ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

ธรรมตรงหน้า ตอนที่ 3 จิตที่อบรมแล้ว
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : ธรรมตรงหน้า ตอนที่ 3 จิตที่อบรมแล้ว
#140
ธรรมตรงหน้า ตอนที่ 3 จิตที่อบรมแล้ว 12 ปี, 10 เดือน ก่อน  
(๒๗๕) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมสองอย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรมสองอย่างนั้นเป็นไฉน คือ สมถะหนึ่ง วิปัสสนาหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้ ฯ

(๒๗๖) ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น หรือปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญ ด้วยประการฉะนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะสำรอกอวิชชาได้ จึงชื่อว่าปัญญาวิมุติ ฯ

เกสปุตตสูตร(กาลามสูตร) “ดูกร กาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบสืบกันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่าได้ยินว่าอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตน อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่....”

หลวงตาได้เคยกล่าวไว้แล้วในเรื่อง “ สมถกัมมัฏฐาน วิปัสสนากัมมัฏฐาน ” การอบรมจิตต้องอาศัย สมถกัมมัฏฐาน การอบรมปัญญาต้องอาศัย วิปัสสนากัมมัฏฐาน ธรรมทั้งสองนี้ ต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน ในขณะจิตที่อยู่ในอารมณ์สมถะ ก็เพราะมีฐานมาจากวิปัสสนา และในขณะจิตที่อยู่ในอารมณ์วิปัสสนา ก็เพราะมีฐานมาจากสมถะ ถ้าใครๆในที่ไหนๆ กล่าวว่าสมถะไม่มีคุณค่า ต้องวิปัสสนาจึงจะทำให้เกิดปัญญา จริง! วิปัสสนาทำให้เกิดปัญญา แต่วิปัสสนาที่ไม่ได้มาจากฐานของสมถะ ก็จะอบรมปัญญาให้อยู่ในกรอบของ “ปัญญาทราม” ที่หลวงตากล่าวเช่นนี้ ก็เพราะว่า ใครคนนั้นไม่รู้จริง กลัวความจริง กลัวเห็นความชั่วของตัวเจ้าของ ไม่กล้ายอมรับ ไม่ศิโรราบในกรรมที่ทำไว้แล้ว เท่ากับว่าไม่สามารถอบรมจิตของเจ้าของ ยังไม่ยอมสำรอกราคะ ในเมื่อจิตของตัวเจ้าของยังไม่อบรม ยังสำรอกราคะไม่ได้ การวิจัยธรรมในขั้นวิปัสสนา ก็เป็นได้เพียงแค่อาศัยกิเลสตนเป็นเครื่องมือในการตัดสินธรรม ไม่สามารถอาศัยความเที่ยงธรรมที่เป็นดุลได้ดุลมาตัดสินธรรม ฉะนั้นไม่ว่าการตัดสินธรรมใดๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเจ้าของ ก็เป็นได้เพียงลามกธรรม หรือธรรมฝักฝ่ายที่เป็นลามก เป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่ธรรมงาม และลามกธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลย่อมนำไปสู่ปัญญาทราม เรียนรู้ได้ก็เพียงสัญญา ไม่อาจสามารถกระทำให้ตัวเจ้าของมีปัญญาบริสุทธิ์ได้

เพราะเหตุไรหลวงตาจึงกล่าวว่า “อาศัยกิเลสตนเป็นเครื่องมือในการตัดสินธรรม” ก็ด้วยเพราะคนคนนั้นได้ยึดถือธรรมข้อนั้นโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิตน เพราะยึดถือเอาตามกิเลส การฝึกฝนอบรมจิตในส่วนที่จะสำรอกราคะก็เกิดขึ้นไม่ได้ ในเมื่อไม่ยอมที่จะสำรอกราคะ การวิปัสสนาก็เป็นไปในฝักฝ่ายลามก เป็นธรรมดำ เหตุเพราะจิตนั้นขาดดุลเกินดุล ไม่ได้ดุล ที่ไม่ได้ดุลก็ด้วยอาศัยกิเลสคือความชอบใจในส่วนของตัวเจ้าของมาเป็นเครื่องตัดสิน

มีตัวอย่างจากคนคนเดิมที่เป็น คนอ่านธรรม แต่เพราะอาศัยประกาศอักษรเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน อาศัยพระธรรมคำสอนขององค์พระพุทธศาสดาเป็นบันไดในการศึกษาหาปริญญา หาประกาศอันเป็นอักษรรับรองตนเอง แต่เวลาวิจัยธรรม กลับอาศัยกิเลสตนเป็นเครื่องตัดสิน กล่าวตู่พระธรรมอย่างร้ายแรง โดยอ้างว่าไม่มีข้อกำหนด ไม่มีในศีลห้า เพราะตัวเจ้าของชอบการพนัน เป็นหญิงเสเพล เป็นคนพาล แต่อาศัยการกุศลเป็นฉากบังหน้า เวลากลุ่มคนที่มีความชอบเหมือนกันถามว่า เล่นการพนันผิดศีลข้อไหน เธอก็ตอบอย่างเต็มภาคภูมิด้วยมิจฉาทิฐิว่า ไม่ผิดศีลไม่มีศีลข้อใดห้ามเล่นการพนัน ทั้งที่เรียนมาเป็นสัญญาจดจำได้ว่า มีมากมายที่กล่าวไว้ในการศึกษาธรรมที่เธอได้ประกาศอักษรมา แต่เพราะอาศัยกิเลสอันเธอนั้นชอบใจอยู่กับการเล่นการพนัน จึงได้ตอบไปอย่างนั้น หมู่ที่ได้ยินได้ฟังก็ชอบใจ เพราะต้องการให้มีคนที่มีความรู้ที่เป็นคนสอนธรรม อันที่จริงไม่ได้สอนธรรมเพียงแค่จำเอามาอวด รับรองว่าการเล่นการการพนันนั้นไม่มีศีลกำหนด นี่เรียกได้ว่าตัดสินธรรมไปตามกิเลสตน

ลองมองดูที่ศีลห้าสำหรับมนุษย์ ในข้อสาม “กาเมสุ มิจฉาจาร” เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งหลายรักและหวงแหนศักดิ์ศรีของตน การที่ไปแย่งชิงของที่เป็นที่รักที่หวงแหน เป็นศักดิ์ศรี อย่างเช่นลูกเมียของคนอื่น แม้จะเป็นญาติสนิทก็ตาม สัตว์นั้นๆก็ย่อมที่จะต้องป้องกันศักดิ์ศรีของตนไว้ด้วยชีวิต ไม่ว่าสัตว์ใดๆ ที่ถูกหยาม มีสัตว์อื่นเข้ามาในถิ่นที่ตนปกครองเป็นเจ้าอยู่ และมีจุดมุ่งหมายที่จะมาแย่งชิง ตัวผู้เป็นหัวหน้าย่อมต้องป้องกันศักดิ์ศรีของตนไว้ด้วยชีวิต เมื่อจะคัดเลือกหัวหน้าใหม่ก็ต้องแสดงความสามารถให้ถึงที่สุด รางวัลของการที่เป็นผู้สามารถก็คือตำแหน่งหัวหน้าที่จะได้ครอบครองทุกอย่าง ฉะนั้น เมื่อมองอย่างนี้ก็จะสามารถวิเคราะห์หรือเห็นตามความเป็นจริงได้ว่า สัตว์ทั้งหลายหวงแหนและรักในศักดิ์ศรีตน

ในเมื่อศักดิ์ศรีเกียรติยศ เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง สัตว์ทั้งหลายไม่ว่าเพศใดต่างก็รักและหวงแหนในศักดิ์ศรีด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น การเล่นการพนันก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครๆในที่ไหนๆโดยส่วนใหญ่ บอกว่าเป็นเรื่องส่งเสริมเกียรติ ในเมื่อใครรู้เข้าว่าเป็นคนชอบเล่นการพนัน ก็เท่ากับว่าทำลายเกียรติทำลายศักดิ์ศรีตนเองและคนในครอบครัว ไม่ว่าใครก็ไม่อาจที่จะยอมรับได้ ธรรมดาของคนเล่นการพนัน ย่อมต้องปลิ้นปล้อนหลอกลวง เสแสร้งมายาไม่จริงใจ ย่อมต้องหาวิธีการต่างๆ นาๆ เพื่อที่จะแสดงให้สังคมที่ไม่รู้จักตัวตนของเจ้าของเข้าใจผิดเห็นเป็นคนดีคนมีศีล คนเหล่านั้นย่อมต้องการอาศัยประกาศอักษรเป็นเครื่องมือรับรอง ยิ่งเป็นประกาศจากสถาบันการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสดาด้วย ยิ่งจะส่งเสริมและสามารถอวดอ้างได้อย่างภาคภูมิ แต่เบื้องหลังที่ยังไม่สำรอกราคะออก ก็ยังคงเป็นคนเสเพล ยังมีความคิดมีจิตฝักใฝ่ในลามกธรรมอยู่ ย่อมกล่าวธรรมลามกด้วยจิตที่ยังไม่อบรม ย่อมวินิจฉัยธรรมโดยอาศัยกิเลสตนเป็นเครื่องตัดสิน

การเล่นการพนันนั้น เมื่อมองที่ศีล ก็วิเคราะห์ได้ว่าผิดศีลในข้อศักดิ์ศรี คือศีลข้อสาม เมื่อไม่รักศักดิ์ศรีตน ศักดิ์ศรีของหมู่ญาติและคนใกล้ชิดย่อมต้องถูกทำลายไปด้วย ด้วยกลอุบายของคนๆนั้น เพียงเพราะต้องการทรัพย์สินเงินทองไปใช้หนี้ เพียงเพื่อทำให้ตนเองรอดพ้น ใครอื่นจะเป็นเช่นไร ก็อาศัยธรรมที่เรียนมา กล่าวขออโหสิกรรมในใจก็เพียงพอแล้ว อ้างว่าได้ขออโหสิแล้ว พ้นภัยแล้ว นี้เป็นการหลอกลวงแม้กระทั้งตนเอง คือกล่าววาจาอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ตน ทำให้ผู้อื่นต้องเสียประโยชน์ เสียทรัพย์เสียศักดิ์ศรี นี้เป็นการกระทำผิดในศีลข้อที่สี่ การเล่นการพนันนั้นก็หวังที่จะได้ทรัพย์ของผู้อื่น เพ่งเล็งในทรัพย์ของผู้อื่น นี้เป็นการผิดศีลข้อสอง การเล่นการพนันนั้นย่อมต้องมีได้และมีเสีย เมื่อตัวเจ้าของตั้งหวังในทรัพย์ของผู้อื่นก็เท่ากับประมาท นี้เป็นการผิดศีลข้อที่ห้า เมื่อเสียทรัพย์ ทรัพย์นั้นไม่ใช่เป็นทรัพย์ที่มีเหลือมากมายแต่ต้องสร้างหนี้ ต้องหลอกลวงผู้คน แม้แต่คนในครอบครัวก็หลอกลวง ทำให้คนในครอบครัวตนและครอบครัวผู้อื่นต้องได้รับความลำบาก อาจถึงทุพพลภาพหรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ นี้ก็เป็นการผิดศีลข้อหนึ่ง รวมความทั้งหมดตามที่แจงมานี้ จะเห็นได้ว่า การเล่นการพนันนั้น ไม่มีส่วนดีเลย มีแต่ส่วนเสีย ผิดศีลทุกข้อ แต่คนอ่านธรรมคนนั้นกลับวิเคราะห์ว่าไม่ผิดศีล ไม่มีข้อกำหนดในศีล อย่างนี้จะให้เรียกว่าอะไร นอกจากว่า “ปัญญาทราม” เพราะเหตุที่ไม่อบรมจิต อบรมจิตผิดวิธี คนๆนั้นหลอกลวงหมดไม่ว่าพระเถรเณรชี นักปฏิบัติธรรมที่อยู่ใกล้ หรือหลงเดินเข้าไปใกล้ก็จะต้องเป็นอันว่าถูกหลอกด้วยกรรมวิธีต่างๆ ยิ่งศรัทธามาก ก็จะยิ่งหมดมากนี้เป็นธรรมดา คนเขาระอากันทั้งเมืองแล้ว มีแต่คนใหม่ๆ ที่ไม่รู้เล่ห์เท่านั้นที่ยังคงหลงอยู่ นี่ก็เพราะสร้างกรรมเบี่ยงเบน ถึงได้เดินหลงเข้าไปเต็มตัว ฉุดลากไม่อยู่ กัมมะโยนิ มีกรรมเป็นกำเนิด กัมมะพันธุ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กัมมัสสะโกม๎หิ มีกรรมเป็นของของตน กัมมะทายาโท ต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น กัมมะปะฏิสะระโณ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ยัง กัมมัง กะริสสามิ ไม่ว่าตัวเจ้าของจะทำกรรมอันใดไว้ กัลป์ยาณัง วา ปาปะกัง วา จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ตัสสะ ทายาโท ภะวิสสามิ ตัวเจ้าของต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆด้วยตัวของเจ้าของเอง การที่ผลของกรรมไปตกสู่ทายาทก็เพื่อที่จะทำให้ตัวเจ้าของได้รู้เห็นกรรมเพื่อที่จะได้แก้ไข แต่ถ้ามองผิด ก็จะมองว่า ถ้าทำผิดทำไม่ดีทำไมไม่ได้กับตัวเอง ที่จริงได้ ได้มากกว่าด้วย คือได้ทั้งตัวเองทุกข์และวงศาคณาญาติก็ทุกข์ด้วย อย่างนี้เรียกว่ากรรมหนัก เป็นคุรุกรรม รับผลที่เดียวเป็นพวง

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า จิตที่อบรมแล้ว ย่อมสำรอกราคะได้ แล้วใช้อะไรอบรมละ ก็สมถกัมมัฏฐานที่ถูกต้องตามครรลองแห่งธรรมไง การที่จะสำรอกกิเลสราคะอันฝังลึกอยู่ในภายในของจิตนั้น ย่อมต้องอาศัยจิตที่เป็นฌาน ต้องเป็นฌานที่ได้มาอย่างบริสุทธิ์ แล้วพระพุทธศาสดาได้ตรัสสอนเอาไว้หรือไม่ว่า การที่จะทำให้จิตเป็นฌานที่มีคุณมากเช่นนั้นจะต้องทำอย่างไร ก็ด้วย การกระทำเมตตาจิต อยู่เป็นประจำ พระองค์ท่านกล่าวว่า เป็นผู้ไม่ว่างเว้นจากฌาน เป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อยู่ หลวงตาได้แจงไว้แล้ว ในตอนที่แล้วเรื่อง “ธรรมตรงหน้า ตอนที่ 2 แค่ลัดนิ้วมือเดียว” วิธีการเช่นนี้แหละที่จะทำให้สำรอกราคะได้ ต้องยอมรับว่าตัวเองมีความชั่ว เอาตัวอย่างที่ทุกคนหรือจะเรียกว่าเกือบทุกคน มีเว้นบ้างก็ได้ แต่ถ้านับเป็นจำนวนร้อยละ ก็คงมีมากโขอยู่

เรื่องง่ายๆ ทุกคนคงไม่ได้ตื่นนอนเองในตอนเช้าตรู่ของทุกวัน ที่อาจจะตื่นเองได้ก็ต้องถูกฝึกมาแล้ว อันนั้นคงต้องเมื่อโตขึ้นมาแล้ว แต่เมื่อยังเล็กอยู่ ก็ต้องมีพ่อ แม่ หรือว่า ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย หรือพี่สาวพี่ชาย หรือใครๆที่มีหน้าที่ปลุกให้ลุกจากที่นอน คงหาได้ยากนะที่ว่า เมื่อได้ยินเสียงปลุกแล้วรีบลุกขึ้นทันทีอย่างไม่อิดเอื้อนอ้อนออด คงต้องมีบ้างที่บิดพลิ้วรอเดี๋ยว อีกสักเดี๋ยว อีกหน่อยน่า ยังนอนไม่อิ่มอะไรทำนองนั้น ในบางคนที่เจ้าอารมณ์ ก็จะยิ่งแสดงออกมาอย่างรุนแรง เวลาแม่ปลุกให้ลุกจากที่นอน ก็ร้องว่า อืมม์ รู้แล้ว แล้วก็นอนต่อ อีกสักพักก็ยังไม่ลุก ถูกปลุกซ้ำก็จะออกเสียงดังขึ้นว่า รู้แล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมลุกขึ้น ในช่วงเวลานั้นจิตมันมีความไม่พึงใจแล้ว เป็นโทสะแล้ว เมื่อถูกปลุกด้วยเสียงที่ดังขึ้น มีอารมณ์ขึ้นบ้าง เจ้าตัวโดนปลุกก็จะตะคอกใส่ว่า รู้แล้ว และถ้ายิ่งคนปลุกที่เป็นแม่ลงมือฟาดให้สักฉาด เจ้าตัวจัญไรก็ส่งอารมณ์ตอบโต้ทันที ทะลึ่งพรวดขึ้นมาหมายจะย้อนให้สักสองสามฉาด บ้างก็ย้อนแล้ว บ้างก็ยั้งมือทัน ที่ย้อนแล้วนะมันได้กระทำกรรมสำเร็จแล้ว คือมีจิตอาฆาตหมายทำร้ายให้ตายเสีย เหตุเพราะรบกวนความสุขอันชั่วช้า คือไม่รู้จักหน้าที่ไม่รับผิดชอบต่อชีวิตตน เมื่อถูกสั่งสอนก็อาฆาตแค้น ก็ด้วยจิตดวงนั้นเป็นจิตที่เกิดมาแต่นรก จิตที่ไม่เคยได้รับการอบรม ยังสำรอกกิเลสราคะไม่ได้ จึงได้ทำความชั่วได้กระทั่งบุพการีของตัวเจ้าของ ส่วนพวกที่ได้แต่ร้องว่า “เดี๋ยวปั๊ด” แล้วยั้งมือทัน ไม่ใช่ว่าไม่เป็นไรนะ อันที่จริงมันตั้งไว้แล้วที่จิตว่าจะฆ่า แต่เมื่อทะลึ่งพรวดขึ้นมาพร้อมทั้งเงื้อมมือขึ้นหมายที่จะฟาดให้สุดแรง เมื่อเห็นว่าเป็นบุพการีจึงลดมือลงแล้วก็โวยวายแทน อันที่จริงจิตนั้นพร้อมแล้ว มีความอาฆาตมาดร้ายแล้ว ได้กระทำผิดไปแล้ว

เมื่อจะทำสมถกัมมัฏฐาน ก็จะได้พบเจอภาพอันแสนจะน่ารังเกียจน่าชังเป็นนิมิตเป็นธรรมที่ปรากฏให้เห็นตรงหน้า แต่ด้วยเพราะไม่กล้ารับความจริง จึงได้กล่าวว่านิมิตนั้นไม่จริง ตัวเจ้าของไม่เป็นเช่นนั้น ไม่เคยทำเช่นนั้น ที่ไม่กล้ารับก็เพราะว่าในขณะปัจจุบันที่กำลังอ่านธรรมสอนธรรมอยู่นั้น หน้าตาและเกียรติยศในสังคมเขาสวมโขนไว้ให้เป็นผู้ทรงความรู้ทรงคุณค่า จึงไม่กล้ารับความจริง ในเมื่อไม่กล้ารับความจริง ไม่ยอมศิโรราบต่อกรรมที่เคยทำไม่ว่าจะเมื่อใด จำได้หรือไม่ได้ก็ตาม ต่อเมื่อธรรมตรงหน้าแสดงให้เห็น ก็ด้วยเพราะกรรมนั้นมีความเที่ยงธรรม ให้โอกาสแก่สัตว์เสมอ เพื่อให้ลดกรรมหรือเพิ่มกรรมให้หนักยิ่งขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับตัวเจ้าของเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับธรรมตรงหน้าเลย ด้วยเหตุที่ได้สร้างสมบุญไว้จึงได้โอกาสเห็นกรรม ถ้าไม่ได้สร้างบุญไว้ย่อมไม่มีโอกาสเห็นกรรม ต่อเมื่อได้เห็นกรรมแล้ว แต่ว่ารับไม่ได้ ไม่ยอมศิโรราบ ด้วยยังมีความยึดมั่นในตัวตนของเจ้าของ ยังละสักกายทิฐิไม่ได้ การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เป็นไปด้วยความลวง เป็นสีลัพพตปรามาส ด้วยเพราะยังไม่ยอม ยังไม่เข้าใจในธรรมข้อปฏิบัติข้อนี้ จึงเกิดเป็นวิจิกิจฉาอยู่ในภายในของจิต ขุดเอาออกยาก แล้วจะกล่าวอ้างตนว่าเป็นอริยบุคคลได้อย่างไรเล่า

ก็ในเมื่อองค์พระพุทธศาสดาทรงสอนสั่งเอาไว้แล้วอย่างชัดเจนว่า สมถกัมมัฏฐานนั้นเป็นไปเพื่ออบรมจิต ผลที่ได้คือจิตจะสำรอกราคะ เมื่อจิตสำรอกราคะได้ จิตก็เที่ยงธรรม ตั้งมั่น การเข้าสู่วิปัสสนากัมมัฏฐานก็บริสุทธิ์ เพราะเหตุที่สำรอกราคะได้แล้ว จิตเบาแล้ว วิปัสสนาธรรม ก็เป็นไปเพื่อการอบรมปัญญา กัมมัฏฐานทั้งสองเมื่อใช้ร่วมกันอยู่ตลอดเวลาทีละขั้นทีละชั้นตอน เป็นผู้เข้าถึงแล้วซึ่งวิญญาณทิฐิเจ็ด อายตนะสิบสอง รู้คุณและรู้โทษในธรรมเหล่านั้น ด้วยโยนิโสมนสิการ มีอุบายปัญญาเป็นเครื่องออกจากธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ก็ย่อมอบรมตัวเจ้าของให้ได้ปัญญาบริสุทธิ์ ปริสุทธิปัญญานี้แหละที่ไปอบรมจิตให้ยกสูงขึ้นเรื่อยๆ เข้าใจและถ่องแท้ในวิโมกข์แปด ที่สุดอุภโตภาควิมุตติ คือวิมุตติสอง เจโตวิมุตติหนึ่ง และ ปัญญาวิมุตติหนึ่ง ก็ย่อมกระทำให้แจ้งได้

หนักหน่อยนะวันนี้ หลวงตาตั้งใจที่จะให้ “ธรรมตรงหน้า” จบในตอนที่สามนี้ อาจสะเทือนอารมณ์ใครบ้างก็ให้เข้าใจว่า นี้เป็นการชี้ทางสว่างให้ ไม่ได้มีปรารถนาที่จะทำร้ายทำลายใคร เชื่อมั่นและมั่นใจว่าไม่ได้มีจิตคิดร้ายต่อใครๆ ไม่ว่าในที่ไหนๆ มีเพียงเมตตาที่นำเอาพระธรรมคำสอนขององค์พระพุทธศาสดามาแจงด้วยมีความเห็นต่าง และหวังว่า ความเห็นต่างนี้ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการจะฝึกฝนตนเอง อย่าเชื่อจนกว่าจะได้ทดลองและเห็นแล้วว่ามีคุณมาก ก็ให้กระทำให้มาก ทั้งหมดทั้งสิ้นก็เป็นไปตามกิเลสตน ตามกิเลสของตัวเจ้าของ ใครใคร่สิ่งใดย่อมไปยังที่ที่ชอบ นี้เป็นธรรมดา คำสั่งสอนขององค์พระพุทธศาสดานั้นเปรียบได้กับรอยเท้าช้าง ไม่ว่ารอยเท้าของสัตว์ใดๆในที่ไหนๆ ย่อมนำมาวางลงได้ในรอยเท้าช้าง นั่นหมายความว่า คำสอนขององค์พระพุทธศาสดานั้นเป็นที่สุดแล้ว ทั้งหมดทั้งสิ้นขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ศึกษา ธรรมดาจิตเป็นเช่นไร ก็ย่อมตีความไปตามแต่จิตตน จนกว่าจะได้อบรมจิตแล้ว การตีความหรือความเข้าใจในธรรมก็ย่อมเหมือนกัน เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเหตุที่ว่า

“ธรรมทั้งหลายมีอยู่แล้ว เป็นปรมัถต์ธรรม มีสภาวธรรมรองรับอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนๆหรือจะเป็นบุคคลเช่นไร เมื่อเข้าถึงย่อมเห็นอยู่ย่อมเป็นอยู่เฉกเช่นเดียวกัน ไม่อาจแปรเปลี่ยนไปเป็นอื่นได้ ”

ขอบุญจงรักษา ผู้บำเพ็ญบุญประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อความเจริญแห่งคำสอนขององค์พระพุทธศาสดา อันพระองค์ได้ให้สาสนะไว้แล้ว พระพุทธสาสนะ คือคำสอนขององค์พระพุทธศาสดา


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
Kittiyano

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1