ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

วิธีการศึกษาพระพุทธศาสนา
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : วิธีการศึกษาพระพุทธศาสนา
#133
วิธีการศึกษาพระพุทธศาสนา 12 ปี, 10 เดือน ก่อน  
วันนี้หลวงตาขอกล่าวถึงวิธีการศึกษาพระพุทธศาสนาไว้พอเป็นแนวทาง การที่จะศึกษาสิ่งใดๆ ศาสตร์ใดๆ ก็ตาม ย่อมต้องมีวิธีการในการศึกษา และต้องปฏิบัติตามแนวทางในการศึกษานั้นๆ อย่างจริงจัง จึงจะทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ อย่าศึกษาเพียงเท่าที่ชอบ เพราะนั่นเท่ากับได้ทำลายศาสตร์นั้นๆ ด้วยตัวของผู้ศึกษาเอง แล้วจะทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ไม่ได้อย่างแน่นอน

การศึกษาในศาสตร์แขนงใดๆ ย่อมต้องศึกษาให้เข้าใจในวิธีการศึกษาเสียก่อน ในบางวิชาการ ผู้เขียนหรือผู้บรรยาย ก็จะบอกไว้ในหัวข้อเริ่มต้นก่อนว่า การบรรยายของเขานั้น ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า ผู้ศึกษาได้มีความเข้าใจในเรื่องใดๆ อย่างถ่องแท้มาบ้าง หรืออย่างน้อยต้องมีความเข้าใจในเรื่องใดที่จำเป็นเพื่อการศึกษาในเรื่องที่เขาบรรยาย

ระเบียบวิธีเหล่านี้ จะเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ไม่เช่นนั้นแล้ว การศึกษาในศาสตร์แขนงต่างๆ ก็จะทำให้มีการตีความผิด หรืออย่างน้อยก็ทำความเข้าใจไม่ตรงกัน เป็นเหตุให้การศึกษานั้น ไม่สัมฤทธิ์ผล

การศึกษาศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนาก็เช่นกัน ย่อมมีระเบียบวิธีในการศึกษาอยู่อย่างชัดเจน สั้นๆ ง่ายๆ แต่กินใจความยิ่งใหญ่ เพราะการศึกษาพระพุทธศาสนาที่องค์พระพุทธศาสดาได้ตรัสสั่งสอนเอาไว้นั้น เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ จะศึกษาอย่างไรก็ได้ จะเริ่มต้นจากตรงไหนก็ได้ ที่สุดย่อมนำไปสู่ความสำเร็จได้ ไม่ช้าก็เร็ว แม้ไม่ปรารถนา ก็ยังสำเร็จได้ แต่ว่าอาจต้องใช้เวลานับเป็นหลายๆอสงไขย หรืออาจรวดเร็วเพียงเวลาพริบตา ขึ้นอยู่กับบุญญาธิการของตัวเจ้าของเอง เพราะเหตุว่า การศึกษาในพระพุทธศาสนานั้น ไม่มีวุฒิเป็นประกาศอักษร แต่จะเป็นสภาวะความเจริญแห่งจิตของตัวเจ้าของ เป็นการพัฒนาจิต เมื่อพัฒนาจิตได้แล้ว สภาวะจิตดวงที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้แล้วนั้น จะทรงจำเอาไว้ในจิตนั้น และจะส่งต่อสภาวะเหล่านั้น ให้กับจิตดวง(ขณะจิต)ใหม่ที่เกิดขึ้น แล้วจึงจะดับไป คล้ายรูปคลื่นที่มีรูปแบบแน่นอน แม้จะมีกำลังมากหรือน้อย ก็จะไม่เสียทรงแห่งรูปแบบไป

ตรงข้าม ถ้าการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างไม่ตามรูปแบบแนวทางที่ถูกต้องตามระเบียบวิธี การส่งต่อสภาวะจิตก็จะเป็นไปอย่างไม่แน่นอน ไม่ว่าจะมีกำลังมากสักเพียงใด ก็จะเสียทรงแห่งรูปแบบที่ถูกต้อง ทำให้มีรูปแบบที่ผิดเพี้ยน เป็นผลที่ทำให้จิตดวงนั้น ไม่สามารถทรงสภาพความดีงามเอาไว้ได้ ย่อมมองเห็นความผิดเป็นถูก ย่อมผูกจิตไว้กับกิเลสเบื้องต่ำเป็นส่วนใหญ่ ย่อมดำเนินไปในแนวทางเสื่อม ย่อมกล่าววาจาอันเป็นทุภาษิต ย่อมผูกจิตไว้กับการหยามหมิ่น ไม่มีความศรัทธาอย่างมั่นคงถาวรในไตรสรณะ ย่อมละพระพุทธศาสนาในที่สุด นี้เป็นธรรมดา แม้เรียนจนเป็นมหาเปรียญธรรมเก้าประโยค ก็ยังละความเป็นพุทธะ หนีไปสร้างฐานะ ติดในสรรเสริญ เจริญในลาภ อันมิชอบได้อย่างไม่ละอาย ก็ด้วยเหตุแห่งการตั้งจิตไว้ผิด ศึกษาเพียงข้างเดียว ไม่สามารถขัดเกลากิเลสอันเป็นธรรมดาของสัตว์ออกจากจิตได้ ที่สุดก็ละจากทิ้งพระพุทธศาสนา แล้วก็กล่าวอ้างธรรมอันไม่ตรงธรรมเพื่อทำลายพระพุทธศาสนาได้อย่างไม่ละอาย แม้รู้ก็จะทำ ไม่คิดจะแก้ไขดัดจริตตนให้กลับสู่ความดีงาม ก็ด้วยเนื่องมาจาก ตั้งองค์แห่งการศึกษาไว้ผิด ติดในสรรเสริญ ต้องการวุฒิอักษรเป็นประกาศ เพื่อการอวดโอ้ เพื่อการเจริญในลาภ และที่สุดก็จะกล่าวธรรมอันลามก ด้วยอ้างการศึกษาที่ได้วุฒิประกาศนั้นเป็นเครื่องมือ

องค์พระพุทธศาสดาได้ทรงเตือนเอาไว้แล้วล่วงหน้า คนในย่อมเป็นผู้ทำลายพระธรรมคำสอนของพระองค์ แล้วที่สุดพระธรรมคำสอนของพระองค์ก็จะอยู่ไม่ได้ ก็ด้วยเพราะมีผู้รู้จากการศึกษาเพียงด้านเดียวมากมาย ออกมาทำลายคำสอนของพระองค์ ด้วยอ้างเอากิเลสเป็นกำลัง ทั้งๆที่ พระพุทธศาสนานั้น เน้นการกำจัดกิเลสเป็นสำคัญ แต่ที่สุดก็มีกลุ่มที่ยกตนว่าเป็นปัญญาชนจากการเรียนข้างเดียว หาเหตุผลมากล่าวล้างว่า กิเลสนั้นเป็นธรรมดา อาศัยกิเลสเป็นแรงผลักดันเพื่อให้ถึงซึ่งหลักชัย ความเข้าใจค่อยๆ เพี้ยนไป จนกลายเป็นว่า พระพุทธศาสดาสอนเรื่องให้เอากิเลสมาเป็นกำลัง เหมือนอย่างในยุคปัจจุบัน ที่มีการกล่าวอ้างว่า พระพุทธศาสดาทรงแสดงธรรมเพื่อให้สละทรัพย์ที่หวงแหนมีไว้ แล้วจะได้ทรัพย์ที่มากกว่า เหมือนอย่างในเรื่องของตาเฒ่าสาฎก เป็นต้น ทำให้คนทั้งหลายที่มีความเขลาขาดปัญญาในการไตร่ตรอง หลงในคารมเพราะไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนามาก่อนต้องตกเป็นเหยื่อในที่สุด

กล่าวมามากมาย ความหมายที่มุ่งหวัง ก็มีเพียงสั้นๆ ว่า จะศึกษาอะไร ก็ต้องทำความเข้าใจให้ได้เสียก่อน และที่สำคัญ ต้องตั้งเข็มแห่งการศึกษาไว้ให้ถูกให้ตรง ถ้าตั้งไว้ผิด ก็จะเดินผิดตลอดไป ที่จะกลับลำนั้นทำได้ยาก ต้องมีบุญญาธิการอย่างมากจริงๆ จึงจะสามารถกลับตัวกลับใจได้ ที่เห็นผ่านมา ล้วนแต่หลอกตัวเองทั้งสิ้น ก็ด้วยกิเลสที่ตั้งไว้ มองไกลไปถึงอีกหลายชาติภพ เรียนมากก็เลยเพี้ยน เอาเรื่องในชาดก มาตีความเข้าข้างตนเอง แล้วก็กล่าวตู่พระธรรมคำสอนขององค์พระพุทธศาสดา กล่าวหาว่าพระองค์สอนไว้เช่นนั้น ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์กล่าวให้อยู่กับปัจจุบัน แต่เวลาคิด เวลามุ่งหวัง กลับไปอยู่กับอดีตที่เรียนมาแบบผิดๆ แล้วก็เตลิดจิตไปอยู่กับอนาคต วาดหวังจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้ ฝันเอาเองทั้งสิ้น แล้วก็ตู่ว่าเป็นจินตมยปัญญา เกิดแต่บุญญาในชาติปางก่อน หนุนนำให้ได้นิมิต ว่าจะได้เป็นพระโพธิสัตว์ กำจัดกิเลสได้ในที่สุด สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ว่าไปถึงอนาคตอันหาที่สุดมิได้โน่นก็มีมาก แย่งกันจะเป็นพระพุทธเจ้า ก็ด้วยเหตุแห่งการเรียนเรื่องราวต่างๆ ในพระไตรปิฏก แล้วก็กล่าวตู่กันเสียจนนึกว่าเป็นเรื่องจริง นี่แหละที่เรียกว่าจิตนั้นมันเหมือนลิง นิ่งไม่ได้

ระเบียบวิธีในการศึกษาพระพุทธศาสนา มีอยู่สามประการ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ คือ เรียน เพียร รู้ มุ่งสู่ปัญญาอันบริสุทธ์ เรียนเท่าไรจึงจะพอ ก็มีเรื่องย่อๆ อยู่ว่า ในครั้งนั้น เมื่อพระพุทธองค์ทรงพระเมตตาอันยิ่ง ได้เสด็จเดินทางไปยังที่พำนักของพระสาวกในที่ต่างๆ พระภิกษุทั้งหลาย ก็รายงานบ้าง ถามปัญหาบ้าง ส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับการพากเพียรปฏิบัติ ที่ผ่านมาได้ปฏิบัติอย่างขะมักเขม้น แต่ผลที่ได้รับก็ยังไม่กระจ่าง เห็นภาพบ้าง ไม่เห็นภาพบ้าง มีเสียงบ้าง ไม่มีเสียงบ้าง ภาพที่เห็นไม่ชัดเจนคลุมเครือบ้าง บ้างก็มีภาพไม่มีเสียง บ้างก็มีเสียงแต่ไม่มีภาพ บ้างก็มีภาพเพียงสีดำๆ บ้าง ไม่กระจ่างชัดเจน เป็นสีเทาบ้าง ไม่เป็นธรรมชาติบ้างฯ พระพุทธองค์ก็ทรงชี้แนะวิธีปฏิบัติให้อย่างไม่มีปิดบัง ทำให้ภิกษุทั้งหลายสามารถเจริญธรรมภาวนาจิตได้อย่างไม่ติดขัด ลางรูปก็มีปรารถนาเช่นนั้นเช่นนี้ มากบ้าง น้อยบ้าง เป็นธรรมดา ที่สุดพระพุทธองค์ก็ทรงกอบเอาใบไม้แห้งมากำมือหนึ่ง แล้วทรงแสดงปริศนาธรรมให้กับภิกษุเหล่านั้น เป็นแนวทางว่า ป่าไม้มีมากมายนับไม่ถ้วน ใบไม้ที่แห้งล่วงหล่นลงมาก็ยิ่งมีมาก การจะศึกษาพากเพียรให้รู้ป่าไม้ รู้ใบไม้ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องยาก การที่จะศึกษาสิ่งที่ใกล้ตัว อย่างเช่นใบไม้แห้งที่อยู่ในกำมือนี้ ย่อมทำให้สำเร็จได้โดยไม่ยาก

การศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ก็เช่นกัน เอาแค่กำมือก็พอเพียงแล้ว ขอให้มีความเพียรที่จะศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ย่อมสำเร็จได้โดยไม่ยาก ที่ยากก็คือตั้งเข็มไว้ผิด หวังที่จะเรียนรู้ไปเสียทั้งหมด เอาเรื่องไกลตัว แต่เรื่องที่อยู่ใกล้ตัว หรือจะว่าให้ถูก ก็คือเรื่องที่อยู่ในตัวเจ้าของเองนั้นกลับไม่สนใจใยดีที่จะตีแผ่มาศึกษา ที่ไม่ศึกษานั้นนะ ก็เพราะกลัว กลัวที่จะเห็นความชั่วร้ายของตัวเอง แล้วยอมรับไม่ได้ ก็ไม่สามารถคลายออกอย่างแน่นอน ที่เรียนมาก เพียรน้อย ก็ด้วยเหตุนี้เป็นส่วนมาก เพราะว่าเรียนนั้น มันมีวุฒิประกาศ แต่เพียรนั้น ไม่มีประกาศวุฒิ มีแต่ความสุขที่เปี่ยมล้น เอาไปแขวนโชว์ข้างฝาผนังไม่ได้

ขอบุญจงรักษาผู้บำเพ็ญบุญเพื่อเจริญพระธรรมคำสอนขององค์พระพุทธศาสดา


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
Kittiyano

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1