ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนที่ 2
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนที่ 2
#83
หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนที่ 2 13 ปี, 6 เดือน ก่อน  
คราวที่แล้ว หลวงตาได้กล่าวถึงธรรมชาติของความเป็นจริง คือ สัจจะ หรือ อริยสัจจ์ ที่ถูกนำมาเปรียบเทียบ เพื่อเป็นหลักธรรมคำสอน ทุกสรรพสิ่งย่อมดำเนินไปอย่างมีรูปแบบ จะแตกต่างกันก็แต่ที่รายละเอียดของสรรพสิ่งทั้งหลาย สิ่งแวดล้อม และการดำรงคงอยู่ของเผ่าพันธุ์ ทำให้รูปแบบเปลี่ยนไปบ้าง แต่โดยหลักใหญ่แล้วยังคงรูปแบบไว้เหมือนเดิม จิตและธรรม ก็เช่นกัน จะเปลี่ยนแปลงรายละเอียดไปบ้างก็ขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและยุคสมัย แต่ก็ยังคงรูปแบบเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

และได้กล่าวถึง วิชชา อันมีสัมมาทิฏฐิ คือความเป็นผู้ศึกษาเรียนรู้วิทยามาก ด้วยหลักแห่ง ปัสสัทธิ คือมีการวิเคราะห์ วิจัย วินิจฉัย และพัฒนา ผลของการศึกษาเรียนรู้มากที่ผ่านมาแล้วประมวลรวบรวมเป็นองค์รู้ เพื่อสอนตนเองเป็นอันดับแรก ด้วยการตั้งมั่นอยู่ในองค์แห่งศีลห้า มีธรรมเก้าประการเป็นตัวคัดกรอง ประกอบพร้อมด้วยมีความละอายและเกรงบาปเป็นหางเสือ

ส่วน อวิชชานั้น ก็เป็นตรงข้าม คือ เป็นผู้ไม่ใฝ่เรียนใฝ่ศึกษาวิทยาการต่างๆ ตัดสินเรื่องราวที่เห็นด้วยกิเลสฝ่ายต่ำ เอาความไม่รู้ของตนเป็นที่ตั้ง กล่าวโทษผู้อื่นโดยไม่เห็นความผิดตน ด้วยความไม่ถ่องแท้ ประกอบพร้อมไปด้วยความไม่ละอายและไม่เกรงบาปเป็นที่ตั้ง

บัณฑิต คือผู้ประกอบตนด้วยมรรคแปด มีความรอบรู้ในศาสตร์วิทยาทั้งหลายอย่างถ่องแท้ (Perfect Knowing) ถ้าเรามองที่คุณธรรม อันมนุษย์และเทวดาทั้งหลายต่างก็เรียกร้องรอคอยมานานก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมอันยิ่ง จวบจนเข้าสู่พรรษาที่สิบสาม เทวดาผู้ปราดเปรื่องตนหนึ่งจึงได้นำความเข้าทูลถามต่อพระอินทร์ผู้ทรงธรรมพิทักษ์เหล่าเทวดาและมนุษย์ เมื่อร่วงรู้ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่โลกมนุษย์ ที่ซึ่งมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นใหญ่ จึงให้เทวดาตนนั้น ไปทูลถามแก่พระพุทธองค์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับฟังความนั้นแล้ว จึงได้ตรัสตอบไปว่า “อเสวนาจะพาลานัง.........และมีความตอนหนึ่งว่า “พหุสัจจัญจะ สิบปัญจะ วินะโย จะ สุสิกขิโต สุภาษิตา จะ ยาวาจา เอดัมมังคะละมุตตะมัง.” ตรงนี้ เป็นส่วนที่นำไปขยายบอกเราว่า ที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงมรรคแปดแต่ต้นนั้น มาจากการศึกษาวินิจฉัยอย่างไรเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ธรรมอันยิ่ง

อริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (ว่าโดยเต็มคือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) การที่จะเข้าใจในอริสัจสี่ได้นั้น ต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงธรรมชาติของทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์ ที่เป็นทุกข์เพราะมีการเกิด การแก่ คือใช้เวลายาวนานกว่าจะถึงที่หมาย การเจ็บ เพราะการใช้เวลายาวนานทำให้ต้องผจญกับภัยต่างๆ แล้วก็ต้องล้มตายลง จะด้วยหมดอายุหรือยังไม่หมดก็ตาม เหตุเพราะเจอะเจอกับวิบากกรรมเสียก่อน ย่อมเป็นเช่นนี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ หรือธรรมชาติใดๆ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร สิ่งก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งโลกและจักรวาล

ทุกข์ จึงมิได้อยู่โดดเดี่ยว แต่ว่ามีองค์ประกอบ องค์ประกอบของทุกข์จะมีสัณฐานเป็นอย่างไรนั้น ไม่เที่ยง ภูเขาจะถล่มทลายได้นั้น มิได้ขึ้นกับการถูกน้ำเซาะส่วนที่ยังอ่อนทำให้มีการไหลเลื่อน แต่เมื่อน้ำหนักมาก ฐานรับน้ำหนักไม่ไหว ก็ต้องถล่มทลายลง สัตว์และมนุษย์ก็มีส่วนเข้าไปทำลายภูเขาได้เช่นกัน ภัยธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ก็ทำให้ภูเขาที่ว่าเป็นหินผาแข็งแรง ก็ละลายกลายเป็นลาวา ผ่านไปที่ไหนก็ทำลายที่นั่น นี่จึงเรียกว่าธรรมชาตินั้นมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา

สัณฐานของทุกข์ ที่มีรูปแบบต่างๆ ย่อมประกอบให้เกิดอารมณ์ได้มากมาย อารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมปรุงแต่งจิตเป็นธรรมดา จิตเมื่อถูกปรุงแต่งด้วยอารมณ์ ย่อมมีความแกว่งไหวไปตามอารมณ์นั้นๆ อารมณ์ที่แกว่งไหวนี้แหละ ที่เราจะต้องนำมาวินิจฉัยว่าเป็นเพราะเหตุใด มีสัญญา หรือวิบาก หรือกรรมอันใดเข้ามาประกอบ จึงทำให้อารมณ์นั้นไม่เที่ยง เปลี่ยนรูปไปตามสภาวธรรมทั้งหลายที่มีอยู่แล้วและที่สร้างขึ้นมาใหม่ ทั้งหมดเกิดขึ้นในจิตของตัวเจ้าของเอง ถ้าเจ้าของไม่ศึกษา ไม่วิเคราะห์วิจัย ย่อมไม่เข้าใจในจิตตน ฉะนั้น การศึกษาจึงเอาเพียงแค่กำมือก็พอแล้ว คือ รู้และเป็นผู้เข้าใจและฉลาดในจิตตนเองก็พอแล้ว

สัมมาทิฏฐิ จึงมิได้หมายเพียงแค่อริยสัจสี่ แต่เป็นการหมายเอาการศึกษาในอริยสัจสี่นี้เป็นเหตุ ผู้ที่จะศึกษาได้ทั้งทางกว้างและทางลึก ย่อมต้องเป็นผู้มีความรอบรู้ที่เรียกว่า พหูสูต ฉะนั้น พหุสัจจะ คือความเป็นผู้ศึกษาเรียนรู้มาก จึงเป็นมงคล

เพราะเหตุแห่งการศึกษามากเรียนรู้มาก จึงเป็นผู้มีวิทยามาก การมีวิทยามากย่อมทำให้เห็นช่องทางมาก ทำให้วินิจฉัยได้อย่างกว้างขวาง และสามารถตีกรอบล้อมวงเข้าสู่การประมวลธรรมได้โดยไม่ยาก จึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้มีศิลปวิทยาในการนำความรู้ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด นี้คือความหมายของคำว่า สิบปัญ เพราะ สิบปัญ คือผู้ที่สามารถรวบรวมความรู้ที่ตนมีอยู่ในหลายสาขามากแขนงวิชา มาเป็นองค์ประกอบในการคิด วินิจฉัย แก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยมุมมองที่กว้างไกล ทำให้ได้หลักการที่ถูกต้อง จึงเป็นมงคล

มาถึงตรงนี้ เราคงจะได้เห็นแล้วว่า มรรคแปดนั้นสำคัญยิ่งในการที่จะเป็นผู้สำเร็จในการกิจที่ปรารถนา เพราะมรรคแปดประกอบไปด้วยองค์ความรู้ ปัญญาอันยิ่ง พระพุทธองค์จึงได้ทรงตรัสไว้ว่า

" สัมมาทิฏฐิ เป็นเหตุต้นของมรรคแปด ถ้าขาดเสียซึ่งสัมมาทิฏฐิแล้ว ธรรมอันประเสริฐทั้งหลายที่จะตามมาย่อมไม่มี "

วันนี้ หลวงตาขอจบมรรคแปดไว้ที่สัมมาทิฏฐิเพียงเท่านี้ก่อน เมื่อมีโอกาสก็จะมาเล่าสู่กันต่อไปในภายหน้า ขอบุญจงรักษาทุกท่าน


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
Kittiyano

Last Edit: 2014/10/20 15:10 By admin.
Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1