ไขปัญหาธรรมบนเว็บบอร์ด

ยินดีต้อนรับ, ผู้เยี่ยมชม
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน.    ลืมรหัสผ่าน?

อุปสรรคในการปฏิบัติธรรม
(1 viewing) (1) ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
Go to bottom
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1
หัวข้อ : อุปสรรคในการปฏิบัติธรรม
#97
อุปสรรคในการปฏิบัติธรรม 13 ปี, 5 เดือน ก่อน  
อุปสรรคในการปฏิบัติธรรม


อุปสรรค ที่เป็นเครื่องขัดขวาง หรือขวางกั้นความเจริญในการปฏิบัติธรรมนั้น ในภาษาธรรม เรียกว่า นิวรณ์ นิวรณ์นั้น โดยหลักๆ แล้ว มีชื่อเรียกเป็นของตัวเอง ว่า นิวรณ์ห้า กอปร ด้วย กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ นิวรณ์ทั้งห้าเหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้ ก็ที่กายที่ประกอบกันเป็นตัวตนสัตว์ สัตว์ในที่นี้ หมายเอาเฉพาะมนุษย์ที่เรียกว่า มนุสมนุสโส เท่านั้น

มนุษย์นั้นมีองค์ขันธ์ห้าขันธ์ เป็นตัวรับรู้นิวรณ์ ขันธ์ทั้งห้านี้ มีชื่อเรียกตามภาษาธรรมว่า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ กายหยาบและขันธ์ทั้งห้านี้ ประกอบกันอยู่ภายใน โดยมีเครื่องเชื่อมต่อกับภายนอก เรียกว่าอายตนะ อายตนะที่อยู่ภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะที่อยู่ภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ รวมเป็นอายตนะสิบสอง

กายหยาบ ขันธ์ อายตนะ ร่วมกันสร้างกรรม ฝ่ายดี เรียกว่า กรรมดี มีผลเป็นกุศล ก่อให้เกิดเป็นความสุขที่จิตซึ่งรับรู้อารมณ์ จึงเรียกว่า บุญ การทำกรรมดีจึงถูกเรียกว่า บุญ ส่วนกรรมที่เป็น ฝ่ายชั่ว เรียกว่า กรรมชั่ว มีผลเป็นอกุศล ก่อให้เกิดเป็นความทุกข์ที่จิตซึ่งรับรู้อารมณ์ จึงเรียกว่า บาป

ฝ่ายบุญ ก็ก่อให้เป็นกุศลหนุนนำให้การปฏิบัติกิจทั้งหลายลุล่วงไปได้ด้วยดี เรียกว่า กุศลกรรม ส่วนฝ่ายบาป ก็ก่อให้เป็นอกุศล ความรู้สึกก็ไม่ค่อยจะสะดวกทำให้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติกิจทั้งหลาย อาจจะไม่ลุล่วงไปตามที่ปรารถนา หรืออาจจะล้มเหลวได้ ขึ้นอยู่กับความหนักเบา ซึงมีศัพท์เรียกตามภาษาธรรมไว้อีกอย่างหนึ่ง เป็นการแสดงถึงผลของการกระทำบาปเวร อกุศลกรรม ฝ่ายบุญก่อเกิดเป็นเครื่องหนุนนำส่งให้ไปในทางที่ดีที่งาม ฝ่ายบาปก่อให้เกิดเป็นเครื่องขวางกั้นส่งผลให้ไปในทางที่ติดขัดเล็กน้อยจนถึงขั้นล้มเหลว

เครื่องขวางกั้น หรืออุปสรรคนี้ เรียกว่า มาร มารคือตัวทำลายความสุขความเจริญ ความอุดมไพบูลย์ ไม่แน่เสมอที่จะต้องเป็นไปเฉพาะการปฏิบัติการกิจ แต่จะเห็นได้ว่า อุปสรรคทั้งหลายนั้น ที่สำคัญเกิดขึ้นที่ตัวเจ้าของเป็นหลัก มารนี้มีด้วยกัน ห้าลักษณะ เรียกว่า มารห้า คือ กิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร เทวปุตตมาร มัจจุมาร มารเหล่านี้มิได้มีตัวตน แต่เป็นเพียงการสนองของกรรมที่ตัวเจ้าของได้กระทำไป แล้ว กำลังกระทำอยู่ และมีผลให้ต้องทำต่อเนื่อง รวมเรียกว่า กาล คือ อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต

ขันธ์ห้า ขันธ์ หมายถึงหมู่ กอง รวมกันเป็นพวกเป็นกอง ฉะนั้น ขันธ์ห้า จึงหมายถึงพวกห้า หมู่ห้า หรือกองห้า หรือแล้วแต่จะบัญญัติคำใหม่ว่าอย่างไรก็ได้ที่มีความหมายว่า รวมกันเป็นพวกเป็นหมู่ ขันธ์ ในสรรพสัตว์โดยส่วนใหญ่มี ห้าขันธ์ มีลางพวกที่มี ขันธ์สี่ขันธ์ ลางพวกก็มีขันธ์ขันธ์เดียว ในที่นี้อย่างที่กล่าวไว้แต่ต้นว่า จะกล่าวเฉพาะในเรื่องของ มนุสมนุสโส ขันธ์ห้า กอปรด้วย

รูปขันธ์ คือกองแห่งรูป จะเป็นตัวตนสัมผัสได้หรือไม่ได้ก็ตาม ถ้ารับรู้ได้ด้วยอารมณ์ ว่ามีลักษณะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ก็เป็นกองแห่งรูปทั้งหมด ในภาษาธรรม เรียกว่า รูป และ อรูป

รูป ไม่ได้หมายเฉพาะเอาแต่ที่เป็น รูป ที่จับต้องได้ แต่หมายเอาทุกสิ่งที่มีลักษณะที่พึงกำหนดรู้ได้ เช่น เสียง อากาศหรือลม จับต้องไม่ได้ แต่กำหนดรู้ได้
อรูป ก็ไม่ได้หมายเอา สิ่งที่กำหนดไม่ได้เพียงอย่างเดียว แต่หมายเอาสิ่งที่กำหนดไม่ได้ เพราะว่ามีลักษณะเปลี่ยนไปไม่แน่นอน แต่สามารถรับรู้ได้ด้วยอารมณ์ เช่นอากาศ เสียง มองไม่เห็น แต่รับรู้ได้ด้วยอารมณ์

ทั้งหมดจึงขึ้นกับคำว่า กำหนดรู้ การกำหนดรู้สิ่งใดๆ วิจิตรประณีต หรือหยาบกระด้าง สิ่งนั้นต้องมีลักษณะที่มี สัณฐาน คือมีลักษณะที่บอกขนาดได้ บอกรูปร่างได้ เป็นมิติ มีมิติ บอกความหนักเบาได้ บอกอุณหะได้ เป็นต้น เรียกว่ามี องค์ประกอบ ให้กำหนดได้ และต้องมี สังขาร คือมีการบอกอารมณ์ในขณะที่เข้าไปกำหนดรู้ หรือมีการปรุงแต่งอารมณ์ได้ในขณะที่กำหนดรู้ เช่นบอกว่าน่ารัก อารมณ์ก็เป็นสุข บอกว่า ผี อารมณ์ก็สยองพองขน เป็นต้น

เวทนาขันธ์ คือกองแห่งเวทนา จะสุขหรือทุกข์ก็เป็นเวทนา จะมีความวิจิตรประณีตหรือหยาบกระด้าง ก็สามารถรับรู้ได้ด้วยอารมณ์

สัญญาขันธ์ คือกองแห่งความจำได้หมายรู้ จะเป็น อดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ก็คือกองแห่งสัญญาทั้งสิ้น

สังขารขันธ์ คือกองแห่งการปรุงแต่ง ที่ปรุงแต่งเพราะว่าอายตนะนั้นไปรับรู้อารมณ์ต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หยุดเลย เมื่อรับรู้อารมณ์อะไรมา ก็นำมาปรุงแต่ง กับสัญญา เวทนา รูป และ วิญญาณ ทั้งที่เป็น อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต เมื่อปรุงแต่งแล้ว ก็ส่งถ่ายข้อมูลให้กายหยาบ กายหยาบก็สร้างกรรม ดี ชั่ว ก็ขึ้นกับตัวเจ้าของเอง ว่าจะปรุงแต่งอย่างไร เราจึงพยายามฝึกฝนตนเอง ให้ปรุงแต่งแต่ในทางดี ทางบวก เพื่อจะได้สร้างกรรมชั่วให้น้อยที่สุด

วิญญาณขันธ์ คือกองแห่งการรับรู้ ไม่ใช่เป็นดวงวิญญาณเหมือนอย่างที่มีใครๆ เข้าใจกัน แต่วิญญาณนี้ก็คือ อุปกรณ์ส่วนหนึ่งของกายหยาบ ที่อายตนะภายใน อาศัยเป็นเครื่องมือในการกำหนดรู้ เรียกตามภาษาปัจจุบันว่า ประสาทรับรู้ทั้งมวล(กอง)เช่นจักษุวิญญาณ คือศูนย์รวมของประสาทตา ซึ่งมีสาขาไปตลอดดวงตา เพราะต้องช่วยกันทำหน้าที่ แสงมามากก็หรี่ตา ปรับรูช่องรับแสง หดกล้ามเนื้อลง ขยายกล้ามเนื้อขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อการรับรู้อารมณ์ เพราะอายตนะภายนอก คือวัตถุต่างๆ ที่ดวงตาไปกำหนดรู้ มีการสะท้อนแสงมาไม่เท่าเทียมกัน ขึ้นกับบรรยากาศโดยรอบ

คนตาบอด ไม่สามารถเห็นรูปได้ด้วยตา แต่รับรู้รูปได้ด้วยเสียงบอกเล่า แล้วนำไปกำหนดรู้เอาภายใน คนหูหนวกก็เช่นกัน ไม่สามารถรับรู้เสียงของภาษาได้ แต่สามารถนำเอารูป หรือ อาการ อากัปกิริยา ของวัตถุภายนอก เอาไปกำหนดรู้ได้ เป็นต้น เมื่อมองเพียงที่ดวงตาเพียงอย่างเดียว ก็ศึกษาได้ว่าวิญญาณขันธ์นี้ นับได้ว่าเป็นกองแห่งขันธ์ที่สำคัญยิ่งเป็นตัวปรุงแต่งได้ทั้งทางดีและทางชั่ว ธรรมทั้งหลายจะเกิดสืบต่อเนื่องได้ ก็ด้วยมีสังขารเป็นปัจจัย เป็นเชื้อ เป็นแรงขับเคลื่อน ถ้าหวังที่จะหยุด ยุติ ธรรมทั้งหลายไม่ให้สืบต่อก็ต้องตัดที่โซ่ข้อนี้

ขันธ์ทั้งห้าจึงเป็นทุกข์ ที่ว่าทุกข์ ไม่ใช่หนักเพราะต้องแบกไว้ เหมือนอย่างที่ใคร ๆ เข้าใจกัน แต่ว่าเป็นทุกข์ เพราะเมื่อใดที่เข้าไปกำหนดรู้ เมื่อนั้นก็จะรับรู้อารมณ์ต่างๆ อันเกิดจาก ขันธ์ทั้งห้า หรือกองห้า พึงใจบ้าง ไม่พึงใจบ้าง หรือพึงใจมาก พึงใจน้อย แต่จะไม่มีเลยที่บอกแต่เพียงสุขอย่างเดียว แม้จะมีคำนิยามว่าสุขก็คือทุกข์อย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่าทุกข์น้อยที่สุดแล้วในอารมณ์ของเจ้าของ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ในเมื่อเราบอกว่าความรักนี้ช่างหวานชื่นสุขยิ่งนัก ได้ดั่งใจไปเสียทั้งหมด แต่เมื่อมองไปว่า มันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไปหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่าไม่ ก็ต้องปลอบตัวเองว่า ในขณะนี้ ปัจจุบันนี้ มันดีกว่าอดีตที่ผ่านมาหลายร้อยพันเท่า จะไปห่วงอนาคตทำไม กอบโกยความสุขในปัจจุบันให้มากที่สุด เมื่อเวลาสุขนี้หมดไป จะได้จดจำเอามาปลอบตัวเองได้ว่า วันนี้ไม่สุขแต่ที่ผ่านมาก็มากพอแล้ว ปลงเสียเถิด นี่ก็บอกได้ว่า มันไม่ใช่สุขทั้งหมด มันรวมเอาทุกข์เข้าไปด้วย ในขณะที่เสวยสุขอยู่ จึงบอกได้ว่า ขันธ์ทั้งห้าเป็นทุกข์ ถ้าไม่กำหนดรู้ ก็ไม่รู้อะไร ประมาทไปเรื่อย แต่เมื่อกำหนดรู้เมื่อใด เมื่อนั้นก็จะบอกอารมณ์ได้ทันที่ ไม่ว่าจะเป็น ในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต

มารห้า มารนั้นเป็นคำเรียกสำหรับฝ่ายที่เป็นฝ่ายไม่ดี ฝ่ายชั่ว บาป ส่วนฝ่ายดี ฝ่ายบุญ มักเรียกว่า เทพ แต่ในที่นี้ก็มีอยู่ชื่อหนึ่งที่เป็นการแสดงถึงฝ่ายที่ไม่ดี แต่ไม่ใช่ไม่ดีที่ตัวมาร แต่เป็นพวกที่ชอบแกล้งผู้อื่นให้หลง ถ้าแกล้งได้ ถ้าแกล้งไม่ได้ ก็จะเป็นครูสอนได้อย่างดี มารห้ากอปรด้วย

กิเลสมาร มารหรือดังที่ได้อธิบายไว้แต่ต้นว่าคือเครื่องขวางกั้น หรือเป็นอุปสรรค ต่อการทำความเจริญ กิเลสมารในที่นี้คืออุปสรรคที่เกิดจากกิเลสของตัวเจ้าของเองหรือหมู่คณะ ทำให้การกิจที่ทำหรือร่วมกันทำ ต้องพินาศย่อยยับ หรือประสพความไมสำเร็จ หนักเบา ก็ขึ้นอยู่กับกรรมและกาลของสัตว์นั้นๆ กิเลสนั้น ไม่กำหนดกาล ลางคนมาดีๆ อยู่ เป็นที่นับหน้าถือตา เพียรมานานนับเป็นสิบๆปี บวชเรียนมาจนอายุมาก ใครๆ ก็ออกปากว่ เป็นพระนักปฏิบัติ เพียรเท่าไร ก็ดูดีเหลือเกินในสายตาภายนอก แต่ลืมดูภายใน เป็นผู้เคร่งมั่นใจในตนเองสูง ตำหนิผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง เงินไม่จับไม่รับทรัพย์ทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง บิดาใกล้จะมรณะเพราะป่วยหนัก ญาตินิมนต์ให้ไปพบบิดา ไม่นานก็ถึงแก่อุบาย ยอมลดระดับสิกขา ลาจากพระไปเป็นเณร บอกว่าปฏิบัติตนยาก ทางนิพพานที่เคยตั้งมั่นก็สะบั้นลงแล้ว ชาตินี้เป็นได้อย่างดีก็แค่รับใช้พระศาสนา กิเลสฝ่ายต่ำครอบงำจิตแล้ว จะละบรรพชา ก็ยังไม่มั่นใจ เกรงเสียรูป ทรงสภาพรูปภายนอกเอาไว้ดีกว่า ไม่มีใครรู้ลึกๆในจิตตนเท่ากับตนเอง นี้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับพระนักปฏิบัติ เป็นเณร ใช้ชีวิตได้เท่าเทียมกับคฤหัสถ์ เท่าเด็กที่ยังไม่ประสา เรียกว่าเฒ่าทารกน่าจะได้ หึ หึ

ขันธมาร มาร คือขันธ์ทั้งห้า หรือกองแห่งขันธ์ห้า อันประกอบรวมเป็นตัวตน มีกายหยาบเป็นที่อาศัยสร้างกรรม มีสภาพปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไม่มั่นคง ทนสภาพปัจจุบันไม่ได้นาน มีความขัดแย้งกันเองอยู่ตลอดเวลา บริหารได้ยาก มีความเสื่อมโทรมได้ง่ายด้วย กรรม ชรา และพยาธิ อุปสรรคอันเกิดจากเบญจขันธ์นี้ ลิดรอน หรืออาจถึงขั้นทำลายโอกาสสัตว์ มิให้ได้สร้างคุณงามความดีเท่าที่ปรารถนา หนักบ้าง เบาบ้าง ขึ้นแต่กรรมของเจ้าของเอง มีรูปแบบต่างๆ การจะแก้ไขก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของสัตว์ ถ้าไม่เคยศึกษาฝึกฝนบำเพ็ญเพียรมาเลย ก็ยากนักที่จะได้ทำความดีในขั้นอุกฤต ต้องเข้าใจใน โพธิปักขิยะธรรมอย่างถ่องแท้ จึงจะเอาตัวรอดได้ แต่ที่เคยเห็นมา พระเอง อาจารย์กัมมัฏฐานดังๆ ถ้าเดินมาผิดคิดได้เมื่อแก่ ก็เห็นทีเอาตัวรอดยาก เพราะสังขารขันธ์มันปรุงแต่งมาผิด ปรุงแต่ด้วยกิเลส ไม่ปรุงแต่งด้วยธรรม อย่างไรเสียก็นำสู่ความฉิบหาย รู้ตัวเมื่อไร เมื่อนั้นก็สายเสียแล้ว มีให้เห็นมากมาย แต่ส่วนใหญ่มักปิดเอาไว้ ไม่ให้รู้ หรือเพราะไม่รู้ก็อาจจะเป็นได้ ในขันธ์ห้านี้ ตัวร้ายที่สุดก็ปรุงแต่งนี่แหละ ถ้าไม่มีปัญญาก็เอาชนะได้ยากยิ่งสิ่งเดียว

อภิสังขารมาร มาร คือการปรุงแต่งสภาพธรรมทั้งหลายด้วยเห็นผิดเป็นชอบ เอากิเลสเป็นเครื่องตัดสินธรรม มิได้พิจารณาธรรมอย่างถ่องแท้ เพราะจิตยังไม่ถึงระดับดุล แต่ตั้งตนเป็นตุลาการตัดสินธรรม การบำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรมนั้น ต้องผ่านมาให้ถึงขั้น ญาณทัศนะให้ได้ จิตต้องเป็นฌาน การพิจารณาธรรมทั้งหลายจึงมีดุลถ่วง เที่ยงธรรม ไม่เอียง ผิดก็เห็นว่าผิด ถูกก็เห็นว่าถูก พิจารณาและวินิจฉัยได้ถูกต้อง จึงจะคัดเลือกเฟ้นธรรมที่งามได้ อย่างที่กล่าวแต่ต้นว่า กิเลสเป็นตัวนำ เพราะมีขันธ์ห้า ในขันธ์ห้ามีตัวปรุงแต่คือสังขาร จึงสร้างกรรม ยิ่งปรุงแต่ง ยิ่งสร้างกรรมหนักขึ้นเรื่อยๆ จากมุ่งร้าย ก็ถึงขั้นใช้อาวุธ ทำให้บาดเจ็บหนัก ปรุงแต่งกรรมของตนว่า อย่าทรมานสัตว์เลย ฆ่าเสียจะได้หมดเวร เป็นการเอากิเลสของตนแต่ฝ่ายเดียว สร้างกรรมหนักขึ้น หนักขึ้น ก็ด้วยอภิสังขารนี้แหล่ สัตว์จึงต้องติดอยู่ในบ่วงกรรม เวียนว่ายตายเกิดเพื่อรับผลของกรรมที่ตนทำ ชดใช้กรรมอยู่ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ หนีจากสังสารวัฏไม่พ้น

เทวปุตตะมาร มาร คือการยึดว่าสุขในกามคุณห้านั้น เป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นความสุขของเทพบุตร เทพธิดา ผู้มีโอกาสมีบุญเท่านั้นที่จะได้รับความสุขในกามคุณห้าอย่างสมบูรณ์ ไม่คิดหรือ สนใจในสุขทางธรรม เห็นนักบวชเป็นพวกบ้า ไม่รู้จักหาความสุขในกามคุณห้า ละทิ้งบ้านเรือนออกแสวงหาโมกข์ธรรมอันไร้สาระ ความสุขที่คนไม่มีโอกาสได้รับคือความสมบูรณ์ในกามคุณห้า มีมากนักในสังคม พูดเรื่องเข้าวัดฟังธรรม เป็นยกตนขึ้นเทศน์ทันที ว่าอันตัวเรานี้ ทำดี ไม่เบียดเบียนใคร ก็ถือว่าดียิ่งแล้ว เสวยสุขได้อย่างไม่มีภัย ทานไม่ทำ ถ้าให้ ต้องมีแลกเปลี่ยน ไปวัดเสียตังค์ แล้วยังต้องฟังพระนั่งบ่นให้รำคาญหู เสียกำลังใจ ไปทำไม ทุกวันก็มีสุขดีอยู่แล้ว อยากได้อะไร ก็ได้ดั่งใจปรารถนา มีเงินเสียอย่าง เรื่องฟังเทศน์ฟังธรรมทำบุญสร้างทานเป็นเรื่องของคนโง่ ก็น่าจะใช่เพราะพระทุกวันนี้กิเลสหนา เอาความโลภมาอวดอย่างไม่ละอาย อ้างต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ไม่มีที่พอเพียง เขาพูดของเขาถูก ก็เลยติดอยู่ในวัฏฏะกันทั้งคู่ หนักเบาก็ขึ้นอยู่กับกรรม พระหนักหน่อยอบายแน่ๆ เคยเห็นหมาที่มาอาศัยวัดอยู่ จะนอนทีก็ต้องหาลากอะไรมารอง จะนั่งก็ชอบที่จะนั่งในที่ที่มีที่รอง เลยบอกว่าไอ้ตัวนี้ถ้าจะเคยเป็นพระทุศีล จึงอยู่ไม่ห่างวัด แถมไม่ลืมพฤติกรรมเก่า ที่ยึดมั่นถือมั่น เลยแสดงให้เห็นในชาติที่เกิดเป็นเดรัจฉาน หึ หึ

มัจจุมาร มาร คือความตาย เพราะว่ามีมารทั้งหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ที่สุดเมื่อคิดได้ ตั้งใจว่าจะทำความดีความตายก็มาถึง เลยหมดโอกาส

สรุปว่า อุปสรรคของมนุษย์นั้นมีมากมายหลายอย่าง ที่ยกตัวอย่างมา ก็เป็นเรื่องในทางธรรม อุปสรรคทั้งหลายเหล่านีมีอยู่ในตัวสัตว์มีกายหยาบ มีอายตนะทั้งภายในและภายนอกเป็นเครื่องเชื่อมต่อในการสร้างกรรม โดยมีขันธ์ห้าเป็นปัจจัย ช่วยปรุงแต่งกรรม หนักบ้าง เบาบ้าง คละเคล้ากันไป เพราะอาศัยอายตนะ กรรมและกาล เป็นเครื่องสร้างกรรรม อันเป็นตัวอุปสรรคในการก้าวเดิน หรือเป็นเครื่องหนุนนำ ก็ต้องอาศัยขันธ์ห้าเป็นปัจจัย เปลี่ยนสภาพธรรมจากกิเลสที่เป็นตัวเดี่ยว เป็นสภาพใหม่ที่เป็นองค์รวม คือตัณหา ตัณหาเมื่อประกอบกับกรรมและกาล จึงก่อให้เกิดเป็น ตัณหาร้อยแปด มีองค์รวมเรียกว่า ภวตัณหา และ วิภวตัณหา ปรุงแต่สภาพธรรมทั้งหลายจนจับต้นชนปลายไม่ถูก เกาะติดฝังลึกอยู่ในจิต หยาบบ้างละเอียดบ้างคลุกเคล้ากันไป จนตกตะกอนนอนเนื่องเป็นอนุสัย ถ้าลองเอาทรายหยาบทั่วไป ที่ใช้ก่อสร้าง ในนั้นก็จะมีหยาบบ้างละเอียดบ้างฝุ่นดินตมบ้างคละเคล้ากัน มาใส่ไว้ในภาชนะโปร่งใส แล้วเขย่าๆ ไปเรื่อยๆ แรงบ้าง เบาบ้าง ซ้ายบ้างขวาบ้าง ขึ้นบ้างลงบ้าง เอียงบ้างตะแคงบ้าง ทำอยู่สักพัก พอเท่ากับกิเลสทั้งหลาย แล้วลองหยุดมองที่ทรายนั้น จะเห็นที่ละเอียดอยู่ล่าง ที่หยาบอยู่บน ทั้งที่หยาบนั้นหนักกว่า แต่กลับมาอยู่บน กิเลสก็เช่นกัน ที่หนักเห็นชัด ที่ละเอียดมองไม่เห็น ที่สุดบ่มอยู่นานก็นอนเนื่องเป็นอนุสัยอยู่ในจิต

จิต เป็นตัวรับรู้อารมณ์ จิตไม่ใช่ ใจ ไม่ใช่ความคิด ไม่ใช่วิญญาณ แต่จิตเป็นที่รวมของข้อมูลที่ได้จากขันธ์และอายตนะ สามารถรับเข้าและส่งออก ซึ่งข้อมูลทั้งหลาย พร้อมทั้งการโต้ตอบที่ประกอบพร้อมมูลไปยังอวัยวะต่างๆของร่างกาย (เหมือนอย่างที่เคยยกตัวอย่างของฮาร์ดดิสก์ในเครื่องคอมพิวเตอร์) ด้วยความเร็วที่สูงมาก ถ้ากายหยาบนี้สมบูรณ์พร้อมขณะที่เตรียมพร้อมอยู่ หรืออาจจะเชื่องช้า เซื่องซึม ที่ความเร็วต่ำ ขึ้นอยู่กับการโต้ตอบของกายหยาบว่าอยู่ในสภาวะใด จิตนี้เป็นที่อยู่ที่อาศัยของกิเลสทั้งหลายที่รวมตัวกันมากมายจนกลายเป็นตัณหา ถ้าไม่หมั่นขัดเกลา

เพราะตัณหามากมายเหล่านี้มีทั้ง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมกันมากมาย มีสภาพต่างๆ หยาบไม่หยาบ ละเอียดไม่ละเอียด เปรียบได้ดังธุลีดินที่เก็บรับสภาพต่างๆคละเคล้ากันไป แยกไม่ออกว่าอันไหนขี้วัว อันไหนขี้หมา ขี้นก ขี้คน รวมถูกเรียกว่าขี้ดิน ตัณหาเหล่านี้ก็เช่นกันเมื่อคละเคล้าจนแยกไม่ออกแล้ว ก็เทียบเท่าธุลี รวมเรียกว่า ราคะ

ราคะ นี้แหละ เป็นเครื่องขวางกั้น เป็นอุปสรรค ที่มีกำลังมาก ขวางกั้นไม่ให้สัตว์เดินทางถูกได้ ขวางกันสัตว์จากความเจริญไม่ว่าจะในกิจใดๆ ราคะนี้ เมื่อแยกออกมาเป็นพวกใหญ่ๆ ก็แยกได้เป็นห้าพวก เรียกว่า นิวรณ์ห้า นิวรณ์ห้านี้ กอปรด้วยธรรมมากมายจนกลายเป็น กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ เมื่อจะพิจารณาธรรมในขั้นที่สูงขึ้นไป ก็ต้องพิจารณานิวรณ์นี้ให้ละเอียดถี่ถ้วนเสี่ยก่อนทุกครั้ง ว่ายังมีอุปสรรคใดๆ อีกหรือไม่ สะจิตตะ ละคลายออกจากจิตให้หมด อย่าให้มีส่วนเหลือ เมื่อยังไม่สิ้นธุลี ก็ยากที่จะเข้าถึงธรรมอันงามได้ เพราะธุลีนั้น เปรียบดั่งหมอกดำที่ทำให้ทัศนะวิสัยมัวหมอง จะเดินจะเหินก็ไมสะดวก ติดขัดทาง อายตนะ ตาหูลิ้นกายใจ ก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ จะชำระล้างฟอกตัวเท่าไรก็ไม่หมด จะฟอกตัวอย่างไรก็ไม่สะอาด

วันนี้หลวงตาขอจบเรื่องอุปสรรค์เอาไว้เท่านี้ ส่วนนี้เป็นส่วนเสริมที่สำคัญ หรือ อาจจะไม่สำคัญก็ได้ ขึ้นอยู่แต่ท่านทั้งหลายที่ฝึกฝนปฏิบัติมา ทางเดินนั้นมีมาก ทั้ง บก น้ำ อากาศ ทางเดินของพระอรหันต์ เปรียบได้ดั่งทางเดินของนกบนอากาศ ย่อมไม่ทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้เห็น แต่เป็นเช่นนั้นตลอดกาลนาน จวบจนทุกวันนี้ และคงเป็นเช่นนั้นไปอีกนาน แม้สภาพกาลจะเปลี่ยนไป ตราบใดที่มีแสงตะวัน และกระแสลม นกย่อมบินกลับรังได้แม้จะไกลแสนไกล อย่างเมืองไทยถึงไซบีเลีย ระยะเท่าใดก็ไม่รู้ รู้แต่ว่ายาวมาก นกนางแอ่นตัวน้อยๆ ก็บินกลับไปได้

ฝากไว้เท่านี้ บุญยังมียังไม่ตาย ก็ได้กลับมาขยายความขี้เท้อให้ใหม่ สาธุ บุญรักษา
กิตติญาโณ


ใส่รหัสที่นี่   
กล่องตอบด่วน
kittiyano

Last Edit: 2021/11/11 21:11 By admin.
Reply Quote
 
Go to top
ตอบกลับ
เริ่มหัวข้อใหม่
หน้า: 1