ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 1 อิทธิบาท ๔
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 1 อิทธิบาท ๔
#92
โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 1 อิทธิบาท ๔ 13 ปี, 5 เดือน ก่อน  
วันนี้ หลวงตาขอเริ่มเรื่องใหม่ คือ

โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

" ธรรมสามสิบเจ็ดประการที่ประกอบรวมเพื่อการรู้ยิ่ง (ตรัสรู้)
กอปรด้วย สมถกัมมัฏฐาน วิปัสสนากัมมัฏฐาน ขันธ์ ๕ มาร ๕
อายตนะ ๑๒ กรรมและกาล "


โพธิปักขิยธรรม กอปรด้วย อิทธิบาทสี่ สติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด มรรคแปด รวมสามสิบเจ็ดประการ ทั้งสามสิบเจ็ดประการเหล่านี้เป็นปัจจัยของการดำเนินไปของกัมมัฏฐาน ทั้งสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน

สิ่งที่ควรรู้ และต้องรู้ต้องเข้าใจเสียก่อนที่จะเข้าสู่สายทางการปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ ต้องทำความเข้าใจให้ถูกว่า ขันธ์ห้ามีความหมายว่าอย่างไร มารห้า อายตนะสิบสอง กรรม และ กาล เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร ถ้าไม่เข้าใจไม่แจ่มแจ้งในปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ การปฏิบัติธรรมที่จะดับทุกข์ก็หาแจ้งไม่

ตัณหาร้อยแปดมีจริงหรือ หรือว่าเป็นเพียงการกล่าวอย่างไม่มีที่ไปที่มา ตัวนี้แหละสำคัญ ต้องทำให้แจ้งเสียก่อน จึงจะเดินทางถูก สูงสุดที่ปฏิบัติได้ ก็แค่สงบระงับด้วยอำนาจแห่งฌาน ไม่อาจพ้นจากทุกข์ที่แท้จริงได้ เมื่อถึงเวลาใกล้จะดับ เวทนามาอย่างแก่กล้าเพราะยังไม่หมดกรรม ยังไม่ถึงกาล มรณาสันนวิถีจิตเกิดขึ้น นิมิตเกิด ภพเกิด ชาติ ชรา มรณะ ก็ยังไม่หมด ยังต้องดำเนินไปตามวัฏฏะ อย่างเก่งก็แค่พรหม ที่หนักหน่อยก็เดรัจฉาน หรืออาจลงสู่อเวจี ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้ ดั่งคำสอนขององค์พุทธศาสดาที่ว่า

“..เมื่อต้องตายเพราะกายแตก การที่จะไปเกิดเป็นเทวดานั้นเป็นเรื่องยาก ...เกิดในอบายนั้นเป็นเรื่องที่ง่าย”

สมถกัมมัฏฐาน และ วิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องใช้ธรรมทั้งสามสิบเจ็ดประการ ในการดำเนินไปสู่ความสำเร็จ โดยมี ขันธ์ห้า มารห้า เป็นเครื่องขวางกั้น นิวรณ์ห้า คือ กามฉันทะนิวรณ์ พยาปาทะนิวรณ์ อุธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ถีนะมิทธนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ซึ่งประกอบมาจาก เวทนาร้อยแปด ตัณหาร้อยแปด ซึ่งเกิดขึ้นจากอายตนะสิบสอง กล่าวเพียงเท่านี้ สำหรับผู้ที่ฝึกฝนปฏิบัติในสายทางพระนิพพาน ย่อมเข้าใจได้โดยไม่ต้องแจงอีก เฉกเช่นเดียวกับท่านอัญญาโกณฑัญญะ ที่ได้สดับฟังปฐมเทศนาที่พระพุทธศาสดาทรงแสดงโปรดในครั้งแรก คือธรรมสามประการที่ได้แสดงไว้แล้ว

ธรรมสองประการแรก คือ ละบาป สร้างกุศลให้ถึงพร้อม นั้นเป็นกิจที่ปฏิบัติเป็นวัตรอยู่แล้ว ส่วนธรรมข้อที่สามที่ว่า สะจิตตะปริโยทะปะนัง นั้น ยังไม่กระจ่าง ต่อเมื่อพระพุทธองค์ทรงแจงให้ฟังว่า คือ หนทางอันประเสริฐที่จะขจัดความไม่อุดมแห่งอาชีวะ เช่น นักบวช แพทย์ พราหมณ์ กษัตริย์ อำมาตย์ ข้าราชบริพาร นักรบ ชาวไร่ชาวนา นายช่างผู้ชำนาญ หรือพ่อค้านายวาณิช ต่างก็ต้องใช้ธรรมแปดประการนี้ เพื่อดำเนินไปสู่ความสำเร็จในกิจอันประสงค์ ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ท่านอัญญาโกณฑัญญะจึงได้แจ้งในสิ่งที่พระพุทธศาสดาแจงให้ฟัง

ท่านทั้งหลาย ถ้ารู้ตัวว่าแจ้งแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องศึกษาต่อในที่นี้ แต่ถ้าประสงค์ที่จะลองศึกษาเพื่อประดับความรู้ก็ไม่ว่ากัน แต่ขอบอกว่าอันตราย ถ้าท่านไม่ได้เดินทางสายนี้ เพราะจะทำให้กิเลสหนาอัตตาเพิ่ม ทำให้ยากแก่การดำเนินต่อไปได้ในสายทางอันเป็นที่ชอบที่ชอบของท่าน

สำหรับผู้ยังใหม่ ต้องการที่จะศึกษาใหม่ ก็เห็นว่าน่าจะลองนำเอาไปศึกษาปฏิบัติดู ไม่มีอะไรเสีย ไม่มีอะไรเพิ่ม มีแต่จะหมดลดลง ทำให้ตัวเบา นับว่าขาดดุลกิเลส แต่ก็ได้ปัญญาอันบริสุทธิ์เพิ่มเติมให้เต็มแทน ทำให้ดุลในการทรงตัวอยู่ในสังคมยุคจิตตกต่ำคลาคล่ำไปด้วยความมืดบอดนี้ได้

เป็นธรรมดา เมื่อตาที่ยังไม่บอดมืด มองเห็นสรรพสิ่งทั้งหลายที่อยู่อย่างเป็นปกติของมันอยู่แล้ว ผ่านส่วนแก้วตาและถ้ำอุโมงค์ที่หนาแน่นไปด้วยวิญญาณทั้งสาม เมื่อตกกระทบสู่เรติน่าคือจุดเล็กๆที่เป็นเสมือนฉากรับที่เป็นศูนย์รวมของวิญญาณทั้งปวง คือประสาทรับรู้นั่นเอง ก่อให้เกิดเป็นอารมณ์คือเวทนาขึ้น ก็ด้วยเพราะเหตุแห่งสัญญา คือความจำได้หมายรู้ ด้วยปัญญาอันเป็นธรรมดาของสัตว์ที่ยังมิได้ขัดเกลา ย่อมปรุงแต่งไปตามสิ่งเร้าเหล่านั้น ดีบ้าง ชั่วบ้าง หรือละเอียดบ้าง หยาบบ้าง หรือเป็นกลางๆ เพราะว่ายังไม่รู้จักอารมณ์นั้นๆ ประกอบรวมเรียกตามภาษาธรรมว่า สังขาร ก่อให้เกิดเป็นอารมณ์ใหม่ บันทึกไว้ในความทรงจำเป็นสัญญาใหม่ ด้วยเหตุที่ยังไม่ทันต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นเร็วมากต่อเนื่องอย่างไม่รู้จบ ตามไม่ได้ไล่ไม่ทัน เพราะว่าปล่อยให้มันเกิดไปตามกิเลส อันเป็นเครื่องปรุงแต่ง รวมเข้าไปเป็นวิญญาณที่จุดศูนย์รวม เป็นเช่นนี้ ตราบเท่าที่เรายังมีลมหายใจอยู่ สัญญาต่างๆ ก็เกิดดับทับถมกันไป ไม่รู้ว่าใครก่อนใครหลัง อยู่อย่างนี้ทุกวี่วัน ทุกนาที ทุกขณะจิต เมื่อหยุดพักก็ตกตะกอนนอนเนื่องลึกลงไปสู่ก้นกรวยที่ลึกและแคบ ยากที่จะหลุดลอดโผล่มาขึ้นได้

ถ้าจะเปรียบไปก็คล้ายกับวิวัฒนาการสมัยใหม่ ที่เรามีคอมพิวเตอร์ใช้ การที่เราเอาข้อมูลต่างๆ บรรจุไว้ในฮาร์ดดิสก์ ส่วนที่เป็นระบบปฏิบัติการหรือโอเอสแบบต่างๆ รุ่นต่างๆ ก็คล้ายกับการบอกว่า เราเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา หรือว่าเป็นพรหม มาร สัตว์เดรัจฉาน หรือสัตว์ในอบาย ทั้งหมดขึ้นกับข้อมูลที่เราใส่เข้าไป ข้อมูลเหล่านั้น แม้จะถูกลบออกแล้ว แต่ว่าที่จริงมันยังอยู่ในนั้น ก็เปรียบได้กับสันดานนั้นยังคงอยู่คู่กับสัตว์ จะดี จะเลว จะเป็นมนุษย์ จะเป็นเทวดา หรือสัตว์ต่างๆ ก็คือสันดานอย่างที่เคยแจงไว้แล้ว แม้จะเปลี่ยนร่างคือเหมือนกับเปลี่ยนเมนเฟรม ที่ใครๆ ก็เข้าใจว่าเป็นศูนย์กลางของระบบปฏิบัติการนั่นไม่ใช่

เมนเฟรมเป็นได้เพียงแค่ร่างที่มีอวัยวะต่างๆ การที่จะทำให้ร่างเคลื่อนไหว ทำการได้คิดเป็น แก้ปัญหาเป็นนั้น ต้องเป็นระบบปฏิบัติการที่อยู่ในฮาร์ดดิสก์ หรือก็คือจิตในสัตว์นั่นเอง การที่เราเคลื่อนจิตเปลี่ยนร่าง ก็เทียบเท่ากับการยกเอาฮาร์ดดิสก์ไปเปลี่ยนใส่ในเมนเฟรมใหม่ มันไม่สามารถลบเอาข้อมูลที่ไม่ต้องการออกไปได้ มันยังคงติดอยู่ในนั้น แม้ว่าจะเป็นเมนเฟรมที่ใหม่กว่า แรงกว่า รุ่นพิเศษเลิศเลอเพียงใดก็ตาม ถ้ายังเป็นจิตตัวเดิม ก็ยังคงเหมือนเดิม อาจจะมีการเปลี่ยนระบบปฏิบัติการใหม่ แต่ถ้าไม่ใช่เป็นการฟอร์แมทระดับโลว์ฟอร์แมท( Low Level Format ) ที่ฟอร์แมททีละบิตแล้ว อย่างไรเสียก็ยังมีข้อมูลไม่พึงประสงค์อยู่ดี แต่การโลว์ฟอร์แมทนั้นยากมาก ต้องทำกันในระดับโรงงาน ไม่ใช่ทำกันได้ทุกคนที่บ้านหรือที่เครื่องของเรา เราทำได้อย่างมากก็แค่ฟอร์แมท/เอมบีอาร์ หรือถ้าขยันมากหน่อย ก็เอาเพลงคลาสสิกบันทึกลงไปซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายๆ รอบ (ก็คือการทำกุศลให้ถึงพร้อมในการปฏิบัติธรรม) ก็พอที่จะทำการแทนฟอร์แมทแบบโลว์ฟอร์แมทได้บ้าง

การที่จะ สะจิตตะปริโยทะปะนัง ก็เช่นกัน ต้องเข้าสู่ขบวนการโลว์ฟอร์แมท จะทำเพียงแค่ฟอร์แมทจิต ดีลีท( delete) กรรมแบบธรรมดาไม่ได้ ขั้นตอนนั้นด้องเข้าใจ ต้องทนทุกข์ทนลำบากมากมายกว่าจะได้ผลเป็นที่พอใจ และเชื่อได้ว่ามันจะไม่มีข้อมูลเสียหลงเหลืออยู่ อย่างที่เรียกว่า อกุปปาเมวิมุตติ นั้นแหละ

มาถึงตรงนี้ น่าจะได้อะไรบ้างแล้วนะ สำหรับท่านที่มีความรู้ความเข้าใจในความเจริญของวัตถุ แล้วนำมากระทบเปรียบเทียบกับเรื่องของกายและจิต แต่ก็ยังไม่เพียงพอแค่รู้เรื่องของวิวัฒนาการคอมพิวเตอร์ ต้องศึกษาเรื่องของคอมพิวเตอร์อย่างจริงจังถ่องแท้ ทั้งระบบโครงสร้างภายในและระบบโครงสร้างภายนอก เทียบได้กับอายตนะทั้งสิบสอง ระบบต่างๆ ตั้งแต่ต้นแหล่งจ่ายไฟ เรื่อยไปถึงระบบสื่อสารรับจ่ายข้อมูล ละเอียดไปจนถึงขบวนการเชื่อมโยงสายผ่านการกรองขยะไม่ให้มีสิ่งเจือปนเข้าไปรบกวนการสื่อสารที่มีความเร็วสูงมาก การเตรียมตัวสำหรับเครื่องไปจนขบวนการลงระบบปฏิบัติการหลัก ระบบปฏิบัติการเสริม ไปจนจบขั้นตอนการลงระบบควบคุมความรู้ต่างๆ แม้กระทั่งข้อมูลเสริมจากแหล่งความรู้ และเมื่อใช้งานไปสักระยะ ก็ต้องทำการจัดเรียงข้อมูลใหม่ ไม่ให้ยุ่งเหยิง แม้การจัดเรียงข้อมูลนั้นจะไม่สามารถแก้ปัญหาให้เราได้ทั้งหมด แต่ก็ช่วยได้มากกว่าหกถึงเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่จัดเรียงข้อมูลใหม่บ่อยๆ ใช้งานไปเครื่องก็อาจจะทำงานช้าลงและที่สุดก็สะดุดเกิดปัญหาขึ้นได้

ชีวิตเราก็เช่นกัน ถ้าไม่จัดเรียงข้อมูลใหม่อยู่เนืองๆ คือไม่ฝึกฝน หมั่นพากเพียร รักษาศีล ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมอยู่เนืองๆ ที่สุดข้อมูลในนั้นก็เล่นงานเอาได้เหมือนกัน

วันนี้เรามาเริ่มต่อกันที่ แนวทางรู้ก่อนการปฏิบัติธรรม
ในองค์ของโพธิปักขิยธรรมสามสิบเจ็ดประการ เริ่มที่

อิทธิบาทสี่ มีองค์สี่ที่ประกอบกันขึ้นคือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ไม่ว่าจะองค์ใดๆ ในการปฏิบัติธรรมเพื่อออกจากทุกข์ เราจะแยกเรื่องเอาแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่าในองค์รู้นั้น ต่างก็ต้องประกอบกับ ขันธ์ มาร อายตนะ กรรม และกาล ทั้งหมดทั้งสิ้น

ฉันทะ เองก็เช่นกัน จะเอาเพียงแค่ความพึงใจ รัก พอใจ มีความปรารถนา มีความตั้งใจ หรืออะไรอีกมากมายที่ภาษาจะบอกว่าไว้ ต่อเมื่อลงมือที่จะทำความดีในคนที่สนิทชิดชอบกับความไม่ดี หรือคนพาลนั้น ดูประหนึ่งว่าจะเป็นเรื่องยากยิ่งเป็นสิ่งแรก ถ้าให้ทำความชั่วแล้วละก็ เป็นอันว่าไม่ต้องบอกไม่ต้องชวน ก็สามารถที่จะมีปัญญาทำได้เองโดยไม่ยาก นี้คือองค์ความรู้ในเรื่องของอภิธรรม ส่วนในคนที่เป็นบัณฑิต จะชักชวนให้ไปทำความชั่วอย่างไรเสียก็ไม่ไปไม่ทำ นี้ก็คือองค์รู้ในเรื่องของอภิธรรมเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ต้องอาศัยธรรมข้ออื่นๆ มาประกอบจึงจะสำเร็จ ไม่ใช่รู้เพียงเรื่องใด หรือเดินไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ ก็จะเข้าใจไปเอง อย่างนั้นต้องใช้เวลามากมายนับเป็นแสนๆ ชาติ หรืออาจจะเป็นอสงไขยก็เป็นได้ ในเมื่อเราผู้เป็นคนยากทั้งหลาย ได้ฟังธรรมขององค์พระพุทธศาสดานั้นแล้ว เราทั้งหลายจึงได้รู้ว่า การจะปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์นั้น ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว เพราะเหตุว่า เรามีองค์พุทธศาสดามาตรัสรู้และได้ถ่ายทอดสอนธรรมทั้งหลายแก่พระอริยสาวก และสืบทอดเป็นบันทึกธรรมคำสอนที่เรียกว่า พระไตรปิฏก ให้เราทั้งหลายที่เป็นอนุชนรุ่นหลัง ได้ศึกษาเรียนรู้และได้อาศัยเป็นที่พึ่งเมื่อนึกถึงองค์พระพุทธศาสดา

ผู้ที่ตั้งใจศึกษาอย่างจริงจังในพุทธโอวาท ย่อมสามารถอาศัยพระธรรมคำสอนที่บันทึกอยู่ในพระไตรปิฏกได้อย่างแน่นอน เหตุเพราะเหล่าเทพทั้งหลายมีหน้าที่ปกป้องและรักษาผู้ประพฤติธรรม ซึ่งอยู่ในยุคของเหล่าเทพเทวาผู้เป็นบัณฑิตให้คำสัญญาไว้ว่าจะรักษาพระธรรมคำสอนในพุทธศาสนานี้ต่อจากพุทธบริษัทสี่ ซึ่งมีหน้าที่รักษาอยู่สองพันห้าร้อยปี หนึ่งพันสองร้อยห้าสิบปีสืบต่อจากนั้นเป็นหน้าที่ของเหล่าเทพเทวาฝ่ายบัณฑิต เมื่อสิ้นสามพันเจ็ดร้อยห้าสิบปีแล้วก็จะเริ่มเข้าสู่ยุคเสื่อม เหตุเพราะเหล่าเทพที่เป็นบัณฑิตหมดหน้าที่ เป็นหน้าที่ของเทพฝ่ายมารได้ขอโอกาสในการรักษาพระพุทธศาสนา

ในเรื่องนี้ก็มีคนตีความผิดกันมากมาย อ้างตนเป็นเทพเทวดากันยกใหญ่เพื่อที่จะได้ปกป้องพระพุทธศาสนา จะเป็นได้อย่างไรถ้าตัวยังไม่เข้าใจในคำสอน แล้วจะปกป้องได้อย่างไร อ้างตัวเป็นเทพเป็นผู้นำสารอะไรเทือกนั้น หลวงตาเคยเจอมาแล้ว เป็นพวกหลงตัวเอง มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะ อ้างเบื้องบนให้มาบอก หลอกพระนักบวชที่ไม่เข้าใจในหลักของศีลของธรรม หลงงมงายกับเรื่องไร้สาระ ไปอาศัยคนไม่รู้ธรรมสอนธรรมให้ เขาให้ลูกศิษย์มานิมนต์ไปฟังธรรม หลวงตาก็ถามว่าอาจารย์จากที่ใดมาแสดงธรรม ลูกศิษย์ก็บอกว่าเบื้องบน

หลวงตาได้ยินอย่างนั้นก็บอกกับเด็กหนุ่มนั้นไปว่า อย่างมงาย เทวดานั้นเคารพในพระสงฆ์องค์เจ้า ยิ่งเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว เทวดาต้องการจะฟังธรรมด้วย ไม่ใช่มาเทศน์ธรรมสอนพระ มีแต่จะติงในความเห็นที่ไม่ตรงกันเท่านั้น และการติงก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชนหมู่มากที่เป็นผู้ยากไร้ ไม่ก้าวก่ายไปถึงศีลของพระ ที่จะได้รู้จักเทวดาก็ต้องมีศีลเท่ากันหรือเหนือกว่า เทวดารู้ดี และก็ติงในสิ่งที่ควร ส่วนพระจะทำถูกหรือผิดนั้นเป็นเรื่องของพระ เทวดาไม่เกี่ยว ที่ได้เป็นเทวดาก็อาศัยพระเป็นเนื้อนาบุญ บุญที่ทำเจ้าของได้เอง บาปที่พระทำเป็นเรื่องของพระ ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นผู้เกิดในภูมิเทวดา ย่อมไม่เกี่ยวข้อง ข้องแวะ ค่อนแคะกับกรรมของนักบวช ใครทำอย่างไรได้กับตัวเจ้าของเอง มีนักบวชในพุทธศาสนามาก็เพื่อให้ได้เห็นได้สุขใจ ได้สร้างบุญ

เปรียบดั่งผืนนา ถ้าอยู่ในที่ลุ่มน้ำไม่ท่วม มีความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ ไม่แห้งแล้ง บำรุงรักษาอย่างไรก็ได้อย่างนั้น เมื่อชาวนาบำรุงผืนนาก็รักษา เพาะปลูกสิ่งใดลงไป ก็เจริญงอกงามสร้างความสุขใจให้กับชาวนา พระดีก็เปรียบได้กับนาดี ผู้สร้างสร้างสิ่งใด ก็ได้สิ่งนั้น ซ้ำเจริญงอกงามดีด้วย ในเมื่อชาวนายังมีหนี้สินอยู่ ได้พืชพันธุ์ธัญญาหารมามากมาย ขายแล้วใช้หนี้ไม่หมด ใช่ว่านาจะไม่ดี แต่เพราะสร้างหนี้ไว้มาก คงมีสักวันที่หมดหนี้ ถ้ายังไม่ท้อที่จะเพาะปลูกให้ยั่งยืน ในเมื่อได้เจอนาดี

พระก็เช่นกัน หมั่นสร้างคุณงามความดีเอาไว้ เพื่อชาวบ้านทั้งหลายที่เป็นผู้ยากไร้จะได้มีโอกาสหมดหนี้ หนี้กรรมนั้นหมดได้ยากเหลือเกิน ต้องอาศัยพระดีเป็นที่เพาะปลูกสร้างบุญ พระดีไม่จำเป็นที่จะต้องมีราคาแพง นาดีก็เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นที่แพง เพียงแค่น้ำไม่ท่วม ดินไม่แล้งสามารถรักษาคุณภาพของดินให้ชุ่มอุ้มน้ำและอาหารให้สมบูรณ์ เมื่อชาวนาถึงเวลาเพาะปลูก ทำการเพาะปลูกหมุนเวียนไปตามฤดูกาลเพื่อให้อาหารในดินสมบูรณ์อยู่เสมอ มีปัญญาดี ย่อมหมดหนี้ได้สักวัน เมื่อนั้นเหลือเท่าไรก็เป็นของเจ้าของ

ว่ามาเสียยาว เกี่ยวกันไหมเนี่ย กับเรื่องของฉันทะ ที่นา พระ ชาวนา พุทธบริษัท เทวดา มาร พรหม แล้วยังพืชพันธุ์ธัญญาหาร อาหาร ปัญญา ความหลง กรรม หนี้สิน อะไรเหล่านี้ มองดูเหมือนไม่เกี่ยว แต่ว่าธรรมทั้งหลายอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นที่เกิด เป็นที่ดำเนินไป อุปมาอุปมัยมาก็เพื่อให้รู้ให้เข้าใจเท่านั้นเอง

ในเรื่องของฉันทะก็เช่นกัน ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆมาเกื้อกูลจึงจะสำเร็จเป็นฉันทะได้

กายไม่พร้อม เจตนาพร้อม จิตก็ไม่พร้อม
กายพร้อม เจตนาพร้อม กาลไม่พร้อม จิตก็ไม่พร้อม
กายพร้อม เจตนาพร้อม กาลพร้อม กรรมไม่พร้อม จิตก็ไม่พร้อมเช่นกัน
กายพร้อม เจตนาพร้อม กรรมพร้อม กาลพร้อม บรรยากาศไม่พร้อม จิตก็ไม่พร้อมเช่นกัน

มรรคสมังคี หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมประชุมรวมกัน ด้วยเหตุแห่งบุญนำกรรมแต่งโอกาสดีมีเหตุปัจจัยดีประกอบ กายสังขารเจตนาเป็นกุศลสมบูรณ์แล้ว องค์ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏเกิดได้ ฉะนั้น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา จึงต้องอาศัยมรรคสมังคี จึงจะสำเร็จเป็นกิจได้ ใช่ว่าจะยากเกิน ในองค์สี่นี้ ก็ต้องอาศัย ประธาน เราจึงต้องเข้าใจใน สัมมัปปธานสี่ ให้ดีเสียก่อน เราก็จะเข้าใจและนำเอาองค์รู้ในสัมมัปปธานสี่มาเป็นเครื่องมือในการดำเนินของอิทธิบาทสี่ได้

จะเห็นได้ว่า ธรรมทั้งหลายที่องค์พุทธศาสดาได้แสดงไว้ดีแล้วนั้น ต่างก็ต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จะอยู่เป็นเอกเทศไม่ได้ ต้องเกื้อกูลกันจนถึงที่สุดจึงจะออกจากทุกข์ได้ จึงได้กล่าวไว้แต่ต้นแล้วว่า

ผู้ไม่รู้ไม่สามารถสอนตนเอง สอนตัวเจ้าของเอง เมื่อไม่สามารถแล้ว จะสอนผู้อื่นก็รังแต่จะนำตนตกสู่อบายได้ง่าย สมตามคำสั่งสอนขององค์พุทธศาสดา แน่แท้จริงเทียว

สาธุ สาธุ สาธุ

วันนี้เห็นทีจบแค่นี้ก่อน ค่อยว่ากันใหม่เมื่อมีโอกาส


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
Kittiyano

Last Edit: 2021/11/11 20:43 By admin.
Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1