ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนที่ 5
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนที่ 5
#88
หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตอนที่ 5 13 ปี, 6 เดือน ก่อน  
เมื่อคราวที่แล้ว หลวงตาได้นำเอามรรคแปดที่ประกอบอยู่ในคุณธรรมสามประการ อันเกิดแต่ปฐมเทศนามาขยายความในอีกรูปแบบหนึ่ง วันนี้จะขอนำเอามงคลสามสิบแปดประการ ที่เคยกล่าวถึงมากล่าวไว้ให้ได้สดับกันในรูปแบบของหลวงตา

ถ้าเราแบ่งวัยของเราออกเป็นสามวัย คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และ ปัจฉิมวัย แล้วลองเอาคำสอนขององค์พระพุทธศาสดาเข้าไปประกอบในวัยทั้งสาม แล้วเอาชีวิตจริงของเราๆทั้งหลายมาตีคลี่ออกดูว่าเราจะเห็นอะไร

ต่อไปนี้เป็นทัศนะของหลวงตาที่ได้นำวัยทั้งสามมากล่าวประกอบกับพระธรรมเทศนามงคลสามสิบแปด อันเป็นคำสอนขององค์พระพุทธศาสดา แล้วได้เห็นการดำเนินไปอย่างถูกต้องและไม่ถูกต้อง ทำให้หวลคิดไปในอดีตที่ผ่านมา แล้วก็ต้องอุทานว่า “ รู้อย่างนี้ไม่ทำเสียดีกว่า

เริ่มต้นประกอบมงคลสามสิบแปดเข้ากับชีวิต อันที่จริงมงคลสามสิบแปดนี้สามารถนำเอามาประกอบเข้ากับปฐมวัยทั้งสามสิบแปดประการเลยก็ได้ แต่ในที่นี้หลวงตาจะแสดงการประกอบเข้ากับวัยทั้งสามโดยรวม โดยในช่วงแรกนี้ เป็นการประกอบเข้ากับ ปฐมวัย

อะเสวะนา จะ พาลานัง บัณฑิตานัญจะ เสวนา
ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ”


ก่อนอื่นต้องขออธิบายความก่อนว่า มงคลทั้งสามข้อนี้ ถ้าปฏิบัติเพียงแค่ข้อหนึ่งข้อใด ที่ถูกก็เป็นมงคล ที่ผิดก็เป็นอวมงคล แต่ถ้าปฏิบัติตามได้ทั้งสามข้อ ก็เป็นมงคลอันสูงสุด

ในเรื่องของการเริ่มต้นคัดเลือกคบหาเสวนากับบุคคลอื่น ถ้าแม้นว่าเราอยู่ในครอบครัวที่ไม่ใช่พาลแล้วไซร้ พ่อแม่ผู้ปกครองย่อมต้องสอนสั่งไม่ให้ไปคบหาเล่นหัวกับคนเกเร นี้เป็นธรรมดา แต่ที่จะสอนให้คบบัณฑิตคือคนมีคุณธรรมนั้น เมื่ออยู่ในช่วงเยาว์วัยยังเล็กอยู่ การคิดพิจารณาที่คัดเลือกคนที่จะคบด้วยตนเองย่อมยังไม่มีหรือมีอยู่น้อย เนื่องจากยังขาดประสบการณ์และสติปัญญา ทำให้คัดเลือกแยกไม่ออก ยิ่งที่จะสอนให้เอาคนดีมีคุณธรรมมาเป็นตัวอย่างแล้วละก็น่าจะหาได้ยาก ก็ถ้าแม้นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นคนดีมีศีลธรรม ผ่านการอบรมด้วยมงคลข้อนี้มาแล้วเป็นบัณฑิต ย่อมสอนมงคลนี้แก่บุตรธิดาได้ไม่ยาก

“ ปะฏิรูปะเทสะวาโส จะ ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา
อัตตะสัมมาปะณิธิ จะ เอตัมมังคะละมุตตะมัง ”


เช่นเดียวกันมงคลสามสิบแปดนี้ พระพุทธศาสดาได้แบ่งไว้เป็นชุด ในชุดนี้ก็มีอยู่ด้วยกันสามข้อ การจะเป็นมงคลอันสูงสุดได้จะต้องปฏิบัติให้สำเร็จเป็นชุด ไม่เลือกเพียงบางข้อ และยิ่งถ้าปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องทั้งสามสิบแปดข้อ ก็จะสัมฤทธิผลอันสูงสุด ดังจะแสดงไว้ในตอนท้าย

ในเมื่อได้ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของมงคลอันสูงสุดสามข้อแรก ย่อมเป็นผู้มีบุญ “ ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา ” หมายความว่า เป็นผู้ได้สั่งสมบุญมาแต่กาลก่อน ย่อมต้องมีโอกาสดีได้ย้ายถิ่นฐานไปในที่เจริญยิ่งขึ้น คือได้ไปเล่าเรียนอ่านเขียนในโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนที่เจริญก้าวหน้า ปะฏิรูปะเทสะวาโสประเทศ หรือสถานที่ที่ปฏิรูปแล้ว คือเจริญแล้ว และเมื่อได้ย้ายถิ่นฐานหรือได้เดินทางไปอยู่ในที่ดีแล้ว (หมายถึงการศึกษาในปฐมวัย) มีความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ สร้างภูมิปัญญาได้มาก ก็จะต้องไม่ประมาท ดำรงตนเองไว้ในที่ตั้งอันถูกต้อง คือไม่ลืมที่จะรักษาประพฤติปฏิบัติตนตามมงคลสามข้อแรกที่ผ่านมา กระทำได้เยี่ยงนี้จึงจะถือได้ว่าเป็นมงคลอันสูงสุดในลำดับที่สอง

“ พหุสัจจัญจะ สิบปัญจะ วินะโย จะ สุสิกขิโต
สุภาสิตา จะ ยา วาจา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ”


ในมงคลชุดนี้ มีข้อปฏิบัติรวมอยู่สี่ข้อ เช่นกัน ต้องปฏิบัติตามให้ครบ จึงจะเป็นมงคลอันสูงสุด

ในเมื่อได้มาอยู่ในถิ่นฐานที่เจริญ ย่อมมีวิชาการความรู้มากมายให้ศึกษา เหตุเพราะเป็นผู้ตั้งตนเองไว้ในที่ชอบแล้ว จึงมีสติปัญญาในการที่จะคัดเลือกแต่สิ่งดีงามศึกษาให้ถ่องแท้ ให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของวิชาการที่ตนศึกษา เพื่อที่จะได้ก่อเกิดปัญญาในการนำเอาวิชาการที่ได้ศึกษามานั้น มาสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ชีวิตตน หรือเพื่อการศึกษาที่เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป มีศิลปะในการนำความรู้นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อันสูงสุด ในการดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความเจริญ ย่อมต้องมีสิ่งฟุ้งเฟ้อล่อตาล่อใจเป็นธรรมดา ตนเองต้องมีวินัยอันดีด้วย จัดระเบียบชีวิตการศึกษาให้สมกับเป็นกุลบุตรกุลธิดา ฝึกฝนท่องบ่น อ่านเขียน เรียนพูดให้เข้ากับสังคมอันดีงาม ไม่กล่าวสิ่งใดเลยเถิดเกินวัย รู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ ไม่กล่าววาจาเล่นหัวเป็นที่น่ารังเกียจ วาจาที่กล่าวออกไปก็ต้องถนอมน้ำใจผู้รับฟังด้วย เช่นนี้จึงจะเป็นมงคลอันสูงสุด

“ มาตาปิตุอุปัฏฐานัง ปุตตะธารัสสะ สังคะโห
อะนากุลา จะ กัมมันตา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ”


มงคลชุดนี้ ก็มีข้อปฏิบัติอยู่สี่ข้อเช่นกัน ต้องปฏิบัติตามให้ครบ จึงจะเป็นมงคลอันสูงสุด

เมื่อผ่านการฝึกฝนร่ำเรียนวิทยามามากแล้ว ยามเมื่อกลับมาบ้านก็ต้องช่วยเหลือการงานของมารดาบิดา เมื่อยังเยาว์วัยก็เพียงช่วยการงานที่บ้าน ทำความสะอาด รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารสัตว์ เก็บพืชผลต่างๆ ที่สมควรจะเก็บได้แล้ว หรือเก็บกวาดข้าวของที่ทิ้งระเกะระกะให้ดูสะอาดงามตา ใครไปใครมาก็จะไม่ว่ากล่าวตำหนิเอา ตัวยังเยาว์วัยยังไม่มีบุตรภริยาให้ต้องสงเคราะห์ดูแล ข้อนี้ก็ให้ดูแลพี่น้อง ช่วยสอนการบ้านให้น้อง ช่วยทำงานบ้านแทนพี่ที่ยังไม่เสร็จธุระเพราะอาจจะมีการบ้านจากที่เล่าเรียนมามาก และการบ้านการงานกิจต่างๆ ของตนก็ต้องไม่คั่งค้าง ไม่อ้างเหตุผู้อื่นมาแก้ตัว ถ้าเป็นผู้มีครอบครัวก็ทำหน้าที่ตนโดยไม่ละทิ้งหน้าที่ของบุตรธิดาที่ดีด้วย ทำได้อย่างนี้จึงจะเป็นมงคลอันสูงสุด

ทานัญจะ ธัมมะจะริยา จะ ญาตะกานัญจะ สังคะโห
อะนะวัชชานิ กัมมานิ เอตัมมังคะละมุตตะมัง”


มงคลชุดนี้มีด้วยกันสี่ข้อ ต้องปฏิบัติตามให้ครบ จึงจะเป็นมงคลอันสูงสุด

ในเมื่อชีวิตดำเนินมาถึงวัยอันสมควร รู้จักขวนขวายทำการงานหรือกิจกรรมใดๆ ที่ดีงามไม่เป็นที่ตำหนิติติงของสังคมและหมู่บัณฑิต ควรจะเป็นเรื่องของการช่วยเหลือสังคม หมู่บ้านหรือตำบล อำเภอหรือจังหวัด หรือถ้าใครมีโอกาสมากก็อาจจะถึงระดับชาติ แต่ก็ต้องตั้งอยู่ในเรื่องที่ดีงามไม่เป็นที่ตำหนิ ถือว่ากิจกรรมเหล่านี้ก็เป็นการให้ทานอย่างหนึ่ง หรือจะทำทานด้วยวิธีใดๆ มีมากมายหลายวิธี เพียงเน้นในเรื่องการทำทาน เพราะว่าจะเป็นการเสริมสร้างบารมีสั่งสมเอาไว้ในภายภาคหน้า เหตุเพราะผลของทานนั้นมี ประกอบกับการรู้จักประพฤติปฏิบัติธรรมในทางที่ถูกต้อง ศึกษาเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี และศีลธรรมอันดีงามจากผู้รู้ ครูอาจารย์ นี้ก็เป็นการเสริมสร้างพอกพูนบารมี และเมื่อผลของบุญบารมีประกอบกับผลของทานสนองต่อตัวเจ้าของแล้ว ย่อมมีผลมากชนิดที่อาจจะคาดคิดไม่ถึงก็มี ในขณะเดียวกันเมื่อเข้าสู่สังคมแล้วก็ต้องไม่หลงสังคมจนลืมหมู่ญาติ ทั้งที่ใกล้ชิดสนิทสนมและที่นานครั้งจะได้พบเจอ เมื่อได้พบเจอในสังคมก็ต้องขวนขวายช่วยเหลือไม่เกี่ยงงอน ไม่อ้างเหตุ อย่างนี้จึงจะเป็นมงคลอันสูงสุด

“อาระตี วิระตี ปาปา มัชชะปานา จะ สัญญะโม
อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ เอตัมมังคะละมุตตะมัง”


มงคลชุดนี้มีด้วยกันสามข้อ เช่นเดียวกันต้องปฏิบัติให้ครบ จึงจะเป็นมงคลอันสูงสุด

เมื่อก้าวสู่ มัชฌิมวัย คนในวัยกลางคนนี้เป็นที่ปรารถนานักของหญิงแพศยา ย่อมมีสังคมมาก ย่อมต้องมีการดื่มกิน เลี้ยงสังสรรค์กันมาก ความประมาทในธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย ฉะนั้น การจะรักษาตนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ก็ต้องอาศัยการฝึกฝนมาดีในมงคลที่ผ่านมา ศีลและธรรมที่ศึกษาผ่านมา ย่อมต้องนำมาใช้เพื่อหักห้ามจิตใจตน มิให้ตกไปอยู่ในความประมาททั้งปวง เมื่อไม่ประมาทแล้ว การกิจต่างๆ ย่อมไม่หลงไปในทางบาปชั่ว การเข้าสังคมก็จะรู้จักประมาณตนไม่ตกเป็นทาสน้ำเมา กินเหล้าแต่อย่าให้เหล้ากิน สุรานั้นมีคุณอนันต์และก็มีโทษมหันต์ด้วย ในข้อนี้จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสดานั้นเข้าใจชีวิตอย่างถ่องแท้ จึงมิได้ห้ามอย่างเด็ดขาด แต่จะสอนสั่งให้ไม่ประมาทมีสติตั้งมั่นรู้ประมาณในตน ทำได้อย่างนี้จึงจะเป็นมงคลอันสูงสุด

คาระโว จะ นิวาโต จะ สันตุฏฐี จะ กะตัญญุตา
กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง”


มงคลชุดนี้มีด้วยกันห้าข้อ เช่นเดียวกันต้องปฏิบัติให้ครบ จึงจะเป็นมงคลอันสูงสุด

ในเมื่อมีสังคมมากเข้าสังคมมาก ย่อมต้องพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งรุ่นราวคราวเดียวกัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ สงบเสงี่ยม รู้กตัญญูในคุณของผู้ที่เคยอุปถัมภ์ค้ำจุน ย่อมเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม เป็นที่เคารพนบนอบสำหรับผู้ที่ด้อยกว่า ผู้ใหญ่ก็เรียกหา การศึกษาฟังธรรมคำสอนอันดีงามจากบัณฑิตผู้เป็นครูอาจารย์ ย่อมจำเป็นอย่างยิ่ง ทำได้อย่างนี้จึงจะเป็นมงคลอันสูงสุด

“ ขันตี จะ โสวะจัสสะตา สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง
กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ”


มงคลชุดนี้มีด้วยกันสี่ข้อ เช่นเดียวกับชุดอื่นๆ ด้องประพฤติปฏิบัติให้ครบ จึงจะเป็นมงคลอันสูงสุด

วัยกลางคนนี้ เป็นวัยที่มีความเจริญก้าวหน้าทั้งในหน้าที่การงาน รับราชการก็มีความเป็นใหญ่ ย่อมต้องมีความหยิ่งผยองบ้างเป็นธรรมดา ในคนที่ไม่อบรมตนมาดีก็จะล้ำหน้ามากเกินจนน่ารังเกียจ ใช้อำนาจหน้าที่ทำร้ายทำลายผู้อื่นได้ง่าย เหตุเพราะขาดขันติอดทนต่อแรงกระทบ จึงสมควรที่จะต้องสละเวลาอันมีมาก ศึกษาพระธรรมคำสอนจากสมณะสงฆ์ ผู้มีศีลธรรมอันงาม ผ่านกาลเวลาอบรมบ่มตนมามากมาย เป็นผู้ที่มีความสงบระงับแล้ว เพื่อที่จะได้มีความอดทนขันติ รู้จักเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น รับฟังความของผู้อื่นด้วยความสงบ ไม่ใช้อำนาจประดุจหนึ่งเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ทำได้เช่นนี้ จึงจะเป็นมงคลอันสูงสุด

“ ตะโป จะ พรัหมะจะริยัญจะ อะริยะสัจจานะทัสสะนัง
นิพพานะสัจฉิกิริยา จะ เอตัมมังคะละมุตตะมัง ”


มงคลชุดนี้มีด้วยกันสี่ข้อ ต้องประพฤติปฏิบัติให้ครบ จึงจะเป็นมงคลอันสูงสุด

ในเมื่อวัยกลางคนที่รุ่งเรืองผ่านไป วัยชราหรือ ปัจฉิมวัย ก็เข้ามาเยือน หน้าที่การงานที่ผ่านมาก็ทำได้สำเร็จดี ครอบครัวลูกหลานก็มีความมั่นคง ไม่น่าจะมีอะไรเป็นห่วงแล้ว ก็ควรหันหน้าเข้าหากิจทางธรรมอย่างจริงจัง เพียรเพ่งเร่งเผากิเลสที่สั่งสมมานาน จะมาจากหน้าที่การงานหรือส่วนตนส่วนตัวก็ตาม ตั้งมั่นรักษาพรหมจรรย์ ศึกษาอริยสัจอย่างจริงจัง ตั้งมั่นที่จะทำพระนิพพานให้แจ้ง เยี่ยงนี้แหละ จึงจะเป็นมงคลอันสูงสุด

ผุฏฐัสสะ โลกะธรรมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ
อะโสกัง วิระชัง เขมัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ”


มงคลชุดนี้มีด้วยกันสี่ข้อ ประพฤติปฏิบัติได้ครบ ย่อมเป็นมงคลอันสูงสุดอย่างยิ่งในชีวิต

เมื่อหมดห่วง ตั้งมั่นประพฤติธรรมรักษาพรหมจรรย์ ความเพียรเพ่งเร่งเผากิเลสด้วยปัญญา อันเป็นธรรมดาในกิจการที่ผ่านชีวิตมา เมื่อนำมาอุปมาอุปมัยให้เข้ากับพระธรรมคำสอนขององค์พระพุทธศาสดา ปัญญาอันบริสุทธิ์ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก ธรรมอันเป็นธรรมดาโลก คือโลกธรรมแปดนั้น ย่อมมองเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่หวั่นไหวแล้วเมื่อถูกกระทบ จิตที่ฝึกฝนมาดี เมื่อไม่หวันไหวในโลกธรรมแปดแล้ว ย่อมพ้นจากความเศร้าหมอง กิเลสที่สั่งสมมานานเปรียบดั่งธุลีที่นอนเนื่องอยู่ในจิต ย่อมถูกขจัดออกได้ เมื่อจิตหมดธุลี ไม่หม่นหมอง ไม่กระทบแล้วจากโลกธรรมแปด จิตย่อมสุขเกษมปลอดแล้วจากโยคะกิเลสทั้งปวง เยี่ยงนี้แหละคือมงคลอันสูงสุดยิ่งสำหรับการเกิด

เรื่องประกอบโดยอนุโลม
:บุตรเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก


ไม่ว่าจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ เมื่อได้ประพฤติปฏิบัติมงคลอันประเสริฐยิ่งทั้งสามสิบแปดประการ อันเป็นเครื่องนำให้สู่ความเจริญยิ่งนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง ย่อมถึงซึ่งความสุขสวัสดีในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

ในสมัยหนึ่ง เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ เสด็จดำเนินผ่านถิ่นฐานแห่งหนึ่ง เห็นสองสามีภริยายากไร้ อาศัยชายคาบ้านเรือนผู้อื่นเป็นที่อาศัย จึงทรงแย้มพระสรวล พระอานนท์จึงทูลถามพระพุทธองค์ถึงเหตุนั้น พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องราวให้พระอานนท์และสาวกทั้งหลายฟัง พอสรุปได้ดังนี้ว่า

สองสามีภริยานั้น เดิมเป็นเศรษฐีแปดสิบโกฏิทั้งสองครัว มีโอกาสได้เข้าใกล้ชิดในสังคมชนชั้นสูงในพระราชวังของพระมหากษัตริย์ แต่เนื่องจากเป็นผู้ด้อยการศึกษาวิชาการต่างๆ เอาแต่ศึกษาการฟ้อนร้องรำทำเพลง บิดาก็ประมาท กล่าวกับมารดา เราเป็นเศรษฐีแปดสิบโกฏิ ทรัพย์เราก็มี ทรัพย์เจ้าก็มี เมื่อสิ้นเราทั้งสองแล้ว บุตรเราก็จะเป็นผู้รับทอดสืบต่อสมบัติเหล่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องศึกษาสิ่งใดๆ อีกแล้ว ให้บุตรเราร้องรำทำเพลงฟ้อนรำให้เราทั้งสองดูก็มีความสุขดี หลังจากบิดามารดาสิ้นชีวิตบุตรชายก็ได้รับสมบัติสืบทอด ได้ตำแหน่งเศรษฐี มีสิทธิเข้าวังร่วมเสวยอาหารกับเหล่าเศรษฐีอื่นๆ และข้าราชบริพารอำมาตย์ทั้งหลาย เมื่อไม่มีความรู้ เมื่อชนทั้งหลายสนทนากันในเรื่องการทำมาหากิน และการสร้างความเจริญให้กับชาติบ้านเมือง เศรษฐีใหม่นี้ก็ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ นานวันก็เกิดเบื่อหน่าย ยังได้คนรับใช้ที่สอพลอ เมื่อออกจากวังผ่านทางเดินที่มีชนมาก เห็นคนกลุ่มหนึ่งไม่ทำกิจใด นั่งล้อมวงกับพื้นดื่มกินแล้วก็ร้องรำทำเพลงกัน นิสัยเดิมที่เคยฝึกมาก็เกิดความสนใจ ถามไถ่คนรับใช้ที่สอพลอ ก็ได้รับคำตอบว่าพวกนี้มีความสุขเหตุเพราะดื่มน้ำอมฤต เจ้านายจึงให้จัดหาให้ ที่สุดก็ติดสุรา รับเอาเหล่าคนพาลเหล่านั้นเข้าบ้าน เลี้ยงดูดื่มสุราร้องรำทำเพลงกันจนหมดเงินตราในท้องพระคลังทั้งแปดสิบโกฏิของตนและของภริยา ต้องขายบ้านที่ดินให้กับผู้อื่น ที่สุดก็ต้องเป็นขอทาน อาศัยชายคาบ้านที่เคยเป็นของตนอยู่ไปวันๆ แล้วพระพุทธองค์ทรงสรุปว่า

บุคคลใดก็ตาม ถ้าได้ฝึกฝนอบรมบ่มตนให้อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีงามตั้งแต่เยาว์วัย มัชฌิมวัย เมื่อเข้าสู่ปัจฉิมวัยย่อมประสพความสำเร็จในระดับเป็นเศรษฐีชั้นที่หนึ่ง ถ้าออกบวชเป็นบรรพชิตจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์

บุคคลใดก็ตาม ถ้าเมื่อเยาว์วัยไม่ได้ฝึกฝนตั้งตนให้ชอบ แต่เมื่อเข้าสู่มัชฌิมวัย ได้พลิกผันตนเองเร่งศึกษาตั้งตนให้ชอบ ก็จะประสพความสำเร็จในระดับเป็นเศรษฐีชั้นที่สอง หรือถ้าออกบวชเป็นบรรพชิตจะสำเร็จเป็นพระอนาคามี

บุคคลใดก็ตาม ถ้าเมื่อเยาว์วัย และ มัชฌิมวัย ไม่ได้ฝึกฝนตั้งตนให้ชอบ แต่เมื่อเข้าสู่ปัจฉิมวัย ได้พลิกผันตนเองเร่งศึกษาตั้งตนให้ชอบ ก็จะประสพความสำเร็จในระดับเป็นเศรษฐีชั้นที่สาม หรือถ้าออกบวชเป็นบรรพชิตจะสำเร็จเป็นพระสกทาคามี

ถ้าพ้นจากวัยทั้งสามแล้ว ไม่คิดที่จะสร้างหลักปักฐาน ไม่กระทำการให้เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตน ย่อมไม่พ้นที่จะบุคคลผู้เปรียบได้ดัง ลูกศรที่เมื่อหมดกำลังแรงส่งก็ตกลงสู่ดิน เสมือนนกกระเรียนซึ่งจับเจ่าเฝ้าอยู่ที่เปลือกตมอันแห้งขอด

จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า คำว่า อรหันต์ หรือโสดาไม่ใช่หมายถึงคุณธรรมอันวิเศษเฉพาะสำหรับบรรพชิต นักบวชที่หลงใหลได้ปลื้มอวดตัวอวดตนว่ามีคุณธรรมอันวิเศษเช่นนี้เช่นนั้น พึงเข้าใจในเรื่องของการศึกษาประพฤติปฏิบัติด้วยความตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมอันงามตามพุทธโอวาท จึงจะอยู่ในกรอบแห่งคุณธรรมนี้ พระพุทธองค์กล่าวธรรมนี้หมายถึง การประสพความสำเร็จในระดับต่างๆ ขึ้นอยู่กับการกิจที่กระทำ เป็นนักศึกษาสำเร็จระดับอรหันต์ ก็หมายถึงสำเร็จได้ตามปรารถนา ถ้าปริญญาตรียังไม่พอใจ ก็ยังไม่ถึงอรหันต์ ถึงที่สุดแห่งความพอใจปรารถนา ไม่ดิ้นรนอีกแล้วพอแล้ว หยุดแล้ว ใครจะว่าอย่างไรเฉกเช่นโลกธรรมแปด ก็ไม่ใส่ใจนำเอามาวิตกอีกแล้ว นั่นแหละที่สุดแล้ว เป็นอรหันต์ เหมือนที่มีในเนื้อหาสรรเสริญพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เห็นในวีดีทัศน์ในยุคเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็มีอรหันต์ชาวนา

" โลกย่อมไม่สิ้นอรหันต์ ตราบเท่าที่ยังมีผู้ปฏิบัติตามมรรคแปด เพราะมรรคแปดเป็นธรรมของโลก ไม่ใช่ธรรมของศาสดาคนใดคนหนึ่ง หรือลัทธิใดลัทธิหนึ่ง"

นี้คือสัจจะที่พระพุทธองค์พุทธศาสดาได้ทรงสั่งสอนไว้นานแล้ว


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
Kittiyano

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1