณ์ ป้ำๆเป๋อๆ ยิ่งขับรถด้วยแล้ว โอกาสกลับบ้านเร็วมีมาก หลวงตาเคยเป็นมาหมดแล้วละ

แต่ในที่นี้ ไม่ได้หมายเอาเครื่องผูกสัตว์แบบธรรมดา แต่ว่าเป็นเครื่องผูกสัตว์ให้ติดอยู่ในวัฏฏะ ไม่สามารถนำจิตของเจ้าของเข้าสู่นิพพานได้ เครื่องผูกสัตว์นี้มีชื่อเรียกทางภาษาธรรมว่า สังโยชน์ สังโยชน์นี้มีด้วยกันสิบอย่าง มีสักกายทิฐิเป็นปฐม และมีอวิชชาเป็นที่สุด

สักกายทิฐิ หมายถึงนักปฏิบัติที่ปฏิบัติได้แต่ปาก ส่วนในความเป็นจริงหรือจิตลึกๆ นั้นยังตัดละวางลงไม่ได้ ปากก็บอกว่า ไม่มีอะไรเที่ยง เกิดแล้วต้องดับ พิจารณาไตรลักษณ์แล้วเห็นทุกอย่างดับสูญไม่มีอะไรเที่ยง ตัวตนไม่มี อะไรอะไรก็ไม่มี ทุกอย่างเป็นสิ่งสมมุติ ยึดไม่ได้ จับไม่ได้ มันไม่เที่ยง ดูอย่างเงินซิไปเที่ยวเดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็ไป ไม่เที่ยง หึ หึ คนละเรื่องเดียวกันหรือเปล่าหนอ

สักกายทิฐิ นั้น พิจารณาให้ง่ายที่สุด ไม่ยุ่งยากดอก เพียงแค่ให้ทำความเข้าใจให้ได้ว่า ทุกสรรพสิ่งนั้น มีคุณค่าทั้งสิ้น เราเพียงอาศัยใช้สอยเท่านั้น มีหน้าที่ใช้สอยก็ใช้สอย มีหน้าที่บำรุงรักษาก็บำรุงรักษา เมื่อถึงกาลเวลามันก็ต้องหมดหน้าที่

มีกายหลังนี้ก็เพียงอาศัยเป็นทีระลึกรู้ รู้อะไร ก็รู้ว่าเรานั้น เกิดมานานแล้ว ใหม่ๆ ก็คงนับอายุ ต่อเมื่อละเอียดเข้า ก็จะเห็นว่าเรานั้น เกิดแล้วก็ตายอยู่ตลอดเวลา ชาติภพที่เคยนับเพียงหนึ่งในทุกวันนี้ แท้จริงแล้ว ชาติภพมีมากมายเหนือที่จะคณานับ ในหนึ่งชีวิตเรามีชาติ คือเกิด และ ภพ คือที่ๆอาศัยเกิดมากมาย

ที่กล่าวนี้ ไม่ใช่ว่าหมายเพียงเอาร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่หมายเอาจิตด้วย เพราะจิตนั้นเกิดดับได้มากมายกว่ากายหลังนี้นัก ที่คิด ที่นึก ที่ปรุงแต่ง ไม่ว่าเรื่องใดๆ นั่นแหละจิตเกิดแล้วก็ดับอยู่ตลอดเวลา คิดเรื่องนี้แล้วก็ไปคิดเรื่องนั้น เดี๋ยวเรื่องโน้น เรื่องนั้นยังไม่ทันจบ ไปโผล่เรื่องนี่อีกแล้ว ตรองดูให้ดีแล้วก็จะรู้เองว่าเกิดดับมากมายแค่ไหน

ที่มันเกิดดับมากมาย ก็เพราะจิตไม่สงบ ดิ้นรนปรุงแต่งไปเรื่อย เวลาฝึกก็จะเอาให้จิตสงบ นานนักหนาแล้วที่ฝึกมา ไม่มีสงบดอก ตราบที่ยังมีกรรมอยู่ ละกรรมได้มากเท่าใด จิตก็สงบลดละลงได้มากเท่านั้น จิตนั้นจะละกายหลังนี้ได้ ก็ต่อเมื่อทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แล้ว ถ้ายังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ก็ยังต้องติดอยู่ ยังคงต้องถูกรั้งผูกเอาไว้ด้วยกรรม อย่าหลอกตัวเอง มันบาป วาระที่สุดแห่งลมหายใจมาถึงเมื่อไร ก่อนที่จะหมดลมนั้น จิตจะค่อยๆ อ่อนล้าลง สิ่งที่ไม่เคยคิดถึงก็มาปรากฏให้เห็น ดีก็ยิ้ม ร้ายก็ดิ้นรน ขัดขืน กายอ่อนแรง สติก็อ่อนล้า ควบคุมอะไรไม่ได้ ที่สุดก็ต้องติดอยู่ที่กรรมสุดท้ายที่มาปรากฏในนิมิต ต้องไปเกิดในภพนั้นๆ เหมือนเมื่อตอนที่เราคิดถึงอะไรก็จะส่งใจไปทีนั้น คิดถึงอาหารอร่อย ก็จะต้องดิ้นรนไปหาอาหารอย่างนั้น มันถึงได้มีโจรเต็มบ้านเต็มเมืองไงละ อยากไม่ยอมหยุด

ฝึกอย่างนี้เรื่อยไป ประเดี๋ยว อะไร อะไร ก็จะดีขึ้นเอง

ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธํมโม สันทิฏฐิโก โอปะนะยิโก
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ เอหิปัสสิโก


ธัมมะใดๆ ที่องค์พระพุทธศาสดา ได้ทรงสั่งสอนไว้ดีแล้ว ผู้ศึกษาและปฏิบัติต้องลงมือกระทำด้วยตนเอง ต้องน้อมนำเอาคำสอนทั้งหลายเหล่านั้น มากระทำการวิเคราะห์ในจิตอย่างแยบคายด้วยอุบายปัญญา เมื่อกระจ่างแล้ว ก็รู้ได้เฉพาะตัวเจ้าของเท่านั้น ต้องกระทำให้แจ้งยิ่งๆ ขึ้น ด้วยการบอกต่อแก่ผู้อื่นว่าผลนั้นดีอย่างไร และต้องแนะนำให้บุคคลที่เราบอกต่อว่า ควรจะปฏิบัติเยี่ยงไร ตัวตนถึงจะได้ลดลง และสามารถขจัดความเขลาที่ยึดเอาตัวตนเอาไว้ สวมหมวก ก็เอาออกได้ ไม่ต้องสวมไปตลอดเวลาตลอดชีวิต เวลาที่เข้าร่ม เอาหมวกออกแล้วมันรู้สึกอย่างไร ก็ลองเอาความรู้สึกอย่างนั้นมากระทำที่จิตดู หัวล้านใส่วิก เมื่อกลับถึงบ้าน หมดภารกิจแล้วน่าจะเอาวิกออกนะ สวมใส่ไว้ตลอดเวลาแม้กระทั่งจะนอน ก็ดูกระไรอยู่ ลองตรองดูแล้วจะรู้ว่า สักกายทิฐิ นี้มันเป็นภาระหนักแค่ไหน ลองสวมหมวกแล้วนอนหลับดู นอนนะไม่ใช่นั่งงีบ

หลวงตาเคยได้อยู่กับนักบวชคนหนึ่ง ใช้เวลาไม่มากนัก แต่ก็ได้เห็นอะไรๆ มากมายทีเดียว แกพยายามคุยโวโอ้อวดว่าแกนั้นสำเร็จเป็นพระอริยะบุคคลแล้ว ระดับไหนไม่ปรารถนาจะตรอง แต่ว่ามองไปที่แกแล้วก็ถามคำถามไม่กี่คำถาม แกก็ไม่เข้าใจ ช่วงนั้นเป็นฤดูหนาว ต้องหาหมวกไหมพรหมที่ญาติโยมอุทิศมาให้สวมใส่กัน นักบวชคนนั้น ก็มีพิเศษกว่า แกเล่าว่า มีอาจารย์ชื่อดัง ก็เอยชื่อมาแต่หลวงตาก็ไม่ได้สนใจ สนใจที่หมวกของแก หมวกนั้นเป็นหมวกที่เย็บเอาจากผ้าสีกลัก ทรงตั้งอยู่ได้เพราะใช้ผ้าหนาพอควร ผู้ที่ทำการเย็บหรือสั่งเย็บต้องมีความประสงค์จะบอกอะไรให้เธอรู้ แต่เธอก็ไม่รู้ นักบวชคนนั้นมีความภาคภูมิใจกับหมวกใบนั้นมาก บอกว่าท่านอาจารย์สั่งไว้ว่าอย่าถอด หลวงตามองหมวกที่เธอภาคภูมิใจแล้วก็ถามว่า หมวกนี้มีปริศนาธรรมอยู่ ท่านเข้าใจหรือไม่ เธอก็บอกว่าเข้าใจ ที่ว่าได้หมวกนี้มา ก็เพราะว่าเมื่อครั้งที่ไปพำนักศึกษากับอาจารท่านนั้น ได้เล่าประสพการณ์ต่างๆ ให้อาจารย์ฟัง ก่อนที่จะกลับ ท่านจึงให้หมวกมาและกำชับว่าอย่าถอด หมวกลูกนั้น นอกจากจะเย็บเป็นกลีบๆ ด้วยฝีมือประณีตแล้ว เมื่อมองดูที่ส่วนยอดก็ดูดีสะดุดตาสะดุดใจ เพราะว่า หลวงตากับอาจารย์ท่านนั้น คงจะมีทัศนะเดียวกัน หมวกนั้นเมื่อรวบถึงยอด ท่านตั้งใจที่จะให้เป็นทรงแข็ง เพราะว่าจะได้ตั้งยอดได้ และที่บนยอดนั้น ท่านก็ตั้งใจเอาผ้ามาทำให้หนา วางทับไว้บนยอดสามชั้น จงใจเย็บให้มีความหนา ไม่ใช่ว่าจะเอาผ้ามารองเอาไว้เฉยๆ แต่ต้องการที่จะให้เห็นเป็นชั้น สามชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป ที่สำคัญ ท่านอาจารย์ผู้ให้ท่านมีปัญญามาก มีอุบายมาก ท่านเอาห่วงทรงยาวเย็บติดไว้บนส่วนยอด ดูเผินๆ ก็เหมือนกับว่าจะให้เอาไว้แขวน แต่เมื่อผู้สวมใส่ ใส่ครอบกบาลแล้ว ก็ดูเหมือนกับสวมชฎาเอาไว้อย่างไรอย่างนั้น คนที่มีสักกายทิฐิมากย่อมมองไม่ออก คนที่ไม่เข้าใจธรรม ก็จะมองไม่เห็นว่าเป็นปริศนาธรรม ที่เล่ามาก็ไม่ได้หวังมากไปกว่าจะบอกว่า คฤหัสถ์นั้น เมื่อมีสักกายทิฐิมากก็ไม่มีใครว่าอะไร คนเขาก็มองว่าอีโก้ จะคบจะหาก็ต้องมีอุบาย คนเหล่านี้ถูกหลอกง่าย ถ้าเป็นนักบวช ครูบาอาจารย์ท่านก็เมตตา ด้วยการไม่ว่ากล่าวอย่างไร เพราะว่าสอนยาก ท่านเมตตาแล้วที่วางอุบายให้รู้ว่า เป็นได้แค่ ฤษี มีชฎาครอบเท่านั้นเอง

วิจิกิจฉา ความสงสัยในธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่รู้ ไม่ถ่องแท้ ก็สงสัยไปหมด เหมือนตาบอดคลำช้าง เพราะไม่เคยเห็นจึงสงสัยไปหมด การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน จะเอาแต่อ่านตำรา อ่านประสบการณ์ต่างๆ ของผู้อื่นจากตำรา จากหนังสือสิ่งพิมพ์ต่างๆ แล้วจะรู้จะเข้าใจนั้นมันยากนัก เหมือนควายที่นอนปลัก อาศัยคลายร้อน ได้โคลนไปเต็มตัว พอบรรเทา พอขึ้นจากปลักเดินเที่ยวสักพัก โคลนที่ติดตัวก็หลุดออก ร้อนต่อ เป็นอย่างนี้มานานแล้ว ตั้งแต่อดีตกาลนานโพ้นโน่น

เมื่อได้ศึกษามาพอเป็นแนวทางแล้ว ก็ต้องลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง และต้องปฏิบัติอย่างถูกวิธีด้วย ไม่ใช่เอากิเลสของตนเป็นเครื่องตัดสินว่า เอาอย่างที่ฉันชอบนี่แหละ แนวปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น ยากนักที่จะเดิน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องคอยตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ดังที่เคยได้กล่าวไว้แล้ว ในตอนต้นๆ ว่า ต้องเอาศีลและธรรมเก้าประการ มาตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการเดินหลงทาง มีเข็มทิศอันเดียวมันไม่แน่นอน เดินหลงได้ ต้องมีเข็มทิศซ้อนเข็มทิศ หรืออาจจะต้องมีเข็มทิศซ้อนกันหลายๆอันก็ยิ่งดี

การที่เราได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำให้มากแล้ว ก็หวังได้ว่าจะต้องประสบพบทางอันสว่าง แต่จะแน่นอนก็ต้องคอยคัดหางเสือตนเอง เมื่อสมัยก่อน ครั้งที่หลวงตาปฏิบัติใหม่ๆ ก็ใฝ่หาอาจารย์เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้อย่างที่ต้องการ เพราะว่าตัวเองเคยเดินทางสายนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กอายุไม่ถึงสิบขวบ ในสมัยนั้น ยังมีวิชาอาคมของร้อนอยู่มากมาย เสกหนังควาย ร่ายเวทย์มนต์ส่งควายธนูไปสู้กัน ก็เห็นมาแล้วเรียนมาแล้วทั้งสิ้น แต่โชคดีที่มีบุญเก่า จึงมีอาจารย์ในคราวเดียวกันถึงสองคน ฝ่ายดำหนึ่ง ฝ่ายขาวหนึ่ง ที่สุดก็เลือกเดินฝ่ายขาว ก็ใช้เวลายาวนานมาก มาเห็นจริงเอาเมื่อกาลเหมาะสม มรรคสมังคี ก็ตอนอายุได้เกือบห้าสิบ เดินผิดเดินถูกหลงทางมามากมาย เมื่อตรวจดวงชะตาแล้ว อย่างไรเสียก็ตายเมื่อวัยห้าสิบ ความกลัวตายหรืออะไรก็ไม่รู้ มันหลายเรื่องมากราว มาประดังทับถมตั่งแต่ปี พ.ศ. สองห้าสามห้า เรื่อยมา ที่สุดก็ได้ปัญญา ตอนนั้นอย่างที่เคยบอกไว้ว่าเหมือนสะเก็ดไม้ อันตรายมาก แล้วก็ตายจริงๆ แต่ว่าตายจากชาติหนึ่งที่มีทั้งความดีและชั่วปะปนจนสับสน จนที่สุด ก็ได้เห็นตัวเอง เห็นความชั่วทั้งหลายที่ได้ทำมาแล้ว แต่ก็ยังปลอบใจตัวเองว่า เราชั่วอย่างไรก็ไม่หนักหนามากมายนัก เคยลักทรัพย์ เคยให้ร้าย เคยคิดร้าย แต่ไม่เคยฆ่าสัตว์ใหญ่ ตกปลาตั้งแต่เด็กยังตกไม่ได้ ก็ได้น้าค่อม ที่อยู่โรงอาหารสอนว่าอย่าทำเลย ทำบาปไม่ขึ้นนะดีแล้ว มาจะสอนให้ว่าตกปลาอย่างไร แต่ตกได้แล้วก็ปล่อยเสีย รู้ไว้แล้วก็อย่าทำ วันนั้นตกปลาได้ดีใจมาก เคยนั่งร้องไห้เพราะตกปลาไม่ได้ เพื่อนๆ หย่อนเบ็ดลงน้ำปลาก็ติดเบ็ด ปลาชุมมากใต้ถุนโรงอาหาร แต่เราตกไม่ได้ พอตกได้ก็ตามสัญญา ไม่ตกอีกเลย มีครั้งหนึ่งพรรคพวกออกเรือไปตกปลาที่ทะเล เช่าเรือชาวบ้านไปตกในแหล่งที่ชุม ใครๆ หย่อนเบ็ดก็ได้ปลา แต่ตัวเราหย่อนเท่าไรก็ไม่ได้ ที่สุดเมาเรือ นอนพักดีกว่า ได้ปลาเก๋าตัวเท่าลูกปลาหมอ หึ หึ

ทุกวันนี้ แนวทางที่หลวงตาสอนกรรมฐานนั้น เป็นแนวทางที่พระพุทธองค์สั่งสอนเอาไว้ในปฐมเทศนา เมื่อมีใครถามว่า ปฏิบัติธรรมสายไหน ก็ตอบว่าสายพระพุทธเจ้า เพราะว่าเป็นสายเดียวที่ได้ผลแน่นอน ก็เพราะว่าเดินทางสายนี้ไง ถึงได้เข้าใจ เดินผิดเดินถูกมานานนักหนา พอเดินตามรอยพระพุทธศาสดา ก็สิ้นสงสัย ดับวิจิกิจฉาได้ในที่สุด มีแต่ศรัทธาเปี่ยมล้น พ้นจากสงสัยทั้งมวล

ศีลพรตปรามาส เมื่อพ้นความสงสัย การประพฤติธรรม ก็ยิ่งแตกฉานเดินตรง ความหลงต่างๆ ก็เริ่มถูกนำเอามาวินิจฉัย ประพฤติปฏิบัติธรรมไปทำไม เพื่ออะไร ความเข้าใจก็เริ่มกระจ่างมากขึ้นมากขึ้น ประกอบกับเป็นคนใฝ่รู้ชอบศึกษา เมื่อจะศึกษาสิ่งใด ก็จะทำให้ถึงที่สุด ให้เข้าใจให้ได้ เมื่อเข้าใจแล้วก็จะวางลง ไม่วุ่นวายอีก แต่จะหาเรื่องใหม่ๆ มาฝึกฝนต่ออีก เช่นกัน เมื่อตั้งใจจะเดินทางสายนี้แล้ว ก็ต้องเอาให้ถึงที่สุดให้ได้ พระพุทธศาสดาทรงสอนเอาไว้แล้วว่า นิพพาน นั้นมีสองอย่าง พูดง่ายๆ ก็คือ นิพพานดิบ กับ นิพพานสุก ถ้าไม่รู้จัก นิพพานดิบ ก็เหมือนคนเดินทางไปตามทางแต่เพราะไม่เคยเดินมาก่อน จึงไม่รู้จักเส้นทางว่ามีแยกมีเลี้ยวที่ไหน ต้องระวังอย่างไร ตรงไหนอันตราย ตรงไหนต้องระวังสุดชีวิต ต่อเมื่อได้เดินทางสายนั้นแล้ว รู้เส้นทางแล้ว ก็ต้องไม่ประมาท เพราะว่า การเดินทางทุกครั้ง มีอุปสรรคทุกครั้ง จะประมาทไม่ได้ ก็ในเมื่อเรายังต้องสร้างกรรมอยู่ ก็ต้องระมัดระวัง เหมือนอย่างที่คนชอบพูดกันว่า กรรมบังตา เช่นเดียวกัน ถ้าเคยคุ้นกับเส้นทางแล้วละก็ เมื่อมีอะไรไม่ชอบมาพากล ก็ต้องใช้ความระมัดระวังสุดชีวิต จะประมาทไม่ได้ เดินทางสายนั้นบ่อยๆ ใช่ว่าจะอาศัยความคุ้นแล้วไม่ระมัดระวัง ตรงข้าม เมื่อคุ้นก็ต้องระวังมากยิ่งขึ้น เพราะว่ามันไม่เที่ยงแท้ ถ้าถึงเวลานั้นมาถึง เราไม่ประมาท ก็มีโอกาสถึงที่หมายได้

ศีลพรตปรามาสก็เหมือนกัน ความหมายก็คือ การรักษาศีลและถือพรตปฏิบัติ เพื่อการเดินทางอันสะดวก ไม่ประสพภัย มิใช่เป็นไปเพื่ออวดโอ้อวดอ้าง มิได้เป็นไปเพื่อการอ้างอิง แต่เพื่อความรู้จริง เอาตัวรอดได้เมื่อถึงเวลาจำเป็น ใหม่ๆ ก็เตรียมเสบียงไปเสียจนหนัก เดินไป ก็ทิ้งไป เพราะว่ายิ่งเดิน ก็ต้องยิ่งระมัดระวัง สัมภาระก็เลยเป็นสัมภารก พอรู้เส้นทางแล้ว ต่อไปเวลาจะเดิน ก็ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร พร้อมเมื่อไรก็เดิน ไม่ต้องขนหาอะไรไปทั้งนั้น ถ้าขนหามาก เตรียมมาก ก็แสดงว่าไม่พร้อมที่จะเดินทาง อย่างนี้แหละที่จะอธิบายคำว่า ศีลพรตปรามาส

ตราบใดที่ยังไม่รู้ ก็ปรามาสอยู่ร่ำไป เห็นมาออกทีวีกันก็เยอะ แข่งกันอวดโอ้ แย่งกันอวดอ้าง พากันเดินทางสู่อบายนะไม่ว่า ส่วนใหญ่จะกล่าวไม่ตรงธรรม พระนะไม่ค่อยกล้า เพราะว่ามีพระวินัยบังคับ ประเดี๋ยวจะปราชิก คือปราชัยต่อศีลอันงาม อันที่จริงถ้าเข้าใจตรงกันว่า ปราชิก ก็คือผู้ปราชัยต่อศีลอันงาม ก็จะรู้เลยว่า

ธรรมเหล่าใด
เป็นไปเพื่อความกำหนัด
ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้
ไม่เป็นไปเพื่อความพรากสัตว์ออก
เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส
ไม่เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก
ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย
เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ
ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ
เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด
เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
ไม่เป็นไปเพื่อความปรารภความเพียร
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้เลี้ยงยาก
ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้เลี้ยงง่าย
นี้มิใช่ธรรม มิใช่วินัย มิใช่คำสั่งสอนขององค์พระพุทธศาสดา

ฉะนั้น เมื่อหวังที่จะเป็นผู้พ้นจากทุกข์ ก็ต้องดำเนินตามคำสั่งสอนขององค์พระพุทธศาสดา ผู้ที่ได้ทำความดับทุกข์ให้แจ้งแล้ว และได้สั่งสอน ถ่ายทอด ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และพากเพียรปฏิบัติให้ถึง การที่ปฏิบัติไม่ถึงแล้วจะบอกว่าไม่จริง ไม่มี เป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องยาก ไม่ควรจะให้ออกจากปากของนักปฏิบัติธรรม และการพูดเพียงเพื่อให้ได้ศรัทธา ก็เท่ากับไม่อยู่ในคำสั่งสอนขององค์พระพุทธศาสดา ความเข้าใจผิดเกิดขึ้นได้ในการปฏิบัติ แต่ต้องวินิจฉัยให้ละเอียด ให้สมกับเป็นศิษย์ของพระตถาคต ก่อนที่จะหลุดออกจากปาก ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็เท่ากับเป็นการพาสัตว์ทั้งหลายที่เป็นสาวกร่วมเดินทางสู่อบายไปด้วย


เรื่องประกอบ

เรื่องประกอบนี้ หลวงตาคัดลอกมาจากพระไตรปิฏก ที่สามารถค้นหาอ่านได้ไม่ยากตามเว็บไซด์ต่างๆ รวมถึงเว็บ วัดป่าสุธัมมาราม นี้ด้วย เป็นเพียงบางส่วนที่คัดลอกมาจาก มหาปรินิพพานสูตร ข้อแปดสิบเก้า มีความว่า

[๘๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในโกฏิคามแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังนาทิกคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนาทิกคามแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับในที่พักซึ่งก่อด้วยอิฐที่นาทิกคามนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนามว่าสาฬหะ มรณภาพแล้วในนาทิกคาม คติและภพเบื้องหน้าของเธอเป็นไฉน ภิกษุณีนามว่า นันทา มรณภาพแล้วในนาทิกคาม คติและภพเบื้องหน้าของเธอเป็นไฉน อุบาสกนามว่า สุทัตตะ ... อุบาสิกานามว่า สุชาดา ... อุบาสกนามว่า กกุธะ ... อุบาสกนามว่า การฬิมพะ ... อุบาสกนามว่า นิกฏะ ... อุบาสกนามว่า กฏิสสหะ ... อุบาสกนามว่า ตุฏฐะ ... อุบาสกนามว่า สันตุฏฐะ ... อุบาสกนามว่า ภฏะ ... อุบาสกนามว่า สุภฏะ ทำกาละแล้วในนาทิกคาม คติและภพเบื้องหน้าของเขาเป็นไฉน ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุนามว่าสาฬหะ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งของตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ภิกษุณีนามว่า นันทา เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา อุบาสกนามว่า สุทัตตะ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะ ราคะ โทสะ โมหะเบาบาง เป็นพระสกทาคามี กลับมายังโลกนี้คราวเดียวเท่านั้นแล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ อุบาสิกานามว่า สุชาดา เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เป็น
พระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า อุบาสกนามว่า กกุธะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา อุบาสกนามว่า การฬิมพะ ...อุบาสกนามว่า นิกฏะ ... อุบาสกนามว่า กฏิสสหะ ... อุบาสกนามว่า ตุฏฐะ ...อุบาสกนามว่า สันตุฏฐะ ... อุบาสกนามว่า ภฏะ ... อุบาสกนามว่า สุภฏะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา ฯ

ดูกรอานนท์ พวกอุบาสกในนาทิกคาม อีก ๕๐ คน กระทำกาละแล้วเพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา พวกอุบาสกในนาทิกคาม ๙๖ คน ทำกาละแล้ว เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง เป็นพระสกทาคามี กลับมายังโลกนี้คราวเดียวเท่านั้น แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ พวกอุบาสกในนาทิกคาม ๕๑๐ คน ทำกาละแล้ว เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ

ดูกรอานนท์ ข้อที่ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วจะพึงทำกาละนั้นไม่อัศจรรย์ เมื่อผู้นั้นๆ ทำกาละแล้ว พวกเธอจักเข้าไปเฝ้าพระตถาคต แล้วทูลถามเนื้อความนั้น อันนี้เป็นความลำบากแก่พระตถาคต เพราะฉะนั้น เราจักแสดงธรรมปริยาย ชื่อ ธรรมาทาส สำหรับที่จะให้อริยสาวกผู้ประกอบแล้ว เมื่อจำนงอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้าดังนี้ ก็ธรรมปริยายชื่อว่า ธรรมาทาส นั้น เป็นไฉน ดูกรอานนท์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งซึ่งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม ดังนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติพึงเห็นเองไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหว ในพระสงฆ์ว่าพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ คือคู่บุรุษสี่ บุรุษบุคคลแปด นี้พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยศีลอันพระอริยะใคร่แล้ว อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาและทิฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ ฯ

ดูกรอานนท์ อันนี้แลคือธรรมปริยายชื่อว่าธรรมาทาส สำหรับที่จะให้อริยสาวกผู้ประกอบแล้ว เมื่อจำนงอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ

ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับในที่พักซึ่งก่อด้วยอิฐในนาทิกคามนั้นทรงกระทำธรรมีกถานี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ



เรื่องสังโยชน์สิบ หลวงตาขอจบเพียงเท่านี้ก่อนนะ ส่วนการที่จะบรรยายอธิบายถึงสังโยชน์ที่เหลืออีกเจ็ดข้อ ขอเป็นการบรรยายโดยตรง ไม่อาจที่จะมาบรรยายในที่นี้ได้ จึงขอท่านทั้งหลาย พิจารณาศึกษา และทำความกระจ่างจากพระธรรมคำสอนขององค์พระพุทธศาสดา ที่หาศึกษาได้จากพระไตรปิฏก

ขอบุญจงรักษาผู้บำเพ็ญบุญทุกท่าน


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
kittiyano

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1