ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 2 อิทธิบาท ๔ (ต่อ)
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 2 อิทธิบาท ๔ (ต่อ)
#283
โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 2 อิทธิบาท ๔ (ต่อ) 9 ปี, 6 เดือน ก่อน  
ในบทนี้เรามาต่อกันที่องค์ที่เหลือสามองค์ของ อิทธิบาทสี่ คือ

วิริยะ แปลแบบไทยๆ ก็คือความเพียร เพียรอะไร ก็เพียรที่จะเอาชนะความยากลำบากทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นหรือกำลังเกิดขึ้น อันนี้ต้องอาศัยความกล้าหาญ อดทน ไม่ย่อท้อต่ออันตรายทั้งปวงที่จะต้องผจญเพราะเหตุแห่งการพอใจแต่ต้น หรือความปรารถนาที่จะได้ศึกษาเรียนรู้ ถ้าอย่างนี้แล้วก็ตรงกับคำศัพท์เดิมที่ว่า วีระ คือความกล้า เมื่อลงปัจจัยเป็น วิริยะ ก็หมายถึง ความเป็นผู้กล้า กล้าในที่นี้ต้องกล้าในทางดีด้วยนะ ถ้ากล้าในทางชั่ว คดโกงบ้านเมือง ปล้นสดมภ์ชาวบ้าน ฆ่าเจ้าทรัพย์ ทำชั่วทำระยำ ข่มเหงรังแกผู้ที่ด้อยกว่า ใช้ศัสตราวุธฆ่าคนมือเปล่า อย่างนี้ไม่เรียกว่าผู้กล้า เขาใช้คำเรียกแยกให้ชัดต่างหากว่าโจร เหมือนอย่างเทวดาก็แยกเรียกว่าเทพกับมาร ชาวต่างชาติเขาก็แยกเรียกผู้กล้าว่าฮีโร่ ฆาตกรเหี้ยมโหดก็เรียกว่าซาตาน เป็นต้น

เป็นอันเข้าใจได้แล้วนะว่า วิริยะ นั้นมีความหมายให้เข้าใจในทางใด คนที่ชอบบอกว่าทำดีที่สุดแล้ว ได้เท่านี้แหละ อย่างนี้ไม่ใช่ผู้กล้า ยังไม่วิริยะ ถ้าวิริยะต้องหมายถึงได้เพียรพยายามอย่างถึงที่สุดชนิดว่าเจียนอยู่เจียนไปอย่างนั้นโน่น ไม่ใช่ว่าทำนิดทำหน่อยแล้วก็บอกว่าได้เท่านี้แหละดีที่สุดแล้ว อย่างนี้คนที่เขาเคยผ่านกาลเหล่านั้นมาแล้ว เขารู้เขามองออกว่าเรามีความวิริยะแค่ไหน เมื่อถูกเร่งเร้าให้มีความเพียรมากขึ้นก็สำออย ทำใจน้อยเป็นพวกถนิมสร้อย ใช้เล่ห์วาจากล่าวหาให้ผู้อื่นที่หวังดีสอนสั่งมีความผิด อย่างนี้เรียกว่าคนชั่ว หลวงตาเจอมาเยอะ ดีก็มาก ชั่วก็ไม่น้อย

ที่เห็นดีก็มาจากเด็กที่มีบุญมาแต่ปางก่อน ได้เกิดในตระกูลดี แต่เพราะมีกรรมมาก จึงทำให้ต้องรับผลทุพพลภาพทางด้านคุณภาพของอารมณ์ อย่างนี้ถือว่ามีปุพเพกตปุญญตา คือมีบุญมาแต่ก่อน ช่วยได้เกื้อหนุนได้ไม่ยาก ทำให้เขามั่นใจในตัวเรา แล้วค่อยๆ หาอุบายสอนสั่งชี้แนะชี้นำ สมาธิที่ว่าไม่ดีก็ดีได้ในระดับหนึ่ง มีความเพียรวิริยะในทางถูกได้ ที่สุดก็พ้นภัย

ส่วนในบางพวกที่เคยเจอมา เป็นพวกไม่มีบุญสั่งสมมาก่อน เกิดในที่ที่ไม่เจริญ ซ้ำอยู่ในครอบครัวที่จิตใจต่ำทราม แล้วพลอยไปเรียนในโรงเรียนที่เป็นของรัฐที่ไม่นำพา จัดหาครูไร้คุณภาพ ขาดการอบรมบ่มปัญญา แล้วจะเอาอะไรมาถ่ายทอดสอนเด็ก สังคมไทยก็จะได้เด็กด้อยคุณภาพ กลายเป็นภาระของสังคมในที่สุด โชคของเด็กถ้าดี ได้รับการอบรมในระดับที่สูงขึ้น ได้สั่งสมแล้วซึ่งบุญตามหลักมงคลสามสิบแปด ก็ถือว่าสังคมพ้นภัยได้ระดับหนึ่ง

เมื่อไรหนอสังคมไทยจะหมดครูเลวไร้คุณภาพเช่นนี้เสียที เรียนที่ไหนไม่ได้ก็ไปเรียนครู คิดกันแบบนี้ ยกย่องกันแบบผิดๆ ประเทศก็ต้องตกเป็นทาสเขาตลอดไป หรือว่าจะจริงอย่างที่เขาบอกกันว่าประชาชนมีความรู้ปกครองยาก ใครได้โอกาสศึกษามีความรู้แล้ว ได้เป็นใหญ่เป็นโตในชนชั้น ก็ไม่ต้องการให้ประชาชนมีความรู้ จะได้ปกครองง่าย คิดผิดแล้วล่ะ ถ้ายิ่งมีความรู้ มีความเจริญทั้งปัญญาและจิตใจ จะยิ่งปกครองง่าย พูดกันคำเดียวรู้เรื่อง ไม่ต้องมีคุกมีตะรางเอาไว้ให้เป็นที่น่าสมเพช ว่าเสียยืดยาวเข้าเรื่องดีกว่า

จิตตะ แปลแบบไทยๆ ก็คือมีความสนใจเอาใจใส่ หรือจะให้ถูกก็ต้องว่า เอาจิตตามรู้ ขอเน้นว่า ตามรู้ ไม่ใช่รู้นำ คือส่งจิตไปตามรู้อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ศึกษาเรียนรู้พฤติกรรมของจิต ไม่ใช่เอาจิตไปสั่ง อย่างนั้นเป็นการรู้นำ ไม่ใช่รู้ตาม เพราะถ้าทำผิดวิธีในองค์จิตตะนี้ องค์ที่สี่ก็เกิดไม่ได้ ถ้าถูกเมื่อไร องค์ต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นไปตามคำสอนขององค์พระพุทธศาสดา

ในเมื่อเราส่งจิตไปตามรู้พฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอารมณ์ขณะที่ทำความเพียรอยู่ เมื่อเราเก็บจำพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามที่หลวงตาได้ให้สติไว้ว่า เกิดขึ้น เรียนรู้ ตั้งอยู่ ถ่ายทอด แล้วก็ดับไป นี้คือขั้นตอนที่เป็นจริงขณะที่ปฏิบัติกิจอยู่ ขณะจิตที่เกิดและขณะจิตที่ดับเป็นจิตดวงเดียวกัน ดับของหนึ่งเป็นเกิดของสอง ขณะที่ตั้งอยู่มิได้ตั้งอยู่เฉยๆ แต่ว่ามีการเรียนรู้และถ่ายทอดด้วย จึงจะเกิดเป็นองค์ปัญญาบริสุทธิ์ได้ เพราะเหตุแห่งการเรียนรู้และถ่ายทอดในขั้นนี้จึงเกิดวิมังสาตามมา

วิมังสา ตามศัพท์ธรรมท่านว่าพิจารณา สอบสวน เลือกเฟ้น ที่เข้าใจแล้วก็ไม่เป็นไร แต่หลวงตาอาศัยศัพท์สมัยใหม่ที่เข้าใจง่ายทั้งผู้ที่ยังไม่เคยศึกษาและผู้ที่ศึกษามาพอสมควรแล้ว นั่นคือ การวิจัยและพัฒนา ที่ฝรั่งเรียกว่า รีเสิร์ชแอนด์ดีเวล้อบเมนต์ ถ้าขั้นตอนในตอนแรกที่เป็นจิตตะทำมาได้ถูก ขั้นตอนนี้ก็เดินถูกเช่นกัน เพราะถ้าเราไม่ตามรู้เก็บข้อมูลมา เราก็ไม่สามารถเอามาวิจัย เพราะว่าไม่มีข้อมูล เมื่อไม่มีข้อมูลที่จะวิจัย ก็คัดเลือกไม่ได้ พัฒนาไม่ได้ จิตก็เจริญไม่ได้ ธรรมทั้งหลายเกื้อกูลกันเป็นลูกโซ่ เป็นปัจจยาการต่อกันเรียกว่า สมุปบาทธรรม

การเลือกเฟ้นธรรมนี่ก็สำคัญยิ่ง เพราะเห็นมามาก พอเริ่มปฏิบัติไป จิตก็เกิดนิมิต เลยหลงนิมิต คิดว่าตัวเองเป็นเจ้า ก็เลยตั้งสำนักเปิดตำหนักกันมากมายอย่างที่เห็นที่รู้กัน บางพวกนึกว่าเป็นนกบินได้ เลยโดดตึกตกลงมาขาแข้งหักก็มากอยู่ หึ..หึ..อย่างนี้แหละหลงนิมิต เรียกว่าตั้งความเพียรเอาไว้ผิด เปรียบดั่งเมล็ดข้าวที่ควรนอนราบ เมื่อเอาฝ่ามือลูบไป ความเนียนตามธรรมชาติที่ปรากฏเป็นสัมผัสต้องได้ที่ฝ่ามือ ก็จะรู้สึกว่าไม่ระคาย ส่วนเม็ดข้าวที่ตั้งไว้ผิด ไม่นอนราบ เอาจมูกข้าวตั้งขึ้น แม้ใช้เท้าเหยียบก็จะรู้สึกระคายเคืองได้ ยะถา (ฉันใดก็ฉันนั้น)

จิตก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่อตั้งเจตนาเอาไว้ผิด จิตก็วิปริตทำร้ายเจ้าของได้ บางรายหนักถึงตายก็มี เช่น มาถามไถ่หลวงตา ก็บอกไปว่าอย่าเลยมันผิดธรรม สิ่งที่สอนไปให้นั้นเอาไว้เดินทางสายนิพพาน เมื่อเดินผิดก็จะวิปริต นิมิตต่างๆ ก็หนักหนาชนิดว่าเกือบจะเป็นบ้า ด้วยบุญน้อยเพราะตั้งเอาไว้ผิด ที่สุดก็ได้พบกับพวกเข้าเจ้าทรงผี ก็ยังจะนิมนต์ให้ไปดูว่าตั้งแท่นบูชาถูกหรือไม่ ก็บอกไปว่าไม่ใช่ นี่เป็นที่บูชาของพวกต่างลัทธิ เขาก็บอกว่าเขาต้องทำเช่นนี้จึงจะรู้สึกว่าไม่อึดอัด ไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดนิมิตว่ามีผู้มาร้องขอให้ช่วยมากมาย รับไม่ไหว หลวงตาก็บอกว่าดีแล้ว เราบำเพ็ญมาด้วยเหตุแห่งบุญ เมื่อมีเจ้ากรรมมาร้องขอ หรือมีผู้ยากที่ต้องการให้ช่วยก็แผ่บุญไป เขาก็ถามว่าทำไมต้องเป็นเขา ทำไมคนอื่นไม่เป็น ก็ตอบไปว่าเราน่าจะมีเวรต่อสัตว์เหล่านั้นมาก ควรที่จะอุทิศให้ไปแบบที่เคยสอนไว้ หายไปพักใหญ่ได้ข่าวว่าเข้าโรงพยาบาลเพราะเครียด ว่าจะไปเยี่ยมสักครั้ง พอถามคนที่เขาสนิทกันว่าว่างไหม มาพาหลวงตาไปเยี่ยมหน่อย คนนั้นก็ตอบว่าเขาตายแล้วก่อนหน้านี้เอง นี่แหละถ้าเราเดินทางถูกแล้วตั้งไว้ผิด ที่สุดก็ถูกทำร้ายทำลายเอาด้วยกรรมของเจ้าของเอง

ที่เล่ามานี้ใช่ว่าจะมีเจตนาทำให้กลัว แต่ว่าต้องพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อน แล้วค่อยตั้งเข็มให้มั่น อย่าอาศัยการปฏิบัติธรรมเป็นเครื่องนำไปสู่ความปรารถนาอันลามก เพราะที่สุดก็จะส่งผลให้ตัวเจ้าของได้รับผลอันไม่พึงปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นพระ เถร เณร ชี หรือคฤหัสถ์ ล้วนแต่หนีไม่พ้นกฎแห่งกรรมนี้ทั้งสิ้น ช้าเร็วไม่มีใครรู้ ตัวเจ้าของเองน่ะรู้ดี พระพุทธศาสดาได้ทรงสั่งสอนเอาไว้แล้วแต่ในพุทธกาล พระองค์ไม่เคยห้ามใครๆ ไม่ว่าจะในที่ไหนๆ แต่จะเพียงบอกว่าถ้าดำเนินไปในทางผิดจะได้รับผลอย่างไร ถ้าดำเนินไปในทางถูกจะได้รับผลอย่างไร ถ้าเป็นพระสาวกก็จะตำหนิอย่างรุนแรงว่าโมฆะบุรุษ ถ้าสอนได้ก็จะสอนต่อ ถ้าสอนไม่ได้ก็จะใช้พรหมทัณฑ์ ถ้ามีผู้เข้าใจไม่ถูกแล้วมาทูลฟ้อง พระองค์ก็จะอธิบายทางถูกให้เข้าใจ เพื่อจิตของสาวกทั้งหลายจะได้ไม่เคลื่อนออกจากกุศล อย่างนี้เป็นต้น

การจะสอนสั่งใครๆ ในที่ไหนๆ นั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ต้องโยนิโสให้ถูกคือ กระทำไว้ในจิตอย่างแยบคายด้วยอุบายปัญญา เพื่อที่จะได้พิจารณาหาอุบายวิธีในการเปล่งวาจาสอนสั่ง เพื่อให้ได้สัมฤทธิ์ผลตามที่ตั้งเจตนาปรารถนาไว้ ต้องใช้ความเพียรมากเพื่อให้จิตอยู่ในดุล ไม่เอียงไปเพราะรัก ไม่เอียงไปเพราะชัง ปรารถนาเพียงเพื่อความอยู่เป็นสุขของตนและผู้อื่น แม้ในสังคมอันสับสนวุ่นวายเท่านั้น ไม่ตั้งอยู่ในที่อันไม่เป็นสุข มีความเห็นแก่ตนแก่ตัวเป็นที่ตั้ง

หลวงตาขอจบองค์สี่องค์แรก คือ อิทธิบาทสี่ บาทฐานแห่งความสำเร็จในการกิจที่ปรารถนา ขอท่านทั้งหลายจงมีความเพียรมาก ตั้งไว้ให้ถูกเพื่อความเป็นสุขแห่งตนและใครๆ ในที่ไหนๆ อย่างไม่มีขีดขวางกั้น

ขอบุญจงรักษาผู้บำเพ็ญบุญ

หลวงตากิตติญาโณ


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
หลวงตากิตติญาโณ

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1