ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนที่ 4
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนที่ 4
#86
หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนที่ 4 13 ปี, 6 เดือน ก่อน  
เมื่อตอนที่แล้ว หลวงตาได้นำเอาคุณธรรมข้อมรรคแปดมาแสดงพอเป็นสังเขป มีใจความสรุปได้ว่า มรรคแปดเป็นคุณธรรมของโลกที่นำใครๆในที่ไหนๆ ทั่วทั้งโลกนี้ ให้พ้นจากทุกข์ได้ วันนี้หลวงตาจะมากล่าวถึงเรื่องคุณธรรมสามประการ ที่เรียกว่า โอวาทะปาฏิโมกข์ หรือ ปฐมเทศนา ซึ่งเป็นหัวใจของคำสอนทั้งปวงขององค์พระพุทธศาสดา

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง : บาปหรืออกุศลทั้งหลาย ไม่ใช่กิจที่ควรทำอีกแล้ว
กุสะลัสสูปะสัมปะทา : จงสร้างกุศลให้สมบูรณ์พูนพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง : ชำระจิตให้ผ่องแผ้ว ผ่องใส ไร้ธุลี

จากคุณธรรมอันงามยิ่งที่องค์พุทธศาสดาได้ตรัสรู้ธรรมทั้งปวงแจ้งโลกแล้ว พระพุทธองค์จึงได้รวบรวมความรู้ทั้งปวงที่ตรัสรู้แล้ว แจ้งแล้ว วินิจฉัยและรวบรวมประมวลความรู้เหล่านั้น เรียบเรียงเป็นเรื่องราวความรู้ เรียงลำดับเนื้อความตรงทิศทางและหลักไวยากรณ์ เพื่ออบรมสั่งสอนตนเองเป็นอันดับแรก ทรงเปล่งพระอุทานถึงหัวใจแก่นของความรู้เหล่านั้นถึงสามครั้ง จึงเสวยบรมสุขอยู่ภายใต้วิชชาเหล่านั้นรวมเจ็ดสัปดาห์ เมื่อสิ้นสี่สิบเก้าวันหลังจากตกลงพระทัยว่า ตามคำทูลร้องขอของเหล่าเทวดา อินทร์ พรหม พระพุทธองค์จึงได้เพ่งพระญาณไปยังหมู่สัตว์ ทรงแยกสัตว์ทั้งหลายออกไปตามกรรม โดยเปรียบกับบัวสี่เหล่า เพ่งค้นผู้มีบุญญาธิการที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงได้เร่งดำเนินไปสู่ที่พำนักของปัญจวัคคีย์ ทรงแสดงปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี

ธรรมดาของนักบวช การละเว้นไม่ทำสิ่งชั่วทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลเป็นกิจที่ต้องบำเพ็ญเพียรอยู่แล้ว การเจริญภาวนาขัดเกลาอบรมบ่มนิสัยอันเป็นธรรมดาของปุถุชน ก็เป็นกิจที่ต้องบำเพ็ญเพียรอยู่ทุกลมหายใจอยู่แล้ว ทั้งสองเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ปัญจวัคคีย์ คือนักบวชทั้งห้านั้น เข้าใจและบำเพ็ญเพียรอยู่แล้ว แต่ที่ว่า สะจิตตะปะริโยทะปะนัง นี้สิ เป็นเช่นไร

ปัญจวัคคีย์ทูลถาม พระพุทธองค์จึงอธิบายความว่า ปกติของปุถุชนคนชาวบ้านย่อมหมกมุ่นอยู่ในกามคุณห้า นี้ไม่ใช่ทางเดินของอริยบุคคล การทรมานตนอย่างที่ผ่านมาของพระองค์และนักบวชทั้งหลาย ก็ไม่ใช่ทางเดินของอริยบุคคล

หนทางที่ถูกต้องคือ ทางสายกลาง ทางสายกลางที่ว่านี้ คือหนทางที่จะนำปุถุชนคนธรรมดาที่ปรารถนาจะหลุดพ้นจากพันธนาการทั้งปวงของโลกีย์วิสัย ออกบวชเพื่อแสวงหาโมกข์ธรรมควรปฏิบัติ ทางสายกลางคืออะไรเล่า ทางสายกลางที่ว่านี้ประกอบไปด้วย คุณธรรมแปดประการ

คุณธรรมแปดประการนี้ เป็นหนทาง เป็นประตูชัยไปสู่ความสำเร็จ นอกจากการละเว้นไม่ทำบาปอกุศล หลีกหนีหนทางเศร้าหมองอันเกิดแต่กามคุณ บำเพ็ญบุญอย่างยิ่งยวด โดยไม่ทรมานตนเอง ย่อมทำให้จิตใจผ่องใส มีกำลังกาย กำลังจิต เพื่อที่จะได้ศึกษาธรรมทั้งหลายอย่างถ่องแท้ ธรรมใดที่เกิดขึ้นในตน ไม่ว่าจะทางกาย ทางวาจา ทางจิต ต้องไม่เห็นเป็นเรื่องไร้สาระ ต้องนำมาพิจารณาว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีอะไรเป็นเครื่องปรุงแต่ง อารมณ์ในขณะนั้นเป็นเช่นไร หวั่นไหวมากน้อยเพียงใด หวั่นไหวก็ต้องรู้ สงบนิ่งก็ต้องรู้ รู้ในทุกขณะจิตของธรรมทั้งมวลที่เกิดขึ้น ศึกษาอย่างนี้ให้เข้าใจ เข้าถึง จึงจะค้นพบต้นเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น พึงทำความรู้ความเข้าใจในธรรมทั้งหลายเหล่านั้นว่านี้คือทุกข์ เมื่อได้ศึกษาธรรมทั้งหลายที่เรียกว่าทุกข์แล้ว เข้าถึงแล้ว เข้าใจแล้ว ย่อมเห็นเหตุคือสมุฏฐานของทุกข์เหล่านั้น เมื่อเห็นเหตุแล้วย่อมศึกษาเรียนรู้เหตุเหล่านั้น วินิจฉัย วิจัย และพัฒนาหาหนทางที่จะดับเหตุเหล่านั้น เมื่อศึกษาแล้ว มีองค์ความรู้ทั้งมวลที่ได้ศึกษาผ่านมา ประกอบเป็นธรรมอันงามที่จะนำมาเป็นหนทางในการดับทุกข์เหล่านั้นให้สิ้นไป

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ก็จะเห็นถึงองค์อริยสัจจะ คือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือโดยย่อที่เข้าใจกันทั่วไปว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นเอง ทั้งนี้ การจะได้มาซึ่งองค์รู้นี้ ก็ต้องอาศัยความรู้รอบในสรรพสิ่งทั้งหลายที่ประกอบโดยรอบตัวเจ้าของ ทั้งภายนอกและภายในอย่างถ่องแท้ จึงจะเป็นองค์มรรที่หนึ่งคือ สัมมาทิฏฐิ เมื่อมีองค์มรรคที่หนึ่งแล้ว ดั่งได้กล่าวไว้แต่ต้นเมื่อบทก่อนๆ เพราะอาศัยธรรมต่างๆ ซึ่งกันและกันเป็น ปัจยาการ คือ ปฏิจสมุปบาทธรรม นั่นเอง จึงเกิดองค์มรรคที่สอง เพราะธรรมทั้งหลายที่ประกอบมานั้น อยู่ในขอบเขตแห่งศีลอันดีงามเป็นที่ตั้ง จึงเกิดเป็นองค์มรรคที่สาม และองค์มรรคต่อๆไปดังที่ได้กล่าวมาแล้วแต่เมื่อบทที่แล้ว

ฉะนั้น เมื่อเห็นทางสายกลางคือมรรคแปดแล้ว เราก็พอจะเข้าใจในคุณธรรมข้อที่สามที่ว่า สะจิตตะปริโยทะปะนัง การทำจิตให้ผ่องแผ้วปราศจากธุลี แล้วละนะ แล้วมรรคแปดนี้ยังมิใช่เป็นเพียงแค่หนทางในการดับทุกข์ของนักบวชเท่านั้น แม้ในปุถุชนคนธรรมดาที่เข้าใจในมรรคแปด ก็สามารถนำเอามรรคแปดนี้มาประยุกต์ใช้กับชีวิต เพื่อให้นำสู่ความสำเร็จในกิจที่ปรารถนาได้อย่างวิเศษยิ่ง

ในองค์มรรคแปดนี้ กอปรไปด้วยคุณธรรมคำสอนขององค์พระพุทธศาสดาอีกมากมาย ดังจะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสดาหลังจากแสดงปฐมเทศนาแล้ว ได้ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ในที่มากมายหลายสถาน ต่างกาล ต่างสมัย ซึ่งสมัยที่พระพุทธศาสดาแสดงปฐมเทศนานี้ ในพระสูตรแสดงไว้ว่า “สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี ......” พระสูตรนี้ คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสุคต

วันนี้หลวงตาขอจบคุณธรรมสามประการ อันเกิดแต่ปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสุคต ในโอกาสต่อไปหลวงตาจะนำเอาคำสอนของพระพุทธศาสดามาแสดงในทัศนะของหลวงตา ก็คงต้องกล่าวในที่นี้อีกครั้งว่า นี่เป็น ทัศนะของหลวงตาที่รวบรวมคำสอนขององค์พระพุทธศาสดามาสอนตัวเอง ไม่ได้อยู่ในสื่อพิมพ์ใดๆ เป็นการศึกษาแล้วรวบรวมประมวลมา แล้ววินิจฉัย วิจัยไปตามความรู้ที่มีเพียงน้อยนิด เอาไว้สอนตนเอง สอนตัวเจ้าของให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท มิได้มีเจตนานำมาสอน แต่มาเล่าให้ได้เอาไปเป็นข้อคิดอีกส่วนหนึ่ง ไม่ได้มุ่งหมายให้เชื่อ เพียงเป็นส่วนเล็กๆ ของธุลีที่รองอยู่ใต้พระบาทขององค์พระพุทธศาสดา หนานับชั้นไม่ถ้วน ขอเพียงมีส่วนได้นำเอาคำสอนขององค์พระพุทธศาสดามาศึกษาวินิจฉัย แล้วนำให้ตัวเจ้าของเป็นสุขได้โดยไม่ยากก็เพียงพอแล้ว

ขอบุญจงรักษาท่านทั้งหลายผู้บำเพ็ญบุญ เพื่อบูชาพระคุณแห่งพระพุทธศาสดา


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
Kittiyano

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1