ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

ภัยต่อพุทธศาสนา 5
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : ภัยต่อพุทธศาสนา 5
#52
ภัยต่อพุทธศาสนา 5 13 ปี, 6 เดือน ก่อน  
ภัยต่อพุทธศาสนา 5


วันนี้เรามาต่อ ตอนที่ 5 เรื่อง ภัยต่อพุทธศาสนา


เมื่อตอนที่แล้วเราได้รู้เรื่องศีลห้าไปเพียงข้อเดียว วันนี้หลวงตาจะมาแสดงเรื่องศีลต่ออีกหนึ่งข้อ ในสี่ข้อที่ยังเหลืออยู่ ถ้าเราสามารถเข้าใจในหัวใจของศีลห้าแล้ว ต่อไปเราก็จะรักษาศีลได้ดียิ่งๆขึ้น และที่สุดก็ทำให้ศีลสัมปทาเกิดขึ้นในตัวเรา ถ้าจะพูดให้ถูกก็คือในจิตเราได้โดยไม่ยาก

โดยส่วนมาก คนไทยมีฐานเดิมของศาสนา หรือลัทธิความเชื่อทางจิตวิญญาณแบบพุทธ คือเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อธิบายได้ง่ายๆ ว่า เมื่อเป็นผู้รู้ ผู้เข้าใจในเรื่องราวต่างๆ (สัมมาทิฐิ = Perfect Knowing) แล้วก็จะเป็นผู้ที่ตื่นจากความเขลา (สัมมาสังกัปปะ = Perfect Thought) เมื่อตื่นจากความเขลา ก็จะรู้สึกตัวเองว่าเป็นผู้มีความเบิกบานสำราญใจ ไม่เป็นผู้หลงเดินทางผิดอีกแล้ว อย่างนี้เป็นต้น

ศีลห้าก็เช่นเดียวกัน เป็นคำสั่งสอนขององค์พระศาสดาผู้เป็นพุทธ เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นครูผู้สอนของเทวดา มาร พรหม และมนุษย์ ไม่ต้องสนใจว่า เทวดา มาร พรหม นั้นเป็นอย่างไร ถ้าอยากรู้ ต้องศึกษาและทดลองด้วยตนเอง เป็นธรรมดาถ้าเราอยากเป็นบัณฑิตก็ต้องทำตัวเยี่ยงบัณฑิต อยากเป็นพาลก็ต้องทำตัวเยี่ยงพาล จะรู้จักเทวดาก็ต้องทำตัวเยี่ยงเทวดา อย่างนี้เป็นต้น ศีลห้าเป็นศีลของมนุษย์ เมื่อต้องการจะเป็นมนุษย์ทั้งกายและใจ ก็ต้องศึกษาประพฤติปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ คือรักษาศีลห้าให้ได้

ศีลข้อที่หนึ่งได้กล่าวไว้แล้ว วันนี้มาต่อศีลข้อที่สองกัน ศีลข้อที่สองกล่าวถึงเรื่อง อทินนาทาน คือกล่าวถึงเรื่องของทรัพย์ที่ไม่บริสุทธิ์ ถ้าเราแปลว่า “การลักทรัพย์ ” เราก็จะตีความแคบเกินไป ไม่กว้างครอบคลุมทุกเรื่องราวของทรัพย์ เมื่อกล่าวถึงทรัพย์ คือ “ทาน” เราก็จะมาลองทำความเข้าใจกัน ที่ว่าทานนั้นคือทรัพย์ ก็เพราะว่าทานต้องมีเจ้าของ เจ้าของทานชื่อว่า ทานบดี หรือ ทานาธิบดี เมื่อเรารู้เช่นนี้ เราก็จะเข้าใจได้ว่าทรัพย์ทั้งหลายต้องมีเจ้าของ ไม่มีทรัพย์ใดไม่มีเจ้าของ

เมื่อเราทำความเข้าใจได้ว่าทรัพย์นั้นต้องมีเจ้าของ การได้มาต้องบริสุทธิ์ คือเจ้าของทรัพย์ต้องยินดีให้แล้ว จะไปบังคับขู่เข็ญหรือทำอุบายด้วยเล่ห์เหลี่ยม หรือขวนขวายมากด้วยกลโกงใดๆ เพื่อที่ให้ได้มาซึ่งทรัพย์นั้น ถือว่าไม่บริสุทธิ์ ไม่อาจจะอ้างตนเป็นเจ้าของได้ โจรเสื้อนอก คือคนที่มีความรู้อยู่ในสังคมชั้นสูง ย่อมมีความคิดและอุบายมาก จึงเป็นกลุ่มคนที่นับว่าน่ากลัวที่สุด ส่วนโจรทั่วไปไม่มีอุบายมาก จะลักวิ่งชิงปล้น ก็ทำตรงๆ จึงจับตัวมาลงโทษได้ง่าย ดังนั้นศีลข้อนี้จึงครอบคลุมถึงกลุ่มโจรเสื้อนอกด้วย พวกนี้เป็นพวกเรียนมากจบการศึกษาสูง แต่ไม่มีปัญญา ปัญญาที่ว่านี้เป็นปัญญาบริสุทธิ์ เป็นปัญญาที่จะเอาตัวรอดจากกฎแห่งกรรม เพราะว่าเป็นกฎหมายที่ไม่มีใครๆในสามสิบเอ็ดภพภูมิจะรอดไปได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “ ไม่มีใครใหญ่เกินกรรม ” ไม่ว่าจะสร้างกรรมใดๆ ดีหรือชั่วก็ตาม ล้วนประทับไว้แล้วในจิต จิตเป็นตัวเก็บจำข้อมูลของกรรมแล้วบันทึกเอาไว้ ก่อนหลังหนักเบา จิตมีระบบจัดการทั้งหมดอย่างเที่ยงธรรม ไม่มีผิดพลาดตกหล่น จิตและกรรมยุติธรรมเสมอ กรรมใดส่งผลแล้วยังไม่ชำระ ก็จะสนองต่อเจ้าของกรรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจและทำการชำระแล้วอย่างศิโรราบไม่มีอุทธรณ์ฎีกา คือไม่มีการตัดสินใหม่ เพราะว่าเจ้าของกรรมนั้นได้ตัดสินกรรมของตนเอาไว้แล้วตั้งแต่เมื่อเริ่มลงมือสร้างกรรม จะสนองนานเท่าใดก็ขึ้นอยู่ที่เจ้าของจะตามไปสนองอีกกี่ภพชาติ ก็ขึ้นแต่เจ้าของ ถ้าชำระได้หมดในชีวิตเดียว ก็สามารถสิ้นภพสิ้นชาติได้

คำว่าภพ ชาติ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตายแบบหมดชีวิตแล้วเกิดใหม่เป็นตัวใหม่อย่างเดียว แต่หมายรวมถึงชีวิตในปัจจุบันด้วย ภพ คือสถานที่ ชาติ คือการเกิด ทุกๆลมหายใจเราเคลื่อนภพไปไม่รู้เท่าไร และในภพที่เราเคลื่อนไปนั้น ไม่รู้ว่าเราเปลี่ยนชาติไปแล้วเท่าไร ทั้งทางกายและทางจิต ภพชาติเกิดได้มากมายมหาศาล เมื่อเราทำความเข้าใจได้ดังนี้ เราก็จะเร่งศึกษาเรียนรู้ที่จะทำภพชาติที่เราจะเคลื่อนไปและเปลี่ยนไปให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความไม่ประมาทและตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมอันงาม

วันนี้หลวงตาขอจบเรื่องศีลข้อสอง คือ อทินนาทาน เอาไว้แค่นี้ก่อน แล้วค่อยมาต่อศีลข้อสามกันอีกเมื่อมีโอกาส


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
Kittiyano

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1