ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 3 สัมมัปปธาน ๔
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 3 สัมมัปปธาน ๔
#94
โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 3 สัมมัปปธาน ๔ 13 ปี, 5 เดือน ก่อน  
วันนี้ เรามาต่อ โพธิปักขิยธรรม องค์ที่สอง คือ สัมมัปปธานสี่ กัน

สัมมัปปธานสี่ แปลตรงๆง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่ตั้งไว้เป็นเบื้องหน้าโดยชอบสี่ประการ ส่วน โยนิโสมนสิการ มีความหมายว่า กระทำไว้ในจิตอย่างแยบคายด้วยอุบายปัญญา ถ้าเอาสองส่วนนี้มาประกอบเข้ากับ การประพฤติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ โดยอาศัย โพธิปักขิยะธรรมสามสิบเจ็ดประการ เราก็จะสามารถทำความเข้าใจในองค์รวมได้ว่า การจะปฏิบัติธรรมเพื่อการออกจากทุกข์นั้น จะต้องอาศัยธรรมต่างๆ รวมสามสิบเจ็ดประการ โดยมีการพิจารณาอย่างแยบคายด้วยอุบายปัญญาอันน้อยนิดอันเป็นธรรมดาของเรา ว่าเราจะอาศัยธรรมอันใดเป็นประธาน หรือว่าเป็นตัวนำในการที่จะเริ่มความเพียร โดยมีหลักแห่งความชอบสี่ประการ คือ

สังวรปทาน คือความเพียรที่ตั้งไว้เป็นเบื้องหน้าเพื่อการสำรวมระวังธรรมอันเป็นฝ่ายบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้นในจิตเรา มิให้เกิดขึ้นได้

ปหานปธาน คือความเพียรที่ตั้งไว้เป็นเบื้องหน้าเพื่อการละเสียซึ่งธรรมอันเป็นฝ่ายบาปอกุศล ที่เกิดขึ้นที่มีอยู่แล้วในจิตเราด้วย สมุทเฉทปหาน คือ การทำลายด้ายความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญโดยอาศัยวิริยะธรรม

ภาวนาปธาน คือความเพียรที่ตั้งไว้เป็นเบื้องหน้าเพื่อการที่จะทำให้เจริญอย่างยิ่งใน ธรรมอันงามที่เป็นฝ่ายกุศล ที่ยังไม่เคยมีเคยเกิดในจิตเราให้เกิดขึ้นให้ได้ ในตรงนี้ต้องขออธิบายสำหรับผู้ไม่รู้ว่า คำว่า ภาวนา มิได้มีความหมายเหมือนอย่างที่ส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า ภาวนา แปลว่าบ่นซ้ำๆซากๆ อยู่ ถ้าบ่นซ้ำๆ ซากๆ อยู่ อย่างพวกที่ บ่นคำใดคำหนึ่งไปเรื่อยๆ เพื่อหวังที่จะให้จิตสงบ ลางพวกก็ บ่นไป พร้อมกับพยายามสร้างนิมิต ให้เห็นองค์พระบ้าง ให้เห็นสิ่งนั้น สิ่งโน้นบ้าง อย่างนี้ไม่เรียกว่า ภาวนา แต่เรียกว่า บริกรรม ท่องบ่นอย่างไร้สติแล้วก็บอกว่าฝึกยาก เท่าที่หลวงตาศึกษามา พระพุทธศาสดาไม่ว่าองค์ไหนๆ ไม่เคยสอน มีแต่ได้เรียนรู้มาเป็นอุทาหรณ์เรื่องหนึ่ง คือ

ในกาลครั้งหนึ่ง พระพุทธศาสดาทรงประทับพักผ่อนอิริยาบถอยู่ใกล้ชายแดนแห่งหนึ่ง มีที่นาทุ่งกว้าง มีน้ำนอง มองไปไกลโพ้นก็มีทิวเขาแมกไม้นานาพันธ์ ในกาลนั้น ก็มีภิกษุผู้มีอายุรูปหนึ่งเข้ามาหา นั่งลงแล้วประนมมือ อาราธนาพระพุทธศาสดาให้ทรงสอนสั่งเป็นกรณีพิเศษ โดยกล่าวว่า ข้าพระพุทธเจ้านี้ อายุมากแล้ว เป็นผู้บวชเมื่อแก่ ใคร่ที่จะขอให้พระองค์ได้โปรดประทานอนุญาต บอกวิธีการทำจิตให้สงบเพื่อที่จะได้ละสังขารไปอย่างไม่มีทุกข์

พระพุทธศาสดาทรงพระเมตตาสอนสั่งไปว่า ท่านจงไปพิจารณาว่า อุทะยะ พะยัง จงไปภาวนาให้ยิ่งในจิตท่าน ท่านก็จะละสังขารนี้ได้อย่างเป็นสุข ภิกษุแก่รูปนั้นรับคำแล้วก็ไปหาที่อันเหมาะสม สัปปายะ ต่อตนแล้วก็นั่งลง ทำอาการกิริยาเช่นเดียวกับผู้ที่ทำสมาธิทั่วไป จากนั้นก็เริ่มพิจารณาคำที่พระพุทธศาสดาสั่งสอนมา อุทะยะ พะยัง พิจารณาทบทวนไปเรื่อยๆ ต้นไม้ก็ร่ม ลมก็เย็น บรรยากาศริมทุ่งกว้างใหญ่ไพศาลมองดูแล้วช่างงามตาเสียเหลือเกิน ตามองกายสัมผัส จิตก็ประหวัดคิดถึงชีวิตที่ผ่านมา ยิ้มด้วยความสุขจนเคลิ้มหลับไป เป็นธรรมดาของผู้ที่มีอายุสูงวัย นั่งเพลินๆที่ไหนก็จะเคลิ้มหลับเป็นธรรมดา

อันนี้รู้ดีหลวงตาเป็นบ่อย ยิ่งแพทย์บอกว่าอายุมากแล้วต้องพักผ่อนให้มากๆ หลังอาหารกลางวัน ควรหลับสักชั่วโมง เลยเป็นข้ออ้างได้ หึ หึ ว่าต่อ ๆ เคลิ้มหลับไปนานเท่าไรไม่รู้ มารู้สึกตัวก็เมื่อได้ยินเสียงดัง จ๊อม จ๊อม สติก็เริ่มค่อยๆคืนมา ตาก็ยังหลับอยู่ หูก็ได้ยินเสียงใกล้เขามา จิตที่ยังไม่สมบูรณ์ ก็คิดถึงอดีต ลืมตัวไปชั่วขณะ จำไม่ได้ว่าตนเป็นนักบวชแล้ว ขณะที่ยังไม่ลืมตาความคิดต่างๆก็แล่นเข้ามาแทนที่ หรือจะมีใครย่องมาทำร้าย ตกใจลืมตาขึ้นมองดู เห็นเป็นนกกระยางตัวหนึ่ง กำลังเดินหาปลาอยู่ในนาที่เจิ่งนองด้วยน้ำ จึงอุทานว่า อุทะกะ พะกัง

สำรวจตัวเองแล้วนึกได้ว่า เราเป็นนักบวชในพระพุทธศาสดาอยู่นี่ ค่อยๆ รำลึกว่าเรามานั่งตรงนี้เพื่อทำความเพียร คิดเรื่อยเปื่อย ปากก็ท่องบนคำว่า อุทะกะ พะกัง อุทะกะ พะกัง อยู่ร่ำไป จนที่สุดแดดเริ่มหมดจึงกลับไปพบพระพุทธศาสดา พระองค์ทรงแย้มพระสรวล เหล่าอริยะสาวกก็รู้ ภิกษุเฒ่าก็ทูลบอกว่า ข้าพระพุทธเจ้านั้น ยังทำความเพียรไม่สำเร็จเลย ขอพระองค์ทรงเมตตาสอนสั่งอีกเถิด พระพุทธศาสดาทรงแย้มพระสรวลแล้วถามว่า ท่านพิจารณาว่าอะไร ภิกษุเฒ่าก็บอกว่า อุทะกะ พะกัง พระเจ้าข้า

ไม่เล่าต่อนะ ให้คิดเอาเอง คำว่า อุทะยะ พะยัง มีความหมายว่า เกิดขึ้น ดับไป เมื่อให้พิจารณา ก็หมายถึงว่า จงนำคำว่า เกิดขึ้น ดับไป นี้ ไปเจริญจิตให้จิตเจริญยิ่งๆขึ้น เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึง การเกิด ดับ ว่าเป็นของธรรมดา ยิ่งสามารถพิจารณาวินิจฉัยจนกระทั่งเห็นทุกสิ่งทุกอย่างว่าต้องมีการ เกิดขึ้น ดำเนินไปจนถึงที่สูงสุด แล้ว อย่างไรเสียก็ต้องตกลงมา แล้วก็แตกสลายดับไปในที่สุด อันเป็นธรรมดาไม่ว่าสิ่งไดๆ ในที่ไหนๆ ในโลกนี้

แต่ด้วยอายุอันมากแล้ว ถ้าไม่ตั้งความเพียรเอาไว้ให้ดี ไม่เข้าใจในหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็จะท่องบ่นเอา แล้วที่สุดก็หาดีไม่ได้ เมื่อสะดุดสิ่งใดก็จะลืมได้ง่ายเหตุเพราะสูงวัย คำว่า อุทะกะ (อุทก) แปลว่าน้ำ พะกัง (พก , พกา) แปลว่า นกยาง หรือ นกกระยาง นี่ก็เป็นนิทานธรรมเล็กน้อย ที่คอยสอนเตือนหลวงตาไว้เสมอว่า ถ้าจะสอนกัมมัฏฐานให้ใคร ไม่ว่าจะสมถะ หรือวิปัสสนากัมมัฏฐานต้องไม่ลืมเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง วันนี้ก็เป็นโอกาสที่ได้แทรกไว้ตรงนี้ ว่าต่อเรื่อง สัมมัปปธานสี่ อีกข้อหนึ่ง คือ

อนุรักขนาปธาน คือความเพียรที่ตั้งไว้เป็นเบื้องหน้าเพื่อการที่จะรักษาจิตของตัวเจ้าของให้รักษาธรรมอันดีงามที่เป็นฝ่ายกุศลที่เกิดขึ้นแล้วในจิต มิให้เสื่อมสลายไป

เมื่อเราทำความเข้าใจในเรื่องของ สัมมัปปธาน หรือ สัมมา ประธาน ในภาษาไทยเรา ก็คือการตั้งเหตุนำอันใดอันหนึ่งที่เป็นฝ่ายชอบ คือฝ่ายกุศล มาเป็นประธาน เพื่อการทำความเพียร ลางท่านอาจจะนำเอาอิทธิบาทสี่ ธรรมอันเป็นพื้นฐานของความสำเร็จสี่ประการ มาทำความเพียรเป็นเหตุต้น โดยอาจจะนำเอา วิริยะ คือความกล้าหาญที่จะทำลายธรรมไม่ดีที่เป็นฝ่ายบาปที่มีอยู่ในตน เพราะมันเป็นเครื่องขวางกั้นความเพียรของตัวเจ้าของ เช่น อยากบุหรี่ ก็ต้องสมุทเฉทปหาน ตัวเองอย่างกล้าหาญ อดให้ได้ ตายเป็นตาย แล้วค่อยลงมือปฏิบัติธรรม เมื่อทำได้ จิตก็จะเป็นสุข สามารถอ้างอิงกับตนเองได้ แล้วก็ใช้สัมมัปปธานสี่จัดการชีวิตตนให้พร้อม เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องเจริญงอกงาม เพื่อความไพบูลย์สืบไป อย่างนี้เป็นต้น

วันนี้ก็ขอจบสัมมัปปธานสี่ ไว้เพียงเท่านี้ หวังว่าคงจะมีคุณประโยชน์ต่อผู้ฝึกฝน ทั้งที่เป็นผู้ใหม่และเป็นผู้เก่า รวมถึงผู้ที่เข้าใจผิดให้ได้เป็นข้อคิดสักเพียงเล็กน้อยก็พองามแล้วละ ขอบุญจงรักษาท่านผู้ประพฤติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ จงกระทำเมตตาจิตเป็นประจำ เพราะเป็นธรรมที่มีคุณมาก จงเป็นผู้พ้นจากอันตรายทั้งปวง จงอยู่เป็นสุข จงอย่าเสื่อมจากลาภที่ได้แล้ว จงเป็นไปตามกรรมของตนเทอญ


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
Kittiyano

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1