ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 4 สติปัฏฐาน ๔
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 4 สติปัฏฐาน ๔
#95
โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 4 สติปัฏฐาน ๔ 13 ปี, 5 เดือน ก่อน  
วันนี้เรามาต่อ โพธิปักขิยะธรรม ในองค์ที่สามคือ สติปัฏฐานสี่ นะ อันนี้เป็นหัวข้อที่ตั้งไว้ว่า การปฏิบัติธรรมแนว สติปัฏฐานสี่

องค์พระพุทธศาสดา ก็ได้กล่าวสรรเสริญไว้ว่า “ ทางนี้เป็นเครื่องไปอันเดียว เพื่อวิสุทธิแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโศกและปริเทวะทั้งหลาย เพื่ออัสดงค์ ( ดับไป ) แห่งทุกข์และโทมนัสทั้งหลายเพื่อบรรลุธรรมที่ ( พระอริยะ ) เข้าถึง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง คือสติ-ปัฏฐาน ๔ นี้ คำใดที่ ( เราคือพระผู้มีพระภาค ) กล่าวแล้วอย่างนี้ คำนั้น ( อันเรา ) อาศัยทางคือสติปัฏฐานนี้” (คัดมาจากพจนานุกรมธรรมฉบับอีเล็กทรอนิกส์)

สติปัฏฏฐานสี่นี้ เป็นแนวทางปฏิบัติที่ใกล้กับความเป็นธรรมดาของสัตว์ที่สุด ที่อาศัย กายเพื่อเรียนรู้เวทนา เอาเวทนามาเป็นเครื่องเรียนรู้พฤติของจิต แล้วก็เอาพฤติของจิตนี้มาประมวลเพื่อให้เข้าใจธรรม จะเห็นได้ว่า การจะเริ่มได้ก็ต้องอาศัย อิทธิบาทธรรม ถ้าไม่เข้าใจสัมมัปปธานธรรม ก็กระทำให้สำเร็จได้ยาก ถ้าอินทรีย์ห้าพละห้าไม่พร้อม (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) ก็จะเอาความจริงให้ถึงแก่นได้ยาก ไม่มีโพชฌงค์ธรรม ไม่มีมรรคแปด ก็เดินต่อไปไม่ได้ แต่เมื่อรวมความแล้ว ไม่ว่าธรรมใดๆ ต่างก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน

สติปัฏฐานสี่ ประกอบด้วยธรรมที่เกื้อกูลกันสี่ประการ อันเกิดแต่จริตที่ไม่เท่าเทียมกันในสัตว์ กล่าวคือ พวกหนึ่งมีตัณหาจริตติดอยู่ที่กาย พวกหนึ่งมีตัณหาจริตติดที่เวทนา พวกหนึ่งมีตัณหาจริตติดที่จิต และสุดท้าย เป็นพวกที่มีตัณหาจริตติดที่ธรรม

ฉะนั้น สติปัฏฐาน จึงหมายถึงการระลึกรู้หรือเรียนรู้ ระลึกรู้เรียนรู้อย่างไร ท่านก็เพิ่มคำว่า วิปัสสนา เอาไว้ในระหว่าง เช่น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายความว่า การระลึกรู้ เรียนรู้ พิจารณาให้มากให้ละเอียด โดยอาศัยกายของตนเป็นที่ศึกษาเรียนรู้ หรือเป็นฐานในการศึกษาเรียนรู้ อย่างนี้เป็นต้น

ในที่นี้ หลวงตาจะไม่ก้าวเลยไปจนถึงคำสอนที่ละเอียดมากมาย แต่จะเอาเพียงแค่การปฏิบัติที่ง่ายที่สุด เพื่อการศึกษาฝึกฝนได้ด้วยตนเอง เข้าใจง่ายและได้ผลเร็ว ส่วนผู้ที่ต้องการจะศึกษาละเอียดถึงที่มาที่ไป ก็ใช่ว่าจะไม่มี สามารถหาศึกษาได้มากมายหลายสถานหลายที่ แต่พึงจำไว้ว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เหมือนตัวอย่าง อาจารย์กับศิษย์ที่เคยยกตัวอย่าง

การศึกษาด้วยการลงมือปฏิบัติย่อมเป็นหนทางที่ดีที่สุด เปรียบดั่งคนหัดว่ายน้ำ ต่อให้อ่านตำราร้อยเล่มพันเล่ม อ่านทฤษฎีมากมายหลายอาจารย์ แต่ไม่เคยลงน้ำ อย่างไรเสียก็จมน้ำตายก่อน ก่อนที่จะงัดเอาความรู้ต่างๆที่อ่านมาพาตัวเองให้รอดได้

ส่วนพวกที่หัดด้วยลูกมะพร้าวสองลูก เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ขาก็กระทุ่มน้ำ ไปบ้างไม่ไปบ้าง ที่สุดก็หาหนทางเจอสามารถพาตัวเองให้ไปตรงโน้นตรงนั้นได้ ต่อเมื่อหัดเพียรอยู่เรื่อยๆ ก็มีประสบการณ์มากขึ้น รู้กำลัง รู้แรงต้านทาน รู้กระแสน้ำ สามารถนำเอาสิ่งแวดล้อมรอบข้างมาเป็นประโยชน์ ต่อเมื่อแข็งดีแล้ว จะไปหัดท่าทางต่างๆ ตามตำราที่หลังก็ยังไม่สาย เอาตัวรอดได้เสียก่อน แล้วค่อยเรียนรู้ให้ละเอียด

นี้ก็เป็นตัณหาจริตอย่างหนึ่งในสี่จำพวก เป็นพวกไม่สนใจสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม แต่มุ่งความสำเร็จเป็นใหญ่ โดยอาศัย วิริยะในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม มาเป็นเครื่องมือในการมุ่งสู่ความสำเร็จสัมฤทธิ์ผล อันนี้เป็นเป้าประสงค์ที่หลวงตาเขียนบทความธรรมเหล่านี้ เพื่อมุ่งเน้นผู้ที่มีเวลาน้อย ไม่สนใจในสิ่งประกอบ แต่เอาสิ่งประกอบที่เป็นจริงในขณะนั้นมาเป็นเครื่องมือเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ นี่แหละอยู่กับปัจจุบันในรูปแบบของหลวงตาละ หึ หึ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฐานนี้เป็นการอาศัย กาย ของตัวเจ้าของ เป็นเครื่องเรียนรู้ เครื่องระลึก อาศัยการเคลื่อนไหวกายบ้าง ไม่เคลื่อนไหวกายบ้าง แม้ไม่เคลื่อนไหวกายเลย ก็ยังมีลมหายใจ (ซึ่งถูกแยกออกไปเป็นอีกฐานหนึ่ง อานาปานัสสติ(ปัฏฐาน) ฐานที่ตั้งแห่งการระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจ ที่เคลื่อนไหวเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ก็อาศัยเป็นเครื่องระลึกรู้ได้

การระลึกรู้ในฐานกายนี้ เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด เนื่องจากเป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งหลาย ต่างก็อาศัยกายหยาบเป็นเครื่องปกป้อง เป็นเครื่องปะทะต่อสิ่งต่างๆ ที่มากระทบ ทำให้เกิดเวทนาขึ้น ในกายนี้ก็มีเครื่องเชื่อมต่อกับธรรมภายนอกกายอยู่ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอุปกรณ์ภายในเชื่อมต่อกับธรรมภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ รวมเรียกว่า อายตนะสิบสอง

อายะตะนะทั้งสิบสองนี้ ก่อให้เกิดเวทนาขึ้น เวทนาเหล่านี้คือ ตัณหา ความทะยานอยาก เป็นสังขารธรรมในขันธ์ห้า ก่อเกิดมาจาก อารมณ์ อันสืบเนื่องมาจาก วิญญาณ คือธาตุรู้ หรือจะกล่าวให้ตรงกับความรู้สมัยใหม่ก็คือ ประสาทรับรู้ ทั้งหลายนั่นเอง ประสาทรับรู้ทาง ตาเห็นรูป หูได้ยินรูป จมูกได้กลิ่นรูป ลิ้นได้รสรูป กายสัมผัสรูป ก่อให้เกิดเป็น อารมณ์รู้ที่จิต คือศูนย์รวมประสาท

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฐานนี้เป็นการอาศัย เวทนา ทั้งหลายที่เกิดแต่อุปกรณ์ในกาย กระทบกับธรรมภายนอก เป็นเครื่องระลึกรู้ เช่น ทำงานเพลินตั้งแต่เช้าจนล่วงเข้าบ่ายสองโมงแล้ว ด้วยความตั้งใจทำงานจนลืมเวลา อาการหิวก็ไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแต่จิตอันเป็นธาตุรู้ ก็ไม่รับรู้ เหตุเพราะจิตนั้น รับรู้อารมณ์ที่มากระทบได้ครั้งละหนึ่งเดียว

ในเมื่อจิตนี้เกิดดับอยู่ตลอดเวลารวดเร็วมาก แต่ด้วยสมาธิความเอาใจใส่ที่แนบแน่นอยู่กับงาน ทำให้การเกิดดับของจิตช้าลง เหตุเพราะมีจุดสนใจอื่นๆ ในงานเกิดขึ้นในอารมณ์อย่างต่อเนื่อง จิตจึงไม่ใสใจในอารมณ์คือความหิวที่เกิดขึ้นแล้วในกาย ได้ส่งสัญญาณไปสู่จิตแล้ว แต่ด้วยเหตุเพราะจิตทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ได้ครั้งละหนึ่งเดียว สัญญาณเหล่านั้นจึงถูกละเลยไป จึงสนใจแต่ที่งาน

ต่อเมื่อมีคนมาทักว่า บ่ายสองแล้ว ทานข้าวหรือยัง สมาธิที่แนบแน่นอยู่ในงานถูกกระทบด้วยอารมณ์ที่รับรู้ทางหู กระตุ้นสู่ศูนย์รวมประสาท ไปดึงเอาสัญญาอันเป็นความจำได้หมายรู้แต่เดิมว่า บ่ายสองแล้ว เลยเวลาอาหารแล้ว จิตที่เชื่อมโยงกับศูนย์รวมประสาททำหน้าที่รวดเร็วมาก ส่งสัญญาณสู่อวัยวะภายใน ทำให้หลั่งน้ำย่อยออกมา

สัญญาเก่าบวกอารมณ์ใหม่ก็บอกว่านี้คืออาการหรืออารมณ์ของความหิว จึงหยุดกิจทั้งปวง หันไปสนใจในเรื่องของอาการหิว หิวเป็นความทุกข์ เป็นเวทนา ต่อเมื่อหิวแล้วต้องกินแล้ว ตัณหาก็น้อย ต้องการเพียงแค่กินให้อิ่มเพื่อบรรเทาความหิว จึงไม่เลือกด้วยตัณหายังบางอยู่ ต่อเมื่ออาการหิวบรรเทาแล้ว ตาเห็น จมูกได้กลิ่น หูได้ยิน เรื่องราวของอาหารที่อร่อย ตัณหาที่เบาบางอยู่ ก็หนาขึ้น ทำให้หยุดการกินที่มีอยู่เดิมที่ไม่ได้พิถีพิถันแต่แรก หันไปสนใจสิ่งใหม่ แม้กายจะสั่งการมาสู่จิตแล้วว่าอิ่มแล้ว แต่ตัณหาความอยากทำให้สามารถขยอกเข้าไปได้อีกอย่างสบายๆ

ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานของ กาย และ เวทนา ร่วมกันกับอุปกรณ์เชื่อมโยงต่างๆ ก่อให้เกิดตัณหา เบาบ้าง หนักบ้าง ไม่แน่นอน อันเนื่องมาจาก อาการของตัณหานั้นมีได้ร้อยแปดประการ ที่ว่า ร้อยแปดประการนั้น ก็สืบมาจากตัณหานั้นมีองค์ประกอบคือ อายตนะทั้งสิบสอง ควบกับ กรรมสาม และกาลสาม จึงรวมได้เป็นร้อยแปด อาการเช่นนี้แล

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฐานนี้เป็นการอาศัย จิต หรือ อารมณ์รู้ อันเกิดแต่กายและเวทนา เป็นเครื่องระลึกรู้ เหตุเพราะจิตหรืออารมณ์รู้ ธาตุรู้เหล่านี้ ไม่ได้รู้ได้ด้วยตนเอง ต้องอาศัยอุปกรณ์ต่างๆ เป็นเครื่องมือช่วยเหลือ ในการเรียนรู้ เพื่อที่จะได้เข้าใจในตัณหาทั้งหลายที่เกิดขึ้น จิตทำหน้าที่รับรู้อารมณ์เหล่านั้น ถ้าปล่อยให้อารมณ์เหล่านั้นผ่านไปโดยไม่ศึกษา ตัณหาก็หนาขึ้นเรื่อยๆ

ต่อเมื่อเราเพ่งพินิจพิจารณา อารมณ์รู้เหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา ศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกขณะจิต ละเอียดบ้างหยาบบ้าง ศึกษาเรื่อยไป ไม่ปล่อยให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เราก็จะเป็นผู้ที่ฉลาดในอารมณ์ของตนเอง ไม่จำเป็นต้องไปรู้อารมณ์ของผู้อื่น เพราะนั่นไม่สามารถนำเอามาแก้ไขตนเอง ไม่สามารถนำให้ตนออกจากทุกข์ได้ เสมือนหนึ่งรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ ต่อเมื่อเป็นผู้ฉลาดในอารมณ์ของตนเองแล้ว เราก็สามารถรู้ในอารมณ์ของผู้อื่นได้โดยไม่ยาก สามารถแก้ไขตนเองและบอกกล่าวให้ผู้อื่นรู้ในสิ่งที่เขาไม่รู้เพื่อการแก้ไขในตัวเขาได้

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฐานนี้เป็นการอาศัย ธรรม ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาพิจารณามามาก จากการระลึกรู้ในฐานต่างๆ ทั้งสามมาประกอบกันเป็นองค์รู้ แล้วนำมาวินิจฉัย วิจัยพัฒนาเพื่อความรู้อันยิ่ง เพื่ออุบายอันแยบยล ที่กระทำไว้ในจิตอย่างแยบคาย ด้วยอุบายแห่งปัญญาของตน เพื่อที่จะได้เข้าใจในธรรมชาติทั้งปวงว่า ต้องมีต้องเป็น ต้องเกิดขึ้นและดับไป ก่อนที่จะดับไป ยังมีขั้นตอนที่สำคัญไว้ให้ได้ศึกษาเรียนรู้

อย่างที่กล่าวไว้แต่ต้นว่า จิตนี้ เกิดขึ้นแล้ว ก็ดำเนินไป ขณะที่ดำเนินอยู่นั้น ตัวเจ้าของไม่ละเลยก็ได้ศึกษาความเป็นไป โดยอาศัยการตามรู้พฤติของจิต เมื่อจิตหยุดดำเนินไปแล้ว จิตก็จะเข้าสู่สภาพการถ่ายทอดพฤติกรรมเหล่านั้นก่อนที่จะดับไป จิตที่เกิดขึ้นใหม่ กับจิตที่ดับไปนั้นเป็นดวงเดียวกันเพียงแต่ข้ามขั้นตอนของกาลเวลา

จากเริ่มต้นไปจนสูงสุด สู่จุดเริ่มต้นแล้วผ่านเส้นเริ่มต้น ตรงนั้นที่เรียกว่า ดับ จากนั้น ณ จุดนั้น เข้าสู่ขบวนการลอกเลียนแบบย้อนรอยจนถึงที่สุดแล้วก็กลับมาสู่จุดเริ่มต้นใหม่ การที่จะแก้ไขพฤติกรรมอันจะติดอยู่ในจิตนั้น ก็แก้ตรงนี้ ตรงที่มันเข้าสู่ขบวนการลอกเลียน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางแก้ไข ด้วยขบวนการเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนแนว (สะจิตตะปริโยทะปะนัง) ก็จะหักล้างกัน แล้วคัดเลือกจัดสรรเอาแต่สิ่งดีเอาไว้

ในเบื้องต้นแห่งการฝึกฝนศึกษา ต่อเมื่อผ่านขบวนการเหล่านี้จนแก่กล้าช่ำชอง ก็จะละได้ทั้งชั่วและดี เห็นเป็นเรื่องธรรมดา เอาชั่วไว้ก็รู้แล้วว่าลำบากหนักหนา เอาดีไว้ก็รังแต่จะหนักเสียเปล่าเดินเหินไปไหนก็ไม่สะดวก มีสิ่งเหนี่ยวรั้งคือภพ ทำให้ต้องติดอยู่กับภพเหล่านั้น สู้ทิ้งเสีย ไม่ยึดไม่ติดกับดี ไม่มีภพ ไม่มีที่หมาย ตายก็รู้ว่าตาย อยู่ก็รู้ว่าอยู่ มีหน้าที่อย่างไร ก็ทำไปอย่างนั้น เดินเหินไปไหนก็ไม่มีห่วง ไม่ต้องหวนโหยหา อาลัยอาวรณ์กับสิ่งอันไม่มีที่จีรังยั่งยืน

ทั้งหลายทั้งสิ้น เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา พระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า ให้แสงสว่าง ทำให้ชีวิตเริ่มกระตือรือร้น ต่อเมื่ออาทิตย์อัสดง สัตว์ทั้งหลายก็หมดหน้าที่เริ่มเข้าสู่หน้าที่ใหม่ ที่ไม่ต้องกระตือรือร้น ผ่อนคลาย ตราบที่ยังมีแสงจันทร์ส่องลงมา เมื่อกายที่อ่อนล้าได้พักผ่อน หน้าที่ทั้งหลายก็ล้มตาย กายหลับใหลจนกว่าจะได้แสงตะวันมาปลุกเร้าอีกครั้งในวันใหม่ เป็นเช่นนี้เรื่อยไปตราบเท่านานแสนนาน นับกาลนับเวลาได้หลายขวบปี จนกายนี้อ่อนล้า ทำการกิจไม่ไหว ไม่ได้อีกแล้ว ก็จับเจ่าเฝ้ารอเวลา บ้างก็มีความสุขที่ได้มีผู้คนมากหน้าหลายตามาหามาสู่ บ้างก็หดหู่เหตุเพราะไม่ได้สร้างกรรมดีไว้ เพื่อให้ใครๆ มาหามาสู่ ความหดหู่นี้เองนำให้จิตสร้างภพอันไม่ปรารถนา พาให้ต้องตกตายไปในที่ลำบาก ส่วนในพวกที่เป็นสุขก็ติดยึด ด้วยความชราทำให้ขาดสติ ยึดว่ามีว่าเป็น เมื่อเวลาดับขันธ์ใกล้เข้ามา ก็โหยหาสิ่งเหล่านั้น จิตที่ยึดติดทำให้สร้างความหดหู่ได้ในบั่นปลาย ที่สุดก็สร้างภพอันไม่ปรารถนา พาให้ต้องตกตายไปในที่ลำบากเช่นกัน

คนที่วางลงแล้ว เห็นแล้วว่าทุกอย่างเป็นเช่นนี้เอง มีสุขก็ต้องมีทุกข์ มีลาภก็ต้องเสื่อมลาภเป็นธรรมดา มียศก็ต้องเสื่อมยศเป็นธรรมดา มีคนคอยยกยอสรรเสริญ เมื่อไม่มีในสิ่งที่เขาปรารถนาก็ตำหนิติว่านี่เป็นธรรมดา เมื่อมีทุกสิ่งพร้อมย่อมเป็นที่รักของชนหมู่มากใช่ว่าจะรักทั้งหมด นานาจิตตัง ย่อมมีผู้ไม่รักเป็นธรรมดา โลกธรรมทั้งแปดเหล่านี้ จะหาเอามาเป็นที่ยึดถือไม่ได้ มีเพียงตัวเจ้าของเองที่จะต้องช่วยตัวเอง เปรียบดั่งคนที่ตกน้ำ ถ้าไม่เคยหัดว่ายน้ำ เอาแต่อ่านตำราสอนว่ายน้ำ เมื่อถึงเวลานั้น ก็เห็นทีจะเอาตัวรอดได้ยาก

วันนี้ หลวงตาก็ขอจบ สติปัฏฐานสี่ แบบของหลวงตา แบบง่ายๆ ไม่เข้าใจติดขัดข้องใจตรงไหนก็ถามไถ่ไปหา มีเวลามากก็จะได้อธิบายกันแบบพิสดารกว่านี้ แต่ว่าไม่ยึดติดในตำราว่าเรื่องวิชาการ ทั้งหมดก็เหมือนกัน เพียงแต่ท่านบรรยายไว้เป็นหลักการ เป็นอภิธรรม ต้องศึกษาด้วยกายเสียก่อน ให้จิตอ่อนเชื่องแล้วจึงจะศึกษาพระอภิธรรมได้ เพราะ พระอภิธรรม นั้น เป็นเรื่องของจิตล้วนๆ ถ้าไม่มีความรู้เรื่องจิต ก็ศึกษาพระอภิธรรมไม่เข้าใจ รังแต่จะทำให้แข็งกระด้าง เพราะการอ้างว่าเรียนรู้พระอภิธรรมมาแล้วเข้าใจแล้ว แต่ที่สุดก็จะบอกว่า เมื่อเรียนพระอภิธรรมแล้ว จึงรู้ว่า การทำพระนิพพานนั้นเป็นเรื่องยาก นี่เรียกว่าเรียนไม่รู้ เพราะว่าเอากายเรียน ได้เพียงแค่สัญญาไม่ได้ปัญญา ส่วนผู้ที่ฝึกฝนอบรมบ่มตนด้วยความเพียรที่ยากลำบาก ผ่านกาล ผ่านกรรม กระทำให้จิตสงบนิ่งเชื่องได้ ย่อมรู้ย่อมเข้าใจในพฤตินั้นอย่างจริงถึงแก่นย่อมรู้ในสิ่งอันควรรู้ ย่อมเอาตัวรอดเมื่อภัยมา เมื่อวาระสุดท้ายมา อย่างนี้จึงจะเรียกว่าผู้มีปัญญา

พระพุทธศาสดาสอนว่า นิพพานกระทำให้แจ้งได้ในชีวิตเดียว คำว่าชีวิตเดียว อย่างที่เคยบอกแล้วว่า ชีวิตหนึ่งชีวิตต้องผ่านภพชาติมามากมายมหาศาล ทำความเข้าใจตรงนี้ได้ นิพพานก็เป็นเรื่องที่ทำได้อย่างที่พระพุทธศาสดาสั่งสอนไว้ เพราะ พระพุทธศาสดาก็ทรงสอนไว้ว่า การที่ต้องเกิดใหม่มีชีวิตใหม่ จะแน่ใจได้อย่างไรว่า จะได้เกิดเป็นมนุษย์ การที่ต้องตายเพราะกายแตก....การเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน... หรือตกสู่อบายเป็นเรื่องที่เป็นได้ง่าย

จงอย่าประมาท เห็นการพากเพียรเป็นเรื่องไร้สาระ สู้การศึกษาไม่ได้ การศึกษาให้ปัญญา ใช่ให้ปัญญาที่เป็นเพียงสัญญา แต่การฝึกฝนนั้นให้ปัญญาอันเป็นปัญญารู้ อันนี้สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดๆ เพราะรู้จึงเอาตัวรอดได้ เพียงแค่สัญญานั้นเอาตัวไม่รอดดอก

จบเพียงเท่านี้ มีโอกาสค่อยมาว่ากันต่อ ขอบุญจงรักษาท่านผู้บำเพ็ญบุญ


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
Kittiyano

Last Edit: 2021/11/11 21:01 By admin.
Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1