ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนที่ 3
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนที่ 3
#84
หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนที่ 3 13 ปี, 6 เดือน ก่อน  
เมื่อตอนที่แล้ว หลวงตาได้กล่าวถึง มรรคแปด ในหัวข้อมรรคองค์ที่หนึ่ง คือ สัมมาทิฏฐิ โดยหลวงตาได้ให้ทัศนะของหลวงตาไว้ว่า สัมมาทิฏฐิหมายถึงความรอบรู้ในสรรพศาสตร์ เพื่อที่จะได้ทำให้เราคิดเป็น ไม่ใช่ว่าคนเราคิดไม่เป็น แต่เพราะความรอบรู้ในสรรพศาสตร์ ที่เรียกว่า พหูสูต นั้น ทำให้ผู้รู้มีมุมมองกว้างไกล และสามารถรวบรวมเอาความรู้จากศาสตร์แขนงต่างๆ มาประกอบในการคิดวินิจฉัย เพื่อให้เกิดเป็น สัมมาสังกัปปะ (Perfect Thought) ความดำริชอบ ดำริชอบในอะไร ท่านว่าดำริชอบในการออกจากทุกข์

ก็ถ้าใครๆในที่ไหนๆ ไม่มีความรู้ในเรื่องทุกข์อย่างถ่องแท้ แล้วจะมีความคิดที่แยบยลแยบคายในการเอาตัวออกจากทุกข์ได้หรือ ที่ว่ามรรคแปดนี้เป็นธรรมของโลก ก็เพราะว่าใครๆในที่ไหนๆ ในโลกนี้ ต่างก็ต้องศึกษาเรียนรู้ที่จะหลีกหนีความทุกข์ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่มีใครๆในที่ไหนๆ จะยอมตนอยู่ในความทุกข์ นอกจากผู้ที่ไม่สามารถทำความเข้าใจในทุกข์ที่เจ้าของกำลังเผชิญอยู่

ถ้าลองได้ศึกษาทำความเข้าใจใน สัณฐาน คือองค์ประกอบทั้งหลายของทุกข์ที่เกิดขึ้น และสังขาร คือการปรุงแต่งอารมณ์ขององค์ประกอบทั้งหลายเหล่านั้นของทุกข์ เขาย่อมสามารถนำตัวเจ้าของออกจากทุกข์ได้ ก็ด้วยเหตุเพราะสัมมาทิฏฐินี่เอง ฉะนั้น ถ้าขาดเสียซึ่งองค์มรรคที่หนึ่งคือสัมมาทิฏฐิเป็นประธานแล้ว องค์มรรคทั้งหลายต่อๆ มาย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ นี่จึงจะเรียกว่าตั้งไว้ได้ถูกต้องแล้วด้วยพระปัญญาอันยิ่ง

และเมื่อมองย้อนกลับไปที่ มงคลสามสิบแปด ถ้าไม่แยกตัวออกจากคนพาล ไม่คบหาบัณฑิต(คือผู้รู้ผู้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม) ไม่รู้จักนำเอาผู้ที่เป็นแบบอย่างอันดีงามมาเป็นต้นแบบแล้วละก็ ไม่ว่าใครๆในที่ไหนๆ ย่อมไม่สามารถตั้งตนไว้ในที่อันชอบได้ เมื่อไม่สามารถตั้งตนไว้ในที่อันชอบได้ ก็ไม่สามารถรักษาศีลอันดีงามเพียงแค่ห้าข้อได้ เมื่อรักษาศีลไม่ได้ จะเป็นผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้ได้อย่างไร ย่อมต้องเป็นคนพาล คิดแบบคนพาล กล่าวแบบคนพาล กระทำแบบคนพาล แสวงหาอาชีพแบบคนพาล อยู่อย่างคนพาล ขวนขวายมากแบบคนพาล แล้วก็มุ่งมั่นกระทำการต่างๆ อย่างคนพาล

ฉะนั้น เริ่มต้นแห่งชีวิตเมื่อเยาว์วัย จึงต้องศึกษาให้เข้าใจในมงคลสามสิบแปด เหตุเพราะมงคลสามสิบแปดนี้ ประกอบพร้อมไปด้วยธรรมอันงามที่จะนำตัวเจ้าของให้พ้นจากทุกข์ภัย สามารถตั้งตนไว้ในที่ชอบได้ เพียงแค่ไม่คบคนพาล คบหาบัณฑิต ยกย่องเทิดทูนนำเอาบุคคลที่มีศีลสัมปทามาเป็นแบบอย่าง เขาเหล่านั้นย่อมตั้งตนไว้ในที่ชอบได้ ย่อมเป็นผู้มีศีลสัมปทา ย่อมใฝ่เรียนใฝ่รู้ที่จะนำตนออกจากทุกข์ ย่อมเป็นพหูสูต ดำรงตนไว้ในสัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็นผู้มีสัมมาสังกัปปะ คือเป็นผู้มีความคิดอันงามแยบยลและแยบคาย ไม่เป็นผู้หลงงมงาย เหตุเพราะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นจากความเขลา เป็นผู้เบิกบานด้วยปัญญาอันปราศจากมลทิน ย่อมกล่าววาจาอันบัณฑิตยกย่อง ย่อมก่อกรรมต่างๆ ที่ไม่ประกอบด้วยอบาย ย่อมหาเลี้ยงชีพอย่างผู้ทรงคุณธรรมอันงาม ย่อมมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ย่อมเป็นผู้ขวนขวายมากในการที่จะเกื้อกูลมากต่อตนเอง ต่อหมู่ญาติ ต่อผู้อื่น และต่อหมู่สัตว์ทั้งในที่สูงและที่ต่ำ และที่สุดย่อมมีความมุ่งมั่นในการกิจต่างๆ เยี่ยงบัณฑิตทั้งหลายพึงกระทำ ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมนำให้ตัวเจ้าของเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วย สัมมาปัญญา อันจะนำสู่วงมรรคแปดที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไปในชีวิตตนนับไม่รู้จบ จนกว่าจะพบทางแห่งพระนิพพาน คือความพ้นไปจากโลกธรรมแปด ไม่กระทบแล้วจากอุปกิเลสที่จรมา เพราะเป็นธรรมดาของจิต

“จิตนี้ผ่องใส ก็แต่ว่าจิตนั้นแล ย่อมเศร้าหมองได้เพราะอุปกิเลสที่จรมา”
“จิตนี้ผ่องใส ก็แต่ว่าจิตนั้นแล ย่อมหลุดพ้นได้จากอุปกิเลสที่จรมา”

เมื่อนั้นจิตย่อมไม่เศร้าหมอง ปราศจากธุลีคือราคะ มีความเบิกบานสุขเกษม พ้นจากความยึดมั่นทั้งปวง

วันนี้ หลวงตาได้นำท่านทั้งหลายเข้าสู่เส้นทางแห่งมรรคแปดอย่างรวบรัด ตัดความย่นย่อเอาแต่เพียงพอเข้าใจ เชื่อว่าท่านทั้งหลายย่อมเป็นผู้รู้คงแก่ปัญญา สามารถทำความเข้าใจได้โดยไม่ยาก เป็นธรรมดาของชาวเหมืองผู้ปรารถนาจะได้ไม้ไปทำฟืน ย่อมต้องคัดหาไม้ดีที่ไม่เปราะผุ ผู้เป็นครูผู้สอนศิษย์ก็เช่นกัน ย่อมต้องคัดหาศิษย์ที่ดีมีคุณค่าแก่การถ่ายทอดสอนสั่ง คนไร้คุณภาพก็เปรียบดั่งไม้ผุ ที่รังแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งรอบข้างได้ง่าย เหตุเพราะควบคุมอุณหภูมิได้ยาก ไม้ดีย่อมมีพลังที่สม่ำเสมอควบคุมได้ง่าย ไม้ผุนั้นลุกเร็วและมอดเร็ว จะให้เป็นเชื้อก็ทำได้ยาก คนที่เปรียบดั่งไม้ผุ อยู่ที่ใดก็รังแต่จะสร้างความฉิบหายให้แก่ที่นั้นๆ คนดีเปรียบดั่งเพชรงามน้ำดี ย่อมมีราคาควรค่าแก่การรักษา

ทั้งที่เพชรและถ่านต่างก็มาจากไม้เหมือนกัน ไม้ที่ถูกเผาจนกลายเป็นถ่าน ไม้ที่ผุก็กลายเป็นเถ้า ไม้ดีก็เป็นถ่าน ผ่านกาลเวลาที่ยาวนาน รับแรงกดดันต่างๆ จากสภาพแวดล้อมมากมาย จึงได้กลายเป็นเพชร

ผู้ศึกษาก็เช่นกัน โดนเผาเพียงนิดก็หมดสภาพเปรียบได้แค่ไม้ผุ ที่ผ่านแรงกดดันได้เพียงเล็กน้อย เปรียบได้แค่ถ่านที่รับแรงกดดันเพียงแค่เตาเผา

เป็นคนต้องไม่ท้อ ถ้าเกิดท้อก็จงอย่าถอย ถ้าท้อแล้วถอยก็เปรียบได้เพียงแค่ถ่าน ถ้าผ่านด่านต่างๆ ก็เปรียบได้ดั่งเพชร

ค่อยมาว่ากันใหม่เมื่อมีโอกาส ขอบุญจงรักษาท่านผู้บำเพ็ญบุญทั้งหลาย


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
Kittiyano

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1