ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

ไขปัญหาธรรม ตอน กรรมเบี่ยงเบน
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : ไขปัญหาธรรม ตอน กรรมเบี่ยงเบน
#109
ไขปัญหาธรรม ตอน กรรมเบี่ยงเบน 13 ปี, 3 เดือน ก่อน  
เมื่อหลวงตากล่าวถึงเรื่อง กรรมเบี่ยงเบน ก็มีคนสงสัย และถามว่าสร้างกรรมอย่างไร ถึงจะได้รับผลกรรมเบี่ยงเบน เมื่อถามมาอย่างนี้ ก็ต้องย้อนเข้าไปสู่เรื่องของอภิธรรมสักเล็กน้อย

การสร้างกรรมโดยมีจิตที่ประกอบไปด้วยความยินดี (ไม่ว่าจะเป็นกรรมฝ่ายบาป หรือว่ากรรมฝ่ายบุญ) มีความพึงพอใจ (ด้วยการวางอุบาย หรือด้วยการไตร่ตรอง) ไม่ประกอบไปด้วยความเห็นผิด (อันนี้หมายถึงไม่มีความคิดหรือดำริที่จะแก้ไขให้ถูก ต้องทำความเข้าใจให้ได้เสียก่อนนะว่าถ้าเป็นฝ่ายบาปที่ไม่ประกอบไปด้วยความเห็นผิด หมายความว่า ปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ ก็คือไม่คิดจะแก้ไขให้ถูกนั่นเอง)กระทำเรื่องกรรมนั้นๆด้วยตัวเจ้าของเอง โดยไม่ต้องอาศัยให้ใครชักชวน อันนี้หนักหน่อย ถ้าอาศัยให้มีคนชักชวนแล้วทำ อันนี้ก็เบามานิดนึง ถ้ามีคนมาบอกว่าอย่าทำความชั่วนั้นเลย ห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง หมายความว่าเขามาชวนให้ดี แต่ไม่เชื่อกลับมีความมุ่งมั่นที่จะทำชั่วนั้นต่อไปอย่างไม่ลดละ อันนี้ก็หนักที่สุด

นี่เป็นเพียงแค่ประโยคเดียวของเรื่องอภิธรรม โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ เพียงข้อแรกข้อเดียวนี้ เมื่อนำมาขยายความให้เข้าใจ ก็จะเห็นว่ากรรมนั้นหนักหนาเท่าไร ส่วนข้ออื่นๆ ที่ยังมีอีกมาก ไม่นำมากล่าวในที่นี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นเรียนหนังสือกัน นั่นมันผิดวัตถุประสงค์ของหลวงตา ที่ต้องการให้เข้าใจในบางส่วนก็พอเพียงแล้วที่จะเห็นผิดเห็นถูก แล้วก็รีบแก้ไขเสีย ไม่จำเป็นต้องเรียนกันอย่างเป็นวรรคเป็นเวร แล้วที่สุดก็ไม่รู้เรื่องเพราะว่ายิ่งเรียนกิเลสยิ่งหนา เพราะว่าข้ารู้แล้ว ท่านว่า เพราะรู้แล้วยังทำผิดนั้นนะโทษหนัก แต่พอเรียนๆไป ในทางธรรมนี่ ท่านกลับบอกว่าเพราะรู้จึงเลี่ยงไม่ทำกรรมก็เลยไม่หนัก

เปรียบดั่งคนที่ไม่รู้ว่าถ่านนั้นนะเมื่อติดไฟแล้วมันร้อนสามารถทำลายให้ได้รับบาดเจ็บ จนถึงสาหัสได้ แต่ถ้ารู้ก็จะรู้วิธีเลี่ยง เอาเพียงประโยชน์ของถ่าน ไม่เอาความอันตรายของถ่าน จึงอาศัยเครื่องมือในการหยิบจับใช้สอย ก็เลยได้รับเพียงแค่ไอร้อน ไม่มีความบาดเจ็บ หรือเจ็บสาหัสขึ้น นี่แหละถึงว่ายิ่งเรียนยิ่งกิเลสหนา ที่ว่าหนาก็เพราะว่าเอากิเลสตนเป็นเครื่องตัดสิน ไม่เอาหลักธรรมเป็นเครื่องตัดสิน โลกมันถึงได้ วิวัฒน์กันยกใหญ่ หลวงตาแปลคำว่า วิวัฒน์นี้ ว่าทำลายล้าง คนก็ว่าแปลก แปลแปลก เขาแปลว่าเจริญ นี่กลับแปลว่าทำลายล้าง ก็ลองมองวันนี้กันดูซิว่า วิวัฒน์มันแปลว่าอะไร เห็นความเจริญหรือว่าเห็นความฉิบหายละ

เปรียบดั่งนายช่างที่เผาเหล็กให้แดงจนสุกแล้วก็ตี ตี ตี แล้วก็เผา เร่งไฟให้แรง โหมแรงตีให้หนัก เมื่อเหล็กได้รูปทรงตามที่ต้องการแล้ว ก็เริ่มเบาไฟเบาแรง ตบแต่งให้ได้ที่มีความเจริญตา นี่เรียกว่าจิตวิจิตร ทำอะไรก็วิจิตร อย่างนี้วิวัฒน์ ก็หมายความว่าเผาทำลายให้ได้ที่แล้วตบแต่งให้ดี แต่ถ้าเป็นพวกจิตที่ไม่วิจิตร กิเลสหนา เอาตัณหาของตัวเจ้าของ มามองคนอื่นแล้วก็คิดเอาว่าต้องเผาทำลายให้หมด แล้วเหลือเอาแต่ที่เป็นเศษชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วค่อยมาคิดว่าจะทำอะไรดี วันนี้ขอเผาทำลายล้างก่อน อย่างนี้ วิวัฒน์ก็แปลว่าทำลายล้าง ไงละ ว่าไปข้างๆ คูๆ แบบหลวงตานี่มีหวังต้องโดนสักวัน หึ หึ แอดมินตรวจสอบแล้วก็รับผิดชอบเอาเองนะ หลวงตาก็ว่าไป ท่านก็ตรวจแล้วก็ตัดไปตามเหตุตามผล ไม่ว่ากัน ตัวใครก็ตัวเขา เจ้าของเองรับผิดชอบตัวเองเอานะ ฮึ ฮึ นอกเรื่องจนได้

เอากลับเข้าเรื่องเราต่อดีกว่า ที่จะทำให้กรรมเบี่ยงเบนใช่ไหม ก็ยกตัวอย่างเอาเลยละกัน จะได้เข้าใจง่าย มาอธิบายเป็นตัวธรรม แล้วเดี๋ยวทั้งคนเขียนและคนอ่านก็จะพลอยบ้ากันไป ง่ายๆ เอาเรื่องใกล้ๆ ความจริงละกันนะ เพื่อว่าเจ้าของเรื่องได้มาอ่านเจอจะได้เอาไปเทียบเคียงกับเรื่องของตัวแล้วจะได้ร้องว่า ฉิบหายแล้ว ฮ้า ฮ้า ฮ้า...

ตัวอย่างเช่น สมมุตินะ ไม่สมมุติไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องจริง เลยต้องสมมุติ พยายามบอกเจ้าตัวแต่ก็บอกไม่ถูก ไม่รู้จะบอกอย่างไร เดี๋ยวจะหาว่าหลวงตาคิดหาเรื่อง สมมุติว่ามีคนรู้จักชื่อคุณหนึ่ง มาช่วยนำรถของเราไปทำการดูแลและปรับปรุงให้ดี แต่เพราะความคะนองของคนรอบข้าง เลยเอารถไปเฉี่ยวชนให้ต้องเป็นตำหนิเป็นที่ไม่ปรารถนาของคนทั่วไป แต่เป็นพระก็ต้องทำใจว่า เรื่องมันต้องเป็นเช่นนั้นเอง แล้วคุณหนึ่งก็ออกอุบายว่า รับเป็นภาระเรื่องทำประกันรถให้ ทำประกันภัยรถให้เสร็จสรรพ แล้วก็เอารถนั้นไปทำการเคลมค่าซ่อม ก็ค่าซ่อมรถนั้นกับค่าเบี้ยประกันภัยชั้นหนึ่งนะ ไม่น่าจะต่างกันเท่าไร ดีไม่ดี ค่าซ่อมจะหนักกว่า แล้วก็บอกกับเจ้าของรถว่า ไปจัดการทำประกันให้เรียบร้อย เสียค่าใช้จ่ายไปมากเท่านั้นเท่านี้ แต่ว่าทำบุญถวายพระไม่ขอรับเงินที่ชำระไป อันนี้เรียกว่าได้คิดหาวิธีการเบี่ยงเบนเรื่องที่เป็นจริงให้กลายเป็นบุญคุณ รถได้ช้าหน่อยนะ พอดีมันเป็นรอย เห็นว่าทำประกันแล้วก็เลยเอาไปเคลมประกันซ่อมให้เสียเลย อันที่จริงได้ทำให้รถของผู้อื่นที่ไม่มีตำหนิ ต้องมีตำหนิ แล้วก็มีประวัติเสียในการประกันภัย เรื่องมารู้ที่หลังตอนที่เจ้าของรถจะต่อประกันภัย แล้วถูกปฏิเสธ เพราะว่ามีการเคลมตั้งแต่วันทำประกัน เขาคงโง่นะ ถึงได้ไม่รู้ว่าคิดอะไรอยู่ แต่ว่าเรื่องของคนทำกับคนรับทำต่างก็เข้าใจกัน จึงเป็นการคดโกงตัวเอง คดโกงเจ้าของรถ และคดโกงบริษัทประกัน

ยกตัวอย่างอย่างนี้แล้วเข้าใจใช่ไหมว่า ตัวคนทำเรื่องจะได้รับผลอย่างไร กรรมที่เบี่ยงเบนนั้นจะส่งผลเมื่อไร ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าตัวจะสำนึก หรือว่านานวันกลับคิดเป็นบุญคุณว่าได้ทำคุณให้นะ เสียค่าเบี้ยประกันไปตั้งมากมาย เริ่มคิดถอยหลัง ลืมไปว่าเดิมทีนั้นคิดคดทรยศเขา ไม่ตั้งอยู่ในคุณ ไม่ตั้งอยู่ในธรรม พอนานไปก็เลยลืม อวดอ้างว่าได้สร้างคุณเอาไว้กับพระมากมาย แต่ทำไมไม่เห็นได้ประโยชน์อะไร พระไม่ดีแน่ๆ ทำบุญด้วยแล้ว ไม่เห็นผล น่าเบื่อ อันที่จริงเขาไม่รู้ดอกว่า พระนั้นนะ แบกอกุศลกรรมให้เขาไว้มากมาย ด้วยการกระทำไว้ในจิตอย่างแยบคายด้วยอุบายปัญญาของพระว่า เป็นกรรมของพระ ของเจ้าของรถที่นำมาถวายให้ใช้ เขาช่วยเหลือทำให้ทุกอย่างก็เป็นบุญแล้ว นี่ถ้าวันใดที่พระถอนใจออก เห็นทีไม่นานกรรมต้องเบี่ยงเบนให้ชีวิตต้องมีอันอะไรเกิดขึ้นแน่ แต่พระที่ดี อย่างไรเสียก็ไม่กระทำให้สัตว์อื่นต้องลำบากเพราะตัว ไม่ว่าจะเป็นในชาตินี้หรือชาติหน้า

คิดเอาเองแล้วกันไม่สรุป เรื่องมันยุ่งอีลุงตุงนังพันพัวกันมากมาย ว่าแล้วมันอันตราย ไม่ว่าต่อดีกว่า ให้ท่านที่ถามมา แล้วก็ทุกๆ ท่านที่สงสัยมีคำตอบเรื่อง กรรมเบี่ยงเบน นี่ก็เป็นเรื่องเล็กๆ ที่เรามองข้ามกัน แต่เมื่อเอาพระอภิธรรมมาจับแล้ว ก็จะเห็นว่า กรรมหนักนัก คนที่แบกรับเอาไว้ แทบเอาตัวไม่รอด ต้องเอาบุญคอยหนุนอยู่ทุกลมหายใจ เผลอเมื่อไร ก็มีหวังกลับไปเกิดใหม่ทันที

วันนี้พอแค่นี้ เรียนรู้มามากพอควรแล้ว เชื่อว่าท่านทั้งหลาย ต้องคิดได้ คิดตกว่าจะแก้อย่างไร จะทำอย่างไร จะละกรรมได้อย่างไร อันนี้ต้องกระทำไว้ในจิตอย่างแยบคายด้วยอุบายปัญญาละ หึ หึ

ขอบุญจงรักษาผู้บำเพ็ญบุญ หลวงตา


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
Kittiyano

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1