ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

โพธิปีกขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 5 อินทรีย์ ๕ พละ ๕
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : โพธิปีกขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 5 อินทรีย์ ๕ พละ ๕
#96
โพธิปีกขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 5 อินทรีย์ ๕ พละ ๕ 13 ปี, 5 เดือน ก่อน  
โพธิปีกขิยธรรม 37 ประการ ตอนที่ 5 อินทรีย์ ๕ พละ ๕ มรรค ๘ โพชฌงค์ ๗

วันนี้ เรามาต่อโพธิปักขิยธรรมในองค์ที่สี่และองค์ที่ห้า คือ อินทรีย์ห้า พละห้า ซึ่งจะนำให้เข้าสู่องค์ที่หก คือ โพชฌงค์เจ็ด โดยผ่านมรรคมีองค์แปด เป็นเหตุเข้าถึงธรรมอันเป็นเครื่องนำให้สู่ความรู้ยิ่ง(โพชฌงค์ธรรม)

อินทรีย์ห้า และ พละห้า ธรรมทั้งสองนี้ มีองค์ประกอบเหมือนกัน คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ธรรมทั้งห้าประการนี้ ต่างพึ่งพากันและกัน ทำหน้าที่เกื้อกูลต่อธรรมอื่นๆ ในโพธิปักขิยธรรมสามสิบเจ็ดประการด้วย

อินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ เป็นใหญ่อย่างไร ก็ในเมื่อถ้าเราจะทำกิจอะไรสักอย่าง ตัวอย่างเช่น ได้อ่าน ได้เรียนเรื่องของพระพุทธศาสดา แล้วเกิดศรัทธาขึ้น แต่ถ้าขาดพละเสีย ความศรัทธาในตอนต้นก็ค่อยมอดไป อิทธิบาทก็ไม่เกิด สัมมัปปธานก็ตั้งไม่ได้ สติปัฏฐานก็ไม่สามารถเริ่มขึ้นได้ เหตุเพราะขาดองค์แห่งปัญญา คือมรรคแปด องค์แห่งการตรัสรู้ คือรู้ยิ่งก็เกิดไม่ได้ (โพชฌงค์ธรรม)

พละ คือความมีกำลัง ในเรื่องเดิมอีกนั่นแหละ ก็ถ้ามีศรัทธาพละคือมีกำลังศรัทธามาก ตัวเจ้าของเองก็สามารถที่จะเอาชนะความเกียจคร้านได้ ก็เริ่มที่จะทำความเพียรตามที่ได้ศึกษาอ่านเรียนรู้มา แม้ไม่เข้าใจก็ถามหาครูอาจารย์ที่จะสอนสั่งอธิบายให้เข้าใจ นี้เป็นศรัทธาอันแรงกล้า ศรัทธานั้นก็เป็นใหญ่ในทุกเรื่อง เป็น สัทธา-อินทรีย์ หรือภาษาธรรม เรียกว่า สัทธินทรีย์

ในเมื่อศรัทธามีความเป็นใหญ่มีกำลังมาก ตัวเจ้าของก็พร้อมที่จะยอมทำทุกอย่างเพื่อความสำเร็จให้ได้ องค์แห่งอิทธิบาทสี่ก็เกิดขึ้นได้ ในองค์นี้ก็มี วิริยะเป็นหัวหน้า อย่างที่เคยกล่าวไว้แล้ว เมื่อธรรมฝ่ายงามฝ่ายดีฝ่ายกุศลเกิดขึ้นแล้ว ความสำเร็จย่อมดำเนินไปเป็นขั้นเป็นตอน สัมมัปปธานก็สามารถเกิดขึ้นได้ แม้จะยากเย็นแสนเข็ญก็พร้อมที่จะเพียรกระทำให้ได้

ในเมื่อมีความพร้อมอย่างนี้แล้ว องค์ธรรมทั้งหลายที่เกื้อกูลต่อกัน ก็จะค่อยดำเนินไปอย่างเป็นระเบียบ มีการพิจารณา มีการวินิจฉัย มีการคัดเลือกแต่ธรรมที่ดีงามเอามาพัฒนาตัวเจ้าของเอง จากที่เป็นคนกระโดกกระเดก ก็เริ่มสงบลง เหตุเพราะสมาธิดีขึ้น เมื่อสมาธิแก่กล้าขึ้นมีกำลังมากขึ้น ขั้นตอนของความมีกำลังและความเป็นใหญ่ก็ค่อยเปลี่ยนไปตามกาล ตามความเพียร

ในผู้ที่เริ่มฝึกฝน เพราะมีพละทำให้ไม่ย่อท้อทำความเพียร และเมื่อทำความเพียรจนเป็นอินทรีย์ ธรรมอันงามทั้งสองนี้ก็เกื้อหนุนให้องค์ธรรมต่างๆ สำเร็จได้เป็นอิทธิบาท เมื่อมีความสำเร็จ สัมมัปปธานก็เข้ามาเกี่ยวข้อง มุ่งไปในทางชอบทางดี สติปัฏฐานก็เกิดขึ้นได้ เมื่อดำเนินสติปัฏฐานไปได้ อาศัยพละและอินทรีย์ไม่ย่อท้อ ไม่พอแต่เพียงเท่านั้น มุ่งมั่นทำความเพียรต่อ ดังคำสอนของพระพุทธศาสดา ที่หลวงตาได้กล่าวไว้แต่ต้น จากกิ่งใบก็เข้าสู่แก่นได้ในที่สุด

จากการทำความเพียรอย่างยิ่งยวดในระดับที่สูงขึ้น สูงขึ้น ก็ค่อยเปลี่ยนไปเป็นองค์แห่งสมาธิ เดิมนั้นนั่งที่ไหนก็จะทำความเพียร ต้องคอยระวังจิตที่ยังวอกแวกได้ง่ายเพราะสติยังไม่เป็นใหญ่ เพราะว่าสมาธิยังไม่แก่กล้า ยังไม่ถึงระดับ สมาธิ-อินทรีย์ หรือภาษาธรรมว่า สมาธินทรีย์ สมาธิยังไม่เป็นใหญ่ จึงใช้สมาธิพละที่เป็นบาทฐานของวิริยะ กระทำความเพียรอยู่ สติจะค่อยๆ สมบูรณ์ยิ่งๆขึ้น จนกระทั้งจิตนี้เป็นสมาธิแนบแน่นดีแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ก็มีสมาธิที่เป็นหนึ่งแนบแน่นยิ่งถึงระดับสมาธินทรีย์ ในระหว่างนี้ จะยืนเดิน นั่งนอน หรือสนทนากับใครๆ จิตก็จะเป็นสมาธิตลอดเวลาไม่วอกแวก

จิตจะพิจารณาธรรมอยู่ตลอดเวลา รับรู้สิ่งใดที่ผ่านอายตนะ ก็จะพิจารณาเป็นองค์ธรรม ยิ่งอยู่ในที่สัปปายะ ยิ่งจะมีปัญญาแตกธรรมไปตลอดเวลา สติคือความระลึกรู้นั้นเริ่มมีกำลังแก่กล้า จนถึงระดับสตินทรีย์ สมาธิก็ถึงระดับ สมาธินทรีย์ ความเพียรในระดับนี้ก็สามารถกระทำให้ตัวเจ้าของสามารถเจริญจิต เจริญสมาธิ จนถึงระดับ ญาณทัศนะ ยิ่งเจริญต่อด้วยการเกื้อหนุนของพละธรรมและอินทรีย์ธรรม พิจารณาธรรมที่ผ่านอายตนะเข้ามา ปัญญาที่แตกธรรมอยู่ตลอดเวลา ระลึกรู้ตลอดเวลา เป็นสมาธิตลอดเวลา ปัญญาอันยิ่งก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้น มีกำลังแก่กล้าขึ้น จนถึงระดับ ปัญญินทรีย์ ก่อให้เกิดเป็น มรรคแปด คือความรู้ยิ่งในสายทางแห่งธรรมนี้

มรรคแปด มิได้มีเพียงแค่รู้เท่านั้น แต่ว่าจะก่อเป็นปัญญาที่ละชั้น ที่ละชั้น เปรียบเหมือนวงล้อเกวียนที่หมุนไปบนเส้นทางที่เฉอะแฉะเป็นโคลนตม ย่อมทำให้ล้อเกวียนนั้นพอกหนาไปด้วยโคลนตมเช่นกัน มรรคแปดก็จะหมุนไป สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก่อให้เกิดเป็นสัมมาปัญญาในรอบแรก และค่อยหมุนไปด้วยสัมมาปัญญา เกื้อหนุนให้สัมมาทิฐิเดิมนั้นมีองค์รู้มากขึ้น จึงพิจารณาได้มากขึ้น หมุนเป็นรอบต่อไปเป็นสัมมาปัญญาที่เจริญขึ้น เจริญยิ่งๆ ขึ้น เกื้อหนุนให้เป็น สัมโพชฌงค์ เป็น สัมโพชฌงค์ธรรมที่สมบูรณ์ เป็นธรรมที่เกื้อหนุนให้รู้ยิ่ง เพื่อนำตัวเจ้าของให้ออกจากทุกข์ได้

โพชฌงค์เจ็ด ธรรมอันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือความรู้ยิ่ง รู้ยิ่งอย่างไร ก็รู้ยิ่งด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์ ที่ได้ผ่านกาลเวลาแห่งการวิเคราะห์ วิจัย พิจารณา คัดเลือกเฟ้นหาแต่ธรรมอันดีงามที่เกื้อกูลต่อกัน เป็นเหตุเป็นผลไม่ขัดแย้ง สามารถรวมกันได้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อการรู้ยิ่งในการนำตัวเจ้าของออกจากหรือก้าวพ้น จากทุกข์ทั้งหลาย อันเกิดแต่การเข้าใจผิด ยึดถือเอาแบบผิดๆ ติดอยู่ คร่ำครวญอยู่ เศร้าโศกอยู่ ร่ำไรรำพึงรำพันอยู่ ให้มีปัญญาอันยิ่ง สามารถดับเหตุเหล่านั้นได้โดยไม่มีส่วนเหลือ ดุจดั่งอาทิตย์อัสดง ที่เมื่อจะลาลับโลกไปในทุกวี่วัน ก็มิได้ทิ้งความกระด้างใดๆไว้ คงมีแต่ความสง่างาม อ่อนโยน แล้วค่อยๆ ลับ ดับแสงลง แม้ในยามที่ใกล้จะลับดับแสงลง ผู้คนทั้งโลกต่างก็เฝ้ามองด้วยความหลงใหลในความสง่างามนั้น ไม่รู้ลืม ยะถา เช่นกัน

โพชฌงค์ธรรม นี้ ก็เปรียบได้ดั่งการก้าวอย่างเนิบช้าของอาทิตย์ยามใกล้อัสดง และรวดเร็วลับเส้นขอบฟ้าไปอย่างสง่างาม ธรรมนี้มีองค์ประกอบด้วยกัน เจ็ดประการ คือ

สติสัมโพชฌงค์ เพราะการฝึกฝนพากเพียรอย่างยิ่ง เป็นขั้นเป็นตอนอย่างที่กล่าวแต่ต้น ทำให้สติที่หมายถึงการระลึก การเฝ้ามอง กาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยสติปัฏฐานธรรม การระลึกรู้ทั้งหลาย ย่อมมีดีบ้าง ชั่วบ้าง แต่เพราะสามารถอย่างยิ่ง จึงได้ข้ามพ้นธรรมอันเป็นฝ่ายอกุศล คงไว้แต่การระลึกรู้ในธรรมฝ่ายกุศล และเพ่งพินิจวินิจฉัย วิจัยพัฒนา ธรรมเหล่านั้น อันเป็นองค์ ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ ด้วยความสุขุม มีสติ ระลึกรู้อยู่ว่ามีคุณยิ่งนัก จึงมีความเพียรอย่างยิ่งยวด ชนิดตายก็ไม่เสียดายชีวิตอันน้อยนิด ชีวิตนี้ ชาติภพนี้ ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์พระพุทธศาสดา ตัวเราหรือผู้มีบุญน้อยได้พานพบสบช่องทางอันประเสริฐยิ่งนี้แล้ว ใยต้องเกรงกลัวกับภัยทั้งหลาย ภัยใดๆ ก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับภัยอันเกิดจากความไม่รู้ ความเขลา ที่ผ่านชีวิตมาอย่างไร้ค่า

ต่อเมื่อได้พบทางอันประเสริฐนี้แล้วใยต้องเกรงกลัวกับภัยอันใดอีก ภัยที่จะพบในเบื้องหน้าเป็นภัยของหมู่คนเขลา ตัวเรานี้จมน้ำมานานแล้ว เมื่อชูคอพ้นน้ำได้ ใยไม่กระเสือกกระสนดิ้นรนเอาตัวให้รอดจากภัยในปัจจุบันนี้เล่า เมื่อตั้งจิตได้แล้ว วิริยะก็จะแก่กล้าอย่างพร้อมมูลด้วย มรรคสมังคี เป็น วิริยะสัมโพชฌงค์ เมื่อผ่านความเพียรด้วยวิริยะยิ่งพิจารณาธรรมทั้งหลายที่เคยพิจารณาผ่านมาแล้ว ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ผ่านกาลเวลาบ่มจิตนี้ด้วยน้ำเลี้ยงอันวิเศษสุด ที่ไม่เคยเข้าใจก็จะเข้าใจ ที่เข้าใจไม่ถูกก็จะเข้าใจถูกต้อง ธรรมทั้งหลายที่มองเพียงเปลือกนอก ก็เริ่มที่จะเข้าใจลึกถึงแก่นแห่งธรรมเหล่านั้น ด้วยญาณทัศนะที่ละเอียดอ่อน ประกอบร่วมกับสติสัมโพชฌงค์ วิจัยธรรมทั้งหลายด้วยธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ ทำความเพียรยิ่งด้วย วิริยะสัมโพชฌงค์ ได้รู้ ได้เห็น ได้เข้าใจในธรรมที่ไม่เคยเข้าใจ และคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่แท้จริงแล้ว เป็นการเข้าใจแบบโลกๆ เป็นการนำเอาปัญญาอันเป็นธรรมดาของสัตว์ มาเป็นเครื่องตัดสินธรรม ด้วยกิเลสตนที่ยังหนาแน่น ยังไม่ได้ขัดเกลา จึงไม่เข้าใจธรรมอันแท้จริง

บัดนี้ธรรมทั้งหลายได้ปรากฏแล้ว ได้พบแล้ว ได้ประจักษ์แล้ว ความเป็นธรรมดาทั้งหลายได้ปรากฏแล้ว ความยึดมั่นทั้งหลาย ได้คลายลงแล้ว ความปีติก็เกิดขึ้นอย่างยิ่งยวด เป็น ปีติสัมโพชฌงค์ เป็นปีติที่ได้รู้จักธรรมอันเป็นฝ่ายดีทั้งหลาย ที่ว่ามองแต่แง่ดีคืออะไร ไม่คิดร้าย ไม่จองเวร ไม่แม้แต่จะทำสัตว์อื่นต้องลำบากแม้ในชาตินี้หรือชาติหน้า กรรมทั้งหลายของสัตว์ ย่อมเป็นไปตามกรรม ไม่ว่าหนักหรือเบา บุญหรือบาป กรรมย่อมจัดสรรได้อย่างประณีตวิจิตร เหนือกว่าที่ใครๆในที่ไหนๆ จะเป็นผู้จัดการได้ ยิ่งจัดก็ยิ่งยุ่งเหยิง ดุจดังชัฏที่รกรุงรังพันกันยุ่งเหยิง หาต้นหาปลายไม่พบ ยิ่งพิจารณา ยิ่งวินิจฉัย ยิ่งวิจัย ก็ยิ่งเห็นความละเอียดของธรรมทั้งหลาย

ความผ่อนคลายก็เกิดขึ้นจากธรรมละเอียดเหล่านั้นการวินิจฉัยวิจัยธรรมที่ละเอียดเหล่านั้น ก็เป็นไปเพื่อความเข้าใจและสอนตน เป็น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ จิตก็ดิ่งดื่มดำสนิทแนบแน่นกับธรรมทั้งปวงที่ได้ศึกษาเข้าใจใหม่นี้ ช่างต่างกับธรรมหยาบทั้งหลาย ที่ได้รู้ในเบื้องต้นแห่งการพากเพียร ชวนให้ติดตามรู้ตามอย่างไม่ยอมละจากคลาย ธรรมงามทั้งหลายที่ละเอียดลึกซึ้ง ที่ไม่มีในตัวเจ้าของมาก่อน เกิดขึ้นได้แล้ว ได้รู้แล้ว ได้เห็นแล้ว ได้เข้าใจแล้ว สมาธิที่เคยแก่กล้าอย่างแข็งกร้าว สามารถทำร้ายทำลายธรรมต่างๆ ที่เข้ามาสู่ตรงหน้า ก็คลายจากมิจฉา เป็นสัมมาสมาธิยิ่งๆ ขึ้น

จนที่สุดก็เป็น สมาธิสัมโพชฌงค์ จิตที่เคยสงบนิ่งด้วยอำนาจแห่งฌานก็เข้าใจ ก็รู้ว่าช่างอันตรายเหลือเกิน สร้างบาปเวรต่างๆ ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่ผ่านมาคิดว่าวิเศษแล้ว ยิ่งยวดแล้ว แต่ความเป็นจริงมันต่างกันราวกับกลางวันกับกลางคืน แม้จะมีแสงสว่างที่ขับความมืดมนอนธการได้ แสงอาทิตย์นั้นปลุกเร้าให้เร่งรีบ กล้าทะนง เด็ดเดี่ยวและเด็ดขาด กล้าและไม่หวาดหวั่นต่อภัยทั้งหลาย แสงจันทร์นั้นเล่า ช่างเยือกเย็น อ่อนละมุนนุ่มนวล ให้ทั้งกำลังใจ ความกล้าหาญอันชาญฉลาด เยือกเย็น สุขุมคัมภีร์ภาพ สงบ ไม่หวั่นไหว เปี่ยมไปด้วยธรรมอันทรงคุณค่ายิ่ง มีความชาญฉลาดเข้าใจในสรรพสิ่ง เห็นคุณเห็นโทษของธรรมทั้งหลายอย่างแทงตลอด มีความอุเบกขาที่ยิ่งเหนืออุเบกขาธรรมอันเป็นธรรมดา เป็น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่เหนืออุเบกขาธรรมทั้งหลายทั้งปวง

ทั้งหมดที่เขียนมาก็เป็นแบบย่นย่อ รวบรัด พอเป็นแนวทาง ส่วนรายละเอียดหาศึกษาได้โดยทั่ว ๆ ไป สำหรับผู้ที่ฝึกมาแล้วบ้าง ก็อาจจะนำเอาไปปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาถ้ามีความดีพอที่จะเอาไปได้ หรือสำหรับท่านที่ศึกษามาดีแล้ว ก็อ่านเล่นสนุกๆ ถือว่าคนแก่เอาความขี้เท่อที่จดจำมาอวด ก็คงไม่ว่ากระไร ส่วนการปฏิบัติจริงนั้น ก็หมายเพียงที่จะบอกว่า ดั่งคำสอนขององค์พระพุทธศาสดาที่ว่า ไม่เกินเจ็ดปี คือค่อยเป็นค่อยไป ศึกษาเอาให้ละเอียดอย่างช้าๆ หรือว่าอย่างเร็วก็เจ็ดวัน ก็แบบว่าอ่านแล้วปิ้งเลย ก็ตั้งความเพียรให้สูงสุด แล้วลงมือต่อสู้กับนิวรณ์ต่างๆ ที่มาขวางกั้น เอาชนะตัวเองให้ได้ ไม่แน่นะ ที่สุดอาจจะทำได้ภายในเจ็ดวันสิบสี่วันก็เป็นได้ ส่วนหลวงตาเอง ก็ยังไปไม่ถึงไหน พากเพียรมาก็นานหลายสิบปี ดีแค่พองูๆปลาๆ ตกน้ำก็ว่ายยังไม่ได้ต้องเกาะขอนกระเสือกกระสนไป ขึ้นบกก็เคลื่อนไปไม่ไหวสันหลังมันยาว อยากจะบินได้อย่างนก แต่ก็ดูท่าแล้ว น่าจะยากยิ่งสิ่งเดียว สังขารกายนี้มันไม่ใช่ นั่งที่ไหนก็หลับ ขยับลุกขึ้นแต่ละทีก็โอดก็โอย เลือดก็เสีย ลมก็ไม่ดี รังแต่จะหาที่สบายกายอยู่ จิตนั้นยังหมกมุ่นอยู่กับความไร้สาระ รู้อยู่ว่ารังแต่จะพาให้ฉิบหาย แต่ก็ไม่วาย บอกให้คนอื่นเขาสืบต่อให้สำเร็จให้ได้ ตัวเองมองเห็นคนอื่นได้ดี ก็มีสุขแล้วละ สาธุ สาธุ สาธุ ขอบุญจงรักษาท่านทั้งหลายที่ประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อบูชาต่อองค์พระพุทธศาสดา

วันนี้ก็ขอจบเรื่องทั้งหลายที่เขียนมา เอาไว้มีคนต้องการเรื่องอื่นใดก็จะได้มาเขียนบรรยายกันใหม่ แต่อย่าหวังอะไรมากนักนะ คนแก่ๆ จะล้มจะหงายตายเมื่อไรก็ไม่มีเวลากำหนด หมดบุญ อกุศลกรรมแทรกเมื่อไร ก็เป็นอันว่าไปได้เมื่อนั้นโดยทันที่ ไม่มีเวลาเตรียมตัว ไม่ตั้งอยู่บนความประมาท แต่ว่ามันประมาทเองตามประสาคนเฒ่าคนชรา แก่แล้ว อายุมากแล้ว สังขารขันธ์ห้าย่อมร่วงโรยไปเป็นธรรมดา รู้อย่างนี้แล้ว ก็จงเร่งความเพียร อย่าให้ต้องตายก่อนที่จะได้เข้าถึงรสพระธรรมอันบริสุทธิ์ ขออนุโมทนากับทุกท่านที่อ่านมาจนถึงอักษรตัวสุดท้ายนี้

กิตติญาโณ


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
Kittiyano

Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1