ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

ธรรมตรงหน้า ตอนที่ 1 ถอดถอนจิต
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : ธรรมตรงหน้า ตอนที่ 1 ถอดถอนจิต
#138
ธรรมตรงหน้า ตอนที่ 1 ถอดถอนจิต 12 ปี, 10 เดือน ก่อน  
ธรรมตรงหน้า ตอนที่ 1 ถอดถอนจิต

ธรรมตรงหน้า ในที่นี้หมายถึงธรรมที่เกิดขึ้นตรงหน้า “ธรรมใดเกิดขึ้นตรงหน้า ให้นำธรรมนั้นมาพิจารณา” สำหรับนักปฏิบัติธรรมเพื่อเจริญจิต ยกจิตให้เข้าใจธรรมแล้ว ต้องทำความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสดาให้เข้าใจ ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในธรรมข้อนี้ “ธรรมตรงหน้า” จึงได้ละเลยไม่พิจารณาธรรมตรงหน้า แต่กลับไปบริกรรมคำซ้ำซากอยู่

อันที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรมนั้น คือการพากเพียรเพื่อยกจิต ยกจิตคืออะไร เอาอะไรมายก ก็โดยที่เป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งหลายแล้ว ย่อมมีโลภโกรธหลงเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร หมาหรือคน ในเมื่อเราได้โอกาสเกิดเป็นคนแล้ว ก็ต้องยกระดับจิตของตัวเจ้าของให้เป็น มนุสมนุโส ให้ได้เป็นอย่างน้อย ถ้าสามารถยกจิตตนให้ถึงระดับ มนุสเทโว ได้ ก็ยิ่งประเสริฐนัก

ได้กล่าวไว้ว่า ยกจิตคืออะไร แล้วจะเอาอะไรมายกจิต ก็ต้องนำพุทธอุทานมากล่าวนำ คือ ธรรมตรงหน้า หลวงตาได้กล่าวไว้แล้วในตอนก่อนว่า คนเรียนกับคนเพียร นั้น จะเข้าใจต่างกัน คนเรียนชอบที่จะหาตำรับตำรา ครูอาจารย์ฝ่ายการศึกษา เพื่อที่จะได้เรียนรู้จดจำเอาไว้ให้ได้มากๆ ส่วนคนเพียรนั้นชอบที่จะตามหาครูอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติ เพื่อที่จะได้ฝึกฝนดัดตนดัดจิต แล้วอย่างไหนดีกว่า อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก การปฏิบัติเป็นเรื่องเฉพาะตน จึงบอกว่าไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก เพราะคำสอนขององค์พระพุทธศาสดานั้น ให้เรียนเพื่อที่จะได้ย่นย่อเวลา เรียนจากใคร ก็เรียนจากประสบการณ์ของครูอาจารย์ ซึ่งเปรียบได้เท่ากับตำรับตำรา เมื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ของครูอาจารย์แล้ว ใช่ว่าจะสำเร็จ ต้องลงมือปฏิบัติด้วย

การปฏิบัติคืออะไร การปฏิบัติก็คือการนำเอาความรู้ต่างๆ ในเบื้องต้นที่ได้ร่ำเรียนจากครูอาจารย์ มาทำการทดสอบทดลองกับตนเอง บ้างก็มีจิตใจที่ไม่เข้มแข็ง บ้างก็มีจิตใจที่เข้มแข็งชนิดตายเป็นตาย ที่มีจิตใจไม่เข้มแข็งไม่ว่าจะทำอะไรก็สำเร็จได้ยาก ส่วนผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งก็จะสามารถทะลวงผ่านสภาวะจิตในรูปแบบต่างๆ ได้ แต่ก็ต้องอาศัยความรู้พื้นฐานที่ได้ร่ำเรียนมาด้วย ความรู้พื้นฐานที่ว่านี้ต้องเป็นความรู้ในเรื่องหลักธรรมหรือไม่ ก็บอกว่าไม่จำเป็น ความรู้พื้นฐานเท่าทีมีอยู่ก็พอเพียงแล้ว ยิ่งรู้หลักต่างๆน้อยเท่าไร ก็ยิ่งจะง่ายต่อการปฏิบัติ ยิ่งรู้มากเท่าไร ก็ยิ่งที่จะถ่วงการปฏิบัติ เพราะ วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

เพื่อที่จะขจัดวิจิกิจฉานี้ พระพุทธศาสดาก็ได้ทรงสอนสั่งเอาไว้แล้ว คือ ให้พิจารณาเฉพาะธรรมที่เกิดขึ้นตรงหน้า คือเอาปัจจุบันเป็นปัจจัย แล้วก็วินิจฉัยไปตามปัจจัยนั้นๆ ว่ามีเหตุมาแต่อะไร มีองค์ประกอบใดบ้าง ทำไมถึงได้เป็นเช่นนั้น จะแก้ไขได้หรือไม่ แล้วจะแก้อย่างไร แก้แล้วมีอะไรเกิดขึ้นใหม่ ผิดทิศผิดทางหรือไม่ ฯ ทำอย่างนี้อยู่ จิตก็จะมีกิจกระทำไม่หลงทาง เมื่อกำลังความสามารถยังไม่พอ ก็ต้องเพียรเพ่งเร่งสร้างกุศลให้มากยิ่งขึ้น ทำไมถึงต้องสร้างกุศลให้มาก ก็เพราะว่ากุศลนั้น เป็นฐานของกำลังที่จะให้สามารถขุดค้นจิตให้ยิ่งลึกเข้าไป เพื่อที่จะได้รู้เหตุของผลที่กำลังปรากฏอยู่ เมื่อมีผลย่อมต้องมีเหตุ เมื่อไม่ค้นหาเหตุ ก็เท่ากับสลัดละการค้นหา ความเพียรก็สิ้นสุด การตัดสินก็ใช้กิเลสตนเป็นเครื่องมือ ไม่อาจที่จะสร้างดุลในจิตให้เกิดขึ้นได้ ถ้ายิ่งจิตนั้นยังไม่ฟอกให้สะอาด เปี่ยมล้นไปด้วยอกุศล เป็นอกุศลจิตที่มีกำลังมาก ก็ยิ่งยากที่จะแก้ไข ที่สุดก็ละการปฏิบัติ เห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่เป็นจริง ธรรมตรงหน้าหรือว่านิมิตที่ปรากฏนั้น ไม่ใช่ตนไม่ใช่นิสัยของเจ้าของ อย่างนี้ก็ไม่สามารถฟอกจิตตนให้สะอาดได้

จิตดวงนี้ ได้เกิดมาแล้วไม่รู้กี่ชาติ ไม่รู้ว่ากี่ภพ ถ้าตัวเจ้าของไม่ยอมรับข้อนี้ ก็เท่ากับว่าไปไม่ถึงที่หมายสำคัญที่ตั้งหวัง ตรงข้ามกลับจะจมลึกไปยิ่งกว่าเก่า เพราะไม่กล้าที่จะรับความเป็นจริง ไม่ยอมศิโรราบต่อกรรมที่เคยกระทำผ่านมา จึงได้มีการเรียนการสอนแบบแปลกแตกไปจากคำสอนขององค์พระพุทธศาสดา ก็ตรงนี้ ตรงที่ตีความคำว่า “ธรรมตรงหน้า” ต่างกัน

นักปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากบ่วงกรรมต่างๆ นาๆ ที่ได้กระทำผ่านมา ปรารถนาที่จะได้เห็นกรรมของตนเพื่อที่จะได้ฟอกจิตให้สะอาดหมดจด เพื่อความเบาแห่งจิต เพื่อขจัดให้สิ้นในกองแห่งอาสวะ เพื่อทำลายให้หมดไปซึ่งอนุสัยสันดาน เหล่านี้ทำได้ไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ความเพียรและจิตที่กล้าแกร่งแฝงเต็มไปด้วยความหวัง เพียรพากสร้างกำลังที่ละขั้นที่ละตอน รู้จักผ่อนรู้จักตึง ฉุดลากกระชากดึงเป็นบางครั้ง ไม่รู้จักคำว่าสิ้นหวัง อย่างไรเสียก็จะต้องได้ดีสักอย่าง เอามาเป็นกำลังใจ หนุนนำให้พากเพียรหนักขึ้น มีแต่ตึงไม่มีหย่อน ไม่ผ่อน ไม่ละ เร่งกำจัดขยะใจ อย่างไรอย่างไรก็ต้องสำเร็จ ภพชาติที่ผ่านมา ไม่มีเวลาให้กับความชั่วอีกแล้ว ขจัดจิตขุ่นมัวให้ผ่องแผ้ว และแล้วความหวังที่รอคอย ตัวเจ้าของเองเป็นผู้รู้ ครูที่สอนมาก็รู้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่พระพุทธเจ้า มีเพียงพระพุทธเจ้าและตัวเจ้าของเองเท่านั้นที่รู้ว่า สะอาดหมดจดเพียรไร พร้อมที่จะไปสู่ทางสายเปลี่ยวแล้วหรือยัง

การประพฤติปฏิบัติเยี่ยงที่กล่าวมานั้น ต้องอาศัยบุญอย่างยิ่ง เราทั้งหลายเข้าใจเรื่องบุญต่างกัน บุญในที่นี้หลวงตาจะยกเอาคำว่า ทาน ศีล ภาวนา มาลองขยายความดู

ทาน คือการให้ ให้ในสิ่งใดๆ ก็เป็นทานทั้งสิ้น เช่น ให้อภัย เรียกว่า อภัยทาน ถ้าจิตใจของผู้ให้อภัยยังขุ่นมัวอยู่ คือให้แบบเสียไม่ได้ ด้วยเพราะมีผู้บังคับกำกับอยู่ ผู้ที่ได้รับการอภัยก็ยังไม่พึงพอใจ อย่างนี้ไม่ได้บุญ ทำไมถึงไม่ได้บุญ ก็ด้วยเพราะทั้งสองฝ่ายยังสงสัย ยังข้องในจิต ยังไม่แล้วใจ คนได้รับการอภัยมีความรู้สึกว่า เขาควรจะเป็นฝ่ายถูก ควรเป็นผู้ให้อภัย ไม่ใช่เป็นผู้รับการอภัย เหตุเพราะเขาเป็นผู้ถูกกระทำ มิใช่เป็นผู้กระทำ ในซีกส่วนของผู้ให้อภัยก็ยังข้องในจิตอยู่ว่า ทำไมเขาจึงต้องให้อภัย ในเมื่อเขานั้นยังไม่พึงใจ ยังไม่สมหวังในส่วนที่เขาปรารถนา ยังต้องการที่จะได้มากกว่านั้น ที่สุดทั้งสองฝ่าย หลังจากที่ได้มีข้อตกลงให้อภัยโดยมีคนกลาง ก็ต้องกลับมาทะเลาะเบาะแว้งกันอีกในเรื่องเดิม ทานนั้นสามารถแบ่งออกเป็นสามระดับใหญ่ ๆ คือ ทาสทาน สหายทาน และสามีจิทาน ถ้ามองเพียงในเรื่องสิ่งของ ก็จะตีความว่า การให้ในสิ่งที่เลวกว่านั่นเป็นทาสทาน การให้ในสิ่งที่เสมอตนเป็นสหายทาน การให้ในสิ่งเลิศเป็นสามีจิทาน เราก็จะตีความเรื่องทานไม่ละเอียด

ศีล เป็นขอบเขตที่สามารถนำมากำหนดเรื่องทานได้ ในเรื่องเดิม ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่มีศีล คือไม่มีข้อกำหนดขอบเขตเอาไว้ในจิต เรื่องก็จะเป็นดังที่ว่ามา แต่ถ้าแม้นว่า จะมีใครสักคนในเรื่องนั้นมีศีลอยู่บ้างไม่ต้องมากถึงขั้นละเอียด แค่สามารถแยกแยะได้ก็พอ มองที่คนกลางที่มาช่วยไกล่เกลี่ย ถ้ามีศีลพอที่จะแยกแยะ ก็จะขอให้ทั้งสองฝ่ายต่างให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่เอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยแยกให้ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ในส่วนใดใครควรให้อภัยใคร ใครล่วงเกินใครในส่วนไหนก็ขออภัยต่อกันในส่วนที่ได้ล่วงเกินกัน ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าได้มีการเจือกันให้สม กลบกันให้พอดี ไม่มีใครได้เปรียบใคร ทั้งสองฝ่ายเมื่อได้คิดทบทวนก็จะสมยอมต่อกัน มองเห็นว่าคนกลางมิได้เห็นแก่ใครคนใดคนหนึ่ง อย่างนี้เรื่องก็จะง่าย เมื่อมีศีลมากำกับกำหนด ทั้งสองฝ่ายต่างก็พึงใจในส่วนของตนได้บ้างเสียบ้างพอสมน้ำสมเนื้อด้วยกัน ก็ดีแล้ว แต่ถ้ามีคนใดคนหนึ่งที่เป็นคู่กรณีไม่มีศีลเอาเสียเลย เรื่องก็จะจบยากเพราะจะต้องมีการตั้งแง่ตั้งงอน ที่สุดก็จะนำไปสู่ความไม่สงบอีก

บุญ ส่วนของบุญจะเกิดขึ้นได้ก็เนื่องมาจากการที่ทุกฝ่ายพึงใจ ในเรื่องเดิมนั้น ที่ว่าบุญเกิดก็เพราะเนื่องมาจากจิตนั่นเอง ถ้าจิตยังไม่รับ บุญก็ไม่เกิด ถ้าจิตยังไม่หายข้องใจ บุญก็เกิดไม่ได้ เรามักจะได้ยินคำกล่าวแบบไทยๆว่า ดีนะเป็นบุญแล้วที่ตกลงกันได้ เป็นบุญแล้วที่มีคนดีมาเป็นคนกลาง อย่างนี้เป็นต้น จะเห็นได้จากเรื่องที่ยกตัวอย่างมาว่า คำว่าบุญนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความสำเร็จเกิดขึ้นแล้วที่ใจ หรือที่ความคิดที่จิตนั่นเอง

ภาวนา ที่หลวงตาได้กล่าวไว้เมื่อต้นเรื่องว่า “ การประพฤติปฏิบัติเยี่ยงที่กล่าวมานั้น ต้องอาศัยบุญอย่างยิ่ง ” เมื่อมองมาที่เรื่องตัวอย่าง ก็น่าจะเข้าใจได้ตรงกันว่า ทั้งหมดก็มาแต่จิตหรือความคิดทั้งสิ้น ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อเดินทางสายเปลี่ยว ต้องมีจิตที่เป็นกุศล คือต้องมีกุศลจิตเกิดขึ้นเสียก่อนจึงจะสามารถดำเนินไปสู่เส้นทางสายนี้ ถ้าจิตยังไม่มีกุศลคือจิตหนักหนาไปด้วยกรรมฝ่ายบาป ก็ยากที่จะนำพาไปสู่ทางสายเปลี่ยว การที่จะเดินเข้าสู่การภาวนา ควรเข้าใจในความหมายของคำว่าภาวนาให้ตรงกันเสียก่อน ภาวนาหมายถึงเจริญ ไม่ได้หมายถึงบ่นคำซ้ำซาก นั่นเรียกว่า บริกรรม เข้าใจตรงก็เดินตรง เมื่อพูดเรื่อง ภาวนาจิต ก็หมายถึง การทำให้จิตเจริญ เจริญอย่างไร ก็อย่างที่ได้ยกตัวอย่างมา ถ้าจิตยังไม่เจริญก็เดินทางสายเปลี่ยวไม่ได้ เมื่อไม่เข้าใจคำว่า ธรรมตรงหน้า ก็ยังไม่สามารถทำให้จิตเบาได้ จิตก็เจริญไม่ได้ ธรรมตรงหน้าจึงเป็นเหตุสำคัญที่จะนำไปสู่การเจริญจิต แล้วจึงจะสามารถถอดถอนจิตได้

ถอดถอนจิต ก็คือ สะจิตตะปริโยทะปะนัง การที่จะถอดถอนจิตออกจากบ่วงกรรม ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบุญ บุญที่พระพุทธศาสดาได้กล่าวสอนในเรื่องนี้ พระองค์ท่านให้เริ่มต้นที่

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง คือละเว้นการทำบาปทั้งปวง ถ้าละเว้นการทำบาปทั้งปวงได้ ก็ได้กุศลจิตแล้วละ กุศลจิตเริ่มเกิดก็ตรงที่ยอมละเว้นการทำบาปทั้งปวง เพื่อที่จะเร่งให้จิตเจริญยิ่งๆขึ้น พระองค์ท่านก็ให้

กุสะลัสสูปะสัมปะทา คือเร่งการทำกุศลให้ยิ่ง จะเห็นได้ว่า ทั้งสองข้อนี้เป็นเหตุให้จิตมีกุศลยิ่ง คือมีบุญอย่างยิ่ง ถ้าจิตยังไม่สามารถประกอบกุศลให้ยิ่ง

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การถอดถอนจิตให้ออกจากบ่วงกรรม ซึ่งเป็นภารกิจอันหนักนั้น ก็จะเกิดไม่ได้ ที่ว่าเกิดไม่ได้ก็เพราะว่า ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมจะยังมีความลังเลสงสัยอยู่เต็มจิต ไม่อาจยอมรับสิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นตรงหน้า คือ “ธรรมตรงหน้า” ก็ด้วยเพราะว่ายังข้องในจิต ยังติดในตัวตนของตนอยู่ คือยังมี สักกายทิฐิ สูงมากอยู่ ถ้ายังยึดติดในตัวของตนอยู่ จิตก็จะยังคงหนักอยู่ กุศลจิตก็เกิดขึ้นไม่ได้ ธรรมใดๆ ก็ไร้ประโยชน์ ที่สุดก็จะตะแบงเบี่ยงเบนกรรมเสีย เห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เชื่อไม่ได้ ไม่เป็นความจริง แล้วความปรารถนาทางสายเปลี่ยวก็จะแปรเปลี่ยนไป กลายเป็นเดินทางเปลี่ยวเสียฉิบ

ธรรมทั้งหลาย ต่างก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบาปหรือว่าฝ่ายกุศล ทั้งหมดทั้งสิ้นก็ขึ้นอยู่ที่ตัวเจ้าของเอง ว่าจะมีปัญญาในการนำธรรมเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร

อันที่จริง ปัญญาอันเป็นธรรมดาของสัตว์นั้นก็พอเพียงแล้วสำหรับการเริ่มต้น ติดอยู่เพียงที่กรรมของตัวเจ้าของเอง ในเดรัจฉานหรือที่ต่ำกว่านั้น ด้วยเพราะมีกรรมติดมามากจึงได้ชาติเช่นนั้น จึงในที่นี้หลวงตาของดที่จะไม่กล่าวถึง สัตว์ในที่นี้จึงหมายถึง เริ่มตั้งแต่ มนุษย์ ขึ้นไป เพียงแค่มนุษย์ก็ยังแบ่งออกเป็นห้าประเภทด้วยกัน ที่แบ่งนั้น ก็มาจากกรรมที่ติดอยู่ในจิต ถ้าไม่สามารถ ก็ยากที่จะทำความเข้าใจในการถอดถอนจิต ถ้าแม้นว่ามีบุญญาสักนิด การถอดถอนจิตก็อาจเริ่มต้นได้ ทั้งหมดจึงบอกได้ว่า ไม่ว่าจะเรียนสูงจนสำเร็จการศึกษาระดับใดก็ตาม ถ้าจิตยังไม่เจริญ ย่อมไม่สามารถแน่นอน ยิ่งเรียนในเรื่องของหลักธรรมมากเข้าๆ ความเข้าใจในเรื่องของบุญกรรมก็ยิ่งเห็นต่าง การที่จะนำให้มาฝึกฝนในระดับโลกุตรธรรม นี้ จึงดูเสมือนหนึ่งว่า จะเป็นเรื่องที่ยากยิ่งสิ่งเดียว เพราะตัวไหนหรือ ก็ตัวเหตุสำคัญยิ่ง ตัวที่เป็นตัวเริ่มต้นเลยละ คือ สักกายทิฐิ นั่นเอง

การมองที่กรรม มองที่ธรรมตรงหน้า คนที่มีสักกายทิฐิสูง ย่อมมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ย่อมตีความว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง การศึกษาในระดับสูงย่อมประเทืองปัญญาให้เจริญแล้ว แต่ความจริงกลับเป็นตรงข้าม ยิ่งเรียนมากก็ยิ่งโง่มาก โง่ในที่นี้ หมายถึง ความคิดในเรื่องของกรรมที่ติดจิต จะมองต่างกัน คนเรียนมองเรื่องกรรมว่าเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ด้วยการเรียนรู้ กรรมเก่าไม่ต้องสนใจ สร้างกรรมใหม่ให้ดี ให้พ้น ก็พอแล้ว สำนักปฏิบัติจำนวนมากจึงให้ละเว้นเสียในเรื่องนิมิตของกรรมตรงหน้า กลับมองว่ากรรมหรือว่าธรรมตรงหน้าก็คือความเป็นปัจจุบัน อดีตเป็นเรื่องที่ไม่ต้องนำมาเกี่ยวข้อง อดีตที่ผ่านไปแล้ว ก็คือผ่านไปแล้ว เอาเรื่องใหม่เข้าไปทับไว้ ประเดี๋ยวก็หมดไปเอง โดยมักจะยกตัวอย่างเรื่องน้ำในแก้วว่า ในแก้วมีน้ำที่สีดำหม่นหมอง เมื่อเติมน้ำใหม่ที่เป็นน้ำใสเข้าไปให้มาก ให้ล้นออกได้เรื่อยๆ ที่สุดก็จะใสได้เอง ถ้าคิดกันตามหลักความเป็นจริงแล้ว มันยังไงๆก็ไม่ใส เหตุเพราะว่าแต่ต้นนั้นมันมีสีดำเจือปนอยู่ แล้วยิ่งถ้าเป็นการตกตะกอนด้วย การเติมน้ำใหม่ที่ว่าใสให้ล้นอยู่ตลอดนั้น มันก็ไม่สามารถที่จะนำเอาตะกอนที่นอนก้นออกมาได้ แม้จะโยกเขย่าอย่างไร มันก็เพียงลอยตัวขึ้นมา จะไหลตามน้ำที่ล้นออกมานั้นดูเหมือนจะยากนะ ฉะนั้นการเติมน้ำใหม่จึงเป็นเรื่องที่ไร้สาระ เป็นการมองแบบผิวเผิน ไม่ได้มองให้ทะลุตลอด เป็นการยกตัวอย่างหลอกตัวเอง ทั้งๆ ที่ก็เรียนมาว่า พระพุทธศาสดาสอนเรื่องอนุสัย คือตะกอนที่นอนเนื่องอยู่ใต้ก้นบึ่งของจิต

ส่วนที่เรียนพอรู้ เอาที่หลักสำคัญ เรียนรู้แค่ว่าพระพุทธศาสดาสอนเรื่องอะไร สอนให้ทำอย่างไรเพื่อการแก้ไข แล้วลองนำมาพิจารณาด้วยปัญญาอันน้อยนิด แต่จิตนั้นคิดดี ก็พอเพียงแล้วสำหรับการนำตัวออกจากบ่วงกรรม หลวงตาศึกษาและทดสอบทดลองมามากมาย ชนิดว่าไม่เสียดายน้ำก็ทำมาแล้ว เอาน้ำที่สูบขึ้นมาจากบ่อดินบ่อทรายบ่อบาดาล บรรจุไว้เต็มบ่อน้ำขนาดประมาณสองคิว แล้วปิดให้มิดชิด ปล่อยให้ตกตะกอนสักสามวัน แล้วก็ค่อยค่อยบรรจงถ่ายน้ำด้วยการใช้สายยางดูดอย่างเบามือ มาใส่ไว้ในถังพลาสติกขนาดสิบกว่าแกลลอน แล้วก็ปิดให้สนิท หวังว่าจะได้เห็นน้ำที่ใสไม่มีตะกอน เมื่อมองดูที่บ่อใหญ่ ก็เห็นว่าน้ำนั้นใสเหมือนเดิม ตะกอนที่นอนเนื่องอยู่ก็ดูละเอียดขึ้น ส่วนที่ถังพลาสติกที่หวังว่าจะใสไม่มีตะกอน เมื่อเปิดออกดู ก็ยังคงมีตะกอนนอนเนื่องอยู่ ทำการถ่ายน้ำในถังใส่ลงถังเล็กอีก หลังจากรอเวลามาหลายวัน ก็เปิดดูที่ถังเล็ก ก็ยังคงมีตะกอนอยู่อีก ซึ่งการทดลองนั้น ก็ได้ทำการล้างทั้งบ่อและถังทุกใบก่อนทำการทดลอง แม้ทีหลังก็ได้ถ่ายน้ำจากบ่อใหญ่ที่ตะกอนนอนเนื่องมาแล้วนับเป็นอาทิตย์ ก็ยังคงมีตะกอนละเอียดตกในถังเล็กที่นำมารองรับน้ำ

จากการทดลองก็จะเห็นได้ว้า ถ้าเปรียบบ่อใหญ่เป็นจิต เราว่ามันสะอาดบริสุทธิ์แล้วนะ ต่อเมื่อเติมน้ำเข้าไป น้ำนั้นมีสิ่งสกปรกเจือปน ก็เปรียบได้กับธรรมทั้งหลายที่มากระทบจิต อย่างไรเสียก็ต้องมีตะกอน ไม่ต้องพูดถึงว่าจิตเดิมเป็นเช่นไร แค่เอาของใหม่นี่แหละ แม้จะถ่ายน้ำสักกี่ครั้ง ยังไงๆก็ยังมีตะกอนนอนเนื่องอยู่ ตามหลักวิทยาศาสตร์แม้จะกรองด้วยเครื่องอาร์โอที่มีประสิทธิภาพสูง ก็ยังมีสิ่งเจือปนซึ่งสามารถตรวจวัดด้วยเครื่องมือวัดทางไฟฟ้าได้ ซึ่งการตรวจวัดนั้นคิดเป็นจำนวน หน่วยต่อล้าน (พีพีเอ็ม) จะเห็นได้ว่าอย่างไรก็ยังคงมีสิ่งเจือปน แล้วการเติมน้ำให้ล้นตามตัวอย่างของคนเรียนนั้นมันจริงหรือที่ว่า เติมน้ำดีแล้วก็ดี ใสได้ ดีได้ ถ้าไม่คว่ำแก้วแล้วชำระล้างด้วยน้ำกลั่น อย่างไรเสียก็ไม่มีสะอาดไร้ตะกอนดอก

คำสอนขององค์พระพุทธศาสดา จึงสอนให้สร้างกุศลให้มากละการสร้างบาป เพื่อที่จะได้เห็นตะกอนที่นอนเนื่อง ค่อยๆ เก็บเอาตะกอนที่นอนเนื่องอยู่ออกทีละน้อยด้วยความเพียรพยายาม ส่วนในผู้ที่มีบุญญาธิการมาก ก็อาจสามารถคว่ำแก้วได้ในทันที แล้วจึงค่อยเอาน้ำดีมาชำระล้าง เมื่อล้างสะอาดแล้ว ก็ต้องระวังรักษา ไม่ให้น้ำใหม่ที่มีธุลีเข้ามาเจือปน ถ้าแม้นว่าเผอิญมีน้ำที่มีธุลีหลงเข้ามาเจือปนก็ต้องรีบจัดการกรองเอาธุลีนั้นๆ ออกเสีย อย่าให้ตกค้าง เพราะว่าถ้าปล่อยให้ตกค้างอยู่นาน มันจะกลายเป็นไตแข็ง ต้องเสียเวลาแซะออก ถ้าเผลอไม่ได้ระวัง ก็จะแซะออกยาก กลายเป็นเดนตกค้างอยู่ เผลอๆ อาจทำให้เกิดในที่ลำบากได้ หลวงตาเคยเขียนไว้แล้วในเรื่องนี้ อุปกิเลสที่จรมา สามารถทำให้ขุ่นมัวได้ ถ้ามีปัญญาในการพิจารณาอุปกิเลสนั้น ก็สามารถผ่องใสได้เช่นกัน

ฉะนั้น การตีความพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสดา จึงต้องมีจิตที่ผ่องใส มีศรัทธาที่เปี่ยมล้น มีความเชื่อมั่นในคำสอนทั้งหลายเหล่านั้น และที่สำคัญ ต้องไม่เชื่ออย่างงมงาย ต้องหาวิธีการทดลองเพื่อที่จะได้สอนตนเองได้ ในเมื่อมีการทดลองแล้วเห็นผลแล้ว เราก็จะสนิทใจ เชื่อมั่นว่า สิ่งที่องค์พระพุทธศาสดาสั่งสอนนั้น พระองค์ได้ทำการทดสอบทดลองแล้ว และจากการบอกเล่าของพระองค์ พระองค์ท่านได้ทำการทดลองพิสูจน์แล้วสามครั้ง ผลที่ได้รับนั้นตรงกันทั้งสามครั้ง โดยเคลื่อนย้ายสถานที่อย่างไรก็ไม่เปลี่ยนแปลง การเวลาผ่านไปอย่างไรก็ไม่เปลี่ยนแปลง อย่างนี้จึงจะเชื่อมั่นได้ว่า เป็นจริงโดยไม่ขึ้นกับกาลเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนๆ ย่อมเป็นไปตามธรรมอันเป็นสัจจะ เป็นอริยสัจ เมื่อผลเกิด ย่อมต้องมีเหตุ เมื่อค้นหาจนเห็นเหตุที่ทำให้เกิด ย่อมต้องมีหนทางในการแก้ไข ถ้าพบหนทางในการแก้ไขและได้ลงมือแก้ไขแล้วอย่างถูกต้องตรงทางเป็นจริง ย่อมต้องถึงที่สุดยุติเรื่องนั้นๆ ได้อย่างหมดจรดขาวสะอาด อันนี้จึงเรียกว่า อริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐ เพราะว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน บุคคลเช่นไร เวลาใดๆ ความจริงนี้ก็สามารถนำมาใช้ได้ตลอด ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ขึ้นกับกาล ไม่ขึ้นกับภพ ไม่ขึ้นกับชาติ เมื่อเรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึง ย่อมดำเนินไปตามครรลองอันประเสริฐนี้อย่างไม่แปรเปลี่ยน เฉกเช่นเดียวกับ ชาติ ชรา มรณะ เป็นปรมัตถ์ธรรม คือธรรมที่มีสภาวธรรมรองรับ

ธรรมตรงหน้า คือ ธรรมใดที่เกิดขึ้นตรงหน้า ไม่ว่าจะ เห็นได้ด้วยตาเนื้อ รู้ได้ด้วยจิต ได้ยินด้วยหู สัมผัสรู้ด้วยกลิ่น ชิมได้ด้วยลิ้น กลืนกินได้ด้วยกาย ถ้าหวังความพ้นทุกข์ ก็ต้องนำธรรมเหล่านั้นมาพิจารณา พิจารณาอย่างไร ก็ด้วยการใช้อริยสัจ โดยยกเอาธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ให้ขึ้นกับกรรม ไม่ว่าธรรมใดๆ ก็คือ ทุกข์ ทั้งสิ้น เราจึงกำหนดขอบเขตไว้ว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์” “ทุกข์ เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้” กำหนดรู้อย่างไร “กำหนดรู้ใน สัณฐาน และ สังขาร” สัณฐานคืออะไร สัณฐาน ก็คือ องค์ประกอบทั้งหมด เท่าที่เราจะมีปัญญา (อ่านเรื่องมรรคแปด) ยิ่งมีความรอบรู้มากเท่าใด ความคิดหรือมุมมองก็ยิ่งกว้างละเอียด แล้ว สังขาร ละ สังขาร คือการปรุงแต่ง ในที่นี้ องค์ประกอบทั้งหลายที่ปรากฏตรงหน้านั้น ปรุงแต่งอารมณ์ตัวเจ้าของอย่างไร ทุกข์ สุข ตื่นเต้น หวาดผวา น่ากลัว น่ารังเกียจ ขยะแขยง อารมณ์รุนแรง แค้นเคือง ไม่พึงใจ เฉยเฉย ธรรมดา ไร้อารมณ์ หรือว่า ตกใจ อะไรทำนองนี้ ที่มาปรุงแต่งให้อารมณ์ (จิตเป็นตัวรับรู้อารมณ์) ของเจ้าของแปรเปลี่ยนไปตามธรรมตรงหน้า

ต้องดำเนินจิตไปตามครรลองของการพิจารณา ไม่ใช่พิจารณาแบบเรื่อยเปื่อยไร้สาระ พิจารณาในที่นี้ ก็คือ วิปัสสนา คือการพิจารณาในทุกแง่มุม พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ด้วยการมองที่ตัวเจ้าของเป็นหลักสำคัญ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสัตว์บุคคลสิ่งของหรือธรรมอื่นใด ล้วนเกิดแต่ตัวเจ้าของเองที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ใช่สิ่งอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

ก็ถ้าแม้นว่า เราจะไม่แต่งตัวยวนยั่วชวนให้เกิดกิเลสกามในสัตว์อื่น สัตว์อื่นเหล่านั้นจะมาข้องแวะแคะขูด ที่สุดก็ฉุดลากไปทำร้ายหรือ ถ้าแม้นว่าเราจะไม่ปากเสียไปสอดเสือกเรื่องของสัตว์อื่น เราจะถูกสัตว์อื่นด่าว่าทำร้ายเอาหรือ ถ้าแม้นว่าเราจะไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ คนอื่นๆที่อยู่รอบกายเราจะระอาหลีกหนีเราหรือ ก็ถ้าแม้นว่าเราจะไม่เคยทำให้สัตว์อื่นๆ ต้องได้รับทุกข์เวทนา เราจะได้รับผลกรรมเฉกเช่นเดียวกับที่เราทำกับสัตว์อื่นหรือ ฯ

การพิจารณาหรือวิปัสสนา ก็ให้ดำเนินไปในแนวทางเช่นนี้ ตัวเจ้าของเองก็จะเริ่มมีเหตุมีผลกับตนเอง ก็จะเริ่มมองเห็นเหตุ เห็นผล ที่ได้รับรู้ธรรมตรงหน้า ยิ่งพิจารณาละเอียดเข้า ละเอียดเข้า มากยิ่งๆขึ้น ตัวเจ้าของเองก็จะเริ่มเข้าใจธรรมตรงหน้าว่าสำคัญอย่างไร ก็จะเรียนรู้ได้ว่า กรรม ทั้งหลายล้วนตัวเจ้าของเองเป็นผู้ก่อมันขึ้นมา ไม่ใช่สัตว์บุคคลหรืออื่นใดที่เกี่ยวข้อง เป็นฝักฝ่ายมาก่อให้ เมื่อยอมรับอย่างศิโรราบว่า ตัวเจ้าของเองเป็นผู้ก่อก็ต้องเป็นผู้ผิดเอง เมื่อผิดเองก็ต้องแก้ไขเอง จะรอให้ใครๆในที่ไหนๆมาแก้ไขให้เล่า ไม่มีดอก ต่างก็ต้องแก้ไขกันเองทั้งสิ้น แก้ไขที่ไหนอย่างไร ก็แก้ไขที่สันดานที่มันติดอยู่ในจิต มันเป็นกิเลส เมื่อติดอยู่นานเข้า มีการรบกวนให้ฟุ้งกระจาย ทุกบ่อยทุกบ่อย ส่วนที่ละเอียดก็จะจมลงสู่เบื้องต่ำสุดกลายเป็นอนุสัย อนุสัยนี้แหละที่ไม่มีใครมองมัน ที่สุดก็เป็นตัวนำสัตว์ให้เกิด ถ้าพิจารณาแบบวิปัสสนา คือพิจารณาให้มากให้ละเอียด บ่อยเข้าบ่อยเข้า จิตก็จะเริ่มเข้าสู่ระดับฌาน เป็นฌานสมาธิอันเกิดแต่การที่จิตเริ่มมีเมตตา เป็นเมตตาจิต

สมาธิอันเกิดแต่ เมตตาจิต นี้ มีอานิสงส์มาก มีคุณยิ่ง นับตามคำสั่งสอนขององค์พระพุทธศาสดาที่สอนสั่งเอาไว้ว่า การทำเมตตาจิตนี้ มีอานิสงส์มากสิบเอ็ดประการ ถ้าหวังในเจโตวิมุตติ (เมตตายะ ภิกขะเว เจโตวิมุตติยา ฯ ) ก็ต้องทำเมตตาจิตเป็นประจำ อานิสงส์สิบเอ็ดประการนี้มีอะไรบ้าง หลับอยู่ก็เป็นสุข ตื่นอยู่ก็เป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาย่อมคุ้มครองรักษา ไฟก็ดียาพิษก็ดีศาสตราอาวุธก็ดี ย่อมไม่ทำอันตราย จิตเป็นสมาธิได้รวดเร็ว ผิวพรรณย่อมผ่องใส ไม่เป็นผู้ลุ่มหลงถึงขั้นทำร้ายตนเองจนตกตาย แม้นว่าการประพฤติปฏิบัติจะยังไม่เจริญจนถึงระดับที่สูงที่เกิดคุณวิเศษ ต้องตายกายแตกก่อนก็จะได้เกิดในชั้นพรหม

การทำเมตตาจิตนี้ จะเริ่มทำให้ติดเป็นนิสัยก่อนแล้วค่อยก้าวเดินเข้าสู่การพิจารณาธรรมตรงหน้า ก็จะยิ่งส่งผลมาก รวดเร็ว เพราะเป็นการฝึกฝนตนเองให้มีเมตตาในทุกสรรพสิ่ง มีความคิดในด้านบวก คิดดี ไม่คิดลบไม่คิดร้าย เมื่อก้าวเดินเข้าสู่การพิจารณาธรรม ก็จะมีกำลังมาก ที่มีกำลังมากนั้นก็เนื่องมาจากผลของอานิสงส์ทั้งสิบเอ็ดประการ จิตของตัวเจ้าของเองก็จะสงบสุข ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ดำเนินอย่างไร ก็มีแต่ความสุข ความหวาดผวาลดน้อยลงจนถึงระดับที่เรียกได้ว่าเห็นเป็นเรื่องธรรมดา กรรมใดก่อไว้ เมื่อกรรมสนองยังแก้ไขไม่ทัน ก็ต้องยอมรับผลของกรรมนั้นนั่นเอง ไม่มีใครช่วยได้ เมื่อมีโอกาสที่จะได้แก้ไข ก็ย่อมต้องดำเนินการให้ถึงที่สุดให้ได้ จะไม่ให้คั่งค้างอีกแล้ว จะเห็นการแก้ไขกรรมที่ตัวเจ้าของสร้างไว้ ไม่ว่าจะเป็นชาติภพไหนๆ ก็ไม่จำเป็นต้องรอคอย ต้องรีบแก้ไขไม่ให้คั่งค้างในจิต ดูที่สันดานปัจจุบัน ก็พอจะมองออกว่า ตัวเจ้าของมีพื้นเดิมของจิตมาอย่างไร เมื่อได้ลงมือแก้ไข ก็พร้อมศิโรราบรับผลของกรรมนั้นๆ ถ้าแม้นว่าแก้ไขได้ทัน เป็นอโหสิกรรม จิตก็พ้นทุกข์

หลวงตาขอจบเรื่อง ธรรมตรงหน้า ไว้เท่านี้ก่อน มีอะไรสงสัย ก็ถามกันมา อย่าใช้วิธีกล่าวหา ไม่ปรารถนาจะเข้ามาแก้ตัว แต่ก็จำเป็นต้องว่ากล่าวตักเตือน ถามมาในเรื่องนั้นๆ ก็จะได้ตอบหรืออธิบายให้เท่าที่จะมีปัญญา คงไม่สามารถอธิบายเกินกว่าปัญญาตน ที่ผ่านมา กระทบบ้าง กระแซะบ้าง ก็หวังให้ได้แก้ไขกรรม วันนี้จึงต้องมาบรรยายเรื่องธรรมตรงหน้า นี้แหละ เพื่อเป็นแนวทางอีกแนวหนึ่งสำหรับนักปฏิบัติที่แท้จริง แม้นจะเป็นผู้ชอบเรียนก็ไม่เป็นไร วิธีการที่หลวงตาบรรยายไว้นี้ เด็กก็ทำได้ ได้เคยยกตัวอย่างเรื่องเณรน้องเจ็ดขวบศิษย์ของท่านสารีบุตร ที่ได้รับรู้เรื่องการดัด ดัดทางเดินของน้ำ ดัดไม้ให้ตรง ดัดคันศรให้ตรง เพียงเท่านี้ เธอก็สามารถนำความรู้ใหม่นั้น มาทำการดัดจิตตนจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์เพียงแค่ช่วงที่ท่านพระอาจารย์สารีบุตรกลับมาจากการบิณฑบาต

ทั้งหมดทั้งหลาย ก็ขึ้นอยู่กับศรัทธาที่ตั้งว่าจะตรงทาง หรือว่ามีหวังอื่นแอบแฝง หลวงตาจึงได้เขียนเรื่องแบบหยิกแกมหยอก หวังให้รู้สึกเจ็บนิดๆ สะกิดใจคนที่หลงทาง เพื่อที่จะได้แก้ไขเสียใหม่ให้ถูกทางถูกทำนองตามครรลองแห่งธรรม อันองค์พระพุทธศาสดาตรัสสอนไว้แล้ว ไม่ได้บอกว่าหลวงตาเองวิเศษ เพียงมีความเห็นต่าง ก็ต้องการแสดงความเห็นที่ต่างนั้น ให้สังคมชาวพุทธได้รับรู้ว่า ทั้งหมดทั้งหลาย มันเกิดแต่ตัวเจ้าของเอง

ขอบุญจงรักษาผู้บำเพ็ญบุญเพื่อความเจริญแห่งพระธรรมคำสอนขององค์พระพุทธศาสดา


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
Kittiyano

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1