ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

ไขปัญหาธรรม ตอน เรื่องย่อๆ ฌานและวิปัสสนา
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : ไขปัญหาธรรม ตอน เรื่องย่อๆ ฌานและวิปัสสนา
#115
ไขปัญหาธรรม ตอน เรื่องย่อๆ ฌานและวิปัสสนา 13 ปี, 1 เดือน ก่อน  
วันนี้ หลวงตา รู้สึกแจ่มใสสบายดี ก็เลยมาเขียนเรื่องหนักๆ ให้ได้อ่านได้วินิจฉัยกัน สำหรับพรุ่งนี้ จะเป็นอะไรบ้างก็เป็นเรื่องของพรุ่งนี้ เรื่องหนักๆ ที่ว่านี้ ก็คือเรื่องของฌาน และวิปัสสนา สืบเนื่องมาจาก เมื่อเช้านี้ คุณยายแม่ชีที่อยู่ที่สำนัก เธอกล่าวว่า เมื่อคืนไม่ได้นอนเลย สมาธิจัด ไม่รู้สึกง่วง ไม่รู้สึกอ่อนเพลีย เมื่อนอนไม่หลับก็เลยพิจารณาธรรมต่างๆ บ้าง เอาหนังสือเรื่องมงคลสามสิบแปดมาอ่านบ้าง ปรากฏว่า ที่เคยอ่านไว้นึกว่าจะจำได้ก็จำไม่ได้ เวลาพอมีสมาธิมากๆ ก็จะจำได้มากขึ้น สงสัยตัวเอง พิจารณาแล้ว ก็อธิฐานจิตขออย่าได้ลืมคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย แล้วก็มีคำถามอีกหลายๆ คำถาม หลวงตาก็ได้อธิบายไปเพื่อให้เกิดความกระจ่าง ที่จริงก็อธิบายหลายครั้งแล้ว แต่ว่าเธอจำได้บ้างไม่ได้บ้างสับสนอยู่บ้าง ตอนนี้มีสมาธิมากก็น่าจะจำอะไรต่ออะไรได้มากขึ้นหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น

อาการที่คุณยายแม่ชีเป็นเช่นนั้น ก็เนื่องจากว่าจิตนั้นเป็นฌาน เมื่อจิตเป็นฌานจิตก็จะมีกำลังมาก เข้าควบคุมระบบการทำงานของกายทั้งหมด มีอำนาจเหนือกาย จิตนี้ปกติแล้วจะไม่พัก อาจจะไวบ้าง ช้าบ้าง แต่ไม่เคยพัก แม้เวลาหลับจิตก็ยังทำงานอยู่ ฉะนั้นหลวงตาจึงได้นำเอาคำสอนของพระพุทธศาสดามาเน้นสอนอยู่เป็นประจำว่า ต้องให้จิตคิดดีอยู่เสมอ อย่างไรเสียก็ต้องพยายามสอนให้จิตนั้นตั้งตรงอยู่ในฝักฝ่ายแห่งบุญ อย่าได้ละเว้นการสร้างกุศล เพราะเมื่อเราไม่ได้ตั้งอยู่ในขอบเขตแห่งกุศล เราก็จะเผลอง่าย และเมื่อเผลอแล้วจะเรียกกลับก็ยาก ผิดกับผู้ที่ตั้งจิตอยู่ในขอบเขตฝักฝ่ายแห่งกุศล ยามเมื่อเผลอจิตแวบเข้าไปอยู่ในฝ่ายอกุศล ก็จะเรียกกลับได้ง่ายตั้งตรงได้เร็ว นี่เป็นเรื่องของจิตนะ อย่าสับสน ไม่เกี่ยวกับ ฌาน ไม่เกี่ยวกับ วิปัสสนา เป็นเรื่องเฉพาะจิตอย่างเดียว เพราะว่านี่เป็นเหตุให้หลวงตามาเขียนเรื่องนี้

จิตที่ฝึกมาดีแล้ว ให้ตั้งตรงอยู่ในฝักฝ่ายแห่งบุญ ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาธิ ไม่จำเป็นต้องเป็นฌาน ก็ได้กุศลแล้ว มากด้วย มากกว่ากุศลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่ากุศลนั้นทำที่จิต มิใช่ทำที่กาย จิตมีหน้าที่ชักนำให้กายไปทำในสิ่งต่างๆ ที่เรียกว่า “จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว” นั้นนะอยู่ที่ตรงนี้ เมื่อฝึกให้คิดดีอยู่เสมอ ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในฝ่ายกุศลเสมอ ก็เป็นการนำเอาหลักของ โพธิปักขิยธรรม มาปฏิบัติ ซึ่งก็เป็นข้อของ สัมมัปธานสี่ และอิทธิบาทสี่ จะได้ดีมากน้อยแค่ไหนก็อยู่ในองค์ธรรมทั้งสองชุดนี้ เมื่อตั้งได้แล้ว องค์ธรรมอื่นๆ ก็ตามมา นำให้เดินทางสายถูก และที่สุดก็พ้นทุกข์ได้ การกระทำเช่นนี้เรียกว่าตั้งจิตไว้ตรงที่สายวิปัสสนาแล้วละ

ด้วยการเดินทางสายวิปัสสนา นี้ เป็นการเดินทางธรรมที่ถูกสาย และมั่นคง ไม่จำเป็นต้องฝึกสมาธิในระดับฌาน ไม่ใช่ว่า ไม่จำเป็นต้องทำสมาธินะอย่าเข้าใจผิด การทำสมาธินั้นจำเป็นอยู่แล้ว เพราะว่าถ้าไม่มีสมาธิ ก็เริ่มต้นไม่ได้ จะเป็นสมาธิในระดับไหนก็แล้วแต่ จะเป็นเพียงแค่สมาธิระดับต่ำที่มีอยู่แล้วในสัตว์ ถ้าถูกดึงให้เข้ามาสนใจและพร้อมที่จะเริ่มต้น ก็นับว่าเพียงพอแล้ว จากนั้น เมื่อจิตเสพคุ้น บุญเกิดแล้ว จิตก็จะชักนำให้อยู่ในขอบของบุญอยู่ตลอดเวลา วิปัสสนานี้ไม่ยาก ง่ายกว่าการทำฌานแบบที่ฝึกกันทั่วๆไป การฝึกฌานแบบนั้นยากมาก ต้องใช้เวลานับเป็นสิบๆปี ได้บ้างไม่ได้บ้าง ถูกทางบ้างไม่ถูกทางบ้าง เป็นฝ่ายบาปเสียมากกว่าฝ่ายกุศล

ลองมองไปที่พวกที่มีจิตเป็นบาปอกุศล ต่อให้ชักนำให้คิดดีคิดถูกอย่างไรก็ไม่สนใจ ดีไม่ดีพาลจะหาเรื่องเอากับผู้ที่ชักจูงด้วย นี่คนบาปอกุศลมักเป็นเช่นนี้เอง ใครเข้าไปแตะต้องบาปอกุศลของเขา ก็จะได้รับทุกข์ไปด้วย

คนใจบาปอกุศล เมื่อสนใจก็จะสนใจเรื่องของฌานก่อน แล้วถ้ายิ่งได้รับรู้ถึงเรื่องที่สามารถเอาไปทำร้ายทำลายผู้อื่นได้ ก็จะยิ่งสนใจใหญ่ มุ่งเน้นฝึกฝนมากเป็นพิเศษ นักบวชก็เช่นกัน ส่วนใหญ่ก็จะเน้นฝึกไปทางด้านฌาน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องดีเรื่องถูก ถ้ามีฌานแล้วสามารถทำให้ชีวิตนักบวชสมบูรณ์มากขึ้น อันนี้ขอเน้นเลยว่าไม่จริง ถ้าจิตใฝ่ต่ำเดินทางสายบาป เมื่อจิตเป็นฌานก็จะเน้นไปทางฝ่ายบาปอกุศล แล้วจะทำให้ชีวิตเป็นสุขได้อย่างไร มีแต่เรื่องวุ่นวาย งานเข้าไม่รู้จักจบสิ้น แล้วจะเรียกว่าสบายได้อย่างไร ต้องดิ้นรน ต้องให้เหนือกว่า ต้องอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ไม่มีเวลามาสางชัฏที่รกรุงรังในชีวิต ที่สุดก็ตายไปพร้อมกับบาปเวรที่พอกหนาขึ้นอย่างไม่รู้จบ มีให้เห็นมาก เมื่อถึงเวลาใกล้จะตาย มรณาสันนวิถีจิตมาถึงแล้ว อะไรอะไรก็เอาไม่อยู่ ห่วงหวงและเป็นทุกข์ กลัวไปเสียหมด กลัวเขาจะโกง กลัวเขาจะลัก กลัวเขาจะทำร้าย กลัวเขาจะไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างโน้นให้ กลัวไปเสียร้อยแปดพันประการ ตามแต่ตัณหาจะสั่งการ เพราะว่ายังไม่ได้ชำระ ยังไม่ได้ละกิเลสตัณหา เมื่อราคะยังหนัก เวรก็หนักตามไปด้วย ที่สุดก็ตายไม่สงบ อาจจะมีบ้าง ที่หลอกตัวเองว่าได้จัดการเรื่องนั้น เรื่องโน้นไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ห่วงแล้ว ต่อเมื่อใกล้จะตาย ตัวเองนะละที่รู้ดี ว่าเอารอดหรือไม่รอด จะไปที่ไหนรู้หมด กลัวมาก ก็โวยวายมาก กลัวน้อยก็สงบอยู่ ไม่กลัวเพราะว่ารู้อยู่แล้ว เตรียมใจไว้แล้ว ตั้งแต่ยังมีชีวิตว่าฉันนั้นต้องตกสู่อบายแน่ก็ทำใจรอรับ เป็นผู้ร้ายปากแข็ง แบบเดียวกับพวกที่กำลังจะถึงตะแลงแกงแดนประหาร ไม่แสดงอาการสะทกสะท้านอย่างไร นี่เพราะว่ารู้อยู่แล้ว ว่าเมื่อถึงเวลาก็ไม่ร้องขอต่อรองใดๆ เหมือนกัน ในโลกปัจจุบันและโลกวิญญาณ ก็ไม่ต่างอะไรกัน

ในผู้ที่ทำฌานหรือว่าฝึกฌานแบบสมถะที่ฝึกกันโดยทั่วไป ต้องอาศัยสถานที่ อาศัยวิเวก อาศัยความเพียรมากตั้งแต่ต้น สังเกตง่าย พวกที่ทำฌานแบบนี้จนได้ผล จะมีลักษณะและท่าทางเหมือนๆกัน คือเยือกเย็น สงบ บ่งบอกความมีอำนาจ บ้างก็แฝงความโหดร้าย บ้างก็แฝงแววแห่งความหยิ่งผยอง ไม่ยิ้มง่าย คล้ายคนแบกของหนักเอาไว้ในจิต ต้องคอยระวังจิตอยู่เสมอ กลัวไปหมด พวกนี้คือพวกที่ต้องใช้ความเพียรมาก จึงเคยชินกับการต้องการความสงบนิ่ง เวลาฝึกก็ต้องอาศัยเวลามาก และที่สำคัญปัญญาที่จะแจ้งในธรรมก็ลดลง ช้าลง เพราะมัวแต่หลงเดินทางผิด การฝึกแบบนี้ ต้องอาศัยการบริกรรม แต่ส่วนใหญ่เขาเข้าใจว่าภาวนา ไม่ใช่ภาวนา เพราะเข้าใจผิดแต่แรกของภาษา จึงเดินผิดตลอดชีวิต การบริกรรมนั้น เป็นการฝึกแบบฤษี ฝึกเพื่อเอาฤทธิ์ ฝึกเพื่อเอาอำนาจ จึงต้องทำให้จิตตั้งมั่นไม่วอกแวก อาศัยการใช้จิตเพ่งอยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเป็นเวลานานๆ เหมือนคนที่มุ่งมั่นอยู่กับงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เป็นอันกินอันนอน ที่สุดก็จะเกิดอาการอย่างหนึ่งคือฟั่นเฟือน การทำฌานแบบนั้นก็คล้ายกัน เกิดความฟั่นเฟือนในอารมณ์ เพียงแต่ว่าอารมณ์ที่ฟั่นเฟือนนั้นมีเป้าหมาย คล้ายพวกฤษีชีไพร อาศัยป่าอาศัยถ้ำ พวกนี้ก็เช่นกัน เน้นหนักในการฝึกฤทธิ์ เพื่อที่จะใช้อำนาจจิตของตนข่มทำร้ายผู้อื่น ที่ว่าทำร้ายนั้นนะมีหลายรูปแบบ อย่านึกเพียงแค่ว่าเอาจิตไปตีกัน แต่ว่าเอาจิตของตนเข้าไปบังคับให้จิตอื่นที่ไม่มีกำลัง ตกอยู่ในอำนาจควบคุม แล้วก็สั่งการให้ได้ตามประสงค์ของตน บางพวกก็แค่ต้องการมาอวดฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ แต่ที่สุดก็ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ก็เท่ากับทำร้ายทำลายสิ่งรอบข้างไปด้วย เหมือนอย่างนิทานในพระไตรปิฏก มีอยู่เรื่องหนึ่งได้กล่าวถึงฤษีสองตน ความย่อๆ นะ เอาแค่ย่อๆ มีอยู่ว่า

ครั้งนั้นฤษีหนุ่มและฤษีเฒ่า เดินทางรอนแรมไปถึงสถานที่แห่งหนึ่ง เป็นธรรมดาของฤษี ก็ต้องมีชฎาสวมครอบกบาลอยู่ (ส่วนหัวกบาลพระนะไม่มีอะไรครอบสวมอยู่ โล้นเกลี้ยง) เมื่อเดินทางไปถึง ก็ได้เวลาพลบค่ำ จะต้องหาที่พำนักพักอาศัย พอดีได้ไปพักที่บ้านเศรษฐีท่านหนึ่ง ฤษีหนุ่มถึงก่อนหรือฤษีเฒ่าถึงก่อนจำไม่ได้ เอาว่าถึงไม่พร้อมกัน ท่านเศรษฐี ก็ให้พำนักที่โรงยุ้งฉาง มีทีกว้างพอให้อาศัยได้อยู่ เมื่อฤษีหนึ่งเข้าไปพำนักแล้ว น่าจะเป็นฤษีหนุ่มนะ ฤษีเฒ่าก็มาถึง จึงท่านเศรษฐีก็ให้ไปพำนักที่โรงยุ้งฉางเช่นกัน แล้วก็บอกว่ามีฤษีหนุ่มท่านหนึ่งอาศัยพำนักอยู่แล้ว เพิ่งมาถึงเหมือนกัน ฤษีเฒ่าเมื่อได้รับการแนะนำให้ได้พบกันแล้ว ก็กล่าวกับฤษีหนุ่มว่า ท่านอายุยังน้อย ยังแข็งแรงอยู่ เรานั้นเฒ่าแล้ว มีภาระมากในเวลาค่ำคืนที่นอน จะต้องลุกขึ้นทำธุระในเวลาดึกเกรงจะเป็นการรบกวนท่าน เราขอนอนตรงข้างประตูนี้ละนะ ฤษีหนุ่มก็เห็นดีด้วย ทั้งสองก็ทำกิจธุระ นั่งสมาธิบริกรรมของตนไป เมื่อจะล้มตัวลงนอน ฤษีเฒ่าก็ปลงเอาชฎาวางไว้ที่ข้างหัว เวลาค่ำคืนมืดหนัก แสงใต้แสงเทียนก็ไม่มี จวบกับเป็นคืนเดือนมืด ก็เลยยิ่งมืดใหญ่ ตกกลางดึก ฤษีหนุ่มเกิดมีอาการผิดปกติก็จำจะต้องลุกขึ้นออกไปทำธุระ จึงเดินสะเปะสะปะไปเตะโดนชฎาของฤษีเฒ่าเข้า เรื่องก็เกิดขึ้น เนื่องจากทั้งสองต่างก็มีฤทธิ์ ฝ่ายเฒ่ากล่าวหาว่าเจ้าหนุ่มเจตนาจะเหยียบหัว เจ้าหนุ่มก็ว่าไม่ได้เจตนา ถกเถียงกันไปมา ก็ท้าทายอวดฤทธิ์กัน ทะเลาะกันไปมาก็ถึงขั้นขาดปัญญา มีการออกอาวุธคือฤทธิ์กัน ถึงขนาดมีการห้ามแสงตะวันกัน พาเอาชาวบ้านเดือดร้อน ทั้งสองก็ต้องหลบลงไปแช่ดำอยู่ในน้ำ เพราะว่ามีฤทธิ์ทั้งคู่ ประฝีมือกันจนบ้านเมืองพินาศสันตะโร ที่สุดก็ต้องมีคนไกล่เกลี่ย ให้ทั้งคู่คลายฤทธิ์ ก็ยังไม่วายทะเลาะกันว่าใครจะคลายก่อนใครจะคลายหลัง ต้องคลายพร้อมกัน ไม่เช่นนั้นก็จะตายทั้งคู่

นี่ก็เป็นเรื่องอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งของคนฝึกฤทธิ์ เมื่อมีฤทธิ์ ก็จะต้องอวดฤทธิ์ เมื่อขาดสติยั้งคิดปัญญาก็หดหาย กลายเป็นทารกตีกัน ที่สำคัญตีกันแบบมีฤทธิ์ ชาวบ้านไม่รู้ อิโหน่อิเหน่ ก็พลอยเดือดร้อนกันไปทั่วถ้วนหน้า ก็คล้ายๆกับยุคนี้แหละ ยุคไหนๆก็เหมือนกัน สมัยนี้ฝึกฤทธิ์มันช้า สู้ซื้อหาพัฒนาอาวุธเข้าห้ำหันกันไม่ได้เร็วดี ก็ที่มีสงครามก็มาจากการอวดฤทธิ์กันทั้งนั้นแหละ ของกูมีดีของมึงสู้ไม่ได้ ก็บุกเข้าไปทำร้ายแย่งชิง ของกูสู้ไม่ได้ กูก็จะไปอาศัยอีกพวกหนึ่งที่มีดีกว่ามึงมาช่วย ก็ไม่รู้จบ โง่เง่าเต่าตุ่นกันทั้งก๊กนั่นแหละ พวกไม่ชอบใช้ปัญญา ชอบใช้อำนาจก็พวกมีฤทธิ์นี่แหละ

ส่วนคนที่อยู่ในฝักฝ่ายแห่งบุญ เมื่อถึงเวลาใกล้จะตาย ก็พร้อมแล้วด้วยกุศล จิตว่างเปล่า ไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใดเพราะรู้ว่าได้นำจิตให้เดินทางสายถูกไว้แล้ว ปล่อยวางละสังขารร่างกายนี้ ไม่ยึดไม่เหนี่ยวรั้ง ไม่กังวล ไม่ต้องคิดอะไร มองดูแต่ว่าจิตนั้นตั้งมั่นแล้วหรือไม่ สว่างไสวอยู่ มีแต่แสงสว่างนำทางให้ ที่สว่างก็เพราะว่าจิตนั้นปลอดแล้วซึ่งราคะ ไม่มีกิเลสมาพอกขวางกั้น จิตประภัสสร สว่างดุจดังดวงประทีปแก้วที่ไม่ร้อนอย่างแสงอาทิตย์ ไม่อ่อนละมุนอย่างแสงจันทร์ แต่ว่าสว่างอย่างที่ไม่มีแสงใดๆในใต้หล้านี้จะมาเปรียบได้ ไม่มีที่หมาย ไม่มีดินแดน ไม่มีภพ มีแต่อิสระว่างไม่ต้องเกาะไม่ต้องยึดเหนี่ยว สลายกลายเป็นพลังงานกระจายไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าฝึกมาดี ฝึกมาทางสายวิปัสสนา สายปัญญาล้วนๆ ส่วนผลพลอยได้ ก็มีรางวัลมากมาย ได้ฤทธิ์ต่างๆ ก็ไม่น้อย แต่ว่าเป็นบุญฤทธิ์ ฤทธิ์เหล่านั้นเกิดแต่ปัญญา จึงมีปัญญามากในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เรื่องของตนไปจนเรื่องของคนอื่น แก้ไขกรรมเป็นหลัก เปลี่ยนสันดานที่เคยชั่วไม่ดีให้กลับดีให้ได้ ก็ด้วยใช้ปัญญา ใช้ภาวนา อันนี้นะภาวนาจริง เพราะว่าเป็นการทำให้เจริญ ทำให้จิตของตนเจริญ เบื้องต้นก็เจริญจิตไปทางด้านเมตตา อาศัยการทำเมตตาจิต คิดดี ทำดี พูดดี ค่อยๆฝึก ฝึกให้จิตมีความสุข มองทุกอย่างให้มีความสุข ไม่ต้องเคร่งเครียด อารมณ์เสียกับเรื่องต่างๆ มองแบบว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเกิด ต้องมี ต้องเป็นอยู่แล้ว อย่ามองไกลข้ามไปจนถึงอนาคต แล้วก็อย่ามองเรื่องเหล่านั้นย้อนกลับไปยังในอดีต มองเพียงในขณะปัจจุบัน จัดการบริหารให้ดีที่ปัจจุบัน ให้มีความสุข ให้เห็นคุณค่า ให้มีเมตตาต่อสรรพสิ่งสรรพชีวิตทั้งมวล แม้ฝุ่นละอองยากเยื้อที่ว่ารกเลอะเทอะก็มีคุณค่า มองให้เห็นคุณค่าให้ได้ ก็เท่ากับเริ่มใช้ปัญญาแล้ว เมื่อมีเมตตาเป็นเหตุนำ ปัญญาก็จะเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก อย่างนี้เรียกว่าเมตตาฌาน มีอานิสงส์มาก พระพุทธศาสดากล่าวสอนแก่ภิกษุกลุ่มหนึ่งว่ามีอานิสงส์มากมายนับได้สิบเอ็ดประการ

ก็ครั้งนั้นภิกษุกลุ่มหนึ่งทูลลาพระพุทธศาสดาเข้าไปจำพรรษาอยู่ในป่าอันร่มรื่นสัปปายะแห่งหนึ่ง มีชาวบ้านช่วยจัดที่พักอาศัย อุปฐากรับใช้เป็นอย่างดี แม้หมู่เทวดาที่อาศัยต้นไม้อยู่ก็หอบลูกหอบหลานลงมาอยู่ที่พื้น ไม่ขึ้นไปข้ามหัวภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นอยู่จำพรรษาไป ก็มัวประมาทมีความสุขอยู่กับการอุปฐากของชาวบ้าน จนเป็นที่รำคาญของเหล่าฝูงเทวดาทั้งหลายที่ต้องทิ้งที่อยู่อาศัย ก็ด้วยปรารถนาจะได้บุญ ที่สุดเทวดาเหล่านั้นก็ทนความไม่เอาไหนของภิกษุกลุ่มนั้นไม่ไหว จึงได้แปลงกายส่งเสียงขู่คำราม ส่งกลิ่นเหม็นน่าสะอิดสะเอียน ให้เป็นที่น่าสะพรึงกลัว จนภิกษุเหล่านั้นก็ถอดใจ จะสวดมนต์บทไหนก็เอาชนะไม่ได้ ที่สุดก็ต้องหนีออกจากป่า กลับมาหาพระพุทธศาสดา เล่าเรื่องทั้งหลายให้พระองค์ฟัง พระญาณของพระองค์นั้นไม่มีที่กำหนด เมื่อแผ่เพ่งไปก็รู้เหตุ จึงได้แนะนำให้ภิกษุเหล่านั้นกลับไปยังป่าเดิม ให้นำเอาคำสอนของพระองค์ที่ให้เจริญเมตตาฌานไปกระทำให้มากในการเพียรครั้งนี้ อย่ามัวแต่ประมาทระเริงหลงอยู่ในลาภสรรเสริญ แล้วที่สุดก็จะประสพความสำเร็จได้ ภิกษุกลุ่มนั้นก็จึงกลับไปยังป่านั้น แล้วก็เริ่มเจริญเมตตาฌาน มีการแผ่เมตตาอุทิศกุศลไปยังสรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลาย พิจารณากายสังขารอาหารที่ขบฉัน ทำจิตให้ผ่องใสแผ่เมตตาไปยังผู้ที่เลี้ยงดู หมู่เทวดานางฟ้าและสรรพสัตว์สรรพสิ่งที่ประกอบกันขึ้นมาจนตนได้อาศัยเลี้ยงชีพดำรงอยู่เพื่อการเจริญจิต พิจารณาภาวนาอยู่เช่นนี้เป็นประจำทุกค่ำเช้าจนที่สุดก็กระทำเป็นอาจิณ ฝังอยู่ในกมลสันดาน แผ่เมตตาไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลไร้ของเขต หมู่ฝูงเปรตก็ได้รับบุญในครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าเปรตญาติหรือไม่ใช่ญาติก็ได้รับกันโดยทั่วหน้า เทวดาทั้งหลายที่อยู่ในที่นั้นก็เป็นสุขได้รับบุญก็ในครั้งนี้อย่างมากมาย ก็ช่วยกันแปลงกายอุปฐากสร้างบรรยากาศให้สัปปายะ เพื่อหมู่พระภิกษุเหล่านั้นจะได้เป็นสุข จะได้เจริญภาวนาแผ่เมตตาให้ยิ่งๆ ขึ้น ที่สุดเหล่าภิกษุเหล่านั้นก็สามารถบรรลุธรรมที่ปรารถนา ก็ด้วยเมตตาฌานนี้มีอานิสงส์มากเช่นนี้เอง

ฉะนั้น การเจริญวิปัสสนาด้วยเริ่มต้นจากเมตตาฌาน ก็จะนำให้จิตที่ไม่เป็นสุข สงบสุขได้ กล่าวถึงตรงนี้ ก็ต้องขอยกตัวอย่างหน่อย ก็ตัวอย่างของหลวงตาเอง ครั้งนั้นที่ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์พระพุทธศาสดา หลวงตาก็เดินหลงทางผิดคิดไม่เป็นอยู่นานโขทีเดียว อาศัยว่าตั้งแต่เยาว์วัย ได้สร้างกุศลไว้มาก ได้ศึกษาเรียนรู้จากบรรดาครูผู้เฒ่าที่มิได้ประกาศตนเป็นครูก็มากมายหลายอาจารย์ ที่ประสิทธิประสาทวิชาต่างๆให้ก็ไม่น้อย ส่วนใหญ่ก็เน้นไปทางด้านฤทธิ์นั่นแหละ มาเมื่อระยะหลังตัดสินใจว่าจะบวชเพื่อพระพุทธศาสนา ก็ยังไม่วายจะคิดถึงหน้าตาอยู่เหมือนกัน พอดีตอนนั้นเกิดคิดอะไรได้ก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าสร้างที่สำหรับเจริญภาวนาขึ้นมา แล้วที่นั้นมันไม่สัปปายะดอก อยู่ท่ามกลางคอกคอนโดฯ มีเรือนที่หลวงตาสร้างโผล่ขึ้นมาในท่ามกลาง อากาศก็ร้อนเป็นธรรมดา เพราะว่าถูกปิดทึบทั้งสี่ด้าน ก็ยังดีที่มีถนนคั่นขวางกั้นแต่ละอาคาร ทำให้มีลมพัดไหลผ่านได้บ้าง อาศัยดาดฟ้าอาคารเป็นที่พำนักในยามเย็นจนรุ่ง ไม่ยุ่งกับใคร อากาศก็ไม่เต็มใจ ก็ด้วยอาศัยที่ได้ฝึกตนมาพอสมควรก็จึงขับกล่อมปลอบใจตัวเอง ไม่รู้ว่าได้ผลอย่างไร สถานที่ที่อาศัยเจริญภาวนาจิตนั้น ก็ร่มรื่นเย็นสบาย คล้ายๆ ว่าจะมีลมเอื่อยไหลผ่านตลอดเวลา ไม่ร้อน ไม่หงุดหงิด การเจริญจิตก็ค่อยๆ ก้าวหน้า ขับกล่อมร้องเพลงเย็นๆ สอนตัวสอนตน สอนใจตนไปเรื่อยๆ แล้วก็ลงมือเจริญภาวนาจิตไป ทำอย่างนี้อยู่พักใหญ่ ที่สุดก็คลายการร้องเพลงขับกล่อม ความที่ท่องบทสวดมนต์อยู่หลายบทไม่เหมือนใคร คัดเลือกเอาจากในหนังสือสวดมนต์ มีบทเมตตานี้ด้วย ครั้งนั้นยังไม่ได้เรียนภาษาบาลีดอก ก็ท่องไปตามเนื้อที่มีพิมพ์อยู่ในหน้ากระดาษ ท่องบ่นอย่างนี้อยู่นาน เป็นประจำ เช้าก็ออกไปเดินออกกำลังกาย เดินก็ไม่เหมือนใครเขา เราก็ภาวนาของเรา ใครจะวิ่งจะเดินจะออกกำลังอย่างไรก็ไม่ได้ใส่ใจ พอรู้ตัวก็ไปทำท่าออกกำลังกายกับเขาบ้าง อาศัยเครื่องมือที่เขาจัดไว้บ้าง อาศัยที่มีคนเขาเข้าไปจับกลุ่มสอนกันบ้าง แต่ก็ไม่มีความสุขและก็ไม่มีความทุกข์ มันให้รู้สึกเพียงเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อความสมบูรณ์ครบวงจร อยู่มาวันหนึ่งก็เกิดอาการคล้ายจะเป็นคนบ้า ได้ยินเสียงเทวดา เสียงครูบาอาจารย์มาสอน อาการอย่างนี้เคยเป็นบ่อย ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เมื่อก่อนตอนเป็นเด็กก็ต้องหยุดไปเพราะกลัวว่าจะเป็นคนบ้า แต่ครั้งนี้มันชัดเจน ในความรู้สึกของเรามีทั้งภาพและเสียง เมื่อได้ยินสิ่งใด ภาพก็ปรากฏ ขนาดว่ามีคนพูดถึงเราในที่ไกลๆ อย่างน้อยก็นับได้ไม่น้อยกว่าร้อยเมตร ทำไมเราสามารถรับรู้ได้ว่าเขากำลังพูดถึงเรา บอกว่ามีอาการคล้ายคนบ้าเสียสติหรือเปล่า ผิดหวังอะไรทำนองนั้น เมื่อเดินเข้าไปใกล้เขาก็ยิ้มให้กลุ่มผู้สูงวัยประมาณว่าวัยสี่ห้าสิบแหละ ยิ้มแล้วก็บอกเขาไปว่าไม่ได้บ้า ไม่รู้อารมณ์ใดที่ได้กล่าวกับเขาเช่นนั้น ไม่ได้โกรธไม่ได้เคือง เพียงอยากบอกว่าไม่ได้บ้า ก็เลยเป็นเรื่อง เขาทั้งหลายตกใจ ยกมือขึ้นไหว้ แล้วซุบซิบกันว่าได้ยินได้ยังไงวะ เป็นเรื่องเลย เมื่อไปนั่งพัก หาอาหารทาน ก็มีคนมานั่งด้วย สอบถามว่าฝึกอยู่สำนักไหน เขาฝึกที่นั่นที่นี่ ก็ได้แต่ยิ้ม พูดกับเขาเรื่องอื่นไปเสีย จะได้ไม่ต่อความยาว ที่สุดก็ต้องหนีออกจากสถานที่นั้น เพราะว่ามีคนมามองมากขึ้น มีคนพากันมากระซิบกระซาบบอกกันมากขึ้น ก็เลยต้องหนี เรื่องมันยังยาวมากเล่าต่อแล้วเปลืองกระดาษ เอาว่าอานิสงส์ของการทำเมตตานี่มากมายมหาศาลจริงๆ พอมาได้เรียนรู้คำสอนขององค์พระพุทธศาสดา ที่กล่าวถึงการทำเมตตาจิต ก็เลยยิ่งศรัทธามาก เพราะว่าเรามีประสบการณ์ ครั้งนั้นก็ต้องเลิกล้มหนีออกจากสถานที่นั้น แล้วก็ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ เกรงจะเป็นบ้าอย่างที่เขาว่ากัน ต้องพิจารณาตนเองอยู่นาน ที่สุดก็รู้ว่าเราไม่บ้าแน่ จึงหวนกลับมาฝึกฝนต่อ คราวนี้พากเพียรอย่างหนัก เรียกว่าปิดขังตัวเองอยู่ในบ้านครั้งละสิบห้าวันก็บ่อย ถ้าไม่มีธุระจะไปไหน ก็ขังตัวเองอยู่อย่างนั้นมีความสุขดี มีความเจริญก้าวหน้าดี ไม่มีห่วง ทำอยู่หลายปี มีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ มากมาย ฌานที่เคยฝึกมาในทางแข็งก็เห็นคุณเห็นโทษ จะว่าไม่มีคุณไม่ได้ดอก มีคุณมีโทษทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าเรื่องใดๆ อยู่ที่เราจะมีปัญญาพิจารณาให้แตกหรือไม่ ที่สุดก็ละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง เดินทางท่องเที่ยว แล้วก็ตัดสินใจบวชเพื่อพระพุทธศาสดาได้อย่างไม่คลางแคลงอีก

เอาว่าขอจบที่ตรงนี้ก็แล้วกัน ถ้าอยากจะศึกษาเรียนรู้ ก็ติดตามอ่านถามกันหน่อย ถามบ่อยๆ ก็จะได้ถ่ายทอดออกมา ถ้าไม่ถาม ก็ไม่มีที่จะไป เอาอย่างคนอีสานว่า ไม่รู้แห่งถาม หลวงตาว่าคนเดียวเถอะ ฟังแล้วสบายดี ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยมีคนสอนอย่างนี้ หลวงตาก็ตัดสินใจหนี ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้นเลย ไม่รู้แห่งถาม ที่สุดหลวงตาก็ต้องตัดสินใจหนีดีกว่า

เหมือนเดิม ถ้ายังลืมตาตื่นมาได้ อาการไม่หนักหนา ก็มาว่ากันใหม่ หลายวันนี้ ตั้งแต่พักไประยะหนึ่ง ก็รู้สึกดี นั่งได้นานๆ พิมพ์ได้เรื่อยๆ ไม่เหนื่อย ไม่ขาดตอน สมาธิแนบแน่นไหลลื่น วันนี้จบแล้ว ค่อยมาว่ากันใหม่ในวันหน้า

บุญรักษา
หลวงตา


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
Kittiyano

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1